แนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก

แนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก
ตุลาคม 17th, 2008 | Posted by wearehappy

1. การพัฒนาเด็กต้องอาศัยแนวความคิดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเป็นพื้นฐาน หรือที่เรียกว่า อาศัย “สิทธิ” เป็นหลัก (rights based) และครอบคลุมเด็กทุกคน
การพัฒนาเด็กที่อาศัย “สิทธิ” นี้อย่างน้อยต้องคำนึงถึงหลัก 4 ประการคือ

(ก) ทุกอย่างต้องดำเนินการโดยเห็นประโยชน์สุขของเด็กเป็นสำคัญ (best interest of the child)
(ข) การให้เด็กต้องอยู่รอดและได้รับการคุ้มครองและพัฒนา (survival, protection and development)
(ค) ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือเหยียดเด็ก หรือดูถูกเด็กว่าเป็นผู้น้อยที่ไร้สิทธิไร้เสียง
(non – discrimination)
(ง) เด็กต้องมีส่วนร่วม (participation) เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่จะมีผลกระทบถึงเด็กเอง

2. เด็กต้องได้รับการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม (total and holistic development) หมายความว่า เด็กต้องได้รับการพัฒนาครบทุกด้าน ทุกมิติ คือ กาย ใจ จิต อารมณ์ สติปัญญา สังคม และจริยธรรมคุณธรรม หรือจิตวิญญาณ บริการและกิจกรรม ต้องสมานและบูรณาการทุกด้านเข้าด้วยกัน โดยไม่ละเว้นด้านใดด้านหนึ่ง

3. การพัฒนาเด็กต้องอาศัยสหวิทยาการ (multidisciplinary) การบูรณาการระหว่างกระทรวงหรือหน่วยงาน (multicultural) และท่ามกลางวิถีชีวิตที่หลากหลาย (cultural diversity) เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาครบถ้วนอย่างเหมาะสมรอบด้านตามวัย

4. การพัฒนาเด็กต้องคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านที่สัมพันธ์และกระทบต่อเด็ก รวมทั้งการปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับปัจจัยเหล่านี้ เริ่มตั้งแต่ครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันสังคมและเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและศาสนา ชุมชน สิ่งแวดล้อม นโยบายรัฐและนโยบายของรัฐบาล รวมไปถึงโลกาภิวัตน์ในรูปแบบต่างๆ และการพัฒนาของเทคโนโลยี เป็นต้น

5. ต้องเข้าใจว่าการพัฒนาเด็กและพัฒนาคนเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนปฏิสนธิ จนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต มีการซึมซับโยงใยระหว่างพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และการเลี้ยงดูอบรม ซึ่งจะมีความค่อยเป็นค่อยไป และมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างเป็นพลวัต

6. ในแต่ละช่วงชีวิตมีลักษณะเด่น และมีจุดวิกฤตของการพัฒนา อาทิ ช่วงแรกของชีวิต เป็นการพัฒนาสมอง พัฒนาทางการเจริญเติบโต และการประสานกันของกล้ามเนื้อและการสัมผัส การอยากรู้อยากเห็น และการเรียนรู้ ต่อจากนั้นเป็นการเรียนรู้วิธีการควบคุมพฤติกรรมและวินัยในตนเอง การเรียนรู้เจตคติและค่านิยมต่างๆ รวมทั้งจริยธรรม เมื่อยู่ในวัยก่อนวัยรุ่นและวัยรุ่น ก็ต้องเพิ่มค่านิยม เจตคติทางเพศ ความต้องการทางเพศ รวมทั้งการเรียนรู้เกี่ยวกับการพึ่งตนเองมากขึ้น เป็นต้น

ในการพัฒนาเด็ก บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจขั้นตอนการพัฒนาตามวัย ซึ่งสังคมต้องตอบสนองความต้องการพื้นฐานดังกล่าว และจัดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและที่เอื้อต่อการพัฒนารวมทั้งมีกระบวนการ และวิธีการให้เหมาะสม

7. เ ป้าหมายสำคัญ นอกจากการพัฒนารอบด้านอย่างสมดุลและเป็นองค์รวมแล้ว คือการเสริมสร้างให้เด็กแต่ละคนได้พัฒนาเต็มศักยภาพของตน และพัฒนาการมีส่วนร่วมของตนในเรื่องที่เกี่ยวข้อง และเอื้อให้เด็กมีวุฒิภาวะ สามารถพึ่งพาตนเองทางสังคม เศรษฐกิจ และการปกครองตนเองได้ตามลำดับ

8. ในทุกวิถีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ต้องคำนึงถึงประโยชน์สุข ศักดิ์ศรีและคุณค่าของเด็กในฐานะเป็นมนุษย์ให้เป็นหลักการสำคัญ

9. การพัฒนาเด็กต้องคำนึงถึงฐานร่วมกัน ของการพัฒนาที่มาจากครอบครัว (family based) มาจากชุมชน (community based) มาจากลักษณะของพื้นที่(area based) และมาจากฐานความรู้ (knowledge based)

10. การจัดสรรและการใช้ทรัพยากร ทั้งเงิน วิชาการ บุคลากร สถานที่ และโอกาส ต้องเน้นการป้องกันปัญหาและเสริมสร้างพัฒนาเด็กควบคู่กับการแก้ไขปัญหา

11. เด็กสามารถมีพลังการคิดและพลังสร้างสรรค์ได้ตามวัย และสามารถเป็นส่วนหนึ่งของพลังสังคมที่จะมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม

ที่มา : นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ ด้านการพัฒนาเด็ก ตามแนวทาง “โลกที่เหมาะสมกับเด็ก” (พ.ศ.2550 – 2559) โดยคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ จัดทำนโยบายแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการหลักตามแนวทาง “โลกที่เหมาะสมกับเด็ก” องค์การสหประชาชาติ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการแสงพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *