เกี่ยวกับการโกหก !!

เกี่ยวกับการโกหก !!
มองมุมใหม่ : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ pasu@acc.chula.ac.th คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2549
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงทราบอยู่แล้วนะครับว่า การโกหกถือเป็นการผิดศีลประการหนึ่ง แต่ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าเป็นบาปอย่างหนึ่ง แต่ ดูเหมือนว่าในปัจจุบันอัตราการโกหกกลับเป็นสิ่งที่พบได้มากขึ้น และดูเหมือนว่าการโกหกนั้นจะขยายจากบุคคลต่อบุคคล กลายเป็นเรื่องของระดับองค์กร และประเทศไปแล้ว
James Patterson ได้ระบุไว้ในหนังสือชื่อ The Day America Told the Truth ว่าจากการสัมภาษณ์ชาวอเมริกันกว่าสองพันคน พบว่าร้อยละ 91 มีการโกหกอยู่เป็นประจำทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ดังนั้น สัปดาห์นี้เราลองมาดูงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับการโกหก พร้อมทั้งดูวิธีการจับโกหกกันนะครับ เผื่อจะได้นำไปใช้ประโยชน์กันบ้าง
การโกหกมีสองลักษณะครับ ประการแรกเรียกว่า White Lies หรือเป็นการโกหกที่ทำไปเพื่อให้ผู้อื่นรู้สึกดี การโกหกประเภทนี้เรียกได้ว่าโกหกโดยมีเจตนาดีครับ นั้นคือเราไม่อยากจะให้ผู้อื่นได้เผชิญกับความจริง (ซึ่งอาจจะโหดร้าย) ดังนั้น เราจึงจำต้องโกหกเพื่อให้บุคคลอื่นรู้สึกดี ถึงจะเป็นการกระทำโดยมีเจตนาที่ดี แต่ยังไงก็เป็นการโกหกอยู่ดีนะครับ ส่วนการโกหกประเภทที่สองเรียกว่า Malicious Lies หรือเป็นการโกหกโดยมีเจตนาไม่ดี นั้นคือโกหกเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก
ได้มีความพยายามในการศึกษาปฏิกิริยาของคนเราเมื่อโกหกครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิกิริยาทางร่างกาย หรือภาษากาย หรืออวัจนะภาษา เนื่องจากการโกหกทางคำพูดนั้นเป็นสิ่งที่บุคคลอื่นยากที่จะสังเกตหรือจับได้ แต่โดยธรรมชาติแล้วภาษากายที่บุคคลผู้นั้นแสดงออกเมื่อโกหกมักจะยากที่จะปกปิดได้ (ยกเว้นผู้ที่ผ่านการฝึกหัด หรือมีประสบการณ์ในการโกหกมาจนชำนาญ) ดังนั้น คำถามสำคัญก็คือเราเองจะจับโกหกผู้อื่นได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาษากายของบุคคลผู้นั้น?
ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ ที่ยังไร้เดียงสาอยู่ก็จะไม่ยากนะครับ ลองสังเกตดูนะครับว่า เป็นเด็กๆ โกหก เด็กมักจะยกมือปิดปากโดยอัตโนมัติ แต่ยิ่งเมื่อเด็กโตขึ้นปฏิกิริยาการเอามือมาปิดปาก ก็จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ครับ จนบางครั้งยากจะสังเกต แต่ถ้าดูดีๆ ก็จะพบว่ายังมีปฏิกิริยาดังกล่าวอยู่บ้าง ถึงแม้จะไม่ชัดเจนเหมือนเด็กๆ
มีงานวิจัยโดย Desmond Morris โดยการให้พยาบาลโกหกผู้ป่วยเกี่ยวกับสุขภาพ (เป็นเหตุการณ์สมมตินะครับ เพื่อการวิจัยนะครับ) และพบว่าพยาบาลที่โกหกนั้น จะมีอัตราการยกมือมาที่บริเวณใบหน้า (ไม่จำเป็นต้องปิดปากแต่เพียงอย่างเดียวครับ) มากกว่าพยาบาลที่บอกความจริงผู้ป่วย อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าใครที่ยกมือแตะหน้าจะหมายความว่าบุคคลผู้นั้นโกหกนะครับ ต้องดูสภาพแวดล้อมหลายๆ อย่างด้วย
ยังมีงานวิจัยที่พบอีกด้วยว่าเมื่อเราโกหกจะพบว่าอัตราการกลืนน้ำลายจะเพิ่มมากขึ้น แต่จะสังเกตได้ชัดเจนมากในผู้ชาย มากกว่าผู้หญิง (เนื่องจากผู้ชายมีลูกกระเดือกที่ใหญ่กว่า) พบว่าใบหน้าเราเป็นจุดที่เปิดเผยเกี่ยวกับการโกหกมากที่สุดครับ เนื่องจากอารมณ์และทัศนคติของเรามักจะแสดงออกและปรากฏอยู่บนใบหน้า
และหลายๆ ครั้ง เราจะไม่ค่อยรู้ตัวว่าแสดงอะไรออกไปบนใบหน้าเมื่อเราโกหก เมื่อเราพยายามซ่อนความรู้สึกที่แท้จริง หรือเมื่อเราพยายามโกหก เรามักจะมีปฏิกิริยาบางอย่างที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าไม่สังเกตดีๆ ก็จะไม่เห็น เช่น เมื่อเราเห็นใครเกาจมูกเราก็จะนึกว่าเขาเกิดอาการคัน แต่จริงๆ แล้วอาจจะกำลังโกหกอยู่ มีงานวิจัยที่สอบถามผู้ชายว่าไปกันได้กับแม่ภรรยา (หรือแม่ยาย) มากน้อยเพียงใด ก็จะพบว่าหลายๆ รายเมื่อเอ่ยชื่อแม่ภรรยาแล้ว จะมีอาการกระตุกที่แก้มข้างซ้ายอย่างรวดเร็ว ที่แทบจะสังเกตไม่เห็นยกเว้นถ้าไม่ถ่ายวิดีโอไว้
ถ้าถามว่าระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายนั้นใครโกหกได้แนบเนียนและจับโกหกได้ดีกว่ากัน งานวิจัยก็แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงเก่งกว่า ทั้งในเรื่องของการจับโกหก (ถามคุณสามีทั้งหลายได้ครับ) เนื่องจากจะสามารถจับอารมณ์หรือความรู้สึกของบุคคลอื่นได้ดีกว่า นอกจากนี้ Sanjida O’Connell ได้ทำวิจัยและพบว่าผู้หญิงจะโกหกได้แนบเนียนกว่าผู้ชาย โดยผู้ชายมักจะโกหกแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมา นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่หน้าตาดีจะมีความน่าเชื่อถือเมื่อโกหกมากกว่าผู้ที่หน้าตาดีไม่เท่า
ท่านผู้อ่านมีความเชื่อหรือเปล่าครับว่า คนที่กำลังโกหกนั้นจะยิ้มมากกว่าคนปกติ แต่งานวิจัยนั้นกลับพบในทางตรงกันข้ามครับ นั้นคือผู้ที่กำลังโกหกนั้นจะยิ้มน้อยกว่าปกติครับ คนที่ไม่มีประสบการณ์หรือความชำนาญในการโกหกนั้น เมื่อเขาโกหก เราจะจับโกหกได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากคำโกหกที่เขาพูดกับภาษากายที่แสดงออกนั้นจะแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่พวกที่โกหกเก่งๆ นั้น (ท่านผู้อ่านลองเดาดูครับว่าเป็นวิชาชีพใด?) จะฝึกหัดจนกระทั่งภาษากาย และคำโกหกจนกระทั่งเนียนและยากที่จะจับได้ คนเหล่านี้จะฝึกหัดจนได้ภาษากายที่ถนัดและเหมาะสมเมื่อโกหก
นอกจากนี้ คนเหล่านี้ยังพยายามซ่อนหรือไม่แสดงภาษากายให้เห็นอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้ถูกจับโกหกได้ง่าย ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับ ถ้าเราจะโกหกให้ได้ผลนั้น ต้องหาทางที่จะปิดบังบางส่วนของร่างกายเราเอาไว้ เพื่อที่จะไม่ได้เปิดเผยภาษากายมากเกินไป จะพบว่าการโกหกจะง่ายขึ้นถ้านั่งหลังโต๊ะที่เราสามารถซ่อนบางส่วนของร่างกายไว้ หรือถ้าจะโกหกผ่านทางโทรศัพท์หรืออีเมล ก็จะง่ายกว่าการพูดต่อหน้า
เนื้อหาสัปดาห์นี้ไม่ได้สนับสนุนให้โกหกนะครับ เพียงแต่นำผลงานวิจัยและข้อสังเกตที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการโกหกมาให้ท่านผู้อ่านได้ลองศึกษาดู ลองนำหลายๆ เรื่องที่นำเสนอวันนี้ไปสังเกตดูนะครับ อาจจะเจอหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ สัปดาห์หน้าจะนำเสนอปฏิกิริยาที่คนเรามักจะใช้เมื่อโกหก เผื่อจับโกหกใครบางคนได้ชัดเจนขึ้นครับ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *