กวดวิชาลามถึงมหาวิทยาลัย

กวดวิชาลามถึงมหาวิทยาลัย

วันที่ : 9 เมษายน 2551 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : การศึกษาอัพเกรด

การเรียนพิเศษหรือกวดวิชาของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นกันจนชินตาในประเทศไทย ปรากฏการณ์นี้ยังเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษด้วย เนื่องจากนักเรียนอังกฤษที่มีอายุ16 ปีขึ้นไป ต้องสอบวัดความรู้ 2 ประเภท เพื่อนำผลสอบไปศึกษาต่อทั้งในระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย ได้แก่ การสอบวัดความรู้ GCSE (General Certificate of Secondary Education) สอบประมาณ 8-12 วิชา แบ่งเป็น 7 ระดับคือ A, B, C, D, E, F, และ G และการสอบวัดความรู้ GCE A Level (GCE Advance) เลือกสอบ 2-3 วิชา แบ่งเป็น 5 ระดับคือ A, B, C, D, และ E ผลสอบวัดความรู้ทั้ง 2 ประเภท ต้องได้ระดับ “C” ขึ้นไปจึงถือว่าผ่าน แต่มหาวิทยาลัยบางแห่งเลือกนักเรียนที่มีผลสอบระดับ “A” และ “B” ดังนั้น นักเรียนจำนวนมากที่ต้องการสอบผ่าน จึงเลือกที่จะเรียนพิเศษเพิ่มจากการเรียนในห้องเรียน

ปัจจุบัน นอกจากนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้บริการสถาบันสอนพิเศษ ไม่น่าเชื่อว่านักศึกษาปริญญาตรีในอังกฤษ จะหันมาใช้บริการสถาบันสอนพิเศษหรือกวดวิชาในภาคเอกชนเช่นกัน และมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจากอัลฟาติวเตอร์ (Alpa Tutors) สถาบันสอนพิเศษที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษรายงานว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมามีนักศึกษาปริญญาตรีเข้ามาใช้บริการของสถาบันเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เฉพาะในปี ค.ศ. 2007 มีถึง 3 พันคน ฟลีท ติวเตอร์ (Fleet Tutors) สถาบันสอนพิเศษที่ใหญ่อีกแห่งหนึ่งของอังกฤษกล่าวว่า ในปี ค.ศ. 2007 มีนักศึกษาปริญญาตรีเข้ามาเรียนเพิ่มขึ้น 2 เท่า มิเลน เคอร์ติส (Mylene Curtis) กรรมการผู้จัดการสถาบันสอนพิเศษฟลีท ติวเตอร์กล่าวว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้บริการ ต้องการให้สถาบันสอนเพิ่มเติมในสิ่งที่ไม่ได้รับการสอนมาจากมหาวิทยาลัย

นักวิชาการหลายท่านได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า การที่นักศึกษาปริญญาตรีจำนวนมากหันไปพึ่งสถาบันสอนพิเศษ เกิดจาก 2 สาเหตุคือ สาเหตุแรก การศึกษาศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ได้เตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาอย่างเพียงพอก่อนเข้าสู่มหาวิทยาลัย นักศึกษาเหล่านี้จึงเสียเปรียบ เพราะไม่เพียงต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเรียนพิเศษเพิ่มเติมอีก สาเหตุที่สอง มหาวิทยาลัยไม่สามารถจัดการศึกษาได้เพียงพอตามความต้องการของนักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัยในภาคกลางของอังกฤษท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า เกิดจากมหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณน้อย ห้องเรียนมีขนาดใหญ่ขึ้น ในขณะเดียวกัน อาจารย์ยังต้องแบ่งเวลาไปทำงานวิจัย จึงเป็นเรื่องยากที่มหาวิทยาลัยจะสามารถจัดการศึกษาได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของนักศึกษา สิ่งเหล่านี้ผลักดันให้นักศึกษาต้องไปเรียนพิเศษเพิ่มเติม

สถาบันสอนพิเศษในอังกฤษมีสาขาวิชาที่หลากหลายให้เลือก เพื่อดึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน นักศึกษาระดับปริญญาตรีและนักศึกษาในสถาบันอาชีวศึกษา เช่น สถาบันสอนพิเศษอัลฟา ติวเตอร์ เปิดสอนนักเรียนที่ต้องการสอบ SATs, GCSEs, GCE A Level, และยังสอนนักศึกษาระดับปริญญาอีกด้วย โดยสาขาที่เปิดสอน เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาต่างประเทศกว่า 51 ภาษา วิชาว่าด้วยความต้องการของสังคม (Social needs subject) การเงิน การธนาคาร การตลาด ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม สังคมศาสตร์และกฎหมาย ศิลปะ การละคร ไอทีและคอมพิวเตอร์ รวมถึงวิชาที่เปิดสอนในสถาบันอาชีวศึกษา ฯลฯ ภายใต้สาขาวิชาเหล่านี้ยังมีวิชาแยกย่อยหลายวิชา (www.alphatutors.co.uk) สถาบันสอนพิเศษฟลีท ติวเตอร์ มีกลุ่มเป้าหมายและความหลากหลายของสาขาวิชาที่สอนเช่นเดียวกับอัลฟา ติวเตอร์ เช่น บัญชี การตรวจสอบบัญชี ธุรกิจศึกษา เศรษฐศาสตร์ ภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่น ๆ วิชาที่ว่าด้วยการออกเสียง ศิลปะ ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ ชีววิทยา เคมี คอมพิวเตอร์ วิศวกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งแวดล้อม ภูมิศาสตร์ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน การเขียนบทละคร การออกแบบ การละคร ศิลปะสมัยกรีกยุคโบราณและสมัยใหม่ อาหารและเทคโนโลยีอาหาร การดูแลเด็ก ฯลฯ (www.fleet-tutors.co.uk)

โฆษกที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร (University UK: UUK) กล่าวว่า เข้าใจความต้องการของนักศึกษาและทราบถึงสภาพปัญหาของมหาวิทยาลัย จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ UUK เรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้มหาวิทยาลัย ในทางตรงข้าม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงนวัตกรรม มหาวิทยาลัย และทักษะ (Department for Innovation, University and Skills) บิล แรมเมลล์ (Bill Rammell) กล่าวโต้แย้งว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาในอังกฤษ (National Student Survey: NSS) พบว่า ส่วนใหญ่นักศึกษาพึงพอใจกับการศึกษาที่ได้รับจากมหาวิทยาลัย มีเพียงนักศึกษาบางส่วนเท่านั้นที่ต้องการความช่วยเหลือจากสถาบันสอนพิเศษ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอังกฤษไม่ได้มองข้ามปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด และได้พิจารณาเพิ่มงบประมาณให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง แต่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถลดจำนวนนักศึกษาที่เรียนพิเศษได้หรือไม่

หากกลับมาพิจารณาสถานการณ์ในประเทศไทยพบว่า การกวดวิชาของสถาบันสอนพิเศษในไทยส่วนใหญ่ กลุ่มเป้าหมายหลักคือ นักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย และวิชาที่เปิดสอนส่วนใหญ่เป็นวิชาที่สอนในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว ส่วนการติวหรือเรียนพิเศษของนักศึกษาระดับปริญญาตรีในไทยมีเช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ โดยพบว่า ในมหาวิทยาลัยไม่จำกัดรับบางแห่ง ที่มีนักศึกษาเข้าเรียนปริญญาตรีเป็นจำนวนมาก ขณะที่จำนวนอาจารย์มีไม่เพียงพอต่อการดูแลนักศึกษาได้อย่างทั่วถึง การเรียนการสอนจึงเป็นไปอย่างผิวเผิน อีกทั้งนักศึกษาจำนวนมากไม่เข้าชั้นเรียนทำให้เรียนไม่ทันเพื่อน จึงมีคนบางกลุ่มเปิดสถาบันสอนพิเศษจัดการเรียนสอนสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งนี้โดยเฉพาะ ซึ่งมักจะเป็นนักศึกษารุ่นพี่ที่จบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมจากสถาบันและคณะเดียวกัน นักศึกษาปริญญาตรีที่เข้าไปใช้บริการโดยส่วนใหญ่ มักเรียนในคณะที่ต้องทำความเข้าใจในเนื้อหาวิชาอย่างลึกซึ้งและข้อสอบยาก เช่น กฎหมาย การบริหารรัฐกิจ รัฐศาสตร์ บัญชี เป็นต้น การเรียนการสอนในสถาบันสอนพิเศษจะมีนักศึกษาจำนวนน้อยกว่า การสอนจะลงลึกในเนื้อหาวิชามากกว่า และมีการแนะแนวข้อสอบให้ด้วย ซึ่งต่างจากการเรียนการสอนในห้องเรียน จึงมีนักศึกษาจำนวนมากไม่เข้าห้องเรียน แต่เรียนในสถาบันสอนพิเศษอย่างเดียว

ส่วนนักศึกษาปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยจำกัดรับของไทยแห่งอื่น ๆ ไม่มีพฤติกรรมดังกล่าว การเรียนพิเศษของนักศึกษาเป็นการเรียนเพื่อเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพและเพื่อศึกษาต่อ โดยเฉพาะการเรียนภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี เป็นต้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียนในสาขาวิชาที่นักศึกษากำลังเรียนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครอยากให้เกิดสภาพการกวดวิชาเช่นเดียวกับที่เกิดกับนักศึกษาปริญญาตรีในประเทศอังกฤษและนักศึกษามหาวิทยาลัยเปิดในประเทศไทยบางแห่ง ดังนั้น รัฐบาลควรมีมาตรการที่สำคัญ โดยให้มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาในจำนวนที่สอดคล้องกับจำนวนคณาจารย์ ตามมาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนดไว้ คือ จำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษาระดับปริญญาตรีกลุ่มสาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ควรอยู่ที่ 1:25 และกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรอยู่ที่ 1:15 รวมถึงกำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพการจัดการเรียนการสอน เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสู่สังคม และเพื่อป้องกันมิให้นักศึกษาต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มไปกับการกวดวิชาโดยไม่จำเป็น

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *