สุพันธุ์ มงคลสุธี.. วิถีไทยคุมธุรกิจไฮเทค

สุพันธุ์ มงคลสุธี.. วิถีไทยคุมธุรกิจไฮเทค
วิถีชีวิตที่เรียบง่ายยึดขนบไทยของ สุพันธุ์ มงคลสุธี ..ต้นทางความคิดและแรงขับเคลื่อนสำคัญ ที่ทำให้ซินเน็ค ได้หยุดคิดก่อนที่จะไปได้เร็วและแรง

การันตีความสำเร็จของโมเดลนี้ด้วย “โบนัสกลางปี” ของชาวซินเนคทุกคน

“จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจจะอยู่บ้านทรงไทย แต่พอเห็นแล้วติดใจในเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สำคัญชอบทำเล เพราะย่านพุทธมณฑลสาย 2 อยู่ในบรรยากาศธรรมชาติ ติดคลองและมีอากาศดี เลยตัดสินใจซื้อจากชาวต่างชาติคนหนึ่งเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา”

นี่คือคำบอกเล่าของ “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) ถึงการตัดสินใจเป็นเจ้าของบ้านทรงไทยย่านพุทธมณฑลสาย 2

เดิมทีบ้านทรงไทยหลังนี้ เป็นทรงไทยแท้ มีใต้ถุนโล่ง ซึ่งไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน สุพันธุ์จึงปรับแต่งและต่อเติมใหม่ให้เป็นบ้านทรงไทยประยุกต์

ช่วงย้ายมาอยู่แรกๆ เขารู้สึกไม่คุ้นเคย เพราะตัวบ้านดูโล่ง อีกทั้งด้วยสถานที่ตั้งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ ได้ยินเสียงนกร้อง เสียงเรือหางยาว แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง ก็เริ่มชินและมีความรู้สึกที่ดี

การอยู่ในบ้านทรงไทยที่ดูโปร่งสบายๆ ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ทำให้จิตใจของเขาสงบ มีสติ และสมาธิ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำธุรกิจทุกวันนี้ที่จำเป็นต้องมี

เพื่อรับมือกับสถานการณ์ ที่ทุกอย่างเคลื่อนตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นผู้บริหารองค์กรที่อยู่ในธุรกิจด้านไอที ที่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี ซึ่งมีรอบของการเปลี่ยนแปลงที่ต้องจับตาและคอยเร่งเครื่องให้ทันแบบนาทีต่อนาที

“การอยู่ในที่เรียบง่าย มีความสงบ ใกล้ชิดธรรมชาติ ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง สงบ คิดทบทวนเรื่องราวต่างๆ ได้รอบคอบมากขึ้น เป็นการเปลี่ยนนิสัยของตัวเองจากที่เป็นคนใจร้อน ให้ใจเย็นขึ้น และบางครั้งสามารถคิดงานใหม่ๆ ได้ด้วย”

บ้านทรงไทย เป็นเพียงภาพส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงการใช้ชีวิตสไตล์ไทยๆ ของสุพันธุ์ เพราะเขายังเชื่อมโยงวิถีวัฒนธรรมไทยต่างๆ ที่สืบทอดกันมายาวนาน เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กร

อย่างเช่นหลักคิดในการบริหารงาน แม้ว่า การทำธุรกิจส่วนใหญ่ของบริษัทซินเน็ค (ประเทศไทย) จะต้องติดต่อค้าขายกับบริษัทต่างชาติ หรือสินค้าที่ทำล้วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทั้งสิ้น แต่สุพันธุ์กลับวางให้วัฒนธรรมไทยเป็นแก่นการบริหารในองค์กรไฮเทคแห่งนี้ถึง 70%

โดยวัฒนธรรมไทยที่ให้ความสำคัญ ได้แก่ ระบบอาวุโส ความกตัญญู และรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน

และได้ยกตัวอย่างแนวทางการลดค่าใช้จ่ายธุรกิจในอุตสาหกรรมการส่งออกและการผลิต ที่พวกเขาบอกว่ามีความใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ก็คือต้องจัดลำดับความสำคัญและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าให้ได้ (Product Prioritization) ควบคู่กับการดูทิศทางการเติบโตและแนวโน้มความต้องการของตลาดในประเทศที่เป็นเป้าหมาย

“สำหรับผมวัฒนธรรมแบบไทยๆ ดีอยู่แล้ว เหมาะกับบริษัทเราที่เป็นองค์กรไทย และทำธุรกิจในประเทศไทย เพียงแต่ต้องเพิ่มสปีดและวางกรอบเวลาที่จะบรรลุเป้าหมายให้ชัดเจนเท่านั้น”

ระบบอาวุโส ในความหมายของสุพันธุ์ก็คือ การให้เกียรติและเคารพผู้อาวุโสหรือผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่คนไทยยึดถือกันมายาวนาน

ที่ต้องนำวัฒนธรรมไทยข้อนี้มาเป็นหนึ่งในหลักบริหาร เพราะต้องการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรเรื่องการให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการทำงานและพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าได้

อย่างกรณีของปูนซิเมนต์ไทย เป็นตัวอย่างองค์กรที่มีระบบอาวุโสที่ดี และมีการร่วมมือร่วมใจ เพื่อถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกันแบบรุ่นต่อรุ่น จนกลายเป็นองค์กรที่ยิ่งใหญ่ มีความแข็งแรง ตั้งแต่ยุคอดีตมากระทั่งถึงปัจจุบัน

“ต้องยอมรับว่า คนรุ่นเก่าอาจทำงานไม่เก่งเท่าคนรุ่นใหม่ แต่พวกเขาก็มีประสบการณ์ที่สั่งสมมานาน หากคนรุ่นใหม่ให้เกียรติ ก็มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน เมื่อต้องการความช่วยเหลือหรือความร่วมมือก็ไม่มีปัญหาอะไร ทำให้องค์กรเดินไปในทางที่ดีได้ไม่ยาก”

กตัญญู เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมไทยที่นำมาเป็นหลักบริหารองค์กร สุพันธุ์บอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมไทยให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่องความอาวุโส และเป็นสิ่งที่หลักบริหารแบบตะวันตกไม่มี

ข้อดีของวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ เขามองว่า เป็นการช่วยให้เกิดการสร้างคน ถ่ายทอดความรู้ และให้คนรู้จักตอบแทนซึ่งกันและกัน

ส่วนการอ่อนน้อมถ่อมตน คือ การไม่เย่อหยิ่ง มีสัมมาคารวะ รู้จักให้เกียรติผู้อื่น จะนำมาซึ่งโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือหรือให้ความร่วมมือ

หากมองในมุมของเส้นทางธุรกิจแล้ว นั่นหมายถึง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจสูงไปด้วย

“วัฒนธรรมองค์กรตะวันตก ข้อดี คือ มีความชัดเจน เอาผลงานเป็นตัวชี้วัดเป็นหลัก และไม่มีเรื่องของจิตใจ แต่หลักการนี้อาจไม่ถูกต้องไปทั้งหมด เพราะมีตัวแปรอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย

วัฒนธรรมแบบไทยก็เหมือนกัน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย อย่างการถ้อยทีถ้อยอาศัย ข้อดี คือ มีส่วนสำคัญที่จะได้รับความร่วมมือกับคนในองค์กรหรือคนภายนอก ส่วนข้อเสีย คือ อาจทำให้การเดินของงานล่าช้าและไม่ได้ตามเป้าหมายอย่างที่ควรจะเป็น

ทางออกที่ดี คือ เราต้องผสมผสานนำข้อดีของแต่ละอันมาสร้างสูตรที่เหมาะสมกับองค์กรตัวเอง สำหรับผม วิถีไทยแบบนี้ดีที่สุดแล้ว”

ที่มา : ณัฐสุดา เพ็งผล

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *