สุขภาพ : ลูกนอนกรน…อันตราย!!

สุขภาพ : ลูกนอนกรน…อันตราย!!

เสียงกรนเป็นเสียงที่เกิดช่วงหายใจเข้าขณะนอนหลับ ในเด็กปกติขณะหลับ ทางเดินหายใจส่วนบนจะตีบแคบลงกว่าขณะตื่น และลิ้นทำให้เกิดเสียงกรนแต่ยังมีภาวะการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ปกติจึงไม่เกิดปัญหา แต่ในเด็กบางรายที่นอนกรนร่วมกับมีภาวะพร่องออกซิเจนและมีคาร์บอนไดออกไซด์คั่ง มีคุณภาพของการนอนหลับผิดปกติไปเราเรียกว่ามีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ หรือ Obstructive sleep Apnea (OSA)

ภาวะแทรกซ้อนในเด็กที่เป็น OSA เช่น ปัญหาสมองและพฤติกรรม เรียนตกต่ำ ซุกซนผิดปกติ สมาธิสั้น ความดันโลหิตสูง และหัวใจซีกขวาวายได้

สาเหตุ

– ต่อมทอมซิลและอะดินอยต์โต ซึ่งพบได้บ่อยโดยเฉพาะในเด็กวัยก่อนเรียนหรือวัยอนุบาล ซึ่งเป็นวัยที่ระบบน้ำเหลืองมีการเจริญเติบโตมากกว่าวัยอื่น

– เด็กอ้วน เนื่องจากมีไขมันสะสมมากขึ้น บริเวณช่องคอ ผนังรอบลำคอและทรวงอก

– ความผิดปกติของรูปหน้าและกะโหลกศีรษะกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม

– ความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง

– ภูมิแพ้จมูก จากมีการบวมของโพรงจมูก

– การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน

– การได้รับควันบุหรี่มือสอง (Passive smoking)

อาการ

– หายใจลำบาก อ้าปากหายใจ

– กระสับกระส่าย ตื่นบ่อย

– เขียว หยุดหายใจ

– ปัสสาวะรดที่นอน

– ง่วงนอนหรือนั่งสัปหงกในเวลากลางวัน

– ปวดศีรษะตอนเช้า

– การเรียนตกต่ำ สมาธิสั้น

– ปัญหาด้านพฤติกรรม ซุกซนผิดปกติ

– มีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย

– เหนื่อยง่ายผิดปกติ

การรักษา

การรักษาภาวะดังกล่าวขึ้นกับสาเหตุของโรคในแต่ละราย ในเบื้องต้นแพทย์จะรักษาทางยาในโรคที่สามารถรักษาได้ก่อน เช่น การให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกหรือยารับประทาน ในเด็กที่มีภูมิแพ้จมูกร่วมด้วย เพื่อลดการบวมของเยื่อบุทางเดินหายใจและจมูก การให้ยาด้านจุลชีพในรายที่มีการอักเสบติดเชื้อของช่องคอและจมูก รวมถึงการลดน้ำหนักในเด็กที่อ้วน เป็นต้น

ในรายที่มีต่อมทอมซิลและอะดินอยด์โตร่วมด้วยและเป็นสาเหตุของภาวะ OSA แพทย์จะผ่าตัดต่อมทอนซิลและอะดินอยด์ออก (Adenotonsillectomy) ซึ่งพบว่าอาการดีขึ้นหลังการผ่าตัดถึงร้อยละ 75 – 100 สำหรับรายที่รูปหน้าและกะโหลกศีรษะผิดปกติ อาจรักษาโดยส่งปรึกษาแพทย์ทางศัลยกรรมตกแต่งหรือแพทย์ศัลยกรรมประสาทเพื่อผ่าตัดรักษาต่อไป

ในผู้ป่วยบางราย เช่น เด็กอ้วนที่ยังไม่สามารถลดน้ำหนักได้ปกติ รายที่ไม่สามารถผ่าตัดแก้ไขได้ หรือผ่าตัดต่อมทอนซิลและอะดินอยด์แล้วยังมีภาวะ OSA อยู่อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยเครื่องช่วยหายใจชนิดให้ความดันบวกผ่านทางหน้ากาก continuous positive air way pressure หรือ CPAP

ข้อควรทราบที่สำคัญ

เด็กที่เป็น OSA อาจมีสาเหตุจากหลายปัจจัยร่วมกันได้ ดังนั้นต้องให้การดูแลรักษาให้ครอบคลุมจึงจะได้ผลการักษาที่ดี เช่น ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นภูมิแพ้ตลอดจนควันบุหรี่ด้วย

หากบุตรหลานของท่านนอนกรนและมีอาการสงสัยภาวะดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัย และการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายและรุนแรงตามมา คลินิกระบบหายใจเด็ก

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *