“ 3PLไทย-เทศ” งัดกลยุทธ์สู้

“3PL ไทย-เทศ” งัดกลยุทธ์สู้
Source: ปาหนัน ลิ้ม

เสริมศักยภาพเต็มขั้นหวังชิงลูกค้า เกาะกระแส 3PL มาแรง ผู้ให้บริการทั้งไทยและต่างชาติต่างงัดกลยุทธ์เชิงรุกเสริมประสิทธิภาพทุกรูปแบบ
หวังชิงเค้กก้อนโต ระบุ 3PL โตต่อเนื่องเพิ่มขึ้นปีละกว่า 15% ด้านผู้ประกอบการไทยใช้บริการเพียง 5-7% เท่านั้น ขณะที่สหรัฐฯ เอาท์ซอร์สถึงกว่า 50% เวทีการแข่งขันของผู้ให้บริการธุรกิจ Logistics สมัยใหม่ครบวงจร หรือที่เรียกว่า Third Party Logistics เข้มข้นทุกขณะ ผู้ให้บริการ 3PL ทั้งไทยและต่างชาติต่างเร่งเสริมศักยภาพทางธุรกิจอย่างหนัก หวังชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ระบุแนวโน้มผู้ใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากผู้ประกอบการไทยเริ่มมองเห็นความสำคัญของการเอาท์ซอร์ส และเริ่มหันมาใช้บริการมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการไทยใช้บริการ 3PL เพียง 5-7% เท่านั้น ขณะนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วมีการใช้บริการถึง 30-50% และสหรัฐอเมริกามีการเอาท์ซอร์สสูงถึงกว่า 50% ที่นับว่าในไทยยังมีตลาดผู้ใช้บริการให้ 3PL ช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดอยู่อีกมาก …
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันผู้ประกอบการเริ่มมองเห็นความสำคัญและเริ่มนำรูปแบบการจัดการระบบโลจิสติกส์มาใช้ โดยเริ่มเอาท์ซอร์สในกิจกรรมบางประเภท และคาดว่าแนวโน้มจะมีผู้ใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากหลายบริษัทพยายามลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากกิจกรรมหลักที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ แล้วหันไปให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่เป็นหัวใจของธุรกิจแทน
เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้นทุน Logistics ของโลกปัจจุบันมีมูลค่ารวมถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นต้นทุนขนส่ง (Transportation) ราว 390 พันล้านดอลลาร์ หรือ 39% ของต้นทุนรวม Logistics นอกจากนี้ต้นทุนสำคัญอื่นๆ ของ Logistics ยังประกอบด้วย การบริหารคลังสินค้า (Warehousing) 27% การสต๊อกสินค้า (Inventory) 24% การจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement) 6% และการบริหารจัดการทั่วไป (Management) 4%
ทั้งนี้ ต้นทุน Logistics ของไทยในปัจจุบันสูงถึง 25-30% ของ GDP ซึ่งนับว่าสูงกว่าประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะจีน ที่มีต้นทุนโลจิสติกส์เพียง 20% ของ GDP เท่านั้น โดยกระทรวงการคลังได้ประเมินว่า หากไทยสามารถลดต้นทุน Logistics เหลือ 10% ของ GDP จะช่วยประหยัดรายจ่ายไม่จำเป็นถึง 300,000 ล้านบาท และจะช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล
จากความล้าหลังของการพัฒนา Logistics ของไทย เปิดโอกาสให้ธุรกิจ Logistics ข้ามชาติที่เป็น 3PL มาบริการในไทยและแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ดังนั้น 3PL ไทยต้องเร่งพัฒนาตนเองพร้อมสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ก่อนที่เค้กชิ้นที่เหลือจะตกเป็นของผู้ให้บริการต่างชาติไปหมด
ในเรื่องนี้ผู้คร่ำหวอดในวงการต่างออกมาฟันธงว่า คาดว่าประมาณ 4 ปีข้างหน้าสัดส่วน 70-80% ของ Logistics ในไทย จะถูกควบคุมโดยบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และผู้ให้บริการไทยต้องเร่งสร้างศักยภาพและชิงส่วนแบ่งทางการตลาดให้ได้…
ทางรอด 3PL ไทย แนะหาพันธมิตรเพิ่มความแกร่ง
ภาพรวมศักยภาพและโอกาสของ 3PL ในประเทศไทยนั้น ขณะนี้มีการแข่งขันกันสูงมากทั้งผู้ให้บริการคนไทยและต่างชาติ โดยมีการแข่งขันกันด้านราคา รวมถึงการแข่งขันกันสร้างกลยุทธ์เสริมประสิทธิภาพบริการ เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการ ซึ่งตลาดของผู้ใช้บริการในประเทศไทยยังมีอีกมาก ทำให้ผู้ให้บริการล้วนมีโอกาสที่จะขยายธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ให้บริการรายใหญ่ที่เป็นต่างชาติ ที่นับว่ามีข้อได้เปรียบผู้ให้บริการไทยอยู่มาก เพราะมีเทคโนโลยี บุคลากร และองค์ความรู้ต่างๆ ที่เหนือกว่า รวมถึงการมีเครือข่ายทางธุรกิจครอบคลุมทั่วโลกที่ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบผู้ให้บริการ 3PL ไทย คุณพงศ์ศิริ ศิริธร Business Development Manager บริษัท CEVA Logistics (Thailand) ผู้นำระดับโลกในการให้บริการด้านโลจิสติกส์ กล่าวแสดงทรรศนะ
“ผู้ประกอบการไทยขณะนี้ยังมีการใช้เอาท์ซอร์สน้อยมาก เพราะผู้ประกอบไทยเข้าใจถึงคอนเซปต์การเอาท์ซอร์ส แต่ยังไม่กล้าเปิดใจ ทำให้ไม่กล้าลอง เพราะยังยึดติดภาพเดิมๆ คือการบริหารจัดการเองทั้งหมด ย่อมเป็นการปิดโอกาสในการพัฒนาตัวเองและปิดโอกาสไม่ให้ผู้ให้บริการหรือผู้เชี่ยวชาญอย่างซีว่าเข้าไปช่วยพัฒนา ทำให้เสียโอกาสที่จะ benchmark และนำข้อดีของคนอื่นมาปรับใช้เพื่อพัฒนาตัวเอง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้บริการของ 3PL อันดับแรกต้องทราบก่อนว่าธุรกิจหลักของตนเองคืออะไร แล้วมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริหารจัดการธุรกิจที่เป็นหัวใจสำคัญของบริษัท (core business) ส่วนกิจกรรมรองอื่นอย่างเช่น กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ควรให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการแทน” คุณพงศ์ศิริ กล่าว
“อย่างไรก็ตาม หากผู้ให้บริการต้องการแข่งขันในเวทีนี้ได้ ต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเองโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ต้องปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยบริหารจัดการ รวมถึงการพัฒนาบุคคลากรของตนให้มีความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่อง เพราะหากเราไม่พัฒนาเราก็ไม่ต่างจากบริษัทขนส่งทั่วไป” คุณพงศ์ศิริ กล่าวย้ำ
ด้านผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายใหญ่ของไทย คุณเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่ม บริษัท ลีโอ ให้ความเห็นเรื่องนี้ด้วยว่า ปริมาณผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์มีแนวโน้มมากขึ้น เนื่องจากตลาดยังคงมีมากอยู่เช่นกัน และลูกค้าเริ่มมาให้ความสนใจเรื่องการเอาท์ซอร์ส และเริ่มมองหาผู้ที่สามารถให้บริการแบบ One Stop Service ดังนั้นลีโอในฐานะผู้ให้บริการายหนึ่งจึงต้องหันกลับมาพัฒนาตัวเองเพื่อเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาการบริการ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า
บริการครบวงจรคือทั้งการนำเข้าส่งออกทุกรูปแบบ พิธีการศุลกากร รถบรรทุก และบริหารจัดการคลังสินค้า รวมถึงการกระจายสินค้าด้วย ขณะนี้ลีโอมีลูกค้าประมาณ 500 ราย แต่มีเพียง 5% เท่านั้นใช้บริการครบวงจร ลูกค้าที่ตัดสินใจเลือกใช้บริการครบวงจรส่วนใหญ่เป็นลูกค้าชาวต่างชาติ หรือบริษัทร่วมทุน ส่วนบริษัทไทยยังใช้บริการเพียงส่วนหนึ่ง การที่ผู้ประกอบการไทยจะหันมาให้ความสำคัญกับการเอาท์ซอร์สแบบครบวงจรคงต้องใช้เวลาพอสมควร
“บริษัทที่เอาท์ซอร์สส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทต่างชาติ หรือเป็นบริษัทที่มีผู้บริหารสมัยใหม่ที่อาจเคยทำงานกับบริษัทต่างชาติมาก่อน ทำให้เห็นความสำคัญว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อธุรกิจเพียงใด หรืออีกส่วนหนึ่งที่เห็นคือบริษัทไทยขนาดใหญ่ที่เอาท์ซอร์สเพียงส่วนหนึ่ง อีกส่วนอาจจะตั้งบริษัทโลจิสติกส์ขึ้นมาเพื่อดูแลงานในส่วนนี้โดยเฉพาะ โดยคัดเลือกบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนั้นจริงๆ มาบริหารจัดการ” กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่ม บริษัท ลีโอ กล่าว
ทางด้าน คุณพูนศักดิ์ เธียไพรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีเทอร์นิตี้ แกรนด์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ชั้นนำของไทย กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์นั้น ในมุมมองของผู้ที่ทำธุรกิจด้านนี้มองว่าแนวโน้มผู้ให้บริการ 3PL ไทยเติบโตยาก โดยเฉพาะผู้ให้บริการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ค่อนข้างแข่งขันลำบาก สิ่งที่ทำได้เพื่อให้สามารถแข่งขันได้คือต้องมีจุดขายที่ชัดเจน มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือที่ดีที่สุดคือทำตัวเองให้ใหญ่ไปเลย พร้อมทั้งวางตำแหน่งเป็นผู้ให้บริการครบวงจร
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยต้องระวังต่างชาติ ต้องระวังเรื่องทุนต่างชาติที่จะเข้ามากินส่วนแบ่ง ถ้าคนไทยไม่รวมกันก็จะลำบาก โดยรวมแล้วถือว่าเหนื่อย สำหรับตลาดผู้ประกอบการไทยที่เป็นผู้ใช้บริการยังมีจุดอ่อนที่ยังไม่เข้าใจว่าโลจิสติกส์คืออะไร และเลือกใช้บริการเพียงบางส่วนเท่านั้น นอกจากนี้ผู้ใช้บริการยังคำนึงถึงเรื่องราคาเป็นลำดับแรก จึงยังไม่เลือกใช้บริการครบวงจร
ทั้งนี้ บริษัทฯ มียอดเติบโตจากปีที่แล้ว และมีแนวโน้มจะมีผู้ใช้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นบริษัทคนไทย ซึ่งผู้มาใช้บริการของบริษัทฯ ส่วนใหญ่จะใช้บริการด้านคลังสินค้า บริการขนส่ง และพิธีการศุลกากร และขณะนี้เริ่มมีผู้มาใช้บริการแบบครบวงจร แต่ยังเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางเท่านั้น
“ปัจจุบันมีผู้ให้บริการโลจิสติกส์กว่า 13,000 ราย ที่เป็นผู้ให้บริการทั้งวงจรของโลจิสติกส์ โดยพบว่ามีการเติบโตประมาณปีละ 10-15% ส่วนในอนาคตแนวโน้ม 3PL จะเติบโตหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบของภาครัฐว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ให้บริการมากน้อยเพียงใด ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการสนใจใช้บริการเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าการใช้บริการ 3PL ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการ” คุณสุวิทย์ รัตนจินดา นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) และในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท โปรเฟส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าว
นอกจากนี้ คุณสุวิทย์ ยังเปิดเผยถึง กรณีการให้บริการของบริษัท โปรเฟส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่เข้าไปบริหารจัดการโลจิสติกส์ครบวงจรให้กับอุตสาหกรรมไวน์ว่า บริษัทฯ ได้เข้าไปบริหารตั้งแต่ Inventory ทำให้ลูกค้าทราบถึงจำนวนและเวลาที่ขายจริง หลังจากนั้นได้ทำรายงานให้กับลูกค้าทราบ จากการเข้าไปช่วยบริหารจัดการทำให้ลูกค้าลดต้นทุนของบริษัทได้กว่า 30% ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในส่วนของการสต๊อกสินค้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเป็นแบบ JIT ได้ รวมทั้งจัดการคลังสินค้า และรีแพคกิ้ง ทำให้ต้นทุนในการบริหารจัดการของลูกค้าลดลง

ระบุ 3PL ช่วยเสริมประสิทธิภาพธุรกิจ
ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่เริ่มให้ความสำคัญและหันมามองการใช้บริการ 3PL มากขึ้น เพราะเล็งเห็นแล้วว่าการลงทุนเองและการดำเนินการเองย่อมไม่คุ้มแน่นอน และเชื่อว่าการให้มืออาชีพเป็นผู้ดำเนินการแทนจะเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันตัวเลขของผู้ประกอบการไทยที่ใช้บริการโลจิสติกส์ยังน้อยมาก เนื่องจากยังเห็นว่าหากบริหารจัดการเองประหยัดกว่าการว่าจ้างบุคคลภายนอก หรือหากจะใช้บริการก็จะเลือกใช้บริการเอาท์ซอร์สเพียงบางส่วนเท่านั้น
ในเรื่องนี้ในมุมมองของผู้ประกอบการและผู้ที่เลือกใช้บริการเอาท์ซอร์ส คุณพนม ควรสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ มีนโยบายบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์เอง โดยตั้ง บริษัท เอเชีย กรีน ทรานสปอร์ต รองรับการขนส่งให้กับธุรกิจที่จะขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดีทางบริษัทฯ ก็ยังเอาท์ซอร์สกิจกรรมในบางส่วน อย่างเช่น การขนส่งทางเรือ โดยให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้บริหารจัดการให้ เนื่องจากในอนาคตความต้องการใช้ถ่านหินเพิ่มมากขึ้น การหาพันธมิตรที่แข็งแกร่งนับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สามารถรองรับสินค้าที่มีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับเป็นยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์อย่างหนึ่ง
สำหรับมุมมองของนักวิชาการ ผศ.ดร.รุธิ์ พนมยงค์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอมุมมองว่าผู้ให้บริการที่เป็น 3PL จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการของผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการต่างชาติ ได้ให้ความสำคัญกับการเอาท์ซอร์สให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์บริหารจัดการ แต่อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการไทยต้องเร่งปรับตัวพร้อมพัฒนาประสิทธิภาพบริการเพื่อการช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด เพราะการแข่งขันจะเป็นการแข่งขันกับผู้ให้บริการที่เป็นต่างชาติที่มีเครือข่ายทั่วโลก
ส่วนแนวโน้มของผู้ประกอบการที่ใช้บริการนั้น ผศ.ดร.รุธิ์ มองว่า ตลาดของผู้ใช้บริการจะเติบโตขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ต้องแข่งขัน โดยต้องพยายามเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินการ เพื่อให้สามารถสู้คู่แข่งได้ ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วบริษัทต่างชาติจะให้ความสำคัญเรื่องการเอาท์ซอร์สมากกว่าผู้ประกอบการไทย เนื่องจากผู้ใช้บริการไทยส่วนใหญ่ยังไม่เห็นประโยชน์จากการว่าจ้างบุคคลภายนอกให้จัดการโลจิสติกส์ ทั้งยังกังวลว่าจะไม่สามารถควบคุมระบบได้ จึงเลือกที่จะบริหารจัดการเอง
ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ในองค์กรนั้น หากองค์กรมีการบริหารจัดการที่ดีจะสามารถช่วยเสริมประสิทธิภาพโลจิสติกส์ในองค์กรได้ โดยไม่ต้องอาศัยผู้ให้บริการ 3PL โดย ดร.กฤษฏ์ ฉันทจิรพร นายกสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต หรือ TLAPS ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการเอาท์ซอร์สว่า การเอาท์ซอร์สเป็นเรื่องที่ดี เพราะผู้ให้บริการ 3PL ช่วยให้การบริหารจัดการโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการดีขึ้น ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียเวลาเรื่องการจัดการโลจิสติกส์ขององค์กร ทำให้มีเวลามุ่งพัฒนาธุรกิจหลัก ซึ่งประโยชน์จากการเอาท์ซอร์ส คือ ลดต้นทุน การบริหารมีประสิทธิภาพขึ้น บริการดีขึ้น ช่วยให้ไม่ต้องนำเงินไปลงทุนในส่วนนั้น และที่สำคัญคือผู้ใช้บริการต้องมีความรู้ในเรื่องโลจิสติกส์ว่า เมื่อใช้บริการแล้วจะได้ประโยชน์อะไรและเสียประโยชน์อะไรบ้าง

ผู้ให้บริการ 3PL ไทยดิ้นสู้ เปิดเสรีโลจิสติกส์
จากการที่อาเซียนได้ประกาศกำหนดอย่างชัดเจนให้ปี 2015 เป็นปีเป้าหมายในการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือ AEC และได้กำหนดให้เร่งเปิดเสรีภาคบริการใน 5 สาขาเร่งรัด ได้แก่ สาขาสุขภาพ สาขาคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม สาขาท่องเที่ยว สาขาขนส่งทางอากาศ ภายในปี 2010 และสาขาโลจิสติกส์ ภายในปี 2013 ส่วนสาขาอื่นๆ ให้เปิดตลาดเสรีภายในปี 2015 ตามลำดับ ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องหาแนวตั้งรับ เพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งต่างชาติ
“ประเทศไทยถือว่าอยู่ตรงกลางในการเปิดเสรีครั้งนี้ โดยมีทั้งประเทศที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่า ขณะเดียวกันก็มีประเทศที่มีศักยภาพมากกว่าอย่างสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ซึ่งนับว่าการเปิดเสรีครั้งนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยสามารถทำได้ในขณะนี้ คือเร่งพัฒนาเครือข่าย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจ” คุณสุวิทย์ กล่าว
ดังนั้น สิ่งที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยต้องทำคือสร้าง Awareness ให้กับผู้ประกอบการให้เตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเสนอแนะด้วยว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการคือ การออก พ.ร.บ.ส่งเสริมผู้ประกอบการโลจิสติกส์ เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้กับผู้ให้บริการ 3PL ไทย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นร่าง พ.ร.บ. ถ้าสามารถผลักดันให้ออกมาได้ภายใน 2-3 ปี ก็จะทันกับกรอบเวลาที่กำหนดในอีก 5 ปี ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญและดำเนินการให้เร็วที่สุด เชื่อว่าจะเกิดผลดีกับผู้ประกอบการไทย
“การเปิดเสรีด้านโลจิสติกส์จะมีผลกระทบต่อผู้ให้บริการนั้น เชื่อว่าจะมีทั้งโอกาสและทั้งอุปสรรค สิ่งที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยต้องดำเนินการอันดับแรกคือการหาพันธมิตรทางธุรกิจ โดยเฉพาะพันธมิตรในต่างประเทศ เพื่อสร้างศักยภาพและข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน” คุณพูนศักดิ์ และดร.กฤษฏ์ ให้ความเห็นสอดคล้องกัน
ความท้าทายของผู้ให้บริการ 3PL คือทำอย่างไรที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของผู้ประกอบการให้ได้ ส่วนผู้ใช้บริการเองต้องทำการบ้าน พร้อมทั้งศึกษาโลจิสติกส์เพื่อพัฒนาองค์กร ซึ่งเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่ทุกส่วนต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อสร้างโอกาสและสร้างศักยภาพทางการแข่งขันให้กับตนเอง…

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *