5 ซีอีโอพันธุ์ใหม่แห่งศตวรรษที่ 21

5 ซีอีโอพันธุ์ใหม่แห่งศตวรรษที่ 21

+ผู้นำที่มีความสามารถรอบด้านจะต้องหลีกทางให้แก่ผู้ที่มีความเก่งกาจเฉพาะด้านที่มีเส้นสายโยงใยอยู่ทั่วโลก หรือคนที่สามารถเกณฑ์ให้ดาวรุ่งมาอยู่ร่วมทีมเดียวกันได้

เจมส์ เอ็ม ซิตริน ได้รับสมญานามว่า นักปั้นราชาแห่งองค์กร เขาคลุกคลีอยู่กับความต้องการผู้นำของบริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงระดับต้นๆ ของโลกอย่างใกล้ชิด ในฐานะผู้ก่อตั้ง สเปนเซอร์ สจ๊วต เทคโนโลยี คอมมูนิเคชั่นส์และมีเดีย แพรคทิส นักล่าผู้บริหารมืออาชีพรายนี้ได้ปั้นซีอีโอ ซีเอฟโอและกรรมการบริหารจำนวน 165 คนเข้าสู่ตำแหน่งตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา รวมถึงดาวเด่น เช่น เดวิด แอล คัลโฮน ดาวรุ่งแห่งเจเนอรัล อิเล็กทริก ซึ่งได้รับข้อเสนอที่ดีกว่าจากบริษัท วีเอ็นยู (ปัจจุบัน คือ นีลเส็น) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทไพรเวทอิควิตี้ อันโตนิโอ เอ็ม เปเรซ ซีอีโอแห่งอีสท์แมน โกดักและเอ็ดเวิร์ด เจ แซนเดอร์ ซีอีโอแห่งโมโตโรล่า
จากแท่นบัลลังก์ของซิตริน เขาได้เฝ้ามองเหล่าซีอีโอของบริษัทมหาชนกำลังพ่ายแพ้ในการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความสามารถ โดยมีความต้องการที่ไม่มีวันเพียงพอในเรื่องผลงานและเวลาค้ำคออยู่ “งานของซีอีโอนั้นต้องอาศัยพลังงานอย่างมากและมีความซับซ้อนสูง ชนิดที่ว่าถ้าเอางานที่ซีอีโอต้องรับผิดชอบทั้งหมดมาเรียงกันแล้วล่ะก็ไม่มีมนุษย์คนไหนทำได้ทั้งหมดแน่นอน” เขากล่าว ประกอบกับในตอนนี้ที่มือหนึ่งทั้งหลายต่างพากันสละเรือไปอยู่กับบริษัทไพรเวทอิควิตี้มากขึ้นเรื่อยๆ เขาจึงรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบของซีอีโอในบริษัทมหาชน
ภายใน 5 ปีข้างหน้า ซิตรินเชื่อว่า คณะกรรมการบริหารจะต้องยึดแนวคิด “ซีอีโอเฉพาะด้าน” เขายังเสริมอีกว่า คณะกรรมการจะต้องยอมรับความจริงว่า ซีอีโอที่ไร้ที่ตินั้นมีน้อยขนาดไหน ดังนั้น แทนที่จะตั้งหน้าตั้งหาซีอีโอที่เก่งเสียทุกเรื่อง พวกเขาควรจะยอมรับซีอีโอที่มีความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งในเรื่องสำคัญๆ เพียงเรื่องหรือสองเรื่องและมีองค์ความรู้หรือโนฮาวในด้านอื่นๆ ที่เหลือมากพอที่จะสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพสูงได้
ซิตรินเชื่อว่า จุดสนใจที่เปลี่ยนแปลงไปของคณะกรรมการนี้จะส่งผลต่อโครงสร้างของเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งหมด โดยที่ซีโอโอหรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการนั้นจะมีฐานะเกือบเทียบเท่ากับซีอีโอ และจะมีผู้นำในแต่ละหน่วยงานย่อยเพิ่มมากขึ้น เช่น หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลและฝ่ายการตลาด และต้องทำงานร่วมกับคณะกรรมการมากขึ้นด้วย ในอนาคตอันใกล้ ซิตรินคาดว่าจะมีความต้องการซีอีโอที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 5 ประเภทดังต่อไปนี้
มันสมองแห่งองค์กร ไม่ว่าจะเป็นอัจฉริยะที่มีความโดดเด่นทางด้านการคำนวณคณิตศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ที่มีมันสมองเป็นเลิศหรือนักออกแบบที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง บุคคลเหล่านี้กำลังจะก้าวไปสู่การเป็นซีอีโอพันธุ์ใหม่ซึ่งเป็นที่หมายปองของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย เพราะขณะที่การแข่งขันในตลาดโลกดุดันขึ้นทุกวัน นักคิดค้นที่มีหัวสร้างสรรค์ที่มาตำแหน่งซีอีโอจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยสร้างสินค้ายอดฮิตชิ้นใหม่ให้กับธุรกิจ ซึ่งจะช่วยคลายความกดดันเรื่องยอดรายได้รวมของบริษัทได้ในที่สุด นอกจากนี้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของผู้บริหารจะผลักดันให้ทีมวิศวกร ทีมวิจัยและพัฒนามีขวัญและกำลังใจเพิ่มขึ้นอีกด้วย
แม่แบบ อาร์เธอร์ ดี เลวินสัน ซีอีโอแห่งจีเน็นเทค ซึ่งพกดีกรีปริญญาเอกทางด้านชีวเคมีและเป็นที่โจษจันว่า เขามักจะส่งอีเมลถึงนักวิจัยของเขากลางดึกเกี่ยวกับรายละเอียดของผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซิตรินยังกล่าวถึง รีด เฮสติ้งส์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแห่งเน็ตฟลิกซ์ อดีตวิศวกรซอฟต์แวร์ที่สเปนเซอร์ สจ๊วตเคยจับลงทีมบริหารของไมโครซอฟท์ด้วย
นักการฑูต ในอดีต ถ้าเคยอยู่ลอนดอนเป็นเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 2 ปีก็เรียกได้ว่า มีประสบการณ์ในระดับนานาชาติแล้ว แต่ในอนาคตมุกนี้คงจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป “ความต้องการซีอีโอที่มีประสบการณ์ช่ำชองในตลาดประเทศเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้นทุกที” ซิตรินกล่าว คณะกรรมการมองหาซีอีโอที่มีตราประทับในหนังสือเดินทางที่แสดงว่า เคยเดินทางไปจีนและอินเดีย รวมถึงรัสเซีย บราซิลและดูไบอย่างสม่ำเสมอ เพราะคุณสมบัติของบรรดานักการฑูตนั้น ไม่เพียงแต่จะมีความคุ้นเคยกับประเทศเป้าหมาย แต่ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลในท้องถิ่น ครอบครัวท่านผู้นำและนักธุรกิจที่มีอิทธิพลอีกด้วย

แม่แบบ ซิตรินยกตัวอย่าง รูเพิร์ท เมอร์ดอค ซีอีโอแห่งนิวส์คอร์ป ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนและสร้างพันธมิตรกับบริษัทท้องถิ่น อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ อินทรา เค นูยี ซีอีโอแห่งเป๊ปซี่ โคซึ่งมีบ้านเกิดในเมืองเชนไน ประเทศอินเดีย
นักเจรจาต่อรอง ซิตรินเชื่อว่า นักเจรจาฝีปากเอกที่สามารถขายทรัพย์สินที่ไม่ใช่แกนหลักขององค์กรและเป็นคู่แข่งที่สูสีกับบริษัทไพรเวทอิควิตี้ในการเข้าซื้อกิจการใหญ่ๆ ได้จะกลายเป็นที่ต้องการอย่างมาก แน่นอนว่า การต่อรองซื้อขายนั้นเป็นหนึ่งในความสามารถหลักที่ซีอีโอทุกคนจะต้องมีมานานแล้ว แต่ “การซื้อขายที่เป็นกลยุทธ์ครั้งสำคัญขององค์กรจะกลายเป็นการเจรจาที่วางเดิมพันอนาคตของบริษัทมากขึ้นเรื่อยๆ” เขากล่าว

แม่แบบ เอ็ดเวิร์ด อี วิททาเคอร์ จูเนียร์ อดีตซีอีโอแห่งเอทีแอนด์ทีที่เกษียณอายุไปแล้วได้พลิกเอสบีซี คอมมูนิเคชั่นส์จากที่เคยเป็นบริษัทที่เล็กที่สุดในกลุ่มเบลล์ให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 242 พันล้านเหรียญ ซิตรินกล่าวว่า “เขาให้กำเนิดผู้เล่นรายใหญ่ ซึ่งถ้าพิจารณาจากจุดเริ่มต้นแล้ว มันไม่น่าที่จะเป็นไปได้เลย”
ผู้กำกับ กำแพงขององค์กรจะค่อยๆ ลดระดับลง เนื่องจากองค์กรต่างๆ ได้สร้างพันธมิตรกับภายนอกมากขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายของนักคิดค้นนวัตกรรมและแปรรูปความคิดให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้จริง ในขณะเดียวกัน ความต้องการที่จะร่วมมือกันระหว่างแผนกต่างๆ ภายในองค์กรก็เพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะหากต้องการที่จะขยายการเติบโตไปในส่วนใหม่ๆ องค์กรจะต้องประสานความคิดสร้างสรรค์ของแผนกต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งผู้กำกับวงออเคสตร้าคนนี้จะต้องมีทักษะที่จะทำให้นักดนตรีทุกคนเล่นเครื่องดนตรีที่หลากหลายในคีย์เดียวกันให้ได้

แม่แบบ เอจี แลฟลีย์ซึ่งกล่าวว่า อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์ใหม่ของพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิลจะต้องมาจากนอกห้องทดลองของฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัท ซิตรินยังกล่าวอีกด้วยว่า ฝีมือการคว้ายิลเล็ตต์มาอยู่ภายใต้ร่มของพีแอนด์จีด้วยมูลค่า 57 พันล้านเหรียญนั้น พิสูจน์พรสวรรค์ของแลฟลีย์ในการเป็นผู้กำกับมือฉมัง
นักล่าฝีมือดี ถ้าคุณคิดว่า “คนคือทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของเรา” เป็นประโยคที่ได้ยินซ้ำซากจนน่าเบื่อแล้วล่ะก็ ต้องรอดูต่อไป เพราะว่าสงครามการไล่ล่าดาวรุ่งฝีมือดีจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เมื่อเหล่าเบบี้บูมเมอร์เริ่มเกษียณไปตามวัยและผู้จัดการในตลาดประเทศเกิดใหม่ยังขาดแคลน ซีอีโอที่สามารถซื้อใจผู้บริหารมือดีไว้ได้และมีเครื่องมือจูงใจที่มีประสิทธิภาพจะกลายเป็นซีอีโอในฝันแห่งยุคเลยทีเดียว
แม่แบบ แอนน์ เอ็ม มัลเคไฮที่แต่งตั้งเออซูล่า เบิร์นส์จากตำแหน่งซีโอโอและดูมีความสามารถในการสืบทอดตำแหน่งอย่างชัดเจนให้เป็นประธานบริษัทตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซิตรินกล่าวว่า “เธอมีความสามารถในการคัดเลือกคนให้เหมาะสมกับงานและทำให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าประทับใจมาก”
เส้นทางอาชีพ
คลาเรนซ์ โอทิส จูเนียร์

สัมผัสเส้นทางชีวิตของซีอีโอผู้เผชิญชีวิตวัยเด็กท่ามกลางการจราจลเหยียดสีผิวบนถนนในย่านวัตต์ส จนมาถึงวอลล์สตรีท กระทั่งปัจจุบันชายวัย 51 ปีคนนี้คือซีอีโอแห่งดาร์เดน เรสเทอรองท์ เจ้าของเครือธุรกิจโอลิฟ การ์เดนและเครืออื่นๆ
ผมโตขึ้นในชุมชนที่ค่อนข้างโหดร้ายทีเดียว ผมเกิดในปี 1956 และในปี 1965 ก็เกิดการจราจลในเมืองวัตต์ขึ้น (ความขัดแย้งเรื่องสีผิว) ผมยังจำภาพกองกำลังรักษาดินแดนพร้อมมีดปลายปืนไรเฟิลได้ติดตา สมัยผมเรียนมัธยมปลายผมมักจะโดนตำรวจเรียกเสมอ เอาปืนจี้และให้นอนราบลงกับพื้น แต่ถ้าคุณหัวดีก็จะมีคนมากมายทุ่มเทเงินให้คุณ เพื่อจะได้แน่ใจว่าคุณมีโอกาสไม่น้อยกว่าคนอื่น พ่อแม่ของผมให้ความสำคัญกับการประสบความสำเร็จในชีวิตมากและเชื่อว่า เราสามารถจะเป็นอะไรก็ได้ที่เราอยากเป็น ตัวผมเชื่อว่าบริษัทใหญ่ๆ คงจะมีอิทธิพลและสร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ดังนั้นผมคิดว่า ถ้าคุณสามารถชี้อนาคตของบริษัทใหญ่ๆ ได้ คุณก็จะสามารถสร้างความแตกต่างทางสังคมได้
ในตอนแรกที่ผมเข้าสัมภาษณ์ (ในตำแหน่งการเงิน) ที่ดาร์เดน ผมรู้สึกว่า องค์กรนี้มีความหลากหลายมากเมื่อเทียบกับวอลล์สตรีท ผมชอบที่แบรนด์ของเราดึงดูดคนในตลาดแมส ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้แบรนด์นั้นแพร่หลาย ส่วนฐานพนักงานของเราก็หลากหลายมาก มีความแตกต่างในทุกมุมมองเลยก็ว่าได้ และในอุตสาหกรรมนี้พนักงานระดับล่างสุดก็มีโอกาสไต่ขึ้นไปยืนในระดับบนสุดได้ด้วย แถมยังเป็นองค์กรที่มีความอ่อนน้อมอย่างที่ผมรู้สึกสบายใจในการทำงานด้วย

ที่ดาร์เดน เรามีมรดกตกทอดที่สำคัญในเรื่องของความหลากหลาย แต่เราต้องการพัฒนาระบบนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก เราผลักดันให้มีเครือข่ายในการช่วยเหลือพนักงานของเรามากขึ้นและต้องการขยายประสบการณ์การเรียนรู้ในความแตกต่างให้ทั่วถึงทั้งทีมผู้บริหาร แต่ผมไม่ได้มองว่านี่เป็นงานการกุศลหรอกนะ ผมมองว่าการริเริ่มในเรื่องความแตกต่างนี้จะทำให้เราแซงหน้าคนอื่น เพราะพวกเราคงไม่สามารถประสบความสำเร็จในเรื่องยอดขายได้อย่างทุกวันนี้ ถ้าชนกลุ่มน้อยซึ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกวัน รู้สึกไม่สบายใจเวลามาทานอาหารที่ร้านของเรา

© 2007 by The McGraw-Hill Companies Inc. All rights reserved.

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *