'หลุมพราง' ในการบริหารคน

“หลุมพราง” ในการบริหารคน
ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หากองค์กรใดทบทวนผลสำเร็จ ความล้มเหลว หรือปัญหาในเรื่องคน อาจพบว่า “เรื่องเดิมๆ ที่ไม่ได้อย่างใจ” ในปีสองปีก่อนยังติดตามหลอกหลอน ไม่ได้ปรับปรุงพัฒนาให้สมกับที่ทำอะไรต่อมิอะไรไปมากมายเลย

อย่าเพิ่งรู้สึกว่าการบริหารคนเป็นเรื่องยากเย็น ซับซ้อนจนเกินไป ลองถอยออกมาสักสองสามก้าว แล้วทบทวนหลุมพรางที่คอยสกัดดาวรุ่งต่อไปนี้ หลายเรื่องน่าจะคุ้นๆ กันอยู่บ้างนะคะ

1.ไม่เข้าใจที่มาของปัญหาอย่างถ่องแท้ บ่อยครั้งที่การแก้ปัญหาเรื่องคน ทำไปบนพื้นฐานของความเชื่อ หรือข้อมูลฉาบฉวย เมื่ออ่านสถานการณ์ไม่ขาด จึงเดินหมากพลาดเป็นธรรมดา

ปัญหาพนักงานลาออกในอัตราที่สูง ยังเป็นเรื่องคลาสสิกที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างได้เสมอ หลายองค์กรพยายามหาวิธีการต่างๆ นานา เพื่อลดอัตราการลาออกให้ได้ โดยละเลยที่จะล้วงลึกไปถึง “ต้นตอ” หรือที่มาของปัญหาว่าเป็นสิ่งใดกันแน่ จึงไม่น่าแปลกใจที่แม้จะปรับโครงสร้างเงินเดือน อัดฉีดการฝึกอบรม หรือออกแบบความก้าวหน้าทางอาชีพ (Career path) อย่างสวยหรู แต่อาการของปัญหาที่มี นอกจากจะไม่ได้รับการเยียวยาแล้ว ยังทำท่าร่อแร่กว่าเดิมเสียอีก

คาถารอดของหลุมพรางนี้ คือ หา “ต้นตอ” ให้เจอเสียก่อนจะลงมือทำอะไร มิเช่นนั้นก็เกาไม่ถูกที่คันกันเสียที

2.ฝากความหวังไว้ที่เครื่องมือ เครื่องไม้เครื่องมือที่อิมพอร์ตมาจากต่างประเทศ ล้วนแล้วแต่เป็นของดีทั้งนั้น แต่การเลือกเครื่องมือใดเพื่อนำมาใช้ พบว่ามักจะอิงกระแสหรือตามแฟชั่น กระทั่งหลงลืมที่จะวิเคราะห์ว่าเครื่องมือนั้น “ใช่และจำเป็นไหม” ต่อให้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช่และจำเป็น ก็ยังจำเป็นจะต้อง “ปรับใช้” ให้เหมาะกับลักษณะ สถานการณ์และข้อจำกัดขององค์กรนั้น ส่วนการนำเอาเครื่องมือมาใช้โดยไม่เข้าใจ “แก่นแท้” ก็เป็นอีกหนึ่งความผิดพลาด ที่สุดท้ายยิ่งสรรหาเครื่องมือวิธีการมาใช้เท่าไหร่ ก็ไม่ใกล้เคียงกับคำว่าความสำเร็จเสียที

ทางรอดจากหลุมพรางนี้ จึงมีอยู่สั้นๆ เครื่องมือที่เลือกใช้ต้องตรงกับโรค ต้องศึกษากระทั่งบรรลุแก่นแท้และปรับใช้ให้เหมาะเหม็งกับสถานการณ์ที่สุด

3.ไม่ได้จัดการปัญหาอย่างต่อเนื่อง เมื่อองค์กรริเริ่มที่จะดำเนินการเรื่องใด มักจะเห่อในช่วงออกตัว ไม่ว่าจะเป็นความสนอกสนใจจากผู้บริหาร หรือความทุ่มเทของผู้รับผิดชอบโดยตรง แต่เมื่อริเริ่มไปแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด เรื่องที่ริเริ่มแบบออกตัวแรงกลับหายตัวไปเฉยๆ อย่างไร้ร่องรอย หลายองค์กรแกล้งลืมว่าเคยทำ เมื่อผ่านไปอีกปีจึงค่อยปัดฝุ่นมาคุยกันใหม่ การดำเนินการเรื่องคนแบบเป็นชิ้นๆ เป็นคราวๆ จึงยากจะออกดอกออกผล เพราะการบริหารคนจะต้องดำเนินการต่อเนื่องอย่างเป็นกระบวนการ ทั้งยังต้องคิดเผื่อล่วงหน้าอย่างรอบคอบ เผื่อประสบปัญหาใดๆ ในการดำเนินการ จะต้องคิดมุกใหม่มารับมือไม่ใช่หายกันไปเฉยๆ

การจัดการอย่างต่อเนื่องและยุทธวิธีที่ยืดหยุ่นสูง จึงจะช่วยให้รอดทางหลุมพรางนี้ได้

4.ผู้นำไม่เอาจริง การจะดำเนินการหรือแก้ปัญหาใดๆ ในเรื่องคน งบประมาณ เวลาและการผลักดันจากผู้บริหารเบอร์หนึ่ง เป็นปัจจัยที่ชี้เป็นชี้ตายความสำเร็จได้ บ่อยครั้งที่ผู้บริหารระดับสูงใส่ใจเรื่องบริหารคนแต่ไม่มากเท่าที่ควร เพราะถือว่าการบริหารพนักงานไม่ใช่เรื่องการบริหารธุรกิจ หรือจะด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม จึงพบว่าผู้นำปล่อยปละละเลยให้ผู้ปฏิบัติงานลุยกันเอง จึงเป็นเรื่องยากที่การแก้ปัญหาหรือริเริ่มสิ่งใหม่เรื่องคน จะลงเอยได้อย่างสวยงาม

หนทางรอดมีทางเดียวค่ะ คือ ผู้นำจะต้องเดินนำ ทำเป็นตัวอย่างและต้องคัดท้าย ให้การดำเนินการมุ่งตรงไปสู่เป้าหมายให้จงได้

ปีเก่ากำลังจะผ่านไป หวังว่าปัญหาเดิมๆ เรื่องคนที่คอยกวนใจจะผ่านพ้น ไม่ติดตามหลอกหลอนต่อในปีใหม่ที่จะมาถึง ได้เวลาปีนขึ้นมาจากหลุมกันแล้วค่ะ!

ที่มา : เสาวคนธ์ วิทวัสโอฬาร

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *