บริหารคนตั้งแต่ วันแรก

“บริหารคนตั้งแต่ “วันแรก””

จากประสบการณ์ของดิฉันพบว่า เมื่อผู้ประกอบการ SME ทำการสรรหาและคัดเลือกจนได้คนที่ “ใช่” ที่สุดมาเริ่มงาน ก็มักจะโล่งใจและเชื่อว่างานนั้นจะดำเนินต่อไปได้…แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการสะดุด ในช่วงเริ่มงานของพนักงานใหม่ ก็ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอและยาวนานเกินคาดค่ะ!! ลองมาพิจารณาตัวอย่างของอาการ “สะดุด” เหล่านี้ด้วยกันนะคะ

ตอบคำถามลูกค้าไม่ได้ ต้องถามหัวหน้างานเสมอ ทำงานผิดพลาดบ่อย ทำงานซ้ำซ้อนหรือมีงานบางงานที่ไม่มีคนทำ ทำผิดกฎระเบียบทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจเข้ากับทีมไม่ได้ เข้าไม่ถึงลูกค้า ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ในกรณีที่โชคดี ก็อาจจะขลุกขลักช่วงเดือนหรือสองเดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงปรับตัว แต่ในกรณีที่โชคร้าย ถึงแม้จะให้เวลาแล้ว แต่พนักงานใหม่ก็ยังไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามที่คาดหวัง ปัญหานี้ส่งผลให้เกิดความกลุ้มใจรายวันแก่ผู้ประกอบการ จนบางครั้งอดคิดไม่ได้ว่า เกิดจากการเลือกคนที่ “ไม่ใช่”

หรือว่ามีอะไรที่ขาดหายไปคะ?

ก่อนที่จะนำเสนอวิธีการแก้ไข ดิฉันขอให้ท่านผู้ประกอบการที่เคยเป็นลูกจ้างมาก่อน ลองนึกย้อนไปถึงวันแรกๆ ของการทำงาน รู้หรือไม่ว่าองค์กรทำอะไร เข้าใจหน้าที่ความรับผิดชอบของตนไหม หัวหน้าบอกความคาดหวังหรือไม่ มีใครสอนงาน รู้สึกโดดเดี่ยวหรืออบอุ่น…เมื่อปรับมุมมามองในฐานะพนักงานบ้าง เราจะได้เห็นประเด็นที่ขาดไปในการรับคนเข้าทำงาน นั่นคือ การบริหารตั้งแต่วันแรกค่ะ!
บ่อยครั้งที่องค์กรรับคนเข้ามาแล้วปล่อยให้หาทางรอดกันเอง ไม่ชี้แจงพนักงานใหม่ว่าเขาจะต้องทำอะไร แค่ไหน อย่างไร ไม่มีการสอนงาน บ้างก็มอบหมายงานให้ทำทีละอย่าง แล้วคิดเอาเองว่าเขาเข้าใจงานในภาพรวมอย่างถ่องแท้แล้ว แถมยังปล่อยให้เขาปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรเอง โดยไม่มีคนบอกว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีเวลา หรือเห็นว่าเรื่องคนไม่น่าจะสลับซับซ้อนขนาดนั้น

จึงไม่แปลกที่องค์กรจะไม่ได้ทั้งงานและใจของพนักงานใหม่ แถมยังต้องแก้ไขปัญหางานสะดุดกันรายวัน
แล้วจะทำอย่างไรดีคะ จึงจะช่วยให้คนที่ “ใช่” ทำงานได้ดังใจ แถมปรับตัวเข้ากับองค์กรได้ด้วย
ลองพิจารณาวิธีการดังต่อไปนี้นะคะ

1.อธิบายเรื่องธุรกิจขององค์กร ในแง่ผลิตภัณฑ์ บริการ โครงสร้างองค์กร กฎระเบียบ และวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้พนักงานใหม่เข้าใจธุรกิจ รู้จักผู้รับผิดชอบในแต่ละส่วนงาน รับรู้กติกาการอยู่ร่วมกัน และทราบว่าจะปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร อย่าลืมบอกพนักงานใหม่สักนิดนะคะ ว่างานเขามีคุณค่า และมีส่วนช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้อย่างไร

2.อธิบายเรื่องตัวงาน ประกอบด้วย วัตถุประสงค์ของงานนั้น สายการบังคับบัญชา หน้าที่และขอบเขตความรับผิดชอบ ความคาดหวังในผลงาน รวมถึงกำหนดเวลาที่จะต้องประเมินผลงาน
หากองค์กรใดเขียนใบกำหนดหน้าที่งาน หรือ Job description ไว้ จะช่วยให้หัวหน้างานอธิบายหน้าที่ความรับผิดชอบแก่พนักงานใหม่ได้อย่างครบถ้วน ไม่ตกหล่นค่ะ

3.สอนงาน ถึงแม้พนักงานใหม่จะมีประสบการณ์ในงานนั้นมาก่อน และมีการอธิบายเรื่องตัวงานแล้ว แต่หัวหน้างานก็ควรที่จะให้คำแนะนำเรื่องขั้นตอน วิธีการทำงานอย่างเพียงพอ และมีคำตอบให้กับข้อสงสัยเสมอ ที่สำคัญคือต้องคอยสังเกตว่าเขาทำอะไรยังไม่ได้ จะได้ให้คำแนะนำถูกจุด หรือถ้าพบว่าเขาทำอะไรได้ดี ก็อย่าหวงคำชมนะคะ

4.จัดหาพี่เลี้ยง หรือ Buddy มอบหมายให้คนที่อยู่มาก่อน ซึ่งควรเป็นผู้ที่มีทัศนคติที่ดีต่อองค์กรและมีข้อมูลที่ถูกต้อง ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยให้คำแนะนำช่วยเหลือ และนำเขาไปพบปะ ทำความรู้จักกับผู้อื่น จะช่วยให้พนักงานรู้สึกอบอุ่นและปรับตัวได้เร็วขึ้นด้วยค่ะ

ขอแถมท้ายสักนิดนะคะว่า หากจะดำเนินวิธีการข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรที่จะเติม “เสน่ห์” ของ SME ในการบริหารคน อันได้แก่ ความเป็นกันเอง ใกล้ชิดเหมือนพี่น้อง พึ่งพากันได้ จริงใจ และเป็นมิตรสูง
เพียงเท่านี้ คนที่ “ใช่” ก็จะขยับขึ้นเป็น “สมาชิกใหม่” ขององค์กรอย่างสมบูรณ์ค่ะ

ที่มา : http://newsroom.bangkokbiznews.com

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *