อยู่เย็นให้เป็นสุขกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

อยู่เย็นให้เป็นสุขกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ดอกเบี้ยธุรกิจ คอลัมน์ มากกว่าเงินตรา
บทความสำหรับ ดอกเบี้ยธุรกิจ คอลัมน์ มากกว่าเงินตรา ๕เรื่อง อยู่เย็นให้เป็นสุขกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
โดย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ สถาบันการบริหารและจิตวิทยาMichita@ThaiBoss.com, www.ThaiBoss.com
ช่วงเดือนที่ผ่านมามีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงในประเทศมากมาย ทั้งการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม มีผลกระทบต่อพวกเรากันมากน้อยตามระเบียบ คำฮิตที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ คือ “อยู่เย็นเป็นสุข” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ตั้งใจรณรงค์เป็นพิเศษนั้น ประชาชนอย่างเราเราหลายคนก็เกิดคำถามขึ้นในใจ “จะอยู่เย็นกันได้อย่างไร” “ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในการทำธุรกิจได้หรือ” “เราจะเป็นสุขมากขึ้นหรือถ้าใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง” ฯลฯ
จริงแล้วสองคำนี้เป็นมิได้ใหม่เอี่ยมแต่อย่างใด เป็นเป้าหมายหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๐ นี้อยู่แล้ว ซึ่งมีการทำวิจัยวิเคราะห์เจาะลึกมานานหลายปีต่อเนื่องมาตั้งแต่แผน ๘ ทั้งโดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งวิจัยของสหประชาติล่าสุดที่ออก Human Development Report ฉบับล่าสุดออกมาก็ชัดเจนว่าหลักการเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ทำให้เราอยู่ได้พอดีพอดีมีสุขอย่างยั่งยืนได้ในทุกภาคส่วน ไม่เพียงแต่ภาคเกษตรกรรม
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีชื่อเล่นที่พวกเราเรียกกันคือสามห่วงสองเงื่อน หรือสามห่วงกรอบความคิดและสองเงื่อนไขพื้นฐานดังภาพประกอบ

จากหนังสือประมวลคำในพระบรมโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง กันยายน ๒๕๔๘
“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ความพอเพียงหมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทยใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญาและความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี”
จากคำนิยามนี้ เรามาลองมองผ่านเลนส์ของพวกเรานักธุรกิจกันดูนะคะ
ห่วงที่ ๑. ความพอประมาณ สำหรับเรานักธุรกิจนี่เป็น Paradigm shift ชนิดหนึ่งทีเดียว เป็นการออกนอกกรอบความคิดเดิมที่เราเรียนหรือถูกถ่ายทอดกันมาให้ Maximize Profit หรือทำกำไรสูงสุด โดยวิธีการต่างๆให้ได้มาซึ่ง bottom line กัน พอให้มาดูเรื่องพอประมาณ พวกเราบางคนอาจรับไม่ได้ “จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะมาพอประมาณ เราต้องทำให้เต็มที่ซิ” เป็นธรรมดาที่คนส่วนใหญ่จะคิดอย่างนั้น เพราะนั่นคือการเปลี่ยนแปลง “Change” ชนิดหนึ่งในจิตใจและชุดความเชื่อเดิมเดิมของเรา ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็มีการต่อต้าน (อย่างน้อยในจิตใจ) ตามมาเป็นเรื่องธรรมดา
ความพอประมาณในที่นี้แม้ในแวบแรกของนักธุรกิจอาจรู้สึกขัดขัด ดูเหมือนเป็นการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือกั๊กความสามารถไว้ ไม่ทำงานให้เต็มประสิทธิภาพหรือเปล่า หรือเป็นข้ออ้างของคนที่ไม่อยากทำงานให้ได้ดีเต็มที่หรือเปล่า เมื่อเรามาดูกันลึกลึก เราอาจพบว่าที่แท้หลักการความพอประมาณก็ไม่ได้ผิดแปลกไปจากการทำงานให้ได้ผลดีที่สุดอย่างที่พวกเราเชื่อกัน เพียงแต่มีจุดเน้นชัดในส่วนที่ “อาจจะเกินพอ” ยกตัวอย่างเช่น บริษัทบางแห่งที่มีสินค้าหลากหลายชนิด บางสินค้าทำกำไร บางสินค้าขายไปก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นมาก แถมยังเป็นภาระในหลายๆด้าน เพราะไม่ได้เป็นงานที่เราถนัดหรือมีจุดแข็งมากเท่าสินค้าอื่น เมื่อเราพบแบบนี้การตัดสินใจพื้นฐานของนักบริหารคือลดการขายสินค้าที่ไม่ค่อยได้เรื่องนั่นเอง ซึ่งเมื่ออธิบายด้วยหลักความพอประมาณก็คือ “พอ” อยู่กับสินค้าหลักๆไม่ “โลภ” หรือ “อยากทำ” สินค้านั้นสินค้านี้ไปหมด
การตัดสินใจบนพื้นฐานความพอประมาณนี้ นอกจากเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลงน้ำหนักทรัพยากรถูกที่แล้ว ยังเป็นการช่วยให้ได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในระยะยาว ย้ำ “ระยะยาว” ไม่ใช่เพียงผลกำไรในระยะสั้นปีสองปีแรกแต่รากฐานของบริษัทสั่นคลอน สะสมปัญหาต่างๆเก็บไว้ เช่นความรู้ในการทำเรื่องนั้นๆไม่มากพอแต่ไม่ลงทุนเรียนรู้เพิ่ม อาศัยออกแรงกดดันกันไปเท่านั้นจนคนของบริษัททำงานจนป่วยทั้งกายและใจ หรือทำไปกระทบกับชุมชนสิ่งแวดล้อมในทางลบไป หรือทำกำไรเต็มที่โดยการลดต้นทุนให้มากที่สุด แม้ว่าสินค้าที่ผลิตออกมาสุดท้ายจะอันตรายต่อผู้บริโภค เหล่านี้ล้วนแต่เกิดจาก “ความไม่พอประมาณ” ทั้งสิ้น ยังผลให้เกิดปัญหาตามมามากมาย และในที่สุดก็มิได้ประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว
ห่วงที่ ๒. ความมีเหตุผล ดูไปแล้วไม่ได้เป็นหลักการที่ขัดใจพวกเราแต่อย่างใด ในการดำเนินธุรกิจทั้งหลายการใช้ข้อมูลจริงข้อมูลที่มากพอเป็นหลักพื้นฐานของเราอยู่แล้วในการตัดสินใจทั่วไป ทางภาคธุรกิจเราเน้นเรื่องนี้กันมาโดยตลอด เราพบกันอยู่แล้วว่า ผู้บริหารที่ตัดสินใจบนข้อมูลที่น้อยเกินไป หรือบนข้อมูลเพียงเขาเล่าว่า หรือไม่ได้มีวิจัยหรือเนื้อหาจริงสนับสนุนนั้น เสี่ยงภัยมาก ยิ่งใครชอบตัดสินใจบนอารมณ์ความรู้สึกด้วยแล้ว บางครั้งอาจใช่ แต่หลายครั้งก็พลาดได้ นั่นก็อยู่บนข้อจำกัดต่างๆเช่น เงื่อนเวลา
ความมีเหตุผลนี้ เช่นเดียวกับห่วงอื่นๆคืออยู่บนสองเงื่อน ได้แก่ เงื่อนความรู้ และเงื่อนคุณธรรม ความรู้มากจากแหล่งต่างๆที่เราคุ้นเคยไม่ว่าจะการวิจัย การหาข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทั้งข้อมูลปฐมภูมิเช่น สัมภาษณ์ แบบสอบถาม ฯลฯ หรือข้อมูลทุติยภูมิ เช่น การรวบรวมเอกสารที่ตีพิมพ์ การหาข้อมูลจากการเก็บรวบรวมอยู่แล้วในหน่วยต่างๆ งบการเงิน ฯลฯ แล้วแต่ว่าการตัดสินใจนั้นๆต้องการข้อมูลแบบใดเจาะลึกแค่ไหน ส่วนเรื่องคุณธรรมนี้เป็นพื้นฐานความคิดที่สำคัญและไม่ควรละเลย เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ในระยะยาว เป็นต้นว่า เราลดต้นทุนการผลิตโดยใช้วัตถุดิบบางตัวที่ถูกลงแต่มีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค แม้ว่าเราจะขายได้กำไรมากขึ้นในระยะสั้น แต่เมื่อผู้บริโภคเริ่มไม่สบายเจ็บไข้จากผลิตภัณฑ์ของเรา ไม่เพียงแต่เราขายสินค้าประเภทนั้นไม่ได้อีก แต่พาลจะทำให้บริษัทเราขายสินค้าตัวอื่นไปไม่ได้ด้วย เพราะเขาเริ่มไม่เชื่อถือเราแล้ว ในทางกลับกัน ถ้าเราระมัดระวังคิดแทนลูกค้าเป็นห่วงลูกค้าเป็นประจำ ลูกค้าก็มีความเชื่อถือเรามากยิ่งๆขึ้นในระยะยาว นี้ก็เป็นตัวอย่างของความมีเหตุผลบนรากฐานคุณธรรมไม่ใช่เหตุผลเข้าข้างตัวเองแต่อย่างเดียว
ห่วงที่ ๓. การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี แนวความคิดนี้สอดคล้องกับการทำธุรกิจอีกเช่นกัน สมัยนี้เราคุยกันถึง Risk Management หรือการบริหารความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการบริหารความเสี่ยงในเรื่องการเงิน หรือการบริหารความเสี่ยงในด้านต่างๆ ตั้งแต่การบริหารไปจนถึงการจัดการกับชุมชนรอบองค์กร หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ วันนี้ในเมืองไทยมีกรณีศึกษาให้เห็นมากมายถึงองค์กรหรือบริษัทที่ไม่รู้จักการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือประมาทที่จะจัดการกับผลกระทบจากภายนอก จนกระทั่งองค์กรอยู่ไม่ได้ต้องสลายตัวไป หรือไม่แข็งแรงมากพอที่จะต่อสู้กับสภาวะวิกฤตต่างๆ
เป็นต้นว่า องค์กรที่ใช้คนอย่างเดียว ไม่ได้มีการฝึกกองทัพหรือพัฒนาฝีมือและจิตใจคนของตน ทำไปสักพักก็อาจมีอาการ คนเข้าออกเป็นประจำ พนักงานไม่รักองค์กรเห็นองค์กรเราเป็นเพียงทางผ่านเป็นตราประทับอยู่ในประวัติการทำงานของเขาเท่านั้น หรือมีอาการทำงานในสภาวะปกติพอได้แต่พอพบสภาวะวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ หรือวิกฤตอื่นๆในองค์กรพนักงานกลับไม่สามารถจัดการได้ หรืออาจเป็นตัวก่อปัญหาเสียเอง เหล่านี้ก็มีให้เห็นกันมากมายตั้งแต่ปี ๓๙ เป็นต้นมา
บางองค์กรก็ไม่มีภูมิคุ้มกันในเชิงการเงิน ทุ่มสุดตัว แบบ “เกินพอดี” กู้เงินจนไม่มีถุงสำรอง หมุนเงินเดือนชนเดือนทั้งที่ไม่จำเป็น แต่พอดีเขาให้เครดิตมา ก็ใช้กันอย่างวินัยหย่อนไปหน่อย ไม่ได้ใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพจริง ก่อให้เกิดหนี้ที่เกินตัว สภาวะแบบนี้ไม่ใช่เพียงระดับองค์กรที่มีมาก ระดับบุคคลจนถึงรากแก้วก็ไม่น้อย ที่กู้เงินส่วนบุคคลมาเกินตัว ชำระไม่ทันก็ได้ดอกเบี้ยท่วมท้น เครียดก็เครียด ทำงานก็ไม่มีความสุข กลับบ้านก็ชวนทะเลาะกับที่บ้าน ลูกหลานได้รับรังสีอำมหิตไปด้วย ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆกระทบมาเป็นกระบวน …เพียงเพราะ…ไม่พอ …ไม่ได้เตรียมภูมิคุ้มกัน เป็นต้นว่าการออม การเก็บส่วนเกินไว้ยามฉุกเฉิน หรือกู้ในขอบเขตที่พอดี
ทั้งสามห่วงที่เราคุยกันนี้อย่างที่เรียนแล้วคืออยู่บนพื้นฐานเงื่อนความรู้และเงื่อนคุณธรรม นั่นคือไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจว่าพอประมาณหรือไม่ มีเหตุผลพอหรือไม่ หรือภูมิคุ้มกันพอหรือไม่ควรทำอย่างไรนั้น อยู่บนพื้นฐานความรู้วิชาการเนื้อหาข้อเท็จจริง และพื้นฐานคุณธรรมทั้งสิ้น มีความรู้รอบ รอบคอบ ไม่ประมาท และการตัดสินใจไม่ไปทำให้ใครเดือดร้อน แต่กลับแบ่งปัน เอื้อเฟื้อกับผู้อื่น โดยใช้สติปัญญา ตลอดจนความเพียร ความอดทนเพื่อให้บรรลุจุดหมาย นั่นคือการอยู่รอดรุ่งเรืองอย่างเป็นสุขขององค์กรหรือบริษัทของเรา ซึ่งประกอบไปด้วยพนักงานทั้งหลายและตัวเราด้วย
เป้าหมายรวมของชาติในภาพรวมซึ่งประกอบไปด้วยเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่สมดุลและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นเป้าหมายที่เน้นความยั่งยืนในระยะยาว การทำงานการตัดสินใจต่างๆตลอดจนการใช้ชีวิตจึงไม่สุดโต่งไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จนเกิดความไม่สมดุล เราไม่ได้คุยกันว่าต่อไปนี้รัดเข็มขัดประหยัดทุกอย่างจนเครียด เพราะนั่นก็ไม่ใช่ความพอดี แต่เป็นความไม่พอดีในอีกขั้วหนึ่ง เรากลับเน้นกันในเรื่อง “สมดุล” ท่านอาจารย์สุเมธ เปรียบเทียบให้ฟังว่า เหมือนการรับประทานอาหาร รับมากไปก็อิ่มเกิน ก่อให้เกิดโรคอ้วน โรคความดัน ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ ซึ่งสุขภาพเราก็ไม่ดี ก็ต้องไปหาหมอ ในทางตรงกันข้ามถ้าเราอดอาหารไปเลย เราก็หิว ไม่สบายกายใจ ลำบากอีก ดังนั้นการยึดหลักสายกลาง หรือความพอดี คือรับประทานแต่พอควร พอดีหายหิว ให้เรามีแรงทำอะไรต่อได้ และไม่ก่อให้เกิดโรคต่างๆอีกในอนาคต
คำถามท๊อปฮิตที่คนมักจะสะดุ้งเวลาบอกว่าต่อไปนี้ประเทศเราจะดำเนินนโยบายตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว คือ “แล้วเราจะแข่งกับประเทศอื่นได้อย่างไร” “เราจะขัดกับกระแสโลกาภิวัตน์หรือ” ซึ่งเรื่องนี้ก็มีข้อมูลตอบอยู่ในหนังสือนานาคำถามเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือ “การใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการพัฒนา ไม่ได้สนับสนุนการปิดประเทศหรือหันหลังให้กับกระแสโลกหรือกฎกติกาของโลก แต่ให้พิจารณาประเด็นต่างๆในภาพรวม และใช้ประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างชาญฉลาด รู้เท่าทันสามารถเลือกรับสิ่งต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาวได้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มิได้หมายถึงระบบเศรษฐกิจปิด ที่ไม่เกี่ยวข้องกับใคร ไม่ค้าขาย ไม่ส่งออก ไม่ผลิตเพื่อคนอื่น แต่เป็นแนวคิดที่เน้นการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอนบนรากฐานที่เข้มแข็ง โดยชี้ให้ใช้หลักการตนเป็นที่พึ่งของตนเองให้ได้ก่อน จากนั้นจึงพัฒนาตนเองเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่นได้ และนำไปสู่สังคมที่มีการเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ในที่สุด
พอมีพอกินเป็นขั้นที่หนี่ง ขั้นต่อไปให้มีเกียรติยืนด้วยตนเอง ขั้นที่สามให้นึกถึงผู้อื่น”
(พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่สมาชิกสหกรณ์การเกษตรหุบกระพง ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๘)
แนวทางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แม้ว่าไม่ได้ผิดแผกไปจากแนวทางการดำเนินชีวิตเรามากนักสำหรับบางท่าน แต่เชื่อว่าหลายท่านอาจไม่มั่นใจว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ได้ผลจริงหรือไม่ ลองดูซิคะ ลองวิเคราะห์เจาะลึกดู ลองทำในบางส่วนที่เราไม่ขัดเขินจนเกินไปดู แล้วเรามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อไปได้ ว่าปรัชญานี้ใช้แล้วเป็นอย่างไร กิจการท่านดีขึ้นหรือไม่ สังคมของเรามีความอยู่เย็นเป็นสุขได้มากขึ้นหรือไม่อย่างไร ลองอีเมล์มาคุยกันซิคะ ท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ที่ www.sufficiencyeconomy.org
ที่มา: นิตยสาร ดอกเบี้ย คอลัมน์ มากกว่าเงินตรา ประจำเดือน พฤศจิกายน 2549 ฉบับที่ 305(25) หน้า 80-81

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *