9 ปีของสังคมไทยกับความเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียง

9 ปีของสังคมไทยกับความเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียง
พอเพียงภิวัตน์ : พิพัฒน์ ยอดพฤติการ กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2550
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้รับรายงานการวิจัยเรื่องการสังเคราะห์งานวิจัย ข้อเขียน และบทความเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เอกสารฉบับนี้เป็นความพยายาม ที่จะเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จากงานวิจัย ข้อเขียน และบทความจำนวน 204 ชิ้น ในช่วงเวลา 9 ปี (2542-2550) ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การบริหารจัดการ การศึกษา ตลอดจนมิติที่เกี่ยวกับกฎหมาย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
งานวิจัยส่วนใหญ่ได้ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่มีอยู่ดั้งเดิมในสังคมไทย มีพื้นฐานมาจากศาสนธรรม และวิถีความเป็นอยู่ของชาวไทย ในข้อเขียนและบทความต่างๆ ได้มีความพยายามที่จะเปรียบเทียบเศรษฐกิจพอเพียง กับเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือที่บางครั้งเรียกกันว่าระบบทุนนิยม มีความพยายามที่จะอธิบายปัญหาเศรษฐกิจ ที่ดำรงอยู่จากมุมมองของเศรษฐกิจพอเพียง ในแง่ที่เป็นทั้งเศรษฐกิจเชิงมหภาค การเกษตรและชนบท อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ตลอดจนการเผยแพร่กรณีศึกษาของกลุ่มที่มีการปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ครัวเรือน องค์กรธุรกิจ ชุมชน ไปจนถึงระดับประเทศ รวมทั้งมีความพยายามในการสร้างตัวบ่งชี้ เพื่อใช้วัดความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในระดับต่างๆ
ในด้านการเมืองและการปกครองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ได้มีความพยายามที่จะเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การเมือง และการปกครอง เข้ากับการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ขณะที่ในด้านการศึกษายังปรากฏถึงความไม่เข้าใจ ในการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับการศึกษาอยู่มากพอสมควร
ส่วนในด้านกฎหมายได้มีความพยายามในการผลักดันกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อสนับสนุนการปรับทิศทางของประเทศ ไปสู่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ในด้านสุขภาพมักเป็นเรื่องของการให้บริการด้านสุขภาวะองค์รวม โดยเน้นที่คุณธรรม และจริยธรรมเพื่อความสุขของทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ และในด้านสิ่งแวดล้อม จะอยู่ภายใต้เรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นส่วนใหญ่
ในการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้ ยังไม่พบงานวิจัยที่ศึกษาบทบาทของครอบครัว สถาบันศาสนาในการพัฒนาคุณธรรม และจริยธรรม แม้จะมีการศึกษาบทบาทของสถาบันการศึกษาในการดำเนินกิจกรรม ที่มีรูปแบบสอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจพอเพียง แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ากิจกรรมดังกล่าว มีผลในการพัฒนาทางความคิดและความรู้คู่คุณธรรม ได้อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่
ส่วนการศึกษาในระดับครัวเรือนจะเป็นการศึกษาลักษณะการเป็นเศรษฐกิจพอเพียง และผลลัพธ์ที่เน้นความพอเพียง มากกว่าศึกษาผลกระทบในแง่การถ่ายทอดแนวคิดดังกล่าว สู่สมาชิกรุ่นใหม่ในครัวเรือน หรือการสร้างผลกระทบในแง่การเป็นตัวอย่างต่อเพื่อนบ้าน
ขณะที่สถาบันดั้งเดิมคือ ครอบครัว และวัดอ่อนแอลง ส่วนสถาบันการศึกษาก็เป็นสถาบันที่มีรูปแบบที่ไม่กลมกลืนกับวิถีชุมชนนัก การศึกษาวิจัยในระดับชุมชนกลับพบว่ากิจกรรมและกระบวนการในระดับกลุ่มชุมชน สามารถมีผลต่อการสร้างการเรียนรู้และการปรับพฤติกรรมของสมาชิกในกลุ่มหรือชุมชนได้ แต่ในอนาคตหากสถานศึกษาจะพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอน ไปในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มมากขึ้น เหมือนเช่นที่มีการริเริ่มดำเนินการในการศึกษาทุกระดับอยู่แล้ว
ในขณะนี้ข้อเชื่อมต่อที่ยังไม่ปรากฏความเข้มแข็งอย่างชัดเจน คือ วัด ถ้ายังไม่สามารถสร้างสถาบันวัด ให้เข้มแข็งด้วยระบบการศึกษาของพระสงฆ์ได้ในระยะปานกลาง อาจจะต้องอาศัยชุมชนเป็นหลัก และถ้าทิศทางของการพัฒนาสถาบันศึกษาในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงยังไม่เปลี่ยนแปลง อาจจะพึ่งสถาบันการศึกษาได้บ้างในระยะปานกลาง
การทบทวนวรรณกรรมในส่วนเกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่สามารถประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ พบว่า การพัฒนาองค์ความรู้ในด้านนี้ยังจำกัดอยู่มาก ส่วนมากจะเป็นการศึกษาภาคเกษตรและชนบทกับเกษตรทฤษฎีใหม่ แม้ว่าจะมีการยกตัวอย่างบริษัทธุรกิจเอกชนที่มีแนวคิดและปฏิบัติสอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียง แต่ก็เป็นการศึกษาเชิงบรรยายที่ไม่ได้สร้างผลกระทบในเชิงวิชาการมากนัก
ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการศึกษาในมิติการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่มากพอสมควร ทั้งโดยนักเศรษฐศาสตร์ (ที่คำนวณดัชนีชี้วัด ISEW และคำนวณ GREEN GDP ที่สะท้อนต้นทุนสิ่งแวดล้อมในการคำนวณสวัสดิการสังคม และในการคำนวณผลผลิตมวลรวมประชาชาติ ตามลำดับ) และนักมานุษยวิทยา (ที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของชุมชน ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ) ส่วนการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ก็กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ
อย่างไรก็ดี มีคำถามว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนมีแนวคิดที่ต่างจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือไม่อย่างไร คำตอบในเรื่องนี้อยู่ที่ข้อเท็จจริงที่ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนที่พัฒนามาจากตะวันตก ยังมิได้เน้นมิติของจริยธรรม ซึ่งเป็นศาสตร์หนึ่งของจริยธรรมที่ว่าด้วยสิ่งแวดล้อม (ENVIRONMENTAL ETHICS) และงานศึกษาวิจัยของไทย ในมิติที่ผสมผสานแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐาน พุทธเศรษฐศาสตร์และจริยธรรมสิ่งแวดล้อมก็ยังมีจำกัด
หลังการทบทวนงานวิจัย ข้อเขียน และบทความเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงเกือบทศวรรษหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ พบว่า เรายังไม่สามารถสร้างองค์ความรู้เพิ่มเติมขึ้นเพียงพอที่จะตอบโจทย์เหล่านี้ได้อย่างชัดเจน รวมทั้งยังมีองค์ความรู้จำกัด ที่จะช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อตอบวัตถุประสงค์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 จึงยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนาความรู้ด้านนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรมีการจัดทำดัชนีชี้วัดความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศในระดับต่างๆ
โดยในระหว่างการจัดทำนี้ หากพบว่ายังมีความรู้ในเรื่องใดที่ยังมีความไม่กระจ่างชัด และสามารถหาคำตอบได้ด้วยงานวิจัย ก็ควรส่งเสริมให้มีการจัดทำวิจัยในเรื่องนั้นๆ เพิ่มเติม พร้อมกับการลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยงานวิจัยในส่วนที่เป็นการพัฒนาทฤษฎีที่เป็นผลจากการปฏิบัติจริง จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง ต่อการนำไปใช้พัฒนาสังคมและประเทศในวงกว้าง
คอลัมน์พอเพียงภิวัตน์ มีประจำทุกวันอังคาร : เวทีสำหรับการนำเสนอประเด็น และมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง : ติดตามความคิด บทสัมภาษณ์ และบทความอื่นๆ ได้ที่ PIPAT.COM

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *