โลจิสติคส์กับการท่องเที่ยวไทย

โลจิสติคส์กับการท่องเที่ยวไทย

 

ประเทศไทยเป็นประเทศทันสมัยค่ะ ใครรู้อะไรเห่ออะไร เราก็ต้องรู้มั่งเห่อมั่ง ดูองค์จตุคามรามเทพ นั่นปะไร วันก่อนไปงานทำบุญที่เพชรบุรี เห็นชายไทยแขวนองค์จตุคามรามเทพ อกตั้ง คอตึง กันเต็มงาน

โลจิสติคส์ก็เป็นหนึ่งในความรู้ใหม่ที่กำลังเห่อกันอยู่ในปัจจุบัน แต่ที่จริงโลจิสติคส์ก็เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่นั่นเอง พูดง่ายๆ คือการจัดการให้สินค้าเข้าถึงลูกค้าอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย

ไม่บุบสลาย และต้นทุนต่ำ มีตัวอย่างเรื่องโลจิสติคส์ของการไม่บุบสลายที่ประสบด้วยตนเองเลย คือผู้เขียนเคยไปซื้อเซรามิคของจีนในงานแสดงสินค้าที่ยุโรป ที่จีนทำเลียนแบบของยุโรปโบราณ ราคาแค่หนึ่งในร้อยของของจริง ถามเขาว่า เรื่องการแพคและจัดส่งว่ามั่นใจได้แค่ไหนว่าจะไม่แตกหักระหว่างทาง คนขายตอบแบบลืมไม่ลง (คงไม่กลับไปถามซื้ออีก) ว่า ก็ซื้อหลายๆ ชิ้นซิถูกออกอย่างนี้ อย่าซื้อไปแค่ชิ้นเดียว ยังไงๆ ก็คงเหลือถึงเมืองไทยสักชิ้นหนึ่ง!

แต่การจัดการโลจิสติคส์ด้านการท่องเที่ยวแตกต่างจากการจัดการโลจิสติคส์ของสินค้า เพราะเราต้องจัดการขนส่งคน จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง ซึ่งเป็นงานที่ละเอียดอ่อนกว่าการส่งสินค้ามาก นักท่องเที่ยวแต่ละคนก็มีเป้าหมายในการเดินทาง ไม่เหมือนกัน บางคู่มาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ คู่เหล่านี้ก็คงไม่เร่งไม่รีบ แต่ต้องการความสะดวกสบาย พวกที่มาทัวร์ผจญภัยไปออฟโรดไม่ต้องการความสะดวกสบายขณะขับรถ เพราะกำลังต้องการหลอกตัวเองว่าเป็น รพินทร์ ไพรวัลย์ ต้องการถนนที่ต้องสมบุกสมบัน ไม่ใช่ถนนลาดยาง แต่ปัญหาของการจัดการโลจิสติคส์ระหว่างเดินทางของกลุ่มหลังนี้ จะอยู่ที่ว่าหากนักท่องเที่ยวเหล่านี้ประสบอุบัติเหตุในที่คับขัน จะเอาตัวออกมารักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว ทันเวลา และโดยวิธีการที่ปลอดภัยได้อย่างไร สำหรับนักท่องเที่ยวประเภทที่เข้ามาประชุม ชมนิทรรศการ ความสะดวกรวดเร็ว และปลอดภัยต้องมาก่อน เพราะพวกนี้เวลามีค่า พวกนี้ต้องการระบบขนส่งที่รวดเร็วสะดวกสบาย (ที่ติดแอร์ได้ยิ่งดี) เชื่อมระหว่างที่พักกับห้องประชุมเพราะใส่เสื้อนอกกันทุกคน

ดังนั้น การจัดการโลจิสติคส์สำหรับการท่องเที่ยวก็คือการจัดการให้สะดวกทันเวลา สะดวกสบาย และปลอดภัย ตรงตามความต้องการของแต่ละตลาด ความรวดเร็ว อาจไม่ใช่ความต้องการของทุกตลาด แต่การตรงต่อเวลาและทันเวลา เป็นความต้องการของทุกคน

ในปัจจุบัน โลจิสติคส์ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับการจัดการการท่องเที่ยวไทย เรายังเน้นการขายสินค้า มากกว่าการจัดการระบบรองรับ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของการท่องเที่ยว เรามักให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งดึงดูดใจ ซึ่งเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของสินค้าท่องเที่ยว แต่องค์ประกอบอื่นๆ ได้แก่การจัดการของธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การจัดการของรัฐเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่ง ผลการศึกษาที่สภาวิจัยแห่งชาติสนับสนุนสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า ในเรื่องความดึงดูดใจเราไม่เป็นรองใครในภูมิภาคนี้ การพัฒนาของเอกชนเราเป็นรองแค่สิงคโปร์ แต่การจัดการระบบรองรับของรัฐของเราเป็นรองทั้ง สิงคโปร์ และมาเลเซีย!! การศึกษานี้พบว่าประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง การจัดการของรัฐ เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยว เนื่องจากรัฐบาลส่วนใหญ่จะมุ่งส่งเสริมด้านการตลาดแต่ละเลยการให้ความสำคัญกับระบบรองรับ

การจัดการระบบโลจิสติคส์จะคิดแบบแยกส่วนไม่ได้ ดูตัวอย่างการจัดงานพืชสวนโลกที่เชียงใหม่ ปรากฏว่ารถติดทั้งเมือง แม้จะจัดระบบรองรับงานพืชสวนโลกไว้แล้วก็ตาม แต่ระบบคมนาคมปกติกลับเป็นอัมพาตไป ความคิดแยกส่วนเช่นนี้ อาจทำให้ผลตอบแทนการลงทุนของรัฐเปลี่ยนแปลงจากที่คาดหมายไว้มาก ยกตัวอย่างเช่น ทุกจังหวัดท่องเที่ยวอยากได้ศูนย์ประชุม แต่จังหวัดเหล่านี้ไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่จำเป็นสำหรับศูนย์ประชุม จังหวัดเชียงใหม่เมื่อเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมประจำปีของธนาคารพัฒนาเอเซีย (ADB) ต้องสั่งแท็กซี่ขึ้นมาจากกรุงเทพฯ ถึง 700 คัน การจัดกิจกรรมขนาดยักษ์ลงทุนมากๆ ในจังหวัดท่องเที่ยวนอกกรุงเทพฯ แม้ว่าจะมีผลดี ในด้านการจุดพลุประชาสัมพันธ์ให้จังหวัด แต่หลังจากนั้น จังหวัดก็ไม่มีกำลังทรัพย์ กำลังคนที่จะจัดงานอีเวนท์เหล่านั้นอย่างยั่งยืน เรียกได้ว่าไม่ได้ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การลงทุนเหล่านั้นก็อาจกลายเป็น การลงทุนที่มีต้นทุนสูง หรือเป็นการลงทุนที่ไม่เหมาะสม จะทำให้แหล่งดึงดูดใจเสื่อมโทรม ทำให้การรองรับอุปสงค์เกิดได้ไม่เต็มที่ และยังทำให้เราเข้าสู่วงจรอุบาทว์ของการตัดราคาเพื่อแย่งลูกค้ากันอีกด้วย

การจัดการโลจิสติคส์ของการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบ ต้องให้ความสนใจกับการจัดการการไหลเวียนของนักท่องเที่ยว การไหลเวียนของข้อมูลการท่องเที่ยว และการจัดการการไหลเวียนของกระแสเงินไปพร้อมๆ กันด้วย

การจัดการข้อมูลการท่องเที่ยวของเราที่มีอยู่นับว่าดีพอสำหรับคนไทย แต่ความต้องการข้อมูลของคนไทย เป็นความต้องการในระดับที่ต่ำกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะคนไทยใช้วิธี “แผนที่อยู่ที่ปาก” คือเอาปากถามทางไปเรื่อยๆ ข้อมูลท่องเที่ยวที่แจกเป็นข้อมูลเชิงพาณิชย์ที่บริษัทต่างๆ ลงทุนพิมพ์แจกโดยแถมแผนที่ให้อีก 1 อัน แต่หลายแหล่ง หลายแผนที่ไม่มีข้อมูลสาธารณะ เช่นว่า จะติดต่อใครได้ที่ไหนถ้าของหาย ถ้าเจ็บป่วยมีอุบัติเหตุ หรือจะขอคืน VAT และถามเรื่องพยากรณ์อากาศได้จากที่ใด หรือข้อมูลว่า call center ของ ททท. เลขหมายอะไร เป็นต้น

ส่วนการไหลเวียนด้านการเงินของไทย โดยทั่วไปไม่ใคร่มีปัญหานัก เพราะระบบการเงินของไทยพัฒนามาก งานวิจัยที่สภาวิจัยแห่งชาติให้การสนับสนุนพบว่า การจัดการด้านการเงินมีปัญหามากในพม่า เพราะพม่าถูกคว่ำบาตรโดยประเทศตะวันตก จึงไม่สามารถใช้เครดิตการ์ดสากลได้ ค่าธรรมเนียมเครดิตการ์ดในตลาดมืด สูงถึงร้อยละ 14 รัฐบาลเองก็ตั้งโต๊ะให้แลกเงินที่สนามบิน ในอัตราที่แพงกว่าตลาดมืดหลายเท่า ทำให้นักท่องเที่ยวที่ไม่มีข้อมูลมาก่อนหัวฟัดหัวเหวี่ยงไปตามๆ กัน

การศึกษาของเราพบว่าการจัดการโลจิสติคส์ของเราอาศัยบริการภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ ถ้าอาศัยบริการของรัฐ ต้นทุนมักจะสูงเกินกว่าเหตุ ดูสุวรรณภูมิเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่สูงแค่ต้นทุนการสร้างและต้นทุนการดูแลเท่านั้น แต่ต้นทุนเวลาของนักท่องเที่ยวก็สูงด้วย เพราะสนามบินใหญ่เกินไป ทางเดินที่ผู้โดยสารจะต้องเดินไป จนกระทั่งถึงประตูขึ้นเครื่องไกลเกินไป การจัดการด้านโลจิสติคส์ของเราก็ใช่ว่าจะไม่ดีไปเสียหมด ที่ดีก็มีเหมือนกันเพียงแต่ว่าที่ดีมีเป็นจุดๆ ไม่ได้ดีทั้งระบบเหมือนญี่ปุ่น ยกตัวอย่างกันให้ชื่นใจก็ได้ว่า ที่ปอยเปต ด่านตรวจคนเข้าเมืองของเราสามารถจัดการให้คนเข้าออกได้ถึง 6,000 คนต่อชั่วโมง จาก 12 ช่องทาง คิดเป็น 2.5 วินาทีต่อคนสำหรับผู้มีบัตรผ่านแดน และ 13 วินาทีต่อคนสำหรับพวกมีวีซ่า ซึ่งดีกว่ามาตรฐานสากล

แนวทางการพัฒนาในอนาคต ควรจะต้องเอาแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศเหล่านี้มาเล่าสู่กันฟัง ตั้งเป็นมาตรฐาน และให้รางวัล (ไม่ใช่บังคับอย่างเดียว) กับผู้ปฏิบัติการ ยิ่งไปกว่านั้นหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องทำงานเป็นคลัสเตอร์ระหว่างกระทรวง ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพราะการจัดการการท่องเที่ยวไม่ใช่ภารกิจของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่จะต้องนำ “คลัสเตอร์” หรือกลุ่มของหน่วยราชการแต่ละหน่วยมาทำงานร่วมกัน รัฐบาลในยุคทักษิโณมิกส์ พูดถึงแต่ คลัสเตอร์ภาคธุรกิจ ถึงกับจ้างไมเคิล พอร์ทเตอร์ มาพูดเรื่องคลัสเตอร์ให้ธุรกิจไทยฟัง แต่ลืมจัด “คลัสเตอร์” ในภาคราชการไทย ให้สามารถทำวาระแห่งชาติในแต่ละเรื่องให้สัมฤทธิผล จริงอยู่ในแต่ละกระทรวงก็มีคลัสเตอร์ของงานในภารกิจของตน แต่ไม่มีการทำงานร่วมกับกระทรวงอื่น และถึงแม้จะมีคณะกรรมการแห่งชาติในเรื่องที่สำคัญๆ ก็ตาม แต่คณะกรรมการเหล่านี้ก็ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีผลผลิตร่วมและไม่ถูกประเมินผลงานร่วมกัน เป็นคณะกรรมการประเภทมาดูแลผลประโยชน์ของส่วนราชการของตน หรือมาเป็นตรายางมากกว่า

ข้อสำคัญก็คือรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาต้องให้ความสำคัญเหมือนรัฐบาลที่แล้ว การพัฒนาโลจิสติคส์ที่เป็นระบบจึงจะเกิดขึ้นได้

ที่มา คอลัมน์ ดุลยภาพดุลยพินิจ  โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มติชนรายวัน  วันที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10651

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *