เพิ่มรับนักศึกษาเกินกำหนด ส่งผลลดคุณภาพจัดการศึกษา

เพิ่มรับนักศึกษาเกินกำหนด ส่งผลลดคุณภาพจัดการศึกษา

วันที่ : 21 พฤษภาคม 2552 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : นิตยสารการศึกษาอัพเกรด

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้สรุปยอดผู้สมัครเรียนผ่านระบบแอดมิชชั่นปีการศึกษา 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 124,821 คน จากที่ สกอ. วางแผนรับสมัครไว้ที่ 120,000 คน ซึ่งยังไม่รวมนักเรียนที่เข้าเรียนผ่านระบบรับตรง และได้โควต้าจากโครงการพิเศษต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย แต่แน่นอนว่า ทุกปีจะมีนักเรียนจำนวนหนึ่งยังไม่มีที่เรียน ภายหลังการประกาศผลแอดมิชชั่นเสร็จสิ้น เนื่องจากไม่ผ่านระบบรับตรง ไม่ได้โควต้า หรือไม่ได้รับการคัดเลือกจากระบบแอดมิชชั่น
อย่างไรก็ตาม นักศึกษาไทยยังมีทางเลือกอื่น เนื่องจากมหาวิทยาลัยปิด ทั้งของรัฐและเอกชน พยายามรับนักศึกษาเพิ่มขึ้น รวมถึงนักศึกษาที่ไม่สามารถผ่านเข้าเรียนในระบบแอดมิชชั่นนิยมเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเปิดจำนวนมาก ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าในแต่ละปีจะมีนักศึกษาเข้าใหม่ในสถาบันอุดมศึกษาทุกสังกัดจำนวนมาก ซึ่งตัวเลขจำนวนนักศึกษาเข้าใหม่จาก สกอ. ระหว่างปีการศึกษา 2547-2550 จะอยู่ระหว่าง 2-5 แสนคน อาจกล่าวได้ว่านักเรียนที่ต้องการเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาจะได้รับโอกาสทุกคน สถานการณ์การรับนักศึกษาในสหราชอาณาจักร การรับนักศึกษาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แตกต่างจากสถานการณ์ในสหราชอาณาจักร ที่ปัจจุบันวิกฤติเศรษฐกิจได้กระทบต่อการอุดหนุนการอุดมศึกษา รัฐบาลจึงกำหนดจำนวนนักศึกษาให้สอดคล้องกับความสามารถของรัฐบาล ดังนั้น อาจมีนักเรียนจำนวนมากไม่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้ ในอังกฤษมีจำนวนนักเรียนสมัครเรียนปริญญาตรีภาคปกติ (เต็มเวลา) เพิ่มร้อยละ 8.8 จากการรายงานจากหน่วยงานที่รับผิดชอบการรับนักศึกษาเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในสหราชอาณาจักร (Universities and Colleges Admissions Service: UCAS) โดยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม มีนักเรียนสมัครเข้าเรียนปริญญาตรีในหลักสูตรปกติจำนวน 524,151 คน เพิ่มจากปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งมีจำนวน 481,784 คน หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 42,367 คน (ร้อยละ 8.8) ขณะที่กระทรวงนวัตกรรม มหาวิทยาลัย และทักษะ (Department for Innovation, Universities and Skills: DIUS) ของอังกฤษ สามารถจัดสรรงบประมาณสำหรับนักศึกษาส่วนเพิ่มได้เพียง 10,000 ที่นั่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงจากก่อนหน้านี้ ที่ได้ประมาณการไว้จำนวน 15,000 ที่นั่ง หากมหาวิทยาลัยได้รับนักศึกษามากกว่าจำนวนที่ได้ตกลงไว้ต้องเสียค่าปรับ ดังนั้น ปีนี้เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของนักเรียน ต้องลุ้นว่าจะผ่านเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่คาดหวังได้หรือไม่ และแน่นอนว่าจะมีนักเรียน 3 หมื่นกว่าคน ไม่มีที่เรียน เนื่องด้วยความกังวลที่ว่าจะมีนักเรียนจำนวนมากไม่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย สหพันธ์นักศึกษาสหราชอาณาจักร (National Union of Students: NUS) ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มจำนวนนักศึกษาส่วนเพิ่ม และงบประมาณให้สอดคล้องกับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ฝ่ายค้านได้ร้องขอให้รัฐบาล ไม่ปล่อยให้เยาวชนตกเป็นเหยื่อเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แต่ควรให้โอกาสพวกเขาได้มีอนาคตที่ดี ปัญหาการอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยไทย การกำหนดมาตรการที่เด็ดขาดกับมหาวิทยาลัยที่รับนักศึกษามากกว่าที่กำหนด ของรัฐบาลในสหราชอาณาจักร หากมองในด้านดี เป็นมาตรการที่ทำให้รัฐบาลสามารถอุดหนุนงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยสามารถจัดการศึกษาและดูแลนักศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและทั่วถึง ซึ่งต่างจากสถานการณ์การรับนักศึกษาในประเทศไทย เนื่องด้วยมีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนที่ไม่สามารถผ่านเข้าเรียนในระบบแอดมิชชั่นทุกคนให้ได้เรียน แต่ก็มีปัญหาที่เกิดตามมาอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็น ตัวอย่างเช่น การผลิตบัณฑิตในบางสาขาเกินความต้องการ ในปีการศึกษา 2550 มีจำนวนนักศึกษาเข้าใหม่ทั้งหมด 506,650 เป็นนักศึกษาสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 352,790 คน สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 131,117 คน และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ 22,743 คน เห็นได้ว่าจำนวนนักศึกษาเกิดครึ่งอยู่ในสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ แต่จากการศึกษาของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พบว่า ตลาดแรงงานต้องการกำลังคนสาขานี้เพียงร้อยละ 10-15 โดยนักศึกษาจบใหม่ที่ตกงานส่วนใหญ่เป็นสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มากที่สุด คุณภาพบัณฑิตไม่สอดคล้องตามความต้องการของตลาดแรงงาน สถาบันอุดมศึกษามีคุณภาพแตกต่างกัน การจัดการเรียนการสอนเน้นเชิงพาณิชย์ ผลิตบัณฑิตเชิงปริมาณ บัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยขาดคุณลักษณะที่เหมาะสมในการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการที่รับบัณฑิตปริญญาตรีได้สะท้อนความคิดเห็นว่า บัณฑิตจบใหม่จำนวนมากไม่สามารถทำงานได้ทันที บริษัทและสถานประกอบหลายแห่งต้องฝึกอบรมซ้ำ ซึ่งเป็นการสูญเสียงบประมาณซ้ำซ้อน นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังเสนอว่า ควรพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะทางภาษา คอมพิวเตอร์ และความสามารถในการบริหารจัดการมากขึ้น การขยายโอกาสด้านการอุดมศึกษาของไทยที่เกินพอดี ไม่มีการควบคุมด้านปริมาณ ย่อมจะส่งผลด้านคุณภาพในที่สุด ดังนั้น รัฐบาลควรควบคุมปริมาณการรับจำนวนนักศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัย ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยมีการตกลงร่วมกันของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และกำหนดลงโทษกรณีที่รับนักศึกษาเกินกว่าที่กำหนด

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *