AEC : อาเซียนสัญจรเตรียมพร้อมเด็กไทย

AEC : อาเซียนสัญจรเตรียมพร้อมเด็กไทย

มหกรรมอาเซียนสัญจรฯ เตรียมพร้อมเด็กไทยเรียนรู้ วัฒนธรรมเพื่อนบ้าน : โดย…ชุลีพร อร่ามเนตร

แม้การแข่งขันตอบปัญหาอาเซียน (Asean Quiz) และการแข่งขันเวทีสร้างสรรค์สู่ประชาคมอาเซียน (Asean Smart Teens) ในงานมหกรรมอาเซียนสัญจร 4 ภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ กรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ และบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จะปิดฉากลงไปแล้ว แต่สำหรับน้องๆ ทีมชนะเลิศของทั้งสองกิจกรรม เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่พวกเขาจะได้ไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม โดยจะได้รับทุนศึกษาดูงานที่ประเทศอินโดนีเซีย พร้อมเยี่ยมชมสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา และแหล่งมรดกโลก “บุโรพุทโธ” มหาเจดีย์พระพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ระหว่างวันที่ 10-14 ตุลาคม 2555 ส่วนรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จะได้รับทุนศึกษาดูงานที่ประเทศพม่า และรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้ทุนศึกษาดูงานที่ประเทศเวียดนาม

ล่าสุดพวกเขาได้เข้าพบ สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ซึ่งได้กล่าวให้โอวาทแก่เยาวชนชนะเลิศการแข่งขัน มหกรรมอาเซียนสัญจรฯ ว่า อาเซียนถือเป็นมรดกทางการทูตของไทย เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย คนไทยเป็นตัวตั้งตัวตีในการร่วมเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งคนไทยควรตั้งรับ เตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในหลายๆ มิติ ไม่ใช่ตื่นตระหนก หรือตื่นกลัว กระทรวงศึกษาธิการถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่ต้องรับหน้าที่เตรียมความพร้อม ติดอาวุธให้แก่คนรุ่นใหม่ในทุกด้าน โดยเฉพาะภาษา และครู ที่จะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเรือจ้าง แต่ต้องเป็นยานอวกาศ จรวด ที่จะส่งเด็กและเยาวชนที่ศักยภาพ ความพร้อม ตั้งรับได้ในทุกสถานการณ์

ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ ตลอดจนพัฒนาเด็ก เยาวชน และประชาชนไทยเพื่อพร้อมที่จะเป็นประชาชนที่มีคุณภาพของไทยและอาเซียน จุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กิจกรรมมหกรรมการอาเซียนสัญจร 4 ภูมิภาค และกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในกิจกรรมโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเยาวชน พร้อมเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถและศักยภาพในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน และสร้างเครือข่ายระหว่างกันในภูมิภาคอาเซียน

ทุกกิจกรรมล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ เช่นเดียวกับทีมชนะเลิศการแข่งขันตอบปัญหา อย่าง โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.จันทบุรี “น้องต้น” ณัฐภัทร ศิริวงศ์ “น้องพี” พีรพล คมพรรค และ “น้องบอย” อดีศร มีรัตน์ 3 หนุ่มชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมพวกเขาไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับอาเซียน รู้เพียงแต่ว่าเป็นการรวมตัวของ 10 ประเทศ จนกระทั่งโรงเรียนคัดเลือกให้เข้าร่วมการแข่งขัน ทำให้ก่อนการแข่งขันต้องตั้งใจอ่านหนังสือ ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับ 10 ประเทศอาเซียน

“การเข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้ ทำให้ได้ประสบการณ์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะความสามัคคี การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทีมเวิร์กในการทำงาน และทักษะการใช้ภาษาอังกฤษในการตอบคำถาม ทำให้ได้คำศัพท์ใหม่ๆ และทำให้เข้าใจ มีความรู้เกี่ยวกับอาเซียนมากขึ้น จริงๆ อาเซียนเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก คนรุ่นใหม่ต้องปรับตัว เตรียมพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง จะมานิ่งเฉย คิดว่าเราไม่เข้าไม่ได้ เพราะต่อให้เราไม่เข้า หรือไปทำงานในประเทศอาเซียนอื่นๆ แต่แรงงาน หรือประชาชนจากประเทศอื่นๆ ก็เข้ามาในประเทศเราอยู่ดี การจัดงานมหกรรมอาเซียนสัญจรครั้งนี้ เป็นเวทีที่ทำให้เด็ก เยาวชนเกิดความตื่นตัว เตรียมพร้อมทักษะความรู้ ความสามารถ เข้าใจวัฒนธรรม วิถีชีวิตของประเทศอาเซียน”

เช่นเดียวกับ “ใหม่” วสันต์ แก้วประเสริฐ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และ “หนู” นันทิดา บัวเชื่อม รุ่นน้องร่วมสถาบัน สมาชิกทีมชนะเลิศเวทีสร้างสรรค์สู่ประชาคมอาเซียน ช่วยกันเล่าว่า การแสดงของพวกเราทั้ง 7 คน ในชุดลีลานาฏกรรมนำสู่อาเซียน เป็นนาฏศิลป์ประยุกต์ ที่มีการผสมผสานการนาฏศิลป์ทั้ง 4 ภาคของไทยผสมผสานเข้ากับการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องราวที่ทุกประเทศในสมาชิกอาเซียนเข้าใจ และบ่งบอกถึงความเป็นไทย หากไม่มีเวทีให้พวกเด็กรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ บางครั้งพวกเขาก็ไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น

แม้ว่าโรงเรียน มหาวิทยาลัยมีการส่งเสริม ให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศอาเซียน แต่โลกของการเปลี่ยนแปลง การอ่านจากตำราเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ “ครูโจ” อโนทัย ส้มอ่ำ อาจารย์สอนวิชานาฏศิลป์ไทย ”โขนพระ” ของหนูและใหม่ เล่าปิดท้ายว่า กิจกรรมมีความสำคัญในการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้นเมื่อบริษัทเนชั่นฯ ส่งจดหมายไปทางวิทยาลัยสนใจและได้คัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วม เพื่อเป็นโอกาสในการเรียนรู้ให้แก่พวกเขา ที่จะได้ฝึกฝน พัฒนาตนเอง ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย รวมถึงเพื่อศึกษาเข้าใจประเทศอาเซียนมากขึ้น เพราะอาเซียนเป็นเรื่องใกล้ตัว หากไม่มีหน่วยงาน ครู คอยกระตุ้น อนาคตอาจทำให้เด็กไทยพลาดโอกาสในหลายๆ ด้าน

ที่มา : คมชัดลึก

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *