'เลือกทำสิ่งที่รัก และถนัด' สไตล์ นพพร วิฑูรชาติ

‘เลือกทำสิ่งที่รัก และถนัด’ สไตล์ นพพร วิฑูรชาติ
การพัฒนา “ศูนย์การค้าชุมชน” ที่เรียกกันติดปากว่า Community Center หรือ Neighborhood Center ที่มีลักษณะเป็นศูนย์การค้าขนาดกลางและเล็ก นับเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการเกิดของศูนย์การค้าเหล่านี้คือ “นพพร วิฑูรชาติ” ผู้ร่วมก่อตั้งและ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดิเวลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ SF และอดีตเซลส์ขายคอมพิวเตอร์ ในเครือปูนซิเมนต์ไทย ที่หันมาเป็นนักพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าชุมชนแบบเปิด จนมีหลายคนให้ฉายาเขาว่า “เจ้าพ่อ คอมมมิวนิตี เซ็นเตอร์”
ระยะเวลาเพียง 14 ปี นพพร ปั้น SF ขึ้นเป็นผู้นำ
“การพัฒนาศูนย์การค้าขนาดเล็ก” หลากหลายรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนไปตามแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค ในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ ศูนย์สะดวกซื้อ( Convenience Center) ร้านค้าปลีกร้านเดียว( Stand-Alone Retail Store) ศูนย์รวมสินค้าเฉพาะอย่าง(Power Center) ศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์( Lifestyle Center) และ ศูนย์เอนเตอร์เทนเมนต์( Urban Entertainment Center) โดยวันนี้เขาบริหารศูนย์ทั้งหมด 28 แห่ง รวมพื้นที่กว่า 250,000 ตารางเมตร และในระยะ 3 ปีข้างหน้าเขามีแผนขยายศูนย์เพิ่มอีก 20 ศูนย์ ใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่เพิ่มเป็น 600,000 ตารางเมตร
นพพรเผยว่า สิ่งที่ทำให้ SF มาถึงวันนี้ได้ เป็นเรื่องที่เราตัดสินใจนำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2545 ทำให้สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว จากผลกำไร 34 ล้านบาท พุ่งขึ้นมาเป็น 304 ล้านบาท ในปี 2550 และทุนเพิ่มจาก 10 ล้านบาท ถึงวันนี้เป็น 534 ล้านบาท และมีมูลค่าสินทรัพย์ 6,934 ล้านบาท ขณะที่มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท
“อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราวางยุทธศาสตร์ธุรกิจที่มุ่งมั่นทำในสิ่งที่เราถนัด และฝึกฝนความชำนาญในสิ่งที่เราทำให้มีความเข้าใจ และเชี่ยวชาญขึ้นเรื่อยๆ”
ซึ่งแนวคิดในการบริหารองค์กรมาถึงวันนี้ นพพร ตอบด้วยความภูมิใจว่า แม้ SF จะเป็นบริษัทที่เจ้าของบริหารเองแต่ก็ไม่ได้เป็นระบบเถ้าแก่ แต่ได้นำโมเดล การบริหารมาจากเครือซิเมนต์ไทย หรือยึดหลักธรรมาภิบาล(good governance) เน้นการบริหารจัดการที่มีคุณภาพอย่างมืออาชีพ โปร่งใส มุ่งหลักจริยธรรม 4 ข้อคือ ตั้งมั่นในความเป็นธรรม, มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน และถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม
“นโยบายบริหารองค์กร เราเหมือนเครือซิเมนต์ไทย ที่ให้ความสำคัญกับคนมากที่สุด พนักงานที่เรามี 70 คน(ไม่นับที่ outsource) เป็นคนระดับดรีม คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัย มีมุมมองที่บริษัทต้องการไปในทิศทางเดียวกัน และเราสร้างให้เขารู้และคิดแทนเราด้วยว่าเราจะไปทางไหนดี ยกเว้นการสร้างวัฒนธรรมองค์กร(culture) เราพยายามทำ SF ให้เป็นองค์กรที่ Dynamic เพราะธุรกิจต่างกับของเครือปูน”
เนื่องจาก SFเป็นกึ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และกึ่งไฟแนนเชียลเซอร์วิส เพราะเอาเงินของผู้ลงทุนมาสร้างศูนย์ เสร็จแล้วก็ทำรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ในโครงการ ค่าบริหารโครงการและค่าบริการสาธารณูปโภค ซึ่งถือเป็นการบริหารสินทรัพย์อย่างหนึ่ง
รวมถึงวิธีคิดก็ได้แนวคิดมาจากประสบการณ์ของอดีตเจ้านายที่เคยทำงานเครือปูนซิเมนต์ไทย และเพื่อนร่วมงานที่อยู่รอบตัว เช่น อรณพ จันทรประภา, ดุสิต นนทะนาคร, ชัย จรุงธนาภิบาล, เดช บุลสุข และวิชา พูลวรลักษณ์ ทั้ง 5 คนถือเป็นต้นแบบที่นพพรนำมาปรับใช้ในด้านการตลาด การเงิน การพัฒนาธุรกิจ ฯลฯ และยังดึงเข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการบริษัท ด้วย
เช่นเดียวกับการทำงานของนพพร ที่ยอมรับว่า มีวันนี้เพราะความร่วมแรงร่วมใจของหลายฝ่าย ซึ่งบางคนมีโอกาสได้ทำ แต่ทำไม่ได้ หรือทำได้ แต่ไม่มีใครยื่นโอกาสมาให้ทำ “ตัวผมโชคดีที่ได้ทำ และทำได้ด้วย โดยเฉพาะการได้ทำในสิ่งที่เรารักและถนัด” และมักจะนำข้อคิดนี้มาสอนเสมอว่า “ให้ทำในสิ่งที่รัก และรักในสิ่งที่ทำ และสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ต้องทำให้ดีที่สุดด้วย”
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพื้นฐานครอบครัวที่นพพรได้คลุกคลีอยู่ในวงการนี้มาตั้งแต่เด็ก นับตั้งแต่คุณทวดที่ริเริ่มพัฒนาตลาดสด และศูนย์การค้าย่านมีนบุรี ยังไม่รวมที่ดินให้เช่าอีกจำนวนมาก จากที่ทวดของนพพรซื้อไว้และที่คนนำมาจำนำ สมัยทำธุรกิจร้านทองในตลาดนี้ และจุดพลิกผันของตัวนพพรเอง ซึ่งแม้จะเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า (ลาดกระบัง) และได้งานทำเป็นเซลส์ขายคอมพิวเตอร์ ที่ บริษัท เอส ซี ที คอมพิวเตอร์ จำกัด ในเครือซิเมนต์ไทย แต่ทำได้แค่ 3 ปีบริษัทก็ขายกิจการไป
เดิมตั้งใจจะไปเรียนต่อปริญญาโทที่เมืองนอก แต่ปู่ขอให้มาดูแลธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ จนกระทั่งห้างจัสโก้จากญี่ปุ่นสนใจเช่าที่มีนบุรีเปิดซูเปอร์มาร์เก็ต จึงหันไปจับมือกันพัฒนาด้านนี้จนประสบความสำเร็จ
เมื่อเห็นว่าธุรกิจนี้เข้าท่าดีจึงขยายทำอีกหลายแห่ง จนถึงปี 2537 ก็ชวนลูกพี่เก่าที่ปูนซิเมนต์ “พงศ์กิจ สุทธพงศ์” ตั้งบริษัท สยามฟิวเตอร์ดิเวลอปเมนท์ จำกัด เพื่อพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าแบบเปิด (Open-air Shopping Center) เริ่มจากเปิดศูนย์การค้าชุมชนแห่งแรกที่บางบอน โดยมีจัสโก้ ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นลูกค้า และช่วยฝึกฝนความชำนาญจนมาถึงวันนี้
ทำงานมาถึงวันนี้ สิ่งหนึ่งที่นพพรบอกเขา เชื่ออยู่เสมอและมักจะแนะนำพนักงานรุ่นน้องที่เข้ามาทำงานตลอดว่า ชีวิตคนเราไม่ว่าจะทำงานอะไรก่อนจะขึ้นไปสู่สายงานบริหารควรผ่านงานเซลส์สักครั้ง เพราะเป็นงานที่ต้องประสานกับทุกส่วน ทั้งการผลิตสินค้า ไปจนถึงรับเงินมาส่งให้ฝ่ายบัญชี จะช่วยให้ได้เรียนรู้เรื่องคน “แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การใช้คนให้ตรงกับงาน และรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา” ที่เขายึดถือปฏิบัติในฐานะผู้บริหาร
อย่างไรก็ตาม การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาด ยิ่งทำให้การทำงานจากนี้ไปยิ่งท้าทายมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย นพพรย้ำ อยากพัฒนาศูนย์ที่เป็นโปรดักต์ใหม่ๆ หรือการเติมรูปแบบที่เป็นนวัตกรรมใหม่เข้าไปในศูนย์ที่จะพัฒนาในอนาคต แต่ยังต้องดูโอกาสและรอเวลาให้ตลาดปรับตัว และกล่าวว่าในอีกไม่นานจะได้เห็นรูปแบบศูนย์ของ SF ที่จะเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งจะเป็นศูนย์ที่ผสมทุกคอนเซ็ปต์ที่เคยทำเข้าด้วยกันแบบไม่มีใครเคยทำมาก่อน โดยจะมีทั้ง ไลฟ์สไตล์เอนเตอร์เทนเมนต์, ไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์, เพาเวอร์เซ็นเตอร์, ดีพาร์ตเมนต์ สโตร์ และ แฟกตอรี เอาต์เล็ตเซ็นเตอร์ รวมอยู่ด้วยกัน บนพื้นที่ประมาณ 250 ไร่ย่านถนนเกษตรฯ-นวมินทร์ ซึ่งจะร่วมทุนกับนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ทำและเช่าบางส่วนมาบริหารเอง
“ผมมองว่า ธุรกิจนี้มีเสห่น์ตรงการบริการคนให้มีความสุข จากการมาจับจ่ายใช้สอย ดูหนัง ฟังเพลง จึงต้องนำเสนอสิ่งใหม่ๆ และปรับเปลี่ยนบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ชอบโปรดักต์ของเรา และเพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตถึงระดับหนึ่งที่มี economy of scale ที่จะบริหารเงินลงทุนได้มีประสิทธิภาพดีกว่านี้ได้ด้วย”
ซึ่งรวมถึงการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อช่วยลดความเสี่ยง และเป็นการ synergy หรือเสริมกัน เพราะบางอย่างเราทำคนเดียวไม่ได้ ก็ต้องมีเพื่อน หรือต้องมีพันธมิตรเข้ามาร่วมด้วย”

คนใกล้ชิดเรียกเขาว่า “ลูกแก้ว” อยู่เมืองนอกเขาเรียกกันว่า “เควิน” ไลฟ์สไตล์วันว่างชอบทำอยู่สองอย่างกับคนในครอบครัว คือ ดูหนังสัปดาห์หนึ่ง 4 เรื่อง และท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ชอบดูการ ช็อปปิ้งและสำรวจไลฟ์สไตล์ของคน ส่วนกีฬาโปรดเล่นกอล์ฟ ความฝันสมัยเด็ก อยากเป็น Dancer เพราะชอบเต้นแต่เต้นไม่ได้เรื่อง พอมาพัฒนาศูนย์การค้าชุมชนจึงได้ค้นพบตัวเองว่าเป็นสิ่งที่ตัวเองถนัดและชอบ “นพพร วิฑูรชาติ” กล่าว

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *