จังหวัดภูเก็ต

จังหวัดภูเก็ต

ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้ หาดทรายสีทอง สองวีรสตรี บารมีหลวงพ่อแช่ม
ภูเก็ต

คำว่า “ภูเก็ต” นั้นเชื่อว่าเพี้ยนมาจากภาษามลายูคือ “บูกิ๊ต” ซึ่งแปลว่าภูเขา ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีมานานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยตัวเมืองอยู่ที่ถลางซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ เมืองถลางเดิมมีขุนนางไทยคอยดูแลรักษาผลประโยชน์เพราะฝรั่งชาติฮอลันดามารับซื้อสินค้าจำพวกแร่ ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๑ พระเจ้ากรุงอังวะยกกองทัพเข้ามารุกรานหัวเมืองฝ่ายตะวันตกแถบชายทะเลของไทยในปี พ.ศ.๒๓๒๘ โดยแบ่งกองทัพยกไปตีเมืองกระ ระนอง ชุมพร ไชยา ตลอดลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนั้นกองทัพกรุงเทพฯ ยังติดพันการศึกที่กาญจนบุรียกมาช่วยไม่ทัน พม่าส่งแม่ทัพชื่อยี่หวุ่น ยกทัพเรือมาตีได้ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า แล้วเลยไปตั้งค่ายล้อมเมืองถลางไว้ ขณะนั้นพระยาถลางถึงแก่กรรมยังไม่ได้ตั้งเจ้าเมืองใหม่ ภริยาเจ้าเมืองถลางชื่อจัน กับน้องสาวชื่อมุก จึงคิดอ่านกับกรรมการทั้งปวงตั้งค่ายใหญ่ขึ้น ๒ ค่าย ป้องกันรักษาเมืองเป็นสามารถ พม่าล้อมเมืองอยู่เดือนเศษเมื่อหมดเสบียงก็เลิกทัพกลับไป
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องยศให้วีรสตรีทั้งสองเป็นท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร เป็นที่น่าภาคภูมิใจแก่ชาวเมืองตลอดมา เกาะถลางหรือเมืองถลางได้เปลี่ยนชื่อเป็นเกาะภูเก็ต หรือเมืองภูเก็ตในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภูเก็ต ได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งอันดามัน เมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ในด้านความสวยงามของทิวทัศน์ และหาดทราย น้ำทะเลสีฟ้าใส พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวครบครัน เป็นเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศไทยในน่านน้ำทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย มีพื้นที่ประมาณ ๕๔๓ ตารางกิโลเมตร ความยาวสุดของเกาะภูเก็ตวัดจากทิศเหนือถึงทิศใต้ประมาณ ๔๘.๗ กิโลเมตร และส่วนกว้างที่สุดวัดจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกประมาณ ๒๑.๓ กิโลเมตร ภูเก็ตแบ่งออกเป็น ๓ อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอถลาง และอำเภอกะทู้

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดพังงา เชื่อมโดยสะพานสารสินและสะพานท้าวเทพกษัตรี
ทิศใต้ ติดต่อกับทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย
ทิศตะวันออก ติดต่อกับทะเลเขตจังหวัดพังงา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย

ภูมิอากาศ
ภูเก็ตมีอากาศแบบฝนเมืองร้อน มีลมพัดผ่านตลอดเวลา อากาศอบอุ่นและชุ่มชื้นตลอดปี มี ๒ ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ฤดูฝนเริ่มเดือนพฤษภาคม-เดือนพฤศจิกายน ฤดูร้อนเริ่มเดือนธันวาคม-เดือนเมษายน ช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน เป็นช่วงที่อากาศดีที่สุดไม่มีฝน ท้องฟ้าแจ่มใส

การเดินทาง
 รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายธนบุรี-ปากท่อ (ทางหลวงหมายเลข ๓๕) แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข ๔ (ถนนเพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร อำเภอกระบุรี อำเภอเมือง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอเมือง อำเภอตะกั่วทุ่ง บ้านโคกกลอย จังหวัดพังงา ข้ามสะพานสารสิน หรือสะพานท้าวเทพกษัตรี เข้าจังหวัดภูเก็ต รวมระยะทาง ๘๖๒ กิโลเมตร
 รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารทั้งรถธรรมดา และรถปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ไปภูเก็ตทุกวัน สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๔๓๔ ๗๑๙๒, ๐ ๒๔๓๕ ๕๖๐๕, ๐ ๒๔๓๕ ๑๑๙๙ บริษัทเอกชน ติดต่อ บริษัท ภูเก็ต เซ็นทรัล ทัวร์ กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๔๓๔ ๓๒๓๓, ๐ ๒๔๓๕ ๕๐๑๙ ภูเก็ต โทร. ๐ ๗๖๒๑ ๓๖๑๕, ๐ ๗๖๒๑ ๔๓๓๕ และบริษัท ภูเก็ตท่องเที่ยว กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๔๓๕ ๕๐๑๘, ๐ ๒๔๓๕ ๕๐๓๔ ภูเก็ต โทร. ๐ ๗๖๒๒ ๒๑๐๗-๙ สถานีขนส่งภูเก็ต โทร. ๐ ๗๖๒๑ ๑๙๗๗, ๐ ๗๖๒๑ ๑๔๘๐ หรือ www.transport.co.th
 รถไฟ ไม่มีบริการรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปภูเก็ตโดยตรง หากต้องการเดินทางโดยรถไฟต้องไปลงที่สถานีรถไฟพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วต่อรถประจำทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ใช้เวลาประมาณ ๔ ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. ๑๖๙๐, ๐ ๒๒๒๓ ๗๐๑๐, ๐ ๒๒๒๐ ๔๓๓๔ หรือ www.railway.co.th
 เครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีเที่ยวบินกรุงเทพฯ – ภูเก็ตทุกวัน สอบถามรายละเอียด โทร. ๑๕๖๖, ๐ ๒๒๘๐ ๐๐๖๐, ๐ ๒๖๒๘ ๒๐๐๐ หรือ www.thaiairways.com สำนักงานการบินไทยภูเก็ต โทร. ๐ ๗๖๒๑ ๑๑๙๕, ๐ ๗๖๒๑ ๒๔๙๙, ๐ ๗๖๒๑ ๒๙๔๖, ๐ ๗๖๒๑ ๖๖๗๘ โทรสาร ๐ ๗๖๒๑ ๖๗๗๖ นอกจากนี้ บริษัท บางกอกแอร์เวย์ และบริษัท แอร์เอเซีย ได้เปิดบริการเที่ยวบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต ทุกวัน สอบถามรายละเอียด บางกอกแอร์เวย์ โทร. ๐ ๒๒๖๕ ๕๕๕๕ www.bangkokair.com แอร์เอเซีย โทร. ๐ ๒๕๑๕ ๙๙๙๙ www.airasia.com หรือสำนักงาน บางกอกแอร์เวย์ภูเก็ต โทร. ๐ ๗๖๒๐ ๕๔๐๐-๑ สำนักงานแอร์เอเซียภูเก็ต โทร. ๐ ๗๖๓๒ ๘๖๐๑-๓

การเดินทางภายในจังหวัดภูเก็ต
ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีการเดินทางภายในจังหวัดสะดวก มีรถตุ๊กตุ๊ก และรถสองแถวบริการไปตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น หาดราไวย์ หาดป่าตอง อ่าวฉลอง แหลมพันวา หาดกมลา หาดสุรินทร์ ห้าแยกฉลอง อ่าวมะขาม หาดกะตะ หาดกะรน หาดไนยาง อำเภอกะทู้ สามารถขึ้นรถได้บริเวณตลาดสด ใกล้วงเวียนน้ำพุ ถนนระนอง ค่าโดยสารขึ้นอยู่กับระยะทาง
นอกจากนั้นการเดินทางจากสนามบินมายังตัวเมืองภูเก็ต สามารถใช้บริการรถแท็กซี่เข้าตัวเมืองภูเก็ต หรือไปยังหาดต่างๆ ในอัตราค่าบริการตามระยะทาง ส่วนในตัวเมืองก็มีบริการรถตู้ปรับอากาศและรถแท๊กซี่รับส่งไปสนามบิน ติดต่อสนามบินภูเก็ต โทร. ๐ ๗๖๓๒ ๗๒๓๕ ติดต่อเช่ารถ โทร. ๐ ๗๖๓๕ ๑๒๔๓-๕ สำหรับรถตู้ปรับอากาศ จะมีระหว่างเวลา ๐๗.๐๐-๑๘.๐๐ น. รถออกทุกชั่วโมง สำหรับรถแท๊กซี่ ต้องโทรแจ้งล่วงหน้า ๑ ชั่วโมง

การเดินทางจากภูเก็ตไปจังหวัดใกล้เคียง
จากภูเก็ต มีบริการรถโดยสารธรรมดาจากสถานีขนส่ง ถนนพังงา ไปจังหวัดกระบี่ นครศรีธรรมราช พังงา ระนอง สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล หาดใหญ่ และเกาะสมุย รายละเอียดติดต่อ สถานีขนส่งภูเก็ต โทร. ๐ ๗๖๒๑ ๑๔๘๐, ๐ ๗๖๒๑ ๑๙๗๗ นอกจากนั้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีเที่ยวบินจากภูเก็ตไปจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และหาดใหญ่ และบริษัท บางกอกแอร์เวย์ มีเที่ยวบินระหว่างภูเก็ต-สมุย ให้บริการอีกด้วย

เทศกาลและงานประเพณี
งานท้าวเทพกษัตรี-ท้าวศรีสุนทร ตรงกับวันที่ ๑๓ มีนาคมของทุกปี มีการจัดงานเฉลิมฉลอง มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สองวีรสตรีสามารถปกป้องเมืองถลางให้รอดพ้นจากข้าศึกพม่าและสดุดีในวีรกรรมของท่าน
งานประเพณีปล่อยเต่า ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน หรือวันสงกรานต์ของทุกปี กรมประมงได้กำหนดให้เป็นวันประมงแห่งชาติ มีประเพณีปล่อยลูกเต่าลงทะเลโดยจะจัดงานในบริเวณหาดต่างๆ ในภูเก็ต
เทศกาลอาหารทะเล จัดขึ้นประมาณเดือนพฤษภาคมของทุกปี มีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่อาหารทะเลที่มีชื่อเสียงของจังหวัดภูเก็ต ชักชวนให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวภูเก็ตในฤดูฝน กิจกรรมของงานมีการประกวดขบวนแห่ทรัพยากรท่องเที่ยวทางทะเล การออกร้านจำหน่ายอาหารทะเล การสาธิตอาหารประจำภาค การแสดงศิลปวัฒนธรรมของภาคต่างๆ
งานประเพณีลอยเรือชาวเล จะมีพิธีในกลางเดือน ๖ และ ๑๑ ของทุกปี โดยกลุ่มชาวเลที่หาดราไวย์และบ้านสะปำจะมีพิธีลอยเรือในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ และกลุ่มชาวเลที่แหลมหลา (ทางตอนเหนือของเกาะภูเก็ต) จะมีพิธีลอยเรือในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ซึ่งถือเป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ของชาวเลคล้ายกับพิธีลอยกระทงของชาวไทย มีการสร้างเรือจากไม้ระกำ ตัดผมตัดเล็บ และทำตุ๊กตาไม้แทนคน ใส่ลงไปในเรือ แล้วนำไปลอยเพื่อนำเอาความทุกข์โศก เคราะห์ร้ายต่างๆ ออกไปกับทะเล แล้วมีการร่ายรำรอบเรือ หรือที่เรียกว่า “รำรองเง็ง” นั่นเอง
งานผ้อต่อ เป็นงานประเพณีของชาวภูเก็ตที่มีเชื้อสายจีน จะมีพิธีในช่วงเดือน ๗ ของจีน หรือเดือน ๙ ของไทย โดยมีพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ด้วยเครื่องบวงสรวง เป็นขนมชนิดหนึ่งทำด้วยแป้งเป็นรูปเต่าขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้างทาสีแดง ซึ่งคนจีนเชื่อว่าเต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน ดังนั้นการไหว้เต่าจึงเป็นการต่ออายุให้ตนเอง และถือเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่
เทศกาลกินผัก กำหนดจัดในวันขึ้น ๑-๙ ค่ำ เดือน ๙ ของจีน จะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี ระหว่างถือศีลกินผัก ชาวบ้านจะไปรับอาหารจากศาลเจ้า มีพิธีกรรมตามความเชื่อ เช่น ลุยไฟ ไต่บันไดมีด ฯลฯ มีการแห่เจ้าไปตามถนนต่างๆ โดยชาวบ้านสองฝั่งถนนจะจุดประทัดเสียงอึกทึกไปตลอดสาย ประเพณีกินเจนี้ถือว่าเป็นการอุทิศความดีให้กับพระและเทวดาฟ้าดินเพื่อให้พระคุ้มครองชาวภูเก็ตและเกาะภูเก็ตตลอดไป
เทศกาลเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต ตรงกับวันที่ ๑ พฤศจิกายน โดยเริ่มจัดงานครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๘ ณ หาดป่าตอง เพื่อต้อนรับฤดูการท่องเที่ยวที่เวียนมาถึงอีกครั้ง และเป็นการส่งเสริมความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบธุรกิจสาขาต่างๆ หน่วยงานราชการและประชาชน ในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ พิธีตักบาตรในตอนเช้า การแข่งขันกีฬาทางน้ำ การประกวดสาวงามจากนักท่องเที่ยวชาติต่างๆ เป็นต้น
งานแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทาน เริ่มมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ และหลังจากนั้นจึงถือกำหนดจัดงานขึ้นในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี โดยมีเรือใบจากนานาประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขันบริเวณหาดในหานเพื่อชิงถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ลากูน่าภูเก็ตไตรกีฬา เป็นการแข่งขันกีฬา ๓ ประเภทต่อเนื่องกัน คือ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และวิ่ง บริเวณ
ลากูน่าภูเก็ต หาดบางเทา มีผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลก การแข่งขันจะจัดขึ้นในช่วงปลายปีของทุกปี

อาหารพื้นเมือง
ภูเก็ตมีอาหารพื้นเมืองทั้งคาวหวานมากมายหลายชนิด มีรูปแบบวิธีการปรุงและรสชาติที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดที่จะลองชิมตำรับดั้งเดิม และควรหาซื้อกลับไปเป็นของฝากได้แก่
ขนมจีนภูเก็ต นิยมรับประทานเป็นอาหารเช้า มีน้ำแกงให้เลือกหลายประเภท เช่น น้ำซุป น้ำยา แกงไตปลา โดยรับประทานกับผักนานาชนิดพร้อมทั้งไข่ต้ม ปาท่องโก๋ และห่อหมก
เต้าซ้อ หรือขนมเปี๊ยะภูเก็ต ที่นิยมคือไส้ถั่วใส่ไข่เค็ม มีจำหน่ายตามร้านขายของฝากของภูเก็ต
น้ำชุบภูเก็ต เป็นน้ำพริกที่ทำจากกะปิแบบใส ๆ มีส่วนผสมคือกุ้งสด หัวหอม พริก และมะนาว รับประทานกับข้าวหรือขนมจีน
น้ำพริกกุ้งเสียบ เป็นน้ำพริกแห้งตำกับกุ้งเสียบ รับประทานคู่กับผักสดต่างๆ
เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ต้นมะม่วงหิมพานต์เป็นต้นไม้พื้นเมืองที่นิยมปลูกกันมากในภูเก็ต สามารถหาซื้อเป็นของฝากทั้งในรูปอบแห้ง ทอด ฉาบ และอื่นๆ
ยี่หูอั้งฉ่าย เป็นปลาหมึกฝานบางๆผัดกับหมูแดงในน้ำมัน โรยด้วยผักบุ้งหั่นฝอยราดด้วยเลือดแบบเย็นตาโฟแต่แห้ง และโรยด้วยหมี่กรอบอีกชั้นหนึ่งรสชาติจืด
โลบะ เป็นเครื่องในหมูปรุงกับเครื่องพะโล้ นำมาทอดรับประทานกับเต้าหู้ทอดราดน้ำจิ้ม
สับปะรดภูเก็ต เป็นสับปะรดพันธุ์พื้นเมืองที่มีรสชาติหวานกรอบ อร่อย หาซื้อได้ที่ตลาดสดทั่วไป
หมี่สั่ว เป็นอาหารเช้าของชาวภูเก็ต จะขายพร้อมกับข้าวต้ม หรือโจ๊ก
หมี่หุ้นปาฉ่าง เป็นเส้นหมี่แห้งรับประทานกับน้ำต้มกระดูก หารับประทานได้ที่ซอยสุ่นอุทิศ
หมี่ฮกเกี้ยน เป็นเส้นหมี่เหลืองผัดซีอิ๊ว หารับประทานได้ที่บริเวณวงเวียนสุรินทร์
โอเต๊า ลักษณะคล้ายกับหอยทอดภาคกลาง ใช้หอยนางรมผัดกับแป้ง เผือก และไข่
โอ๊ะเอ๋ว เป็นของหวานคล้ายวุ้นน้ำเชื่อมใส่น้ำแข็ง ทำมาจากกล้วยน้ำว้าผสมกับเมล็ดโอ๊ะเอ๋ว (คล้ายเม็ดแมงลัก) นำมาแช่น้ำแล้วนำเมือกมาทำวุ้น รับประทานกับน้ำเชื่อมและน้ำแข็ง รสชาติหอมชื่นใจ สามารถหารับประทานได้ที่ซอยสุ่นอุทิศ

สินค้าที่ระลึก
นอกจากอาหารพื้นเมืองแล้ว ภูเก็ตยังมีสินค้าที่ระลึกอื่นๆ อีก อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ไข่มุก เครื่องดีบุก เครื่องเขิน เครื่องหวาย ผ้าบาติก เป็นต้น ซึ่งจะมีแหล่งร้านขายสินค้าที่ระลึกในตัวเมือง บริเวณถนนรัษฎา ถนนพังงา ถนนมนตรี ถนนเจ้าฟ้า เป็นต้น หรือบริเวณหาดต่างๆ อาทิ หาดราไวย์ แหลมพรหมเทพ หาดกะตะ หาดกะรน หาดป่าตอง หาดสุรินทร์ เป็นต้น

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *