‘จิตแห่งวิทยาการ’ กุญแจสู่ความสำเร็จในทุกอาชีพ

‘จิตแห่งวิทยาการ’ กุญแจสู่ความสำเร็จในทุกอาชีพ

“หากคิดจะเป็นมืออาชีพในโลกแห่งการทำงาน ความสามารถในการคิดได้อย่างอิสระนั้นสำคัญยิ่งกว่าทักษะทางด้านวิชาชีพ”

เป็นคำกล่าวถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จในการทำงานของ Jeff Schmidt ในหนังสือเรื่อง Disciplined Minds: A Critical Look at Salaried Professionals and the Soul-Battering System That Shape Their Lives ซึ่ง Schmidt มองว่าในโลกของภาคธุรกิจ บริษัทชั้นนำต่างๆ ล้วนต้องการบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในทักษะวิชาชีพต่างๆ เช่น ทนายความ นักบัญชีฯลฯ

แต่สิ่งที่บริษัทต่างๆ ต้องการนอกเหนือไปกว่านั้นก็คือ…ทนายความ นักบัญชี หรือนักวิชาชีพใดก็ตาม ที่สามารถคิดเป็นทำเป็น ประมวลข้อมูลและองค์ความรู้ที่มีทั้งหมดมาใช้ในการตัดสินใจแก้ปัญหาได้ โดยที่ไม่ต้องรอการชี้นำหรือรอฟังคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา

ซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จของ Schmidt สอดคล้องแนวคิด จิตแห่งวิทยาการ (Disciplined Mind) ของ Howard Gardner ในหนังสือ “Five Minds for the Future” ที่ระบุถึงปัจจัยหรือคุณสมบัติที่สำคัญ 5 ประการ ที่มนุษย์จำเป็นจะต้องมีเพื่อที่จะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงและเพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการทำงานในยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งประกอบไปด้วย จิตแห่งวิทยาการ (Disciplined Mind) จิตแห่งการสังเคราะห์ (Synthesizing Mind) จิตแห่งการสร้างสรรค์ (Creating Mind) จิตแห่งความเคารพ (Respectful Mind) และจิตแห่งคุณธรรม (Ethical Mind)

“จิตแห่งวิทยาการ” เป็นแนวคิดใหม่ด้านการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการฝึกฝนเพื่อพัฒนาความสามารถในการคิด (Ability to Think) ซึ่งแตกต่างจากมุมมองของการศึกษาแบบดั้งเดิมที่เน้นการท่องจำตามหลักวิชาการด้านต่างๆ โดยปราศจากการคิดประยุกต์พลิกแพลง ซึ่ง Gardner ได้ตีความหมายของจิตแห่งวิทยาการในสองนัย กล่าวคือ

นัยแรก : จิตแห่งวิทยาการ หมายถึง ความรู้ความชำนาญในศาสตร์วิทยาการ ในแบบการมองภาพรวม โดยเข้าใจและประยุกต์ใช้วิทยาการแขนงต่างๆ (Multi disciplinary) เพื่อตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้

ในมุมนี้มองว่าระบบการศึกษาที่เน้นในด้านเนื้อหาวิชาการ (Subjects Matter) อาจสามารถสร้างเด็กให้เรียนเก่งหรือสอบได้คะแนนดี แต่ไม่สามารถรับประกันได้ว่าเด็กเหล่านี้จะประสพความสำเร็จหรือก้าวหน้าในชีวิตการทำงานได้ แม้กระทั่งการใช้ชีวิตประจำวัน

เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น การตัดสินใจหรือแก้ปัญหาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่มีชุดความรู้ใดหรือสาขาวิชาใดที่ตอบโจทย์ได้ทั้งหมด (One Size Fit All) ดังนั้นการมีความรู้ความสามารถที่รอบด้านจะช่วยให้เราคิดเป็น ทำเป็น มองภาพปัญหาอย่างเป็นองค์รวมและสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดในที่สุด

นอกจากนี้นักวิชาการด้านการศึกษาอีกหลายท่าน อาทิ Rawson, D. (1994); McMichael, P. and Gilloran, A. (1984) ยังเชื่อว่าแนวคิด Disciplined Mind จะช่วยให้เกิด การทำงานข้ามสายงาน (Multidisciplinary Teamwork) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากจิตแห่งวิทยาการจะช่วยให้คนที่ทำงานต่างสายงานสามารถพูดภาษาเดียวกัน และเข้าใจในเรื่องเดียวกันได้มากยิ่งขึ้น

นัยที่สอง : จิตแห่งวิทยาการ หมายถึง ความสามารถเชิงพฤติกรรมในการแสวงหา พัฒนาความรู้และทักษะอย่างไม่มีวันสิ้นสุด หรือที่ Gardner บรรยายว่า “Unending Training To Perfect A Skill”

ในมุมมองนี้ได้ให้ความสำคัญกับระบบการศึกษา ระบบการศึกษาที่ดีจะต้องสร้างให้คนเป็นผู้ใฝ่หา การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองไปตลอดชีวิต (Lifelong Learner) อันจะส่งผลให้องค์กรหรือประเทศชาติกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในกระแสโลกาภิวัตน์ และยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Based Economy)

กล่าวโดยสรุป แนวคิด “จิตแห่งวิทยาการ” ของ Gardner สอนให้รู้จักกระบวนการและทักษะในการคิด ที่ไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบขององค์ความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนั้นจิตแห่งวิทยาการจึงเป็นเสมือนรากฐานสำคัญที่ทำให้คนเกิดความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) โดยนำกรอบความรู้ของศาสตร์อื่นๆ มาประยุกต์ใช้ และสามารถทำความเข้าใจแก่นแท้และภาพรวมของปัญหา (Big Picture) จนทำให้สามารถประยุกต์ใช้หรือสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้
นอกจากนี้จิตแห่งวิทยาการยังช่วยให้คนมีความสามารถในการปรับตัว รู้จักต่อยอดความรู้และความคิดใหม่ๆ เป็นการพัฒนาตนเองให้เกิดความก้าวหน้าได้อย่างไม่หยุดยั้ง

สำหรับในเมืองไทยนั้น “สำนักงาน ก.พ.” ซึ่งรับผิดชอบการบริหารและพัฒนากำลังคนในภาครัฐได้ให้ความสำคัญต่อการปลูกฝังแนวคิดเรื่อง “จิตสาธารณะ” สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยในกรอบสมรรถนะ (Competency Model) ที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการบริหารทรัพยากรบุคคลแนวใหม่นั้น ให้ความสำคัญต่อ “คุณลักษณะเชิงพฤติกรรม”ที่เหมาะสมสำหรับการทำงานให้สำเร็จ ดังนั้นแนวคิดเรื่องจิตสาธารณะจึงเป็นเป้าหมายที่ “โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์ความรู้สาธารณะด้านการจัดการทุนมนุษย์” นำมาส่งเสริมเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ของคนในราชการและประเทศชาติโดยรวม

เพราะจิตแห่งวิทยาการมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากเป็นแนวทางที่จะยกระดับความสามารถทางปัญญาของมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ทั้งในแง่ของการสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การยกระดับคุณภาพของสังคมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศจะต้องเผชิญต่อไปในอนาคต

ที่มา : www.thaihrhub.com

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *