แนวทางช่วยสิ่งแวดล้อมของ SMEs (ตอน 1): Environmental Friendly for SMEs

แนวทางช่วยสิ่งแวดล้อมของ SMEs (ตอน 1): Environmental Friendly for SMEs

จากครั้งที่แล้ว ได้เกริ่นเกี่ยวกับสังคมเล็กๆที่เราเกี่ยวข้องกับวิสาหกิจต่างๆ ทั้งวิสาหกิจขนาดย่อม วิสาหกิจขนาดกลาง วิสาหกิจขนาดใหญ่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม พวกเราสร้างขยะมากขึ้นและทำลายสิ่งแวดล้อมทุกวัน การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ เมื่อพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งเน้นที่รายได้และความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นสำหรับมนุษย์ การเพิ่มผลผลิตได้มาก การขยายอุตสาหกรรมไปอย่างรวดเร็วกลับกลายเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งในหน่วยย่อยตัวมนุษย์เอง องค์กรวิสาหกิจขนาดย่อม ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบมาสู่ชีวิตความเป็นอยู่และการพัฒนาในสังคมมนุษย์หลายประการ เช่น การเสื่อมโทรมของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหาของระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป ฤดูกาลที่ผิดปกติ ภาวะมลพิษต่างๆที่เกิดขึ้น

วิถีชีวิตที่เรียบง่ายกลมกลืนกับธรรมชาติและมีส่วนร่วมกับธรรมชาติส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยได้ถูกทอดทิ้ง และกลืนกินด้วยการบริโภคมากเกินความจำเป็นของมนุษย์ ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนจนเกินพอดีและความไม่ใส่ใจกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมและเกิดมลภาวะ
วิธีง่ายๆที่จะทำให้เราหันมาใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม คือ การมีสำนึก รักและหวงแหนประเทศชาติ หากเราสำนึกได้ แนวทางต่างๆจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เช่น การนำถุงพลาสติกที่ใช้แล้วมาใช้ซ้ำ การใช้ถุงผ้า หรือแม้แต่การเก็บหนังสติ๊กที่ห่อก๋วยเตี๋ยวมากลับมาใช้ซ้ำ หรือการสะสมไว้แล้วนำไปคืนเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวให้นำไปใช้ซ้ำ
แนวทางทางวิชาการก็มี ทั้ง 3 R (สามอาร์) 4 R (สี่อาร์) และ 7 R (เจ็ดอาร์) แตกต่างกันไปตามตำราอาจารย์ สังกัดและทฤษฎี ลองมาดูว่า R แต่ละตัวนี้มีความหมายอย่างไรบ้าง เราพอที่จะปฏิบัติกันได้บ้างไหม

R ที่ 1 หมายถึง Reduce หรือ การลด
คือ การลดการบริโภคให้น้อยลง เช่น การซื้อของที่นิยมซ้อนถุงพลาลติกหลายชั้น หรือ แยกใส่เป็นหลายถุง ลองตรึกตรองว่าใส่รวมกันเป็นถุงเดียวได้ไหม แทนที่จะใช้ถุงครั้งละ 4-5 ใบ หากใส่รวมกันได้และไม่ต้องซ้อน อาจสิ้นเปลืองเพียง 1 ใบ และหาทางเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน ของสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ถ้าเลิกใช้ไม่ได้ก็ควรลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ยากแก่การย่อยสลายหรือ ทำลาย ได้แก่ภาชนะพลาสติกชนิดต่างๆโดยหันมาใช้ถุงผ้าหรือหิ้ว ตะกร้าไปจ่ายตลาดแทน บางท่านอาจไม่เห็นภาพว่าการกระทำเหล่านี้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไร ลองคำนวนดูคร่าวๆ ตามโจทย์ครั้งที่แล้ว หากพนักงานสำนักงาน 200 คน ใช้และทิ้งถุงวันละ 5 ใบ ( 1 ถุงใส่อาหารกลางวัน ซ้อนอีก 1 ถุง รวมเป็น 2 นอกจากนี้ ยังมี 1 ถุง ใส่ขนม และ 1 ถุงใส่ผลไม้ บางครั้ง ซื้อกาแฟ 1 แก้ว ยังใส่ถุงพลาสติกให้อีก รวม ทั้งสิ้น 5 ถุง) ในแต่ละวันสำนักงานเพียง 1 สำนักงานอาจบริโภคถุงพลาสติกที่เกินความจำเป็นถึง 1,000 ใบ ปีหนึ่งใช้ถึง 365,000 ใบ จากองค์กรเล็กๆ องค์กรเดียว ซึ่งตามความเหมาะสมแล้วอาจสามารถใช้เพียง 400 ใบในหนึ่งวัน หรือ 146,000 ใบ ต่อปี หากใช้แบบมีประสิทธิภาพ เราสามารถลดการใช้ถึง 219,000 ใบ ต่อปี ก็สามารถทำหน้าที่ได้เช่นเดียวกัน
ผู้ผลิตอาจดีใจเนื่องจากมีการบริโภคถุงมาก จะได้ผลิตมากขึ้น และมีรายได้มากขึ้น และเน้นให้คนใช้มากขึ้น แต่ทุกครั้งที่ผลิตต้องใช้พลังงานมากขึ้น ทั้งพลังงานความร้อน พลังงานแสงสว่าง วัตถุดิบ และการขนส่งรวมไปถึงการทำลาย เมื่อใช้ถุงเหล่านั้นแล้วต้องนำไปทำลาย หรือหลอมกลับมาใช้ใหม่ ต้องใช้

R ที่ 2 หมายถึง Reuse หรือ ใช้ซ้ำ
คือ การใช้มากกว่า 1 ครั้ง เป็นการนำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นำกลับมาดัดแปลงใช้ใหม่โดยให้เกิดประโยชน์สูงสุดเช่น การนำถุงพลาสติก หรือถุงก๊อปแก็ป ที่ยังสะอาดมาใช้ในการซื้อ จับจ่ายใช้สอยอีก การนำกระดาษสำนักงานที่ใช้แล้วหนึ่งด้านมาใช้อีกด้านหนึ่งที่ยังสามารถใช้ได้
การนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ การใช้หนังสติ๊ก หรือการใช้ถุงผ้าที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกเมื่อไปตลาดครั้งต่อไป ทั้งนี้ควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้ซ้ำ เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางชนิดไม่สมควรนำมาใช้มากกว่า 1 ครั้ง หรือใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น การนำขวดใส่สารเคมีมาใช้ใส่น้ำดื่ม อาจมีสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ การใช้ขวดพลาสติกบางชนิดอาจมีสารปนเปื้อนจากพลาสติกออกมาหลังจากการใช้ครั้งแรก

ภาพ: เศษสังกะสี กระดาษลูกฟูก เศษเหล็ก กระดาษ ขวดพลาสติก ที่แยกไว้เตรียมไปสู่การแปรรูป และนำกลับมาใช้ใหม่ R ที่ 3 หมายถึง Recycle หรือ การหมุนเวียน
การนำหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ การแยกขยะที่ยังใช้ประโยชน์ได้ให้ง่ายต่อการจัดเก็บและส่งแปรรูป เช่น กระดาษ บรรจุภัณฑ์พลาสติก แก้ว กระป๋องเครื่องดื่ม นำไปหลอมและกลับมาใช้ใหม่ ในความเป็นจริงแล้วการแยกขยะที่ยังใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ต้นทางเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ขยะส่วนใหญ่มักถูกรวมกลายเป็นของวัสดุปนเปื้อนสกปรก ไม่สามารถนำมาหมุนเวียนใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงถูกนำส่งโรงแยกขยะ ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองเวลาและพลังงานเพิ่มขึ้นอีก บางประเทศในยุโรป หรือบางมลรัฐในสหรัฐอเมริกา เช่น มลรัฐโอริกอน (Oregon) การแยกขยะที่ยังใช้ประโยชน์ได้ ทำได้อย่างละเอียดและมีประสิทธิภาพ การแยกกระดาษใช้แล้วในสำนักงาน เริ่มแยกจากสำนักงานที่ใช้วัสดุเหล่านั้นเลย แยกออกเป็นหลายประเภททั้ง กระดาษพิมพ์สี พิมพ์สีหน้าเดียว พิมพ์สีสองหน้า พิมพ์ขาวดำ ฯลฯ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บและการขนส่งเพื่อแปรรูป เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นขยะปนเปื้อน และต้องเสียเวลาและพลังงานอีก
ในปัจจุบันมีการส่งเสริมและสนับสนุน ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจและสามารถดำเนินการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หากทุกท่านมีความใส่ใจ สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราช่วยกันหันมาใส่ใจกับสิ่งแวมล้อม
หาวิธีช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมคนละไม้คนละมือ เพื่อเมืองของเราประเทศของเรา อยากเน้นย้ำว่าประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของคนอื่น หากคนในประเทศไม่รักษา หรือรอให้ใครเริ่มทำก่อน ใครจะมารักษา

ครั้งหน้าจะมาเล่าให้ฟังถึง R ตัวที่ 4, 5, 6 และ 7 ต่อไป

ภาพ: การใช้ไม้แบบในการสร้างอาคารซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้งช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานมากมายและ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดมลพิษ และส่งผลกระทบต่อมนุษย์ ก็คือตัวเราในที่สุด

ภาพ: การนำกระดาษสำนักงานที่ใช้แล้วหนึ่งด้านมาใช้อีกด้านหนึ่งที่ยังสามารถใช้ได้

ภาพ: หากสามารถรวมของบางอย่างในการซื้อไว้ด้วยกันแทนการแยกแต่ละถุง จะช่วยลดปริมาณขยะถุงพลาสติกที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ภาพ: ถุงก๊อปแก็ป ที่ยังสะอาดมาใช้ในการซื้อ จับจ่ายใช้สอยอีก

ที่มา : http://www.businessthai.co.th/

Tags:

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *