วิกฤตการณ์อาหารโลก

วิกฤตการณ์อาหารโลก

ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร bhubate.sak@dpu.ac.th
มนุษยชาติกำลังเผชิญกับผลลัพธ์ ที่เกิดจากปัญหาที่มวลมนุษยชาติเอง ต่างคนต่างสร้างและสั่งสมขึ้น ตลอดประวัติศาสตร์แห่งอารยธรรมโลก จนวันนี้ปมปัญหาต่างๆ ยุ่งเหยิงพัวพันกันไปมาจนไม่รู้จะเริ่มสางอย่างไร… การแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง กลับทำให้ปัญหาอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ดูท่าทางแล้วปัญหาเรื่องข้าวไทย ทั้งที่จะบริโภคในประเทศและที่จะส่งออกคงจะต้องยืดเยื้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นคราวนี้เป็นไปตามกลไกตลาดทุกประการตามที่รัฐมนตรีคลังให้สัมภาษณ์หลังการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนที่เวียดนาม…หากปัญหาเกิดขึ้นทั้งๆ ที่กลไกตลาดทำงานปกติดีอยู่ ก็ต้องรอให้อุปสงค์ และอุปทาน ปรับตัวกันจนกว่าจะเกิดจุดสมดุลใหม่ โดยเฉพาะสำหรับสินค้าเกษตรแล้ว ก็ต้องเผื่อเวลาสำหรับกระบวนการผลิตที่ต้องมีปัจจัยเรื่องฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้อง…จะรีบอย่างไรก็ไม่เป็นผล
ในระยะเวลาเพียง 2 เดือน ราคาข้าวไทยขึ้นไปแล้วกว่า 50% และหากนับจากปี 2004 ราคาข้าวไทยเพิ่มขึ้นแล้วไม่น้อยกว่า 2 เท่า จนขณะนี้ยังไม่มีทีท่าที่จะลดลงมาได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นมีทั้งด้านอุปสงค์ที่ปริมาณการสั่งซื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และด้านอุปทานที่ผลผลิตลดน้อยลง ผนวกกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากราคาน้ำมัน…ขณะนี้เวียดนามประกาศจะลดปริมาณการส่งออกข้าว ส่วนกัมพูชาประกาศงดส่งออกข้าวโดยเด็ดขาดเพราะกลัวข้าวไม่พอบริโภคภายในประเทศ
ข้าวยากหมากแพงคราวนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้สรุปภาพรวมของปัญหาการขาดแคลนอาหารซึ่งกำลังทวีความรุนแรงขึ้นในที่ต่างๆ ทั่วโลก…นับเป็นเหตุการณ์ที่ต้องจับตามอง เพราะครั้งนี้อาจเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โลกเกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหาร
ที่อียิปต์ราคาขนมปังพุ่งสูงขึ้นไปแล้ว 35% ส่วนราคาน้ำมันสำหรับการประกอบอาหารสูงขึ้น 25% จนรัฐบาลเปลี่ยนจากการแจกอาหารสำหรับคนจนมาเป็นการให้เงินสดแทน แต่ก็ถูกประชาชนต่อต้านจนต้องเปลี่ยนมาแจกอาหารเหมือนเดิม….เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว มีการประท้วงในอิตาลีเนื่องจากราคาอาหารที่แพงขึ้น รวมทั้งเส้นสปาเกตตี ซึ่งเป็นทั้งอาหารและเป็นวัฒนธรรมของชาติ…ในสหรัฐอเมริกาเริ่มมีคนพูดถึง Bagel Inflation หรือการที่ราคาขนมปังเบเกิลที่มักจะรับประทานเป็นอาหารเช้าขยับตัวสูงขึ้นและเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนสัมผัสกับอัตราเงินเฟ้อที่ชัดเจนกว่าตัวเลขดัชนีผู้บริโภคที่หน่วยราชการรายงาน
องค์การอาหารโลกแห่งองค์การสหประชาชาติได้สรุปภาพรวมปัญหาอาหารทั่วโลกว่า ขณะนี้ราคาอาหารเพิ่มจากปี 2006 ถึงสิ้นปี 2007 แล้ว 23% เฉพาะเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ราคาเพิ่มขึ้น 42% น้ำมันประกอบอาหาร 50% และผลิตภัณฑ์จากนม 80% และเชื่อว่าปัญหาราคาอาหารยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 10 ปีจึงจะสามารถปรับตัวสู่สมดุลได้
ปัญหาราคาอาหารแพงขึ้นทั่วโลกในครั้งนี้นับว่ามีปัจจัยแทรกซ้อนหลายปัจจัยจนองค์การสหประชาชาติเรียกว่าเป็น “Perfect storm of conditions” ทั้งปัญหาที่ขึ้นจากอุปสงค์ และอุปทานภายในกลไกการผลิตและการบริโภคอาหาร รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากการแก้ปัญหาราคาน้ำมันด้วยการใช้ไบโอดีเซล ทำให้องค์การอาหารโลกยังจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะเริ่มจากที่ไหน และจะทำอย่างไร
สำหรับกลไกภายในของการผลิตและการบริโภคอาหารนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่แหล่งผลิตอาหารในประเทศต่างๆ สามารถผลิตอาหารได้น้อยลง โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่สภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ระดับอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำ และปริมาณความชื้นเปลี่ยนไปจากเดิม มีโรคและแมลงชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้น ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
ในด้านการบริโภคนั้น แม้ประชากรโลกจะมีจำนวนลดลงอันเนื่องมาจากอัตราการเกิดที่ลดลง แต่ความเจริญขึ้นของประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดีย และจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมาก มีการปรับวิถีการดำเนินชีวิตที่มีการบริโภคมากขึ้น รวมทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วต่างๆ ปรากฏว่ามีอัตราการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ความพยายามในการบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันที่แพงขึ้นด้วยการหันไปใช้ไบโอดีเซล ซึ่งต้องสกัดจากผลิตผลทางเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และอื่นๆ ซึ่งให้ราคาดีกว่าขายเป็นอาหาร ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณอาหารไม่เพียงพอสำหรับมนุษย์ และทำให้อาหารบางรายการมีราคาสูงขึ้น ตัวอย่างเช่นราคามายองเนส และซุปเต้าเจี้ยวในญี่ปุ่นที่มีราคาสูงขึ้นเนื่องจากวัตถุดิบส่วนหนึ่งถูกนำไปขายเพื่อผลิตไบโอดีเซล
มนุษยชาติกำลังเผชิญกับผลลัพธ์ที่เกิดจากปัญหาที่มวลมนุษยชาติเองต่างคนต่างสร้างและสั่งสมขึ้นตลอดประวัติศาสตร์แห่งอารยธรรมโลก จนวันนี้ปมปัญหาต่างๆ ยุ่งเหยิงพัวพันกันไปมาจนไม่รู้จะเริ่มสางอย่างไร…การแก้ปัญหาอย่างหนึ่งกลับทำให้ปัญหาอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
การแก้ปัญหาวิกฤตการณ์อาหารโลกในครั้งนี้ นับว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ของปัญหาระดับโลกที่กำลังจะลุกลามใหญ่โตไม่แพ้ปัญหาโลกร้อน และต้องการการแก้ปัญหาในระดับนานาชาติอย่างเร่งด่วนอีกปัญหาหนึ่ง…
นัยว่าผลจากการทารุณธรรมชาติของมนุษย์กำลังสำแดงอาการชัดเจนในเจเนอเรชั่นนี้เสียแล้ว
———————————
*ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ และผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และวางแผน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *