แพทย์แผนไทยปุจฉา พริกนั้นอันตรายไฉน!

แพทย์แผนไทยปุจฉา พริกนั้นอันตรายไฉน!
• อาหาร
หลังประกาศเป็นวัตถุอันตราย

หลังกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศกำหนดให้พริกและสมุนไพรไทยอีก 12 ชนิด เป็นวัตถุอันตราย หลายคนที่ไม่เชื่อ ฟังแล้วขำกลิ้ง อีกหลายคนที่รู้ว่า ประกาศนี้มีอยู่จริง เตรียมเคลื่อนไหวคัดค้าน
พืชผักสมุนไพรส่วนใหญ่ ที่คนไทยรู้จักดีมาแต่อ้อนแต่ออก ถูกจัดให้เป็น “วัตถุอันตราย” ในสายตาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551 กฎหมายในความดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม
ประกอบด้วย พริก สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และ หนอนตายหยาก
สมุนไพรเหล่านี้ ถูกจัดให้เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 ในบัญชี ข. ตาม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม มาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
ผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุข ผู้ประกอบการภาคเอกชน เอ็นจีโอ และอีกนับแสนนับล้านคนที่กำลังเคี้ยวพริกในปาก ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า พืชทั้ง 13 ชนิด อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมายาวนาน
ส่วนหนึ่งชาวบ้านปลูกไว้ใช้เป็นอาหาร บางส่วนนำไปเข้าตำรับยาพื้นบ้าน บางส่วนนำไปใช้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมครัวเรือน จนถึงอุตสาหกรรมส่งออก
ประกาศกระทรวงฯที่ออกมา จึงส่งผลกระทบต่อคนไทย และสังคมในวงกว้าง
เหตุผลง่ายๆ การที่พืชเหล่านี้ ถูกตีตราให้เป็นวัตถุอันตราย ย่อมเท่ากับผู้ที่มีพืชดังกล่าวไว้ในครอบครอง หรือครอบครองไว้เพื่อจำหน่าย หากไม่ไปจดแจ้ง หรือขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีผลไม่ต่างกับการครอบครองวัตถุอันตรายอย่างอื่น
ประเด็นที่ต้องพิจารณามีอยู่ว่า ก่อนจะออกประกาศฯ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้ออกกฎคุมเข้มวัตถุอันตราย เคยหารือ รับฟังความเห็นจากสาธารณะ หรือประสานไปยังหน่วยงานและบุคคลอื่น ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้บ้างหรือไม่
นพ.ประพจน์ เภตรากาศ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ บอกว่า อย่างน้อยหน่วยงานที่เขาดูแล ซึ่งขลุกอยู่กับสมุนไพรโดยตรง ควรได้ รับรู้ก่อนมีการออกประกาศฉบับนี้ แต่ก็ไม่เคยรู้ หรือได้รับการประสาน
เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องนี้ ทางกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ จึงได้จัดเวทีรับฟังความเห็นจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรายงานผลให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทราบ ก่อนเสนอให้ ครม.มีมติทบทวน หรือยกเลิกการออกประกาศฯ
นพ.ประพจน์ ตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับนี้ สวนทางกับนโยบายหลักของรัฐบาลทุกยุค หรือแม้แต่แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเน้นส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้พืชสมุนไพรพื้นบ้าน
ประกาศดังกล่าว ยังขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครอง และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542
ไล่เรียงสมุนไพรใกล้ตัวที่คนไทยรู้จักดี และใช้กันมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย สัก 4-5 ตัวอย่าง
สะเดา ในเชิงทฤษฎีพื้นฐานของการแพทย์แผนไทย ระบุไว้ว่า เป็นสมุนไพรรสขม มีสรรพคุณบำรุงโลหิต บำรุงดี ช่วยย่อยและเจริญอาหาร แก้พิษไข้ต่างๆ แสลงกับโรคลมจุกเสียด
ในสะเดา 100 กรัม ให้โปรตีน 6.1 กรัม ฟอสฟอรัส 118 มิลลิกรัม เบตาแคโรทีน 777.90 ไมโครกรัม (เทียบหน่วยเรดินัล)
สมุนไพรตัวนี้ จึงเหมาะกับผู้ที่มีธาตุเจ้าเรือนเป็น ธาตุไฟ หรือบุคคลที่มีลักษณะมักขี้ร้อน ทนร้อนไม่ค่อยได้ หิวบ่อย กินเก่ง ผมหงอกเร็ว ศีรษะล้าน ผิวหนังย่น ผม ขน และหนวดอ่อนนิ่ม ใจร้อน ไม่ค่อยอดทน ข้อกระดูกหลวม มีกลิ่นปากและกลิ่นตัวแรง ความต้องการทางเพศปานกลาง
พริก ขิง ข่า และ ตะไคร้ เป็นสมุนไพรมีรสเผ็ดร้อน สรรพคุณแก้ โรคลม ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ช่วยขับลม ขับเหงื่อ และบำรุงธาตุไฟ แสลงต่อโรคตาเจ็บ และไข้พิษต่างๆ
ในพริกขี้หนูสด 100 กรัม มีโปรตีน 4.1 กรัม วิตามินซี 87 มิลลิกรัม วิตามินบี 1 ประมาณ 0.28 มิลลิกรัม ในพริกชี้ฟ้า 100 กรัม มีวิตามินซีถึง 90 มิลลิกรัม
ตามตำรายาไทย บันทึกไว้ว่า ทั้งพริก ขิง ข่า ตะไคร้ เหมาะกับผู้ที่มีธาตุเจ้าเรือนเป็น ธาตุลม หรือคนที่มีลักษณะรูปร่างโปร่ง ผิวหนังหยาบแห้ง ผมบาง ข้อกระดูกมักลั่นเวลาเคลื่อนไหว เป็นคนขี้กลัว รักง่ายหน่ายเร็ว ทนหนาวไม่ค่อยได้ ช่างพูด และความรู้สึกทางเพศไม่ค่อยดี
โดยเฉพาะ พริก มีบทบาทอิทธิพลในสำรับอาหารนับไม่ถ้วน ทั้งแกงเผ็ด แกงส้ม ต้มยำ แกงกะทิ ผัดเผ็ด ผัดพริก ผัดฉ่า และสารพัดน้ำพริก ล้วนมีพริกเป็นพระเอก
จักรพันธุ์ กังวาฬ รวบรวมเกร็ดน่าสนใจเกี่ยวกับพริกไว้ในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนมกราคม 2552
พริก เป็นพืชมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางแถบทวีปอเมริกาใต้ อยู่ในวงศ์เดียวกับมะเขือเทศ ยาสูบ และมันฝรั่ง คือ วงศ์ Solanaceae สกุล Capsicum มีอยู่ทั่วโลกประมาณ 25 ชนิด และมีไม่ต่ำกว่า 400 สายพันธุ์
เฉพาะที่นิยมปลูกในบ้านเรามีอยู่ 5 ประเภทหลักๆ คือ พริกชี้ฟ้า พริกหยวก พริกหวาน (พริกยักษ์) พริกขี้หนูใหญ่ และพริกขี้หนูเล็ก
ในพริก 1 ผล (คนไทยชอบเรียกว่า เม็ด) ประกอบด้วย ก้านพริก, เนื้อพริก (มีวิตามินเอและซีมาก), แกนกลางหรือรกพริก (เป็นส่วนที่เผ็ดที่สุด เพราะมีสารแคปไซซินมาก), เมล็ดพริก (อยู่ติดกับรก) และส่วนปลายของเม็ดพริก
ระดับความเผ็ดของพริก วัดได้ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ โดยเทียบวัดปริมาณ สารแคปไซซิน ที่อยู่ในพริกแต่ละประเภท ออกมาเป็นหน่วย “สโควิลล์” (Scoville)
ปัจจุบันสารแคปไซซินในพริก ถูกนำไปสกัดทำยาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอื่นๆอีกสารพัดประโยชน์
พริกที่ขึ้นชื่อว่าเผ็ดที่สุดในโลก ไม่ใช่พริกขี้หนูสวนของไทย แต่เป็น พริกบุตโจโลเกีย (Bhut Jolokia) จากรัฐอัสสัม และนาคาแลนด์ ประเทศอินเดีย มีค่าความเผ็ดถึง 1,001,304 หน่วยสโควิลล์
อันดับ 2 คือ พริกซาวีนา ฮาบาเนโรสีแดง (Red Savina Habanero) นิยมปลูกกันมากแถบคอสตาริกา เม็กซิโก รัฐเทกซัส และแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีความเผ็ด 580,000 หน่วยสโควิลล์
เทียบกับ พริกขี้หนูสวนของไทย ที่ให้ทั้งรสเผ็ดร้อน และกลิ่นฉุนหอม หยิบใส่ปากเคี้ยวสด บางคนคันยิกในรูหู น้ำหูน้ำตาไหล วัดค่าความเผ็ด ได้แค่ 350,000 หน่วยสโควิลล์
ในเมื่อวันนี้ มีคนจับเอา สะเดา พริก ขิง ข่า ตะไคร้ พร้อมกับสมุนไพรอีก 8 ชนิด ไปห้อยท้ายไว้ในบัญชีวัตถุอันตราย คำถามก็คือ คิดยังไงจึงทำเช่นนั้น?
แว่วมาว่า ต้นตอของเรื่องนี้ เกิดจากการที่กรมวิชาการเกษตร มีหน้าที่ต้องแจ้งต่อกระทรวง
อุตสาหกรรม (ผู้ถือกฎหมายฉบับนี้) ให้กำหนดพืชทั้ง 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย ตามพ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ
แต่เป็นเพียงการแจ้งตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
หรือพูดอีกอย่าง ต้องการบีบให้ผู้ที่จะใช้สารสกัดเข้มข้นจากพืชทั้ง 13 ชนิด ซึ่งนำไปผลิตในเชิงการค้า เช่น ใช้สะเดาเป็นสารกำจัดศัตรูพืช ต้องไปแจ้งต่อกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเปิดช่องให้กรมวิชาการเกษตร สามารถเข้าไปตรวจสอบขั้นตอนการผลิต และคุณภาพได้
เอาเป็นว่า ไหนๆช่วงนี้สังคมกำลังสับสนคลุมเครือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประกาศฉบับนี้ จะออกมาชี้แจงกับสังคมให้ชัดเจนอีกสักครั้งดีมั้ยว่า ผู้ใดมีสมุนไพรทั้ง 13 อย่าง ไว้ในครอบครองรูปแบบใด ปริมาณมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่แจ้ง จึงมีความผิด
จะได้ไม่เปิดช่องโหว่ให้ข้าราชการขี้ฉ้อบางคนใช้วิชาดาวไถ.

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *