ความเครียดกับคุณภาพชีวิตในการทำงาน

ความเครียดกับคุณภาพชีวิตในการทำงาน
คอลัมน์ Human Coner โดย ดร.จุฑามาศ แก้วพิจิตร โครงการบัณฑิตศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส”บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ประชาชาติธุรกิจ หน้า 6 วันที่ 17 มกราคม 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 3654 (2854)
ในปัจจุบันเราจะได้ยินคำว่าคุณภาพชีวิตในการทำงาน (quality of work life) กันบ่อยครั้ง แต่ท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมในปัจจุบันคุณภาพชีวิตในการทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ท่านควรจะให้ความสนใจกับมัน ลองมาพิจารณาว่าคำถามเหล่านี้ดู สถานที่ทำงานเป็นที่ที่ท่านไม่อยากไปหรือไม่เมื่อตื่นขึ้นมาในตอนเช้าหรือเปล่า ? ท่านเคยคิดว่าการทำงานเป็นความทุกข์หรือไม่ ? หรือแม้แต่ท่านคิดที่จะเปลี่ยนงานโดยสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงานหรือไม่ ? ถ้าคำตอบของท่านคือใช่ทั้งหมด นั่นแสดงว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่น่าที่จะใส่ใจและปรับปรุงคุณภาพชีวิตในการทำงาน
อาการที่แสดงให้เห็นคุณภาพชีวิตการทำงานที่น่าเป็นห่วง สะท้อนให้เห็นได้จากพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้ท่านรู้สึกว่าไม่สามารถจัดการกับงานของท่านได้ อาทิ อาจจะมีบ่อยครั้งที่ท่านอาจจะเคยรู้สึกว่ายิ่งพยายามที่จะสะสางงานก็ไม่สามารถบรรลุเป้าตามที่ได้ตั้งไว้ เนื่องมาจากว่ามีงานอื่นแทรกเข้ามาอยู่เรื่อยจึงเกิดอาการผัดวันประกันพรุ่ง หรือกลายเป็นดินพอกหางหมู บ่อยครั้งที่ต้องมีการนำงานกลับไปทำที่บ้านจนถึงเช้า หรืออยู่ทำ งานเกินเวลาปกติ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านอยู่องค์การที่อยู่ในภาวะของการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและต่อเนื่อง อาทิ มีการปรับโครงสร้างองค์กร มีการปรับอัตรากำลังคน ลดงบประมาณในการบริหาร มีการปรับฐานเงินเดือน การวัดประเมินผลการปฏิบัติงานที่บ่อยครั้งขึ้นและซึ่งไปมีผลกระทบต่อการเลื่อนขั้นหรือตำแหน่ง หรือแม้แต่อยู่ในช่วงที่นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาองค์การ
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นำมาซึ่งความรู้สึกของความรู้สึกไม่เคยชิน ความไม่แน่ใจ ความหวาด ระแวง และในที่สุดก็จะนำมาซึ่งความเครียดความกังวล หรือแม้แต่กระทั่งความกลัว ซึ่งเมื่อมีมากถึงในระดับที่สูงเกินไปก็อาจจะเป็นที่มาของพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ (misbehavior) ที่อาจจะเกิดขึ้น อาทิ การเอาอารมณ์มาอยู่เหนือเหตุผลในการปฏิบัติงานและการตัดสินใจ การไม่ใช้ความร่วมมือในการทำงานกับทีมงานเนื่องจากปัญหาส่วนตัว การใช้แอลกอฮอล์เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับงาน การใช้ความรุนแรงในที่ทำงานทั้งทางด้านวาจา (verbal abuse) และทางกาย (physical abuse) ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกระทบถึงความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนร่วมงาน และเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าสะพรึงกลัวในที่ทำงาน สาเหตุที่สำคัญของความรุนแรงเหล่านี้มาจากความเครียดที่เกี่ยวข้องกับงาน
ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยหลายอย่างที่นำมาซึ่งความเครียดที่เกี่ยวข้องกับงาน (occupational stress) ที่จะนำไปสู่ชีวิตการทำงานที่ด้อยคุณภาพอาจจะมีนับไม่ถ้วน แต่ Sutherland และ Cooper (1998) ได้รวบรวมและแยกประเภทของสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเครียดที่เกี่ยวข้องกับงานไว้ 6 หัวข้อใหญ่ๆ นั่นคือ สาเหตุที่มาจาก
1.สภาพแวดล้อมทางกายภาพในการทำงานที่ไม่สนองต่อความต้องการของแต่ละบุคคล อาทิ สถานที่ทำงานที่มีเสียงดังจนเกินไป ไม่มีการระบายอากาศที่ดี่เพียงพอ สกปรกรกรุงรัง แสงและอุณหภูมิที่ไม่พอเหมาะและไม่เอื้อต่อการทำงาน
2.ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวงานที่ได้รับมอบหมาย ในบางครั้งงานที่ท่านปฏิบัติอาจจะเป็นเวลาในการทำงานซึ่งอาจจะเป็นแบบกะ (night/shift work) หรือเป็นงานที่ต้องทำเกินเวลาปกติ หรืออาจจะเป็นงานที่ซ้ำซากน่าเบื่อไม่ท้าทาย (repetitiveness & boredom) หรือภาระงานที่มีมากเกินไป (workload)
3.ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับบทบาทในองค์การเฉพาะบุคคลที่อาจจะกำกวม (role conflict) และขัดแย้งกันในหน้าที่ความรับผิดชอบ
4.ปัจจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยราบรื่นระหว่างท่านกับเพื่อนร่วมงาน ความสัมพันธ์ระหว่างท่านและเจ้านายและความเป็นเจ้านายและลูกน้อง
5.ปัจจัยเกี่ยวกับโครงสร้างและบรรยากาศในองค์กรที่ไม่เอื้อการมีส่วนร่วมและกระบวนการในการตัดสินใจ
6.ปัจจัยทางด้านความปลอดภัยและความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
ปัจจัยดังกล่าวเป็นแค่เพียง shortlist ที่ผู้เขียนหยิบยกมานำเสนอเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจัยบางปัจจัยอาจจะส่งผลกระทบรุนแรงและนำมาซึ่งความเครียด แต่สำหรับบางท่านอาจจะสามารถบริหารจัดการได้จนไม่เป็นที่มาของความเครียด จนถึงขั้นส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในการทำงาน ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายประการซึ่งจะนำเสนอต่อไป
ประชาชาติธุรกิจ หน้า 6

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *