‘ลูกเถ้าแก่’ แห่เรียนเอ็มบีเอจีน

‘ลูกเถ้าแก่’ แห่เรียนเอ็มบีเอจีน
การเรียนภาษาจีน และเข้าใจจีน กำลังกลายเป็น’แต้มต่อ’ ทางธุรกิจที่บรรดา’ลูกเถ้าแก่’ เจ้าของกิจการจำนวนไม่น้อยในเมืองไทยตื่นตัวให้ความสำคัญ ห้องเรียน ‘เอ็มบีเอจีน’ กลายเป็นแหล่งชุมนุมของธุรกิจไทย ‘คลื่นลูกใหม่’ ที่มองหาโอกาสเติบโตไปพร้อมๆ กับการผงาดของพญามังกร

กระแสความตื่นตัวทำการค้าการลงทุนกับจีนซึ่งกำลังบูมสุดขีด เห็นได้ชัดจากความนิยมส่ง ‘ทายาท’ ไปเรียนเมืองจีนกันอย่างคึกคักของบรรดาพ่อแม่ที่มีเจ้าของกิจการ รวมไปถึงความเคลื่อนไหวของสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาเปิดสอนหลักสูตรเอ็มบีเอจีนในเมืองไทย

หนึ่งในจำนวนนี้ คือ โครงการปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ International Program หลักสูตรจีน หรือ IMBA (China Track) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.แก้วตา โรหิตรัตนะ ผู้อำนวยการโครงการฯ บอกว่า ยุคนี้ ใครๆ ต่างพุ่งเป้าไปที่จีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ และคู่ค้าสำคัญที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทของโลก หลักสูตรเอ็มบีเอ China Track ที่เปิดสอนจึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับการทำธุรกิจกับจีน โดยนอกจากจะทำการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ยังต้องเรียนภาษาจีนเป็นภาษาที่สาม รวมถึงบินไปทัศนศึกษาดูงานที่ประเทศจีน

‘หลักสูตรนี้เปิดมาเป็นปีที่ 3 คนที่เข้ามาเรียนส่วนใหญ่ จะเป็นลูกเจ้าของกิจการ และคนที่อยากทำธุรกิจกับจีน นักศึกษารุ่นแรกเพิ่งจบคอร์สไป ในจำนวนนี้มีคนที่บินไปเรียนต่อที่เมืองจีนทันทีเลย 4-5 ราย’

ฟังนานาทัศนะจากบรรดา ‘คลื่นลูกใหม่’ ที่เข้ามาเรียนเอ็มบีเอจีน เพื่อรองรับโอกาสใหม่ๆ ในแดนมังกรแล้วน่าสนใจไม่น้อย เริ่มจากเจเนอเรชั่นใหม่ไฟแรงของปลากระป๋อง ‘ปุ้มปุ้ย’ ไกรเสริม โตทับเที่ยง รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน)

ทายาทปุ้มปุ้ย บอกว่า แน่นอนว่าจีนกำลังมีความสำคัญในทุกบทบาท และเศรษฐกิจจีนก็เติบโตมาก เป็นตลาดขนาดใหญ่ หลังเรียนจบปริญญาตรีที่เมืองไทย เขาจึงตัดสินใจบินไปเรียนภาษาจีนที่ปักกิ่ง 1 ปี ก่อนกลับมาทำงาน และเรียนต่อเอ็มบีเอจีนที่ธรรมศาสตร์

ไกรเสริม เล่าว่า นอกจากตัวเขาเองแล้ว เด็กไทยส่วนใหญ่ที่ไปเรียนในปักกิ่งล้วนเป็นทายาทเจ้าของกิจการซึ่งบ้านทำธุรกิจอยู่แล้ว และนับวันเด็กไทยที่ไปเรียนในจีนก็ยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

‘ การไปเรียนภาษาที่ปักกิ่ง เพื่อไปใช้ต่อยอดธุรกิจที่บ้านก็มีส่วน เพราะภาษาก็เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะกรุยทางธุรกิจ’

ไกรเสริม บอกว่า การเข้ามาเรียนเอ็มบีเอจีน ทำให้ได้เรียนรู้จีนมากขึ้น และเห็นมุมมองภาพใหญ่ของจีน ซึ่งถือเป็นจุดสตาร์ทแรกที่ทำให้มองเห็นโอกาสอะไรใหม่ๆ ทางธุรกิจ ซึ่งไม่ได้ตีกรอบว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักที่ทำอยู่เท่านั้น ส่วนอีกผลพลอยได้คือทำให้ได้รู้จักเพื่อนในแวดวงเพื่อสร้างสายสัมพันธ์

‘วันนี้เท่ากับเป็นการเตรียมข้อมูล ต้องมองให้กว้างที่สุดก่อน เพื่อให้เห็นโอกาสว่าน่าจะปักธงที่ไหน และทำให้เริ่มต้นคิดได้ว่า ถ้าจะเข้าไปทำธุรกิจต้องทำยังไง’

ปัจจุบัน ปุ้มปุ้ย เริ่มชิมลาง ส่งสินค้าเข้าไปขายในจีนตอนใต้ที่มณฑลยูนนาน ขณะที่ด้านการเข้าไปลงทุน ไกรเสริมบอกว่า ตอนนี้ยังไม่ใช่ทิศทางที่มองอยู่ เพราะมีความเสี่ยงสูง และจีนก็ยังอยู่ในช่วงกำลังปรับตัวในหลายๆ ด้าน แต่ถึงอย่างไรตลาดจีนก็ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง และอนาคตก็มีโอกาสที่จะเป็นตลาดใหญ่สำหรับปุ้มปุ้ยในอนาคต

เอกพล ฉัตรมงคลชัย ทายาทรุ่นลูก บริษัทไทยยูเนี่ยนสกรูน็อต จำกัด ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตสกรูและนอตในเมืองไทย เป็นอีกตัวอย่างของ ‘ลูกเถ้าแก่’ ที่ทันทีที่เรียนจบปริญญาตรีที่เมืองไทย ทางบ้านก็ส่งไปเรียนภาษาจีนที่ปักกิ่ง 2 ปี ก่อนกลับมาเรียนต่อที่ธรรมศาสตร์

‘ เท่าที่รู้จัก มีเยอะเหมือนกันที่เป็นทายาทเจ้าของกิจการที่ไปเรียนที่เมืองจีน เพราะอยากขยายธุรกิจไปจีน ส่วนหนึ่งคือที่บ้านติดต่อทำการค้ากับจีน และไต้หวันอยู่แล้ว และอีกส่วนหนึ่ง คือ ไปเรียนเพื่อมองหาช่องทางการลงทุน อย่างผมเองระหว่างที่ไปเรียน ก็พยายามมองช่องทางว่าจะไปลงทุนได้ไหม นอกจากนี้หลายคนก็ไปมองหาช่องทางอิมพอร์ตสินค้ามาขายเมืองไทย นอกเหนือจากธุรกิจหลักที่ทำอยู่เดิม ‘

เอกพล บอกว่า พื้นฐานธุรกิจที่บ้านมีการติดต่อกับจีน และไต้หวันอยู่แล้ว เพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบจากจีนมาผลิต ถึงแม้จะสามารถสื่อสารด้วยการใช้ภาษาอังกฤษได้ แต่ก็คงเข้าถึงได้ไม่เท่ากับการใช้ภาษาจีน

‘อย่างผมเอง รู้สึกได้เลยว่าถ้าติดต่อกับจีนด้วยภาษาอังกฤษ เราไม่สามารถเข้าถึงผู้บริหารใหญ่ๆ เพราะเขาเป็นประเทศที่ปิดมาตลอด แต่ถ้าพูดจีนได้ จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ได้ดีกว่า ภาษาจึงสำคัญ และการเรียนที่โน่นก็ยังได้เจอเพื่อนฝูงที่เป็นลูกเจ้าของกิจการ กลับมาก็เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่เหมือนกัน สามารถมารวมกันแชร์ไอเดียหรือช่วยเหลือกันได้’

สำหรับธุรกิจผลิตนอตและสกรูแล้ว จีนถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เอกพล บอกว่า ตลาดส่งออกในต่างประเทศ เริ่มมีนอตจีนเข้ามาตีตลาด ด้วยราคาที่ถูกกว่า แต่เพราะความเหนือกว่าในเรื่องคุณภาพมาตรฐาน และเน้นทำตลาดนอตคุณภาพสูง จึงทำให้ยังแข่งขันได้

‘ในอนาคต ถ้าเปิดเอฟทีเอแบบสมบูรณ์แบบ บอกได้เลยสกรูจากจีนจะทะลักท่วมตลาดไทยแน่ โดยเฉพาะตลาดนอตที่ได้ไม่เน้นคุณภาพ ‘

เอกพล มองว่า การเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานในจีน ยังมีความเสี่ยงสูง ทั้งในเรื่องกฎระเบียบ และสภาพแวดล้อมต่างๆ การโอนเงินกลับ ฯลฯ หากไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่เข้าไปลงทุนจริงๆ หากเกิดปัญหาจะเสี่ยงมาก นอกจากนี้ สินค้าที่ผลิตในจีน ยังกำลังเผชิญปัญหาโดนมาตรการแอนตี้ดัมปิ้งจากหลายประเทศ

‘ แต่การเข้าไปในอนาคตก็ไม่แน่ ตอนนี้ จึงเตรียมความพร้อมไว้ก่อน และเราเริ่มปรับตัวเพื่อลดต้นทุน รวมถึงมองการขยายโอกาส ด้วยการลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปเหล็กรีดเย็นเอง จากที่เคยต้องนำเข้าวัตถุดิบเหล็กรีดร้อนจากจีนมา แล้วจ้างโรงงานอื่นแปรรูปก่อนมาใช้ การตั้งโรงงานเอง เป็นอีกแนวทางเพื่อรองรับภาษีนำเข้าวัตถุดิบจากจีนที่จะลดลงในอนาคตหลังเอฟทีเอ ทำให้ต้นทุนการผลิตในไทยยังพอแข่งขันสู้ได้’

‘ลูกเถ้าแก่’ บางรายที่เข้ามาเรียนเอ็มบีเอจีน กิจการที่บ้านเดิมไม่ได้ทำธุรกิจกับจีนมาก่อน แต่เพราะมองว่า นับวันจีนยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกธุรกิจจนไม่อาจมองข้ามได้ อย่างเช่นกรณีของ วุฒิพงษ์ วงศ์ภัทรกุล ทายาทเจ้าของกิจการนำเข้าไม้แปรรูป บอกว่า ธุรกิจที่บ้านที่นำเข้าไม้แปรรูปไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับจีน แต่เพราะเห็นความสำคัญของภาษาจีนในการทำธุรกิจ ที่น่าสนใจคือในแวดวงธุรกิจที่คุยกัน หลายคนมองว่าสินค้าจีนจะเข้ามาทดแทนแทบทุกสินค้าที่มีอยู่ในตลาด

การมาเรียนเอ็มบีเอจีน จึงทำให้มองเห็นโอกาสในมุมที่กว้างขึ้น หลังจบคอร์ส ทำให้เริ่มมองถึงแผนการขยายโปรดักท์ไลน์ หรือทำธุรกิจที่เชื่อมโยงกัน เช่น การนำเข้าสินค้าพวกไม้อัด วัสดุก่อสร้าง และที่น่าสนใจ คือการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ เพราะเฟอร์นิเจอร์จีนตอนนี้ เข้ามาทำตลาดไทยเยอะมาก

นอกเหนือจากบรรดา ‘ลูกเถ้าแก่’ที่เข้ามาเรียนเอ็มบีเอจีน เพื่อต่อยอดธุรกิจ ยังมีบรรดาคนรุ่นใหม่ ที่มองเห็นโอกาสที่มาพร้อมกับการเติบโตของเศรษฐกิจจีน รวมถึงการเคลื่อนตัวของธุรกิจแถวหน้าในเมืองไทยขยายไปยังจีน เช่น กรณีของ วีรยุทธ์ พู่จิตรกานนท์ นักศึกษาเอ็มบีเอจีน ธรรมศาสตร์ ที่เรียนจบ ก็ได้งานทันทีในแผนกวิเทศสัมพันธ์ โครงการจีนของธนาคารกสิกรไทย

‘ผมเคยไปเรียนภาษาที่เมืองจีนมา 1 ปี เลยสนใจอยากต่อยอดเข้ามาเรียนเอ็มบีเอที่นี่ เพราะมองว่า เศรษฐกิจจีนเติบโตเร็ว จีดีพีสูงมาก และอนาคตจะเติบโตอีกเยอะ จึงน่าจะเตรียมพร้อมด้านภาษา และความรู้ในการทำธุรกิจเอาไว้ ‘

โค๊ด ไกรเสริม

‘การเข้ามาเรียนเอ็มบีเอจีน ทำให้ได้เรียนรู้จีนมากขึ้น และเห็นภาพใหญ่ของจีน ซึ่งถือเป็นจุดสตาร์ทแรกที่ทำให้มองเห็นโอกาสอะไรใหม่ๆ ไม่ได้ตีกรอบว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักที่ทำอยู่ ส่วนอีกผลพลอยได้คือทำให้ได้รู้จักเพื่อนในแวดวงเพื่อสร้างสายสัมพันธ์’

ห้องเรียนเอ็มบีเอที่โรงเรียน CALA

ไม่ใช่แต่เฉพาะสถาบันการศึกษาในเมืองไทย ที่เปิดสอนหลักสูตรเอ็มบีเอจีนเท่านั้น แต่กระแสการทำธุรกิจในจีนที่มาแรง ยังทำให้สถาบันการศึกษาในเมืองจีน เริ่มรุกคืบเข้ามาขยายสาขา เปิดหลักสูตรด้านธุรกิจจีนในไทยเช่นกัน

ที่น่าสนใจคือ โรงเรียนศูนย์กลางภาษาและศิลปะ Center Art & Language Academy Group ที่เอ็มโพเรี่ยมทาวเวอร์ ชั้น 8 ซึ่งห้องเรียนเอ็มบีเอที่นี่ น่าจะถือเป็นแหล่งชุมนุมนักธุรกิจไทย-จีนในเมืองไทยทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ หรือแม้แต่รุ่นลายคราม อย่างเช่น ไกรสร จันศิริ ‘เจ้าสัวทียูเอฟ’ ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่นฟูดส์ ผู้พ่อของธีรพงศ์ จันศิริ ที่เข้ามาเรียนเพื่อเกาะติดความเคลื่อนไหวในจีน รวมไปถึง บุญยงค์ ยงเจริญรัฐ นายกสมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน ซึ่งเป็นนักศึกษาเอ็มบีเอรุ่นแรกของที่นี่

บุญยงค์ บอกว่า สมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน มีสมาชิกซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 50 ปี ซึ่งเป็นนักธุรกิจราวๆ 1 พันคน ซึ่งตอนนี้ บรรดานักธุรกิจยุคใหม่เหล่านี้ ต่างตื่นตัวพยายามเรียนรู้ภาษาจีน และทำการค้ากับประเทศจีน โดยช่องทางหนึ่งคือการเข้ามาเรียนเอ็มบีเอจากมหาวิทยาลัยเมืองจีนที่มาเปิดสาขาสอนในไทยที่โรงเรียน CALA

‘ผมเป็นรุ่นแรกที่เข้าไปเรียนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรบริหารธุรกิจสำหรับข้าราชการจากประเทศจีนที่เข้ามาเปิดสาขาสอนในไทย ห้องหนึ่งประมาณ 30-40 คน ตอนนี้มีถึงรุ่นที่ 5-6 แล้ว การไปเข้าไปเรียนส่วนหนึ่งคือได้คอนเนคชั่นด้วย และถือเป็นการเพิ่มเติมความรู้ใหม่ๆ ช่วยให้สามารถเกาะติดสถานการณ์ความเคลื่อนไหว ได้รับข้อมูลใหม่ๆ จากทางเมืองจีน ว่ากำลังมีนโยบายหรือทิศทางการพัฒนาไปในทางใด เพราะอาจารย์ที่สอนบินมาจากเมืองจีนมาบรรยายโดยเฉพาะ ‘

บุญยงค์ บอกว่า การเรียนในห้องเป็นการเรียนร่วมกันกับนักธุรกิจด้วยกัน เฉพาะสมาชิกในสมาคมนักธุรกิจไทย-จีนยุคใหม่ที่เคยเข้าไปเรียนหลักสูตรนี้ ตอนนี้คาดว่ามีประมาณ 30 คน นอกจากนี้ ยังมีบรรดาผู้บริหารระดับผู้อำนวยการฝ่าย หรือผู้จัดการจากหลายๆ บริษัทขนาดใหญ่ของไทยที่สยายปีกธุรกิจเข้าไปในจีนที่เข้ามาเรียนที่นี่เช่นกัน อาทิ ผู้จัดการสาขาของธนาคารกรุงเทพฯ ผู้บริหารเครือซาฟารีเวิลด์ ระดับผู้จัดการฝ่ายของซีพี และเซเว่นอีเลฟเว่น

‘ นอกจากระดับผู้จัดการ ระดับผู้บริหารใหญ่ๆ ที่ไปเรียนเอ็มบีเอที่นี่ เช่น คุณไกรสร จันสิริ เจ้าของทียูเอฟ ซึ่งขยายธุรกิจเข้าไปที่จีน ถึงจะอายุ 70 กว่าแล้ว ก็ยังเข้ามาเรียนอยู่’

เรื่อง : ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *