เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ตรวจหามะเร็งรวดเร็ว-แม่นยำ

 เมื่อวิวัฒนาการทางการแพทย์มีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงยารักษาโรค ได้ถูกคิดค้นและพัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ช่วยรักษาคนไข้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ต่าง ๆ ซึ่งโรคมะเร็งก็ถือเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่คุกคามชีวิตคนทั่วโลกรวมถึงคนไทยไปจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาวงการวิทยาศาสตร์

การแพทย์สมัยใหม่ได้พยายามพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อต่อสู้กับมะเร็งร้าย ทั้งนี้หนึ่งในเครื่องมือทางการแพทย์ ที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งซึ่งถูกกล่าวถึงบ่อย ๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็คือ

เครื่องเพท/ ซีที (PET/CT : Positron Emission Tomography/Computed Tomography)

       ซึ่งเป็นเครื่องมือทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการทำงานที่ผสานกัน ระหว่างเทคโนโลยีของเครื่อง PET และเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ที่มีประสิทธิภาพสูงในการนำมาใช้ตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง เครื่องเพท/ซีที จะทำหน้าที่เอกซเรย์ภาพของอวัยวะต่าง ๆ ของ ร่างกาย ให้ภาพที่มีความละเอียดสูง สามารถระบุตำแหน่งเซลล์ที่มีความผิดปกติได้อย่างแม่นยำ และช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น

      โดยเครื่องเพท/ซีที รุ่นล่าสุด “ไบโอกราฟ 64 ทรูพอยท์” (PET/CT Biograph 64 True Point) ได้ถูกพัฒนาขึ้นอีก ขั้นด้วยการให้ความละเอียดคมชัดของภาพที่สูงขึ้นและเร็วขึ้นกว่าเดิม สามารถสร้างภาพตัดขวางพร้อมกันถึง 64 ภาพต่อการหมุนหนึ่งรอบด้วยความเร็ว 0.33 วินาที ภาพที่ได้จึงมีความชัดเจนทั้ง 2 และ 3 มิติ และระบุรอยโรคได้แม้มีขนาดเล็กเพียง 3-6 มิลลิเมตร และสามารถให้รายละเอียดผลการตรวจที่แสดงให้เห็นความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรคมะเร็ง ระบุตำแหน่งที่เซลล์มีความผิดปกติ ได้ถูกต้องแม่นยำ

       นอกจากนี้ยังสามารถใช้ตรวจหาระยะของมะเร็ง ตรวจสอบการตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี เพื่อติดตามผลการรักษา และยังใช้ตรวจหาการลุกลามของมะเร็งที่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ หรือมะเร็งที่กลับมาเป็นใหม่หลังการรักษาได้ ถือเป็นรายละเอียดที่ไม่สามารถบอกได้ด้วยการตรวจวิธีอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

        นพ.ณรงค์ศักดิ์ เกียรติขจรธาดา อายุรแพทย์โรคเลือด และโรคมะเร็ง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ฯ กล่าวว่า โรคมะเร็งสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก เทคโนโลยีของเครื่องเพท/ซีที จะสามารถบอกตำแหน่งและขนาดของเซลล์มะเร็งได้อย่างแม่นยำ แม้จะมีความผิดปกติเพียงเล็กน้อย

       สำหรับขั้นตอนการตรวจนั้นผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารเภสัชรังสีที่เป็นอนุพันธ์ของน้ำตาลกลูโคส ติดฉลากกับสารกัมมันตรังสีที่สลายตัวให้รังสี โพสิตรอนเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งสารที่ฉีดเข้าไปจะไปสะสมอยู่ในเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นจึงนำผู้ป่วยเข้าเครื่องเพท/ซีที ทำการตรวจ โดยใช้เวลาเพียง 15-20 นาที เร็วกว่าเครื่องรุ่นก่อนถึง 2 เท่า เมื่อรวมขั้นตอนต่าง ๆ ของการตรวจจะใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง เท่านั้น

      “สารกลูโคสที่ฉีดเข้าร่างกายเมื่อไปสะสมในเซลล์แล้ว หากผู้ป่วยมีเซลล์มะเร็งในอวัยวะใด กลูโคสก็จะเข้าไปจับในเซลล์มะเร็งอวัยวะนั้นมากกว่าเซลล์ปกติ เครื่องจึงสามารถตรวจพบรังสีแกมมาในบริเวณเซลล์นั้นได้มากกว่าบริเวณอื่น ๆ ทำให้ตรวจพบเซลล์มะเร็งได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า การตรวจด้วยเครื่อง นี้มีความปลอดภัย โดยสารกัมมันตรังสีที่ถูกฉีดเข้า ร่างกายไม่มีอันตราย และจะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ

 ทั้งนี้ในส่วนของผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง หรือเป็นเบาหวาน หากจะตรวจด้วยเครื่องนี้แพทย์จะให้อินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้มีความเหมาะสมก่อนที่จะฉีดสารกลูโคสเข้าร่างกาย อย่างไรก็ตามมะเร็งบางชนิดอาจจะไม่สามารถมองเห็นด้วยเครื่องนี้ เช่น มะเร็งปอดบางชนิด มะเร็งต่อมลูกหมากชนิดที่โตช้า ฯลฯ การตรวจด้วยเครื่องนี้จะเหมาะและเป็นประโยชน์สำหรับคนที่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง เพื่อใช้ติดตามผลการรักษาและการลุกลามของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ ให้แพทย์ได้วางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง เช่น จะใช้วิธีการผ่าตัด หรือใช้เคมีบำบัด หรือต้องใช้ทั้งสองวิธีในการรักษาผู้ป่วย

“ในต่างประเทศได้มีการทดลองใช้เครื่องเพท/ซีที คัดกรองเพื่อ หาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งจากคน 100 คน จะพบผู้ที่มีความเสี่ยงและมีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคประมาณ 3 คน การใช้เครื่องนี้เพื่อตรวจคัดกรองอาจจะไม่คุ้มค่า เพราะมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสูงถึง 65,000 บาท วิธีนี้จึงเหมาะใช้ตรวจกับคนที่มีความเสี่ยงและมีแนวโน้มว่าจะเป็นหรือคนที่เป็นมะเร็งแล้วมากกว่า ซึ่งแพทย์จะสามารถนำผลไปวินิจฉัยและวางแผนเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้ป่วยหาย หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

อย่างไรก็ตามด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ เครื่องเพท/ซีที จึงมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ต่อเครื่อง ทำให้เครื่องนี้ยังมี ไม่แพร่หลายมากนักในเมืองไทย และมีให้บริการตรวจผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพียงไม่กี่แห่ง คือที่ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลเอกชนอีกประมาณ 2 แห่งเท่านั้น !?!.

แหล่งข่าว : หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ โพสต์เมื่อ : 2008-07-02

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *