เอาท์ซอร์ส “ขันน็อต” ธุรกิจภาคการผลิต และบริการโลจิสติกส์

เอาท์ซอร์ส “ขันน็อต” ธุรกิจภาคการผลิต และบริการโลจิสติกส์

 

กูรูด้านโลจิสติกส์เผยกลยุทธ์เด็ดสู่ความสำเร็จของธุรกิจสมัยใหม่ แนะใช้วิธีการเอาท์ซอร์ส จ้างคนอื่นทำในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัด แล้วไปทุ่มเทพัฒนางานหลักที่เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ พร้อมจับมือพันธมิตรโตไปด้วยกันแบบ WIN-WIN 
       ธุรกิจทุกวันนี้ไม่ได้แข่งกันเพียงเรื่องคุณภาพของสินค้าเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังให้ความสำคัญเรื่องการบริการและความรวดเร็วในการเข้าถึงลูกค้า ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตสินค้าจึงหันมาใช้บริการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเป็นผู้ดำเนินงานให้ (Outsource) โดยเฉพาะในส่วนงานที่ไม่ถนัด เพื่อเป็นการลดขั้นตอนงานที่ไม่จำเป็นหรือมีต้นทุนสูง เปลี่ยนไปซื้อหรือว่าจ้างจากองค์กรหรือธุรกิจอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่า แล้วหันไปทุ่มเทพัฒนางานหลักของตนเอง (Core Business) ซึ่งในอดีตเป็นการทำงานร่วมกันในลักษณะงานว่าจ้าง ขณะที่แนวโน้มธุรกิจในอนาคตจะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปในเชิงสร้างพันธมิตรธุรกิจ เน้นการทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนและเพิ่มคุณค่าทางธุรกิจให้ได้มากที่สุด
       ขณะเดียวกันก็มีธุรกิจการผลิตและเทรดดิ้งขนาดใหญ่หลายราย อาทิ บริษัท เบอรี่ ยุคเกอร์ บริษัท สยามซีเมนต์ ได้หันมาเอาดีทางด้านการจัดการขนส่งเอง พร้อมทั้งรับงานจากบริษัทภายนอก จนเป็นที่มาของบริษัท Third Party Logistics ในปัจจุบัน ซึ่งพร้อมที่จะผงาดก้าวสู่การเป็นเต็งหนึ่งของวงการโลจิสติกส์ หวังแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติ
       ในเรื่องนี้ผู้คร่ำหวอดในวงการ คุณนพพร เทพสิทธา รองประธานอาวุโส การจัดส่งและการส่งออก บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์ในการว่าจ้างบริษัทภายนอกให้มาจัดการเรื่องการขนส่งและกระจายสินค้าว่า กลยุทธ์หลักของการเอาท์ซอร์ส (Outsource) ของปูนซีเมนต์นครหลวง หรือ ปูนอินทรี คือการผลักดันให้ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ (Logistics Service Provider) มีพัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้งและก้าวกระโดด พร้อมเติบโตไปด้วยกันในลักษณะหุ้นส่วนทางธุรกิจ ด้วยแนวคิดเช่นนี้ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) จึงเป็นแกนนำในการพัฒนาผู้ขนส่งให้สามารถก้าวสู่การเป็น 3rdLSP ที่เข้มแข็งในอนาคต โดยได้ประกาศโครงการผู้ขนส่งอินทรีขึ้น
       โครงการผู้ขนส่งอินทรี มีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับผู้ขนส่งให้มีมาตรฐานสูงขึ้น เพื่อทัดเทียมบริษัทต่างชาติที่คาดว่าจะเข้ามาทำธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบในประเทศไทย คุณอนันต์ ลาภธนัญชัยวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายกระจายสินค้าปูนซีเมนต์ถุง สายงานการจัดส่งและการส่งออก กล่าวเสริมว่า เพื่อยกระดับผู้ขนส่งอินทรีให้ได้มาตรฐาน จึงได้จัดโปรมแกรมต่างๆ เช่น ให้ผู้ขนส่งอินทรีทุกรายต้องได้รับมาตรฐานของ ISO 9001-2000 ซึ่งในปัจจุบันผู้ขนส่งอินทรีทั้งหมด 25 รายก็ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001-2000 เรียบร้อยแล้ว และ ในปี 2549-2550 ก็มีแผนที่จะให้ผู้ขนส่งอินทรีได้รับมาตรฐาน มอก.18001 เรื่องสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน มีการจัดอบรมเรื่องความปลอดภัยให้กับผู้ขนส่งและพนักงานจัดส่งทุกคน รวมมากกว่า 1500 คน เพื่อมุ่งให้มีทั้งความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการให้บริการ โดยเน้นให้เห็นว่า หากทำงานแล้วไม่ปลอดภัยก็จะส่งผลต่อตัวเอง ครอบครัว ลูกค้า และ สังคม นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้ขนส่งนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน ทั้งระบบอินเตอร์เน็ตและระบบจีพีเอส (GPS) ซึ่งนอกจากจะทำให้เราสามารถตรวจสอบติดตามสินค้าได้ตลอดเวลาแล้ว ยังจะทำให้ผู้ขนส่งของเราสามารถบริหารการจัดส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการเพิ่มรอบรถ ลดการสิ้นเปลืองน้ำมัน ลดอุบัติเหตุ และ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานจัดส่ง ให้มีวินัยและความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น”
      3 ปีที่ผ่านมา บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ได้นำปรัชญาของตะวันออก ซึ่งมีแบบการดำเนินชีวิตแบบเกื้อกูลกันและกัน ผนวกกับหลักการบริหารซัพพลายเชน มาเป็นแนวในการดำเนินงาน ซึ่งต่างกับปรัชญาตะวันตกที่มีการแก่งแย่งชิงดีกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับคนไทยคือการทำงานกันเป็นทีม
      ปูนซีเมนต์นครหลวง จึงกำหนดนโยบายหลักในการสร้างทีมงานที่มุ่งความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก โดยใช้วิธีคัดเลือกพันธมิตรเข้าโครงการผู้ขนส่งอินทรี ซึ่งแต่เดิมใช้วิธีการประกวดราคาทุกปี เพื่อให้ได้ผู้ขนส่งตรงตามคุณสมบัติที่ต้องการ และพบว่าการแข่งประกวดราคาอาจเป็นอุปสรรคในงานบริการ ที่เน้นเรื่องต้นทุนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นทางออกที่จะทำให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายคือการจับมือเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ
      ด้วยจุดแข็งของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวงในด้านการบริหารจัดการซัพพลายเชน และเอาท์ซอร์ส ในด้านการขนส่ง และการขนถ่ายสินค้า ซึ่งรวมถึงการจ่ายสินค้า แต่แท้จริงแล้วผู้ขนส่งก็คือเซียนในด้านการขนส่งขนถ่าย การบริหารรถ และการดูแลพนักงานจัดส่ง แต่ละคนมีความชำนาญเฉพาะด้านที่ต่างกัน ดังนั้นหลักสำคัญก็คือการนำความรู้ความชำนาญนั้นๆ มาเชื่อมโยงให้เกิดความสอดคล้องกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกๆรูปแบบ ให้ได้ดั่งใจของลูกค้า
     “การบริหารธุรกิจสมัยใหม่มุ่งเน้นเรื่องการบริหารจัดการตลอดสายงานของธุรกิจ ตั้งแต่ ผู้ขาย/ผู้ให้บริการ ผู้ผลิต จนถึงผู้บริโภค ธุรกิจจะเติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืน ต้องมีซัพพลายเชน หรือโซ่อุปทาน ที่แข็งแกร่ง โดยทุกองค์กรในห่วงโซ่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และพร้อมจะเติบโตไปด้วยกัน ด้วยความเชื่อมั่นว่า การทำเช่นนี้ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์สูงสุด” คุณนพพร กล่าวย้ำ
      การจะก้าวขึ้นสู่การเป็น Third Party Logistics Provider ได้นั้น ไม่ได้หมายถึงการเป็นผู้ชำนาญด้านการขนส่งอย่างเดียว แต่ต้องสามารถวางแผนการจัดส่งให้ลูกค้าได้อย่างครบวงจร ต้องรู้ความต้องการของลูกค้า ความต้องการของลูกค้าของลูกค้า และสามารถเข้าไปช่วยบริหารและลดต้นทุนของลูกค้าได้ ด้วยศักยภาพที่มีอยู่ผนวกกับการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยสามารถสู้ผู้ประกอบการต่างชาติได้ไม่ยาก
      คุณนพพร กล่าวถึงอนาคตของผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทยว่า “ในอนาคตหากมีการเปิดเสรีด้านการขนส่ง เชื่อว่าย่อมส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยอย่างแน่นอน หากผู้ประกอบการไทยไม่เร่งพัฒนาตนเองให้สู้กับบริษัทข้ามชาติที่มีทั้งบุคลากร เงินทุนและระบบไอทีที่ทันสมัย ท้ายที่สุดแล้วผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ต้องล้มหายตายจากไปในที่สุด”
      ด้วยเหตุนี้ ปูนซีเมนต์นครหลวงจึงเร่งพัฒนาผู้ขนส่งอินทรีให้มีศักยภาพไม่เสียเปรียบต่างชาติ โดยให้ผู้ขนส่งอินทรีที่เข้าร่วมโครงการต้องพัฒนาศักยภาพของตนเอง 3 ขั้นตอน คือ ปรับปรุงระบบบริหารคุณภาพงานให้ได้มาตรฐานสากล นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการบริหารงาน และที่สำคัญที่สุด คือ พัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะพนักงานจัดส่ง โดยการยกระดับคุณภาพชีวิต ปรับเปลี่ยนทัศนคติ และ สร้างให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการขับขี่ การดูแลรักษารถ การขนถ่ายสินค้า และ การให้บริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ การพัฒนา 3 ขั้นตอนดังกล่าวถือเป็นการพัฒนาขั้นพื้นฐานที่ผู้ขนส่งอินทรีททุกคนต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ได้ทันความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในปัจจุบัน
      นอกจากการขนส่งทางรถแล้ว บริษัทฯ ได้เพิ่มวิธีการขนส่งแบบอื่นๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น เช่น การขนส่งทางเรือ ซึ่งช่วยประหยัดค่าขนส่งลงไปได้มาก และสามารถขนได้ในปริมาณที่มากขึ้น ในเรื่องนี้ ปูนซีเมนต์นครหลวง ก็มีแผนงานที่จะส่งเสริมให้ผู้ขนส่งอินทรีให้มีศักยภาพที่จะสามารถขนส่งต่อเนื่องได้หลายรูปแบบ และ สามารถประกอบการได้ทุกพื้นที่ในประเทศและภูมิภาค โดยไม่ข้อจำกัด มิฉะนั้นก็คงไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติได้
      งัดกลยุทธ์เอาท์ซอร์สเสริมเขี้ยวเล็บธุรกิจ
      แม้แนวโน้มธุรกิจในอนาคตจะเป็นไปในเชิงพันธมิตรธุรกิจ ทั้งนี้ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งการจ้างบริษัท Outsource ต้องเป็นบริษัทที่เชื่อถือได้ ในเรื่องการเก็บข้อมูล เรื่องความสามารถ ทักษะ และประหยัดต้นทุน
      จากความแนวโน้มดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว มองหาพันธมิตรเพื่อร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจ ในเรื่องนี้ คุณชไมพร ศิริสินอุดมกิจ ผู้จัดการทั่วไป การจัดการซัพพลายเชนและพัฒนาธุรกิจ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ โลจิสติกส์ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีหลายบริษัทขนส่งที่ปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ เนื่องจากธุรกิจนี้กำลังเป็นที่สนใจ
      “ธุรกิจสมัยใหม่ส่วนใหญ่ใช้วิธีว่าจ้างให้บริษัทอื่นที่มีความเชี่ยวชาญมาจัดการเรื่องระบบโลจิสติกส์ เพื่อบริษัทผู้ผลิตจะได้มีเวลาทุ่มเทพัฒนาสินค้า โดยสามารถจ้างบุคคลภายนอกที่มีความชำนาญอยู่แล้วทำให้ได้เลย และไม่ต้องกังวลเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทุกปี เพราะฉะนั้นที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจสมัยใหม่คือให้คนที่ชำนาญบริหารจัดการแทน” คุณชไมพร กล่าว
      ส่วนใหญ่ผู้ผลิตที่เป็นต่างชาติจะใช้วีธีการว่าจ้างให้บุคคลอื่นทำมากกว่า เพราะเห็นว่าเป็นการลดต้นทุนอย่างหนึ่ง ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยยังมีแนวคิดแบบเก่าที่ต้องการดำเนินการเอง เนื่องจากยังไม่มีความไว้วางใจ แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าในอนาคตผู้ประกอบการไทยมีแนวโน้มที่จะหันมาใช้บริการเอาท์ซอร์สบริษัทภายนอกมากขึ้น
      คุณโชคชัย คัมภิรานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท เอ็นดีซี โลจิสติกส์ จำกัด เปิดเผยถึงหัวใจสำคัญของการ Outsource ว่า หลักของการทำงานให้ประสบความสำเร็จคือการรู้จักวิธีการ Outsource ให้มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์กับบริษัทมากที่สุด อย่างเช่น บริษัท สงวนวงศ์ จำกัด ที่ใช้บริการบริหารจัดการขนส่งของ บริษัท เอ็นดีซี โลจิสติกส์ จำกัด ทำให้สามารถลดต้นทุนลงถึงกว่า 10 ล้านบาทต่อปี พร้อมทั้งสามารถควบคุมต้นทุนได้ ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณไปกับต้นทุนแฝงจากกิจกรรมต่างๆ อาทิ ลดต้นทุนจากการจ้างแรงงาน การลงทุนซื้อวัสดุอุปกรณ์ การก่อสร้างอาคารคลังสินค้า การซื้อรถบรรทุก ฯลฯ
      ประโยชน์จากการ Outsource คือ ลูกค้าสามารถมีเวลาไปทำงานในส่วนที่ตนเองถนัดไม่ต้องไปเสียเวลาในงานที่ไม่ถนัดแล้วปล่อยให้ผู้ที่มีความชำนาญมากกว่าเป็นผู้ที่ดูแลดำเนินการให้ แต่อย่างไรก็ตามการว่าจ้างบริษัทอื่นเป็นผู้ดำเนินงานให้ต้องพิจารณาแล้วว่า บริษัทดังกล่าวต้องมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ไม่นำข้อมูลซึ่งเป็นความลับของบริษัทลูกค้าไปเผยแพร่
      ด้านคุณไตรรัตน์ ใจสำราญ กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท จีเอเบิล IT Services Company เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาด Outsourcing มีแนวโน้มที่ดีมาก ตลาดกำลังขยายตัวอย่างเต็มที่ โดยทุกกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการ ต่างเปลี่ยนแนวความคิดหันมารับบริการ IT Outsourcing Services มากขึ้น เนื่องจากช่วยลดต้นทุนในการประกอบการ และเป็นส่วนสนับสนุนธุรกิจหลักได้เป็นอย่างดี ดังนั้นกลุ่มจีเอเบิลจึงเร่งขยายตลาดให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำโซลูชั่น Outsourcing Services ออกให้บริการอย่างครบรูปแบบ โดยมีกลุ่มเป้าหมายในระดับองค์กรกลางและขนาดใหญ่
      ข้อดีของการ Outsource คือ ผู้ผลิตสามารถรู้ต้นทุนที่ชัดเจนในงานแต่ละประเภทว่า ต้องใช้งบประมาณเท่าไร นอกจากนี้ยังไม่มีต้นทุนแฝงที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมนั้นๆ เนื่องจากบริษัทที่รับจัดการให้จะเป็นผู้ดำเนินการให้ทั้งหมด โดยเฉพาะงานด้านไอทีเป็นงานที่ต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อมาวางระบบและพัฒนาระบบให้
      ในส่วนของผู้ใช้บริการ outsource คุณผาณิต ชวชัยชนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กาแรนท์ โมเบล (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้แสดงทรรศนะในเรื่องเดียวกันนี้ว่า ขณะนี้ทางบริษัท กาแรนท์ โมเบล ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการกระจายสินค้า โดยใช้วิธี Outsource บริษัท ซิเมนต์ไทย โลจิสติกส์ จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการแทน ซึ่งการปรับเปลี่ยนระบบการขนส่งของบริษัท เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานระบบการขนส่งจากศูนย์กระจายสินค้า ไปสู่เครือข่ายเฟรนไชส์ทั่วประเทศให้ได้รับความรวดเร็ว ตรงเวลา และตรงตามความต้องการของลูกค้าและเครือข่ายเฟรนไชส์มากยิ่งขึ้น
      “การใช้บริการ Outsource เนื่องจากเห็นว่าแต่ละบริษัทจะมีความชำนาญเฉพาะด้าน ดังนั้นควรให้บริษัทที่ชำนาญด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์เป็นผู้ดำเนินการให้ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้ธุรกิจเราเติบโตไปในอนาคต และสามารถขยายเครือข่ายของบริษัทต่อไปได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวทางบริษัทจึงต้องมองหาพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมบริหารจัดการให้องค์กรมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น” คุณผาณิต กล่าว
      ดร.สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้ผลิตในประเทศไทยควรหันมาใช้บริการ Outsource บริษัทโลจิสติกส์ ด้วยเหตุผลที่ว่าในการ Outsource จะช่วยให้บริษัทสามารถลดต้นทุนที่เกิดขึ้น นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่ธุรกิจสำคัญอยู่ที่การผลิตสินค้า ไม่ใช่เรื่องของโลจิสติกส์หรือคลังสินค้า จึงควรมุ่งเน้นพัฒนาธุรกิจหลักคือเรื่องการผลิต ส่วนเรื่องโลจิสติกส์ควรปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการให้ ส่วนที่ไม่ถนัดก็ควรจ้างให้ผู้อื่นทำจะดีกว่า
      สำหรับบริษัทที่มีทรัพยากรอยู่แล้ว กรณีนี้การจะลดต้นทุนด้วยการ Outsource อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นทางออกที่สามารถทำได้คือ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ให้มากที่สุด โดยการพลิกบทบาทก้าวสู่การเป็นผู้รับบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ เพื่อรับจัดการให้กับบริษัทตนเอง พร้อมทั้งรับดำเนินการให้บริษัทอื่นด้วย การทำเช่นนี้จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทและยังเป็นการลดต้นทุนได้อีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ พร้อมทั้งพัฒนาตนเองสู่การเป็นผู้ให้บริการ Third Party Logistics Provider
      ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็น Third Party Logistics Provider ของไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ เช่น ลดภาษีผู้ให้บริการ การนำเข้าอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินกิจการ หรือให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่ต้องใช้บริการโลจิสติกส์ Outsource ให้กับผู้ประกอบการไทย

เสริมศักยภาพสู่ Third Party Logistics Provider
       ด้วยวิสัยทัศน์ที่บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ โลจิสติกส์ จำกัด ต้องการเป็นผู้นำด้านการให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรในประเทศไทย ที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำตรงตามความคาดหวังของลูกค้า ผนวกกับมีบุคลากรที่เป็นมืออาชีพเข้ามาเสริมทัพ จนปัจจุบันพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็น Third Party Logistics Provider พร้อมกันนี้ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ โลจิสติกส์ ยังมีนโยบายทางด้านคุณภาพว่าจะมุ่งมั่นให้บริการที่มีประสิทธิภาพ และเป็นเสมือนหุ้นส่วนทางการค้า
       คุณชไมพร กล่าวว่า ข้อดีของการปรับเปลี่ยนสถานะเป็นผู้รับจัดการด้านโลจิสติกส์ (Third Party Logistics Provider) เนื่องจากเรามีบริษัทในเครือ 8 บริษัท ซึ่งเป็นลูกค้าที่ต้องมาใช้บริการอยู่แล้ว ทำให้มองว่าการทำเองจะเป็นการประหยัดกว่าการไปว่าจ้างบุคคลภายนอก พร้อมกันนี้ยังสามารถต่อยอดธุรกิจพลิกบทบาทเป็นผู้ให้บริการรับดำเนินการให้บริษัทนอกเครือ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้และประหยัดต้นทุนในการดำเนินงาน
       สำหรับการบริหารโลจิสติกส์ครบวงจร คือ รับบริหารจัดการคลังสินค้า พิธีการศุลกากร การนำเข้าส่งออก การขนส่ง และกระจายสินค้าทั่วประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเชื่อมต่อกระบวนการ นอกจากนี้บริษัทยังว่าจ้างบุคคลภายนอกในเรื่องขนส่งโดยรถบรรทุก เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการในการขนส่งที่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ต้องอาศัยการวางแผนการทำงานที่มีประสิทธิภาพร่วมด้วย พร้อมทั้งอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งที่เป็นลูกค้าและซัพพลายเออร์ของบริษัท
       นอกจากนี้หากจะให้เกิดประโยชน์สูงสุดต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันและมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้รับบริหารจัดการ (Outsource) สามารถวางแผนเพื่อรองรับการทำงานให้มีประสิทธิผล ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้บริการมากกว่าปกติ เช่น การทำโปรโมชั่น หรือ เทศกาลต่างๆ โดยพันธมิตรทางธุรกิจต้องจับมือกันคุยว่าอุปสรรคคืออะไร และหากต้องการลดอุปสรรคต้องทำอย่างไร เพื่อที่จะทำอย่างไรให้ลดต้นทุน จับมือกันโต ซึ่งเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว

ผลักดันรัฐเอาจริงพัฒนาขนส่งรถไฟ
       ขณะนี้ภาครัฐสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเปลี่ยนระบบการขนส่งมาใช้วิธีการขนส่งทางรถไฟมากขึ้น หากพูดถึงการบริหารจัดการโลจิสติกส์ทางรถไฟแล้ว ประเทศไทยเป็นเบอร์ 3 ของโลกที่สามารถทำธุรกิจโลจิสติกส์รถไฟได้ประสบความสำเร็จ ขณะนี้มีเพียง 3 ประเทศในโลกเท่านั้นที่สามารถทำได้ คือ อเมริกา แคนาดา และไทย ซึ่งบริษัท เอ็นดีซี โลจิสติกส์ จำกัด เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่ทำธุรกิจโลจิสติกส์รถไฟครบวงจร โดยอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมานาน
       ในฐานะผู้ที่เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์รถไฟ คุณโชคชัย ได้กล่าวถึงข้อดีของการใช้บริการว่า การใช้การขนส่งทางรถไฟนั้น เป็นการลดต้นทุนมากกว่าการขนส่งในรูปแบบอื่น ซึ่งสินค้าที่เหมาะสมกับการใช้การขนส่งทางรถไฟ คือสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม เช่น ข้าว แป้ง ไม้ ยางพารา กระดาษ ฯลฯ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้มีนโยบายให้ผู้ประกอบการขนส่งหันมาใช้การขนส่งทางรถไฟ เพื่อต้องการลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ของประเทศ
       “แม้ว่าการขนส่งทางรถไฟจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการขนส่งในรูปแบบอื่น (ไม่รวมค่าขนส่งต่อเนื่อง) แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องหัวรถจักร และแคร่คอนเทนเนอร์ที่มีจำกัด ส่วนที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เป็นแคร่เก่า ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้มองเห็นความสำคัญ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางรถไฟเพิ่มมากขึ้น มีโครงการขยายเส้นทางรถไฟ รวมถึงซื้อหัวรถจักรเพิ่มประมาณ 20 หัว พร้อมทั้งสร้างแคร่เพิ่มในขั้นแรก 112 ตัว และมีแผนที่จะซื้อเพิ่มอีกกว่า 300 ตัว” คุณโชคชัยกล่าว
       การพัฒนาการขนส่งทางรถไฟจะก้าวหน้าเพียงใด ขึ้นอยู่กับหน่วยงานภาครัฐที่จะเป็นผู้ผลักดันให้เดินหน้าต่อไปได้เร็วมากน้อยแค่ไหน ที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศจะสร้างรถไฟรางคู่ แต่จนถึงวันนี้โครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าไปช้ามาก เนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางรถไฟต้องใช้งบประมาณสูงมาก และต้องใช้เวลานานทั้งเรื่องงบประมาณและการก่อสร้าง ในมุมมองของผู้ประกอบการขนส่งได้เสนอแนะว่า หากจะเร่งรัดพัฒนาการขนส่งทางรถไฟ ลำดับแรกต้องมองคือเร่งรัดการจัดหาหัวรถจักร และแคร่บรรทุกสินค้า พร้อมทั้งศึกษาว่าจุดไหนที่เป็นคอขวด คือมีปริมาณการขนส่งหนาแน่นจนเกินขีดความสามารถที่จะรองรับได้ก็ควรไปแก้ตรงจุดนั้นก่อน อย่างเช่นการขยาย หรือ เพิ่มจุดกระจายสินค้าให้มากขึ้น จากเดิมที่ ไอซีดี ลาดกระบัง ที่ในปัจจุบันปริมาณการขนส่ง และปริมาณตู้สินค้าหนาแน่นจนไม่สามารถรองรับได้แล้ว
       ในอนาคตที่มีการพูดถึงเสรีการขนส่ง จากผลพวงของการเปิดเสรีทางการค้า ที่จะเป็นช่องทางให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยได้อย่างเสรี และหากบริษัทต่างชาติต้องการเข้ามาจับธุรกิจขนส่งทางรถไฟ เชื่อว่าสามารถทำได้ง่าย เนื่องจากบริษัทต่างชาติมีเงินลงทุน ซึ่งต่างจากผู้ประกอบการไทย เพราะฉะนั้นการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย คือ ต้องดูนโยบายของรัฐว่าจะเปิดช่องอย่างไร โดยเราต้องทำตัวเป็นพันธมิตรกับการรถไฟเป็นมือเป็นเท้าหรือไปทำเรื่องการตลาด รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับบริษัทต่างชาติ
       ผู้ประกอบการขนส่งไทยยังได้ฝากความหวังถึงรัฐบาลผู้มีอำนาจในการกำหนดแนวนโยบายการพัฒนาประเทศว่า ต้องการให้รัฐบาลพัฒนาการขนส่งทางรถไฟให้เห็นเป็นรูปธรรมและด้วยความรวดเร็ว เพราะขณะนี้ทั้งลูกค้า และผู้ประกอบการยังไม่รู้ว่าต้องรออีกนานแค่ไหนกว่าการพัฒนาโครงสร้างการขนส่งทางรถไฟจะคืบหน้ากว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
       ทั้งนี้ ธุรกิจสมัยใหม่หากต้องการอยู่รอด และสามารถยืนผงาดบนเวทีการแข่งขันได้ ผู้ประกอบการต้องรู้จักปรับตัวและนำกลยุทธ์ Outsource เข้ามาใช้ในการดำเนินงาน แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าผู้ประกอบการไทยพร้อมที่จะปรับตัวและเปิดรับสิ่งใหม่มากน้อยเพียงใด
 
ที่มา Logistics Digest
Vol.1 No.11 February 2006

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *