“เอดส์” โรคร้ายทำลายชีวิต

“เอดส์” โรคร้ายทำลายชีวิต
• คุณภาพชีวิต
ทำภูมิคุ้มกันร่างกายถูกทำลาย แถมมีโรคแทรกซ้อน

หมายถึง โรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า HIV หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเชื้อเอดส์ ซึ่งมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายถูกทำลาย และป่วยด้วยโรคติดเชื้อแทรกซ้อนต่าง ๆ เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น วัณโรค เชื้อราในสมอง ติดเชื้อในกระแสโลหิตรุนแรง ปอดบวม ท้องร่วงเรื้อรัง ฯลฯ

HIV ย่อมาจากชื่อของไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์

Human = มนุษย์

Immunodeficiency = ภูมิคุ้มกันเสื่อมลง

Virus = เชื้อไวรัส

AIDS เป็นชื่อย่อของโรคเอดส์ หมายถึง กลุ่มอาการที่เกิดจากภูมิคุ้มกันเสื่อมลงมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส HIV

Acquired = เกิดขึ้นภายหลัง

Immune = ภูมิคุ้มกัน

Deficiency = เสื่อมลง

Syndrome = กลุ่มอาการ

ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์

ผู้ที่มีเชื้อ HIV อยู่ในร่างกายแต่ไม่มีอาการผิดปกติ, ไม่ป่วย เรียกว่า “ผู้ติดเชื้อเอดส์”

ผู้ติดเชื้อเอดส์ที่ภูมิคุ้มกันเสื่อมลงและมีอาการป่วยเรียกว่า “ผู้ป่วยเอดส์”

การติดต่อ

เชื้อเอดส์ติดต่อได้ 3 ทาง ได้แก่

1.ทางเลือด โดยเชื้อโรคอาจเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล เข็มฉีดยา รอยสัก เยื่อบุบาง ๆ เช่น เยื่อบุช่องปาก เยื่อบุตา ฯลฯ

2.ทางเพศสัมพันธ์ เชื้อเอดส์สามารถซึมผ่านเยื่อบุท่อปัสสาวะและช่องคลอดได้ โดยไม่ต้องมีแผลหรือรอยถลอก ปาก คอ รวมทั้งเยื่อบุทวารหนักด้วย

3.จากแม่สู่ลูกในครรภ์ ซึ่งไม่ได้ติดเชื้อทุกราย ลูกจะติดเชื้อจากแม่เพียง 25-30% เท่านั้น และถ้าป้องกันด้วยการใช้ยา การติดเชื้อจากแม่จะลดลงเหลือประมาณ 8-10% เท่านั้น

กลไกการก่อโรคของเชื้อเอดส์

– เมื่อเชื้อเอดส์ผ่านเข้าสู่กระแสเลือด ร่างกายจะตอบสนองโดยการสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อเอดส์ (แอนติบอดี้) ซึ่งสามารถยับยั้งการทำงานของเชื้อเอดส์บางส่วนได้ การตรวจหาการติดเชื้อเอดส์จะใช้วิธีตรวจแอนติบอดี้แทนการตรวจเชื้อเอดส์ เพราะเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกกว่ามาก

– เชื้อเอดส์จะเข้าเกาะติดกับเม็ดเลือดบางชนิด CD4 ซึ่งปกติทำหน้าที่เป็นภูมิต้านทานเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมอื่น และจะเจาะผ่านเข้าอยู่ภายในเซลล์ เชื้อเอดส์จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นจนเซลล์ CD4 แตกออก เชื้อเอดส์จะเข้าสู่กระแสเลือดไปเกาะเซลล์ CD4 ตัวอื่นๆ ต่อไป

– ภูมิคุ้มกันร่างกาย ไม่สามารถทำลายเฉพาะเชื้อเอดส์ที่มีอยู่ในเซลล์ CD4 แต่เซลล์ CD4 ที่มีเชื้อเอดส์จะถูกทำลายไปด้วย เพราะภูมิคุ้มกันไม่สามารถเลือกทำลายเฉพาะเชื้อเอดส์ได้ เมื่อเซลล์ CD4 ลดลงเรื่อยๆ ภูมิคุ้มกันร่างกายจึงเสื่อมลงจนไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคต่างๆ ได้

การวิเคราะห์โอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์
อาศัยปัจจัย 4 ประการ

– ทางออกของเชื้อ เชื้อเอดส์ออกจากร่างกายทางน้ำคัดหลั่งที่มีปริมาณเชื้อเอดส์อยู่มากได้แก่ เลือด น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่น น้ำในช่องคลอด เลือดประจำเดือน น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง ส่วนน้ำคัดหลั่งอื่นไม่สามารถแพร่เชื้อเอดส์ได้ ยกเว้นน้ำนมแม่ที่แพร่เชื้อเอดส์เฉพาะทารกที่ดูดนมแม่เท่านั้น

– สภาพแวดล้อมที่ช่วยให้เชื้อเอดส์มีชีวิตอยู่ได้ เชื้อเอดส์จะตายง่ายในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและแห้ง แต่จะมีชีวิตอยู่ได้นานในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น อับชื้นและมืด เช่น ช่องคลอด ทวารหนัก กระบอกฉีดยา ถุงเก็บเลือดบริจาค ฯลฯ

– ทางเข้าของเชื้อ เชื้อเอดส์ผ่านเข้าสู่ร่างกายทางรอยแผล รอยถลอก และเยื่อบุบางๆ ชั้นเดียวที่อาจมี หรือไม่มีการฉีกขาดก็ได้ เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุช่องปาก เยื่อบุทวารหนัก ผนังช่องคลอด รูเปิดของอวัยวะเพศชาย ฯลฯ

– ปริมาณเชื้อเอดส์ การก่อโรคนั้นจะต้องมีปริมาณเชื้อเอดส์ที่มากพอ โดยเฉพาะถ้าติดเชื้อจากน้ำคัดหลั่งที่มีความเข้มข้นของเชื้อสูง ส่วนน้ำคัดหลั่งที่แพร่เชื้อไม่ได้ มักมีจำนวนเชื้อเอดส์และเซลล์ CD4 น้อยมาก และอาจมีสารบางอย่างที่มีฤทธิ์ทำลายเชื้อเอดส์ได้ เช่น ในน้ำลาย,น้ำตาจะมีน้ำย่อย, และในปัสสาวะจะมีความเป็นกรดเป็นด่าง เป็นต้น

ระยะต่างๆ ของการเกิดเชื้อเอดส์และการป่วย

ระยะตรวจไม่พบการติดเชื้อ

เริ่มตั้งแต่รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะไม่สามารถตรวจพบได้ จนกว่าร่างกายสร้างแอนติบอดี้ต่อเชื้อเอดส์ ใช้เวลา 2 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน (บางครั้งอาจนานถึง 6 เดือน) เป็นช่วงที่แพร่เชื้อได้ง่ายมาก เนื่องจากปริมาณเชื้อในกระแสเลือดสูง และเป็นระยะที่ตรวจไม่พบการติดเชื้อทั้งที่มีเชื้อเอดส์อยู่ (Window period) ดังนั้นการตรวจเลือดได้ผลลบในผู้ที่เพิ่งรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจึงไม่ได้หมายความว่าคนผู้นั้นปลอดเอดส์อย่างแท้จริง

ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ

ผู้ติดเชื้อจะดูปกติแยกไม่ออกจากคนทั่วไป การปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตและเอาใจใส่ดูแล สุขภาพอย่างดี จะช่วยให้ภูมิคุ้มกันเสื่อมช้าลง มีผู้ติดเชื้อเอดส์หลายคนยังคงแข็งแรงดี แม้จะติดเชื้อมานานถึง 15 ปีแล้ว

ระยะเริ่มมีอาการ

ผู้ติดเชื้อเอดส์อาจมีต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังคอ รักแร้และขาหนีบ แต่ส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติ กลับไปสู่ระยะที่ 2 ได้ อาการที่พบบ่อยได้แก่ ไข้สูงนานหลายสัปดาห์ เชื้อราในช่องปาก มะเร็งผิวหนัง เหงื่อออกกลางคืน น้ำหนักลดมากๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต และโรคติดเชื้อแทรกซ้อนต่างๆ

การป้องกัน

การติดต่อทางเลือด ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ใส่ถุงมือทุกครั้งถ้าต้องสัมผัสกับเลือดน้ำเหลือง น้ำหนอง

การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ป้องกันโดยการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

การป้องกันการติดต่อจากแม่สู่ลูกในท้อง ต้องมีการเตรียมตัวก่อนแต่งงานโดยการตรวจสุขภาพและตรวจเลือด

ที่มา: คลังปัญญาไทย

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *