ระบบบริการเรียนรู้ถึงประตูที่พัก

ระบบบริการเรียนรู้ถึงประตูที่พัก

ปัจจุบัน มีคนกรุงฯ จำนวนไม่น้อยที่มีความจำกัดหรือไม่สะดวกเข้ารับบริการทางการศึกษาหรือระบบการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ใน กทม. เช่น กลุ่มผู้พิการ ซึ่งใน กทม. มีหลายหมื่นคน กลุ่มผู้สูงอายุที่อาจไม่สะดวกเดินทางและความไม่เอื้ออำนวยด้านกายภาพและสุขภาพ ปัจจุบันใน กทม. มีผู้สูงอายุมากกว่า 580,000 คน อีกทั้งรวมถึงกลุ่มคนที่มีระดับความสามารถในการมองเห็นที่ไม่เพียงพอต่อการอ่านหนังสือ. ผู้ที่ต้องอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากต้องรักษาตัวหรือบำบัดฟื้นฟู ฯลฯ เช่น ตาบอด หรือมีการมองเห็นในระดับต่ำ ฯลฯ มีความสามารถทางกายภาพที่จำกัดอย่างถาวรหรือชั่วคราว ในการถือหรือเปิดหน้าหนังสือ อันเนื่องมาจากเป็นอัมพาต ข้ออักเสบ ไม่มีแขนหรือมือ มีความผิดปกติกล้ามเนื้อ ข้อต่อกระดูกไม่แข็งแรง หรือผิดปกติทางร่างกายที่เป็นอุปสรรคต่อการอ่าน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักโทษ หรือกลุ่มผู้ถูกคุมขัง หรือผู้อยู่ในสถานกักกันต่าง ๆ ทั่ว กทม

 
        ผมเห็นว่า กลุ่มคนเหล่านี้สำคัญยิ่งที่ควรมีช่องทางให้บริการเรียนรู้ถึงประตูที่พัก ซึ่งอาจเป็นที่บ้าน โรงพยาบาล สถานกักกัน สถานพักฟื้น ฯลฯ โดย กทม. ควรพัฒนาระบบบริการเรียนรู้สู่กลุ่มคนเหล่านี้ ให้ได้เข้าถึงการเรียนรู้ สามารถรับข้อมูลข่าวสาร มีความสุขในการอ่านและเรียนรู้ตามสิ่งที่ตนสนใจ เช่น
 
        พัฒนาหน่วยปฏิบัติการหรือห้องสมุดให้บริการ เพื่อเป็นศูนย์กลางปฏิบัติภารกิจจัดส่งสื่อต่าง ๆ สู่ประตูที่พัก โดยห้องสมุดจะมีบริการยืมคืนหนังสือ นิตยสาร วารสาร ที่ได้รับการบันทึกเสียง และในรูปแบบอักษรเบรลล์ สื่อบันทึกเสียงที่มีระดับเสียงพูดที่ช้ากว่าปกติ หนังสือที่มีตัวอักษรขนาดใหญ่และหนา ที่เหมาะสำหรับทุกวัยและตามความชอบ มีทั้งหนังสือขายดี วรรณกรรมดั้งเดิม บทกลอน หนังสือท่องเที่ยว หนังสือประวัติศาสตร์ หนังสืออัตชีวประวัติ นวนิยายโรแมนติก หนังสือวิทยาศาสตร์ หนังสือจิตวิทยา เรื่องสั้น เรื่องขำขัน เรื่องกีฬา เรื่องการเมือง เรื่องการผจญภัย เรื่องราวเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน เกมการเล่น ประวัติศาสตร์ หนังสือภาษาต่างประเทศ ฯลฯ
 
        พัฒนาระบบทะเบียนผู้ต้องการข้อมูลถึงประตูที่พัก ต้องจัดระบบทะเบียน มีระบบสมาชิก โดยให้ผู้ที่ต้องการรับบริการลงทะเบียนชัดเจน มีการกำหนดว่ากลุ่มคนบ้างที่มีสิทธิในการเข้ารับบริการ โดยระบุว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่ต้องเข้าเกณฑ์ พักอยู่ที่ใด มีความต้องการข้อมูลข่าวสารและหนังสือประเภทใด โดยระยะต้นอาจต้องมีการวิเคราะห์และสำรวจกลุ่มคนต่าง ๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายอย่างเจาะจง ต้องการข้อมูลข่าวสารในช่วงใดมีความถี่เพียงใด โดยมีการเพิ่มและปรับเปลี่ยนข้อมูลที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
 
        พัฒนาระบบผลิตสื่อเฉพาะสำหรับผู้มีปัญหาทางด้านกายภาพ กทม. อาจร่วมมือกับ“ส่วนส่งเสริมการผลิตสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ” (สสพ.) ซึ่งสังกัดอยู่ในศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา (ศท.) เพื่อผลิตและเผยแพร่สื่อการศึกษาสำหรับคนพิการ  ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อวัสดุ-อุปกรณ์ และสื่อประสม อาจเน้นผลิตสื่อในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สื่อภาพนูนประกอบหนังสือเสียงหรือหนังสือเรียนสำหรับผู้พิการทางสายตา รายการวิทยุและโทรทัศน์ และสื่ออักษรเบรลล์ และ ในปี พ.ศ.2546 ศท. ได้จัดทำเว็บไซต์ “ศูนย์สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ” (www.braille-cet.in.th) เพื่อให้บริการดาวน์โหลดสื่ออักษรเบรลล์ และสื่อสารข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ
 
        พัฒนาระบบบริการจัดส่งหนังสือและสื่อสู่ประตูที่พัก กทม. อาจพัฒนาระบบการจัดส่งสื่อสู่ประตูที่พัก ดังตัวอย่างห้องสมุดชื่อ “New York State Talking Book and Braille Library”s  ซึ่งเป็นห้องสมุดหนึ่งในโครงการระดับชาติของห้องสมุดสภาคองเกรส มลรัฐนิวยอร์ก ได้ให้บริการจัดส่งหนังสือและสื่อเรียนรู้สู่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตาและร่างกายที่พักอาศัยใน 55 เมืองทั่วนิวยอร์ก โดยอาจใช้ระบบอินเทอร์เนต การจัดส่งทางไปรษณีย์ หรือผมเสนอว่าอาจใช้การพัฒนาระบบงานอาสาสมัครนำสื่อเรียนรู้สู่กลุ่มเป้าหมาย โดยอาจนำอาสาสมัครสำหรับกลุ่มคนต่าง ๆ ผ่านกองทุนเวลาเพื่อสังคม การใช้อาสาสมัครชุมชน อาสาสมัครกลุ่มญาติหรือผู้เกี่ยวข้อง เน้นการสร้างอาสาสมัครเครือข่าย ในการร่วมจัดส่งสื่อไปยังประตูที่พัก 
 
        พัฒนาระบบรองรับสื่อเรียนรู้ในที่พักและสถานที่ต่าง ๆ กทม. ควรกำหนดให้สถานที่ต่าง ๆ มีการจัดจุดและช่องทางรับบริการดังกล่าวภายในกี่ปี เช่น กำหนดว่า โรงพยาบาลต่าง ๆ สถานที่ต้องขัง สถานที่พักฟื้น สถานที่สงเคราะห์คนชรา ฯลฯ ต้องมีช่องทางให้คนกลุ่มนี้ สามารถรับข้อมูลข่าวสารจากช่องทางบริการที่จัดให้
 
        พัฒนาระบบประชาสัมพันธ์สู่กลุ่มเป้าหมาย ในระยะต้นอาจจะเป็นการยากที่จะให้กลุ่มคนเหล่านี้ รับรู้และเข้าถึงระบบบริการสู่ประตูรั้ว โดยระยะแรกจึงต้องมีระบบประชาสัมพันธ์ที่ดี นอกจากนี้ทุก 3-6 เดือนควรจัดส่งจดหมายข่าว เพื่อบอกรายการหนังสือใหม่แก่ผู้พิการ พร้อมระบุแหล่งทรัพยากรที่ผู้พิการยืมได้
 
        กลุ่มผู้ที่ไม่สามารถหรือไม่สะดวกในการเดินทางเข้ารับบริการด้านการเรียนรู้จากแหล่งต่าง ๆ ของ กทม. ควรมีสิทธิมีส่วนได้รับบริการเรียนรู้ด้วย เพราะการเรียนรู้และการได้รับข้อมูลข่าวสารได้กลายเป็นปัจจัยจำเป็นที่สำคัญที่จะมีส่วนยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนตอบสนองความสุข และการต้องการรับข้อมูลข่าวสารของทุกกลุ่มคน
 
 
* นำมาจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน คอลัมภ์ศึกษาทัศน์ ฉบับวันพุธที่ 4 มิถุนายน 2551

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *