วิธีลดความวุ่นวายในองค์กร

วิธีลดความวุ่นวายในองค์กร
คอลัมน์ การบริหารงานและการจัดการองค์กร โดย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ michita@thaiboss.com ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3977 (3177)
ผู้เขียนสนใจเป็นส่วนตัวว่าความวุ่นวายทั้งหลายในโลกนี้จะลดลงได้อย่างไร นึกถึงตอนเด็กๆ ที่เรียนเรื่องอกุศลกรรมบถ 10 ซึ่งที่เคยอ่านก็มีอยู่ไม่กี่บรรทัด สงสัยในรายละเอียดที่มากกว่านั้นจึงไป หาข้อมูลเพิ่มในพระไตรปิฎก พบในสาเลยยกสูตร พระสุตตันตปิฎก (พระสูตร) เล่ม 4 มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ หน้าที่ 365 ขึ้นไป เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงโปรดชาวบ้านสาละ ดังนี้
“พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรม ทางกายมี 3 อย่าง ทางวาจามี 4 อย่าง ทางใจมี 3 อย่าง
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ ประพฤติธรรมทางกาย 3 อย่าง เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้
1.เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด พอใจในการประหาร และการฆ่าไม่มีความละอาย ไม่ถึงความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง
2.เป็นผู้ถือเอาทรัพย์ที่เขามิได้ให้ คือ ลักทรัพย์เป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของบุคคลอื่น ที่อยู่ในบ้าน หรือที่อยู่ในป่า ที่เจ้าของมิได้ให้ ซึ่งนับว่าเป็นขโมย
3.เป็นผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คือ ถึงความสมสู่ในพวกหญิงที่มารดารักษา ที่บิดารักษา ที่มารดาและบิดารักษา ที่พี่ชายรักษา ที่พี่สาวรักษา ที่ญาติรักษา ที่มีสามี ที่อิสรชน หวงห้าม ที่สุดแม้หญิงที่เขาคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย (หญิงที่เขาหมั้นไว้)
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางกาย 3 อย่าง เป็นอย่างนี้แล
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายก็ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางวาจา 4 อย่าง เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้
4.เป็นผู้กล่าวเท็จ คือ ไปในที่ประชุม หรือ ไปในหมู่ชน หรือไปในท่ามกลางญาติ หรือไป ในท่ามกลางขุนนาง หรือไปในท่ามกลางราชสกุล หรือถูกนำไปเป็นพยาน ถูกถามว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เชิญเถิด ท่านรู้เรื่องใด ก็จงบอกเรื่องนั้น เขาเมื่อไม่รู้ก็บอกว่า รู้บ้าง เมื่อรู้บอกว่า ไม่รู้บ้าง เมื่อไม่เห็น ก็บอกว่าเห็นบ้าง เมื่อเห็นก็บอกว่า ไม่เห็นบ้าง เป็นผู้กล่าวคำเท็จทั้งรู้อยู่ เพราะเหตุตนบ้าง เพราะเหตุผู้อื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่ สิ่งเล็กน้อยบ้าง
5.เป็นผู้ส่อเสียด คือ ได้ฟังข้างนี้แล้ว นำไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายพวกข้างนี้บ้าง หรือฟังข้างโน้นแล้ว นำไปบอกข้างนี้ เพื่อทำลายพวก ข้างโน้นบ้าง ยุพวกที่พร้อมเพรียงกันให้แตกกันไปบ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันบ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันแล้วบ้าง ชอบใจในคนที่แตกกันเป็นพวก ยินดีในความแตกกันเป็นพวก ชื่นชมในพวกที่ แตกกัน และกล่าววาจาที่ทำให้แตกกันเป็นพวก
6.เป็นผู้มีวาจาหยาบ คือ กล่าววาจาที่เป็นโทษหยาบ อันเผ็ดร้อนแก่ผู้อื่น อันขัดใจผู้อื่น อันใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบจิต
7.เป็นผู้กล่าวคำเพ้อเจ้อ คือ พูดในเวลาไม่ควรพูด พูดเรื่องที่ไม่เป็นจริง พูดไม่เป็นประโยชน์ พูดไม่เป็นธรรม พูดไม่เป็นวินัย กล่าววาจาไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ไม่มีที่สุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่สมควร
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ ประพฤติธรรมทางวาจา 4 อย่าง เป็นอย่างนี้แล
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางใจ 3 อย่าง เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้
8.เป็นผู้มีความโลภมาก คือ เพ่งเล็งทรัพย์ อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ขอของผู้อื่นพึงเป็นของเราเถิด ดังนี้
9.เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีความดำริในใจ อันชั่วช้าว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่าบ้าง จงถูกทำลายบ้าง จงขาดสูญบ้าง อย่าได้มีแล้วบ้าง ดังนี้
10.เป็นผู้มีความเห็นผิด คือ มีความเห็นวิปริตว่า ผลแห่งทานที่ให้แล้วไม่มี ผลแห่งการบูชาไม่มี ผลแห่งการเซ่นสรวงไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสั่งสอนให้ผู้อื่นรู้ไม่มีอยู่ในโลก ดังนี้
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางใจ 3 อย่าง เป็นอย่างนี้แล
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ เข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต และนรก เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกเพราะเหตุประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ไม่ประพฤติธรรมอย่างนี้แล”
อ่านแล้วรู้สึกว่า มนุษย์เรานี่ก็พัฒนาไม่ได้ ไปไกลเท่าไหร่นักในเรื่องจิตใจและพฤติกรรม ปัจจุบันเราก็ยังเห็นพฤติกรรมที่สร้างความวุ่นวายเดือดร้อนในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นนี้เหมือนกับ หลายพันปีที่ผ่านมา เคยถามไถ่เพื่อนศาสนาอื่นๆ ก็เห็นว่ามีคำสอนที่ให้ละสิ่งเหล่านี้คล้ายๆ กัน เหมือนครูบาอาจารย์ทั้งหลายพยายามเอื้อน เตือนมากันเป็นระยะๆ
ในการพัฒนาคนและองค์กรก็เช่นกัน ขณะท่านผู้อ่านอ่าน นึกถึงกรณีจริงออกบ้างหรือไม่คะ ที่พวกเราเพียรแก้ปัญหาองค์กร บริหารจัดการกันล้านแปดวิธี วิถีพื้นฐานแห่งความวุ่นวายนี้ พวกเราได้จัดการทำอะไรไปได้แค่ไหนแล้ว หรือตัวเราเองนั้นละสิ่งเหล่านี้ไปได้แค่ไหน ถ้าบอกว่ายังทำไม่ได้หมด ท่านก็มีผู้เขียนเป็นเพื่อนอีกหนึ่งคนสารภาพได้ว่า ตอนนี้บางข้อก็ยังทำได้ไม่ดีนัก แต่จะพยายามฝึกฝนให้ละเอียดดีกว่านี้ เพราะนั่นเป็น วิธีทำให้ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือคนใกล้ตัว ทั้งหลายเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดวิธีหนึ่ง คือการทำเป็นตัวอย่าง (role model) ทำให้เกิดการกระเพื่อมต่อของ การละพฤติกรรมไม่บังควรได้ดีกว่าการพร่ำสอน อย่างไรก็ตามถ้าต้องการกระเพื่อม หรือเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ วิธีที่อาจช่วยได้อีกคือใส่ในระบบการบริหารคน เช่น เราสามารถใช้ เนื้อหาส่วนนี้เป็นพฤติกรรมบ่งชี้ในความสามารถ (competency) หรือจะนำบางข้อไปเสริมใน ค่านิยมหลัก (core value) ก็จะเป็นที่น่าชื่นชมยิ่งทีเดียว ลองดูสักวิธีแล้วเขียนมาเล่าประสบการณ์ให้ฟังบ้างนะคะ ขอความสุขสวัสดีมีแด่ผู้ละพฤติกรรมเหล่านี้ได้ค่ะ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *