ยักษ์ใหญ่ 'ซิตี้กรุ๊ป' ถึง 'ผู้ประกอบการ' รายเล็ก

ยักษ์ใหญ่ “ซิตี้กรุ๊ป” ถึง “ผู้ประกอบการ” รายเล็ก
ธงชัย สันติวงษ์ กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2552
เห็นข่าวรายงานว่า “MBA Entrepreneur บูม ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ” ทำให้น่าสนใจและคิดต่อไปว่า สภาพการเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขสภาวะเศรษฐกิจในรอบสามสิบปี จนมาเกิดวิกฤติการเงินโลกวันนี้ ว่า มีอะไรที่ให้ข้อคิดบทเรียนในทางบริหารจัดการได้บ้าง
เพราะใครๆ ต่างรู้ว่า โลกยุคใหม่ได้มี “นวัตกรรมใหม่ด้านไอที” แล้วตามมาด้วยบทเรียนที่เจ็บแสบ นั่นคือ “นวัตกรรมการเงิน” ที่ก่อความร่ำรวยและการล่มจมมากมาย ไม่เว้นแม้แต่สถาบันการเงินที่ใหญ่และเก่งการเงินที่สุด ซึ่งต้องกลายเป็น “หมองูตายเพราะงู”
การเรียนรู้การบริหารจัดการด้วยคำขวัญง่ายๆ สั้นๆ อาทิเช่น Change หรือการเปลี่ยนแปลงนั้น เอาจริงแล้วเพียงแต่ท่องบ่นจะใช้การใดๆ ไม่ได้ เพราะรู้เพียงอาการทั่วไปกับภาพรางๆ ที่ปรากฏให้เห็นเป็น “วิสัยทัศน์” เท่านั้น แต่ส่วนสำคัญกลับอยู่ที่การปฏิบัติ หรือการเปลี่ยนแปลงที่ทำได้ผล
แต่ถ้าไม่มีประสบการณ์ ไม่อาจบริหารอย่างมีน้ำหนัก คือ “บริหารยุทธศาสตร์ระดับโครงสร้าง” ได้ รวมทั้งการไม่สามารถบริหารลงลึกไปในระบบงานและอารมณ์คนที่เกี่ยวกับความเชื่อมั่นและผลในทางปฏิบัติได้แล้ว แน่นอนว่า ต้องลำบากค้างฟ้าหรือล่มจมไปต่อหน้าแน่นอน โดยมีอันเป็นไปอย่างรวดเร็วด้วย
เรื่องที่อยากนำมาพูด คือ กรณีของ ซิตี้กรุ๊ป สถาบันการเงินโลกขนาดยักษ์ในสมัยที่ผมทำแบงก์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินยักษ์ ทันสมัยและใหญ่สุดในสหรัฐ พร้อมกับมีตำนานการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาองค์กรที่ถือเป็นกรณีคลาสสิก ที่นักบริหารธุรกิจ MBA ทุกแห่งต้องเรียนกัน เพื่อให้รู้ถึงกรณีการ พลิกโฉมการบริหารแบบ “คิดใหม่ ทำใหม่” โดย CEO ผู้โด่งดัง ชื่อ John Reed อดีต CEO บริษัทผลิตรถยนต์ที่ได้เข้ามารื้อปรับบริษัทซิตี้แบงก์ใหม่หมด
อหังการมากถึงกับละทิ้ง “ธรรมเนียมวิธีการปฏิบัติ” ของบรรดานายธนาคารทุกแห่งในโลกที่เคยทำมาในอดีต โดยการนำเอาไอทีมาใช้ มีการปรับโครงสร้างเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ แยกเป็นหลายกลุ่ม แล้วกระจายอำนาจ ขยายธุรกิจ โดยประสานการปฏิบัติการกับควบคุมผ่านระบบไอทีนั้น สร้างผลสำเร็จได้อย่างอัศจรรย์
แต่นักอนุรักษนิยมถือว่าเป็นเรื่องท้าทาย แต่ก็มีความเสี่ยงและความเสียหายในธุรกิจการเงินซึ่งไหลลื่นไปกลับไม่ต่างจากน้ำกลิ้งบนใบบอน ให้คนทั้งโลกติดตามและปรับตัว
ในเมืองไทยเอง ทายาทลูกนายแบงก์ไทยหลายแห่ง ต่างได้ไปติดตามศึกษารูปแบบการบริหารนี้แทบจะทุกตระกูลก็ว่าได้ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญของโลกที่เปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม และกลับตาลปัตร ในยุคโลกาภิวัตน์
แล้วต่อมาอีกไม่นานนัก ตำนานของซิตี้แบงก์ที่รุ่งโรจน์จากการจัดโครงสร้างคล้ายเป็นเรือยักษ์หรือแพขนานยนต์ขนาดใหญ่หลายลำ (5-6 ลำ) กับการสร้างระบบไอที เพื่อการปฏิบัติการ ทำบริการ ประสานงานและควบคุม ก็ถูกเขียนขึ้นเป็นกรณีศึกษาของ Harvard Business School เผยแพร่ดังไปทั่วโลก
กลายเป็นกรณีศึกษาของนักเรียน MBA ในตำราหลายเล่มที่ขาดไม่ได้
ต่อมาธนาคารกรุงไทยเอง ก็ได้จ้างที่ปรึกษาราคาแพงมาปรับโครงสร้าง โดยแยกแบ่งกลุ่มเรือหลายลำคล้ายกับของซิตี้กรุ๊ปที่ทำไปแล้วเช่นกัน แต่ได้ผลแค่ไหนในไทยไม่มีรายงานออกมาให้ทราบกัน
ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ในวิกฤติการเงินคราวนี้ที่ไปกว้างและรุนแรงมาก ได้มีข่าวออกมาว่า “ซิตี้กรุ๊ป” มีปัญหาหนักแบบจะเอาตัวไม่รอด ราคาหุ้นที่เคยสูงหลายสิบดอลลาร์ อันเป็นที่พิสมัยของบรรดาเศรษฐีน้ำมันตะวันออกกลาง ถึงวันนี้ ราคาตกจนเหลือหุ้นละไม่ถึงดอลลาร์ พร้อมข่าวว่า รัฐบาลสหรัฐอาจต้องเข้าไปอุ้มด้วย
ซึ่งเท่ากับฟ้องว่า “ควรเอาตำราไปเผาทิ้งได้แล้ว” หรือเตือนว่าหาก “นักศึกษา MBA จะไม่อ่อนซ้อม” สถาบันการสอนและอาจารย์เอง ต้องเก่งจริง โดยไม่ทิ้งทฤษฎีกับต้องมีภาคปฏิบัติที่มากพอ รู้จริงและใช้การได้จริง
พูดง่ายๆ คือ ไม่หลงวิชาหรือคำโฆษณากับไม่อ่อนทั้งความรู้และชั้นเชิงการปฏิบัติ จึงจะนำพานักธุรกิจยุคใหม่ ให้สามารถบริหารฝ่าวิกฤติได้ ซึ่งที่สำคัญกว่า คือ จะช่วยให้องค์กรหรือสถาบันที่ตั้งมาเก่าแก่ยาวนานหลายสิบหรือเกือบร้อยปี ที่ต่างต้องล่มสลายไป ด้วยเพราะความอ่อนโลก อ่อนความรู้ ขาดประสบการณ์ในโลกที่เปลี่ยนแปลง ที่ต้องมีการสร้างสมทักษะ ความรู้และวัฒนธรรมต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ ให้กลายเป็น “ทุนองค์กร” (Organization Capital) ที่ทรงคุณค่าและใช้นำพาองค์กรให้ฝ่ามรสุมพายุร้ายไปได้ในทุกแบบของวิกฤติ
เหตุจากข่าวซิตี้กรุ๊ปกำลังย่ำแย่ กับข่าว MBA Enterpreneur บูม ทำให้ต้องนึกย้อนไปถึงหนังสือของ Rosemary Canter ซึ่งเคยเขียนหนังสือเมื่อสามสิบปีที่ผ่านมาชื่อว่า “How to teach elephant to dance” หรือจะสอนให้ช้างเต้นระบำได้อย่างไร โดยจุดประสงค์ คือ ต้องการชี้ว่าองค์กรที่ขยายใหญ่ เป็นยักษ์ปักหลั่น จะสร้างประสิทธิภาพ เพื่อให้อยู่รอดได้อย่างไร ต้องทำหรือบริหารอย่างไร อะไรบ้าง
คำสอนที่ Rosmary Canter ได้สอนไว้ คือ ในอนาคตจะเหลือแต่ธุรกิจ 2 จำพวก คือ
กลุ่มแรก คือ ธุรกิจยักษ์ใหญ่ (Global Company) เปรียบเช่นช้างตัวใหญ่ มีอาณาเขต
ครอบโลก ซึ่งจะอุ้ยอ้ายเชื่องช้าดำเนินการด้วยต้นทุนที่สูงมาก จนอาจทำให้ล่มสลายได้
กลุ่มที่สอง คือ ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากที่กระจายไปทั่ว และคล่องตัวคล้ายกับแมลงหวี่แมลงวัน ที่มีประสิทธิภาพ ฉับไว ต้นทุนถูก จึงจะอยู่รอดได้
คำสอนนี้บอกให้รู้ว่าการล้มลงของยักษ์ อย่าง “ซิตี้กรุ๊ป” กำลังเป็นจริงแล้ว และบริษัทหรือกิจการที่อาจอยู่รอดได้ ก็คือ SMEs ธุรกิจขนาดเล็ก ที่มี “ผู้บริหารมืออาชีพเชิงนักประกอบการ” (Enterpreneurial Manager) ที่ต้องเก่งทั้งความรู้ MBA แบบนักบริหารมืออาชีพทั่วไป กับต้องทำงานได้คล่องตัว ฉับไว โดยมีการใช้ไอที
ทั้งนี้ เคล็ดลับสำคัญ คือ องค์กรต้องแบนราบ สำนักงานใหญ่ต้องกะทัดรัดและเล็ก โดยหน่วยปฏิบัติงานต้องมีความพร้อมสูงด้วย ได้คนเก่ง มีไอทีใช้ บริการได้ฉับไว ไม่มากพิธีการ ซึ่งการจะมีได้ ต้องแลกด้วยการลดขนาดสำนักงานใหญ่ โดยเฉพาะบรรดานักบริหารระดับสูงที่อ่อนซ้อม กับต้องตัดและลดผลประโยชน์ของนักบริหารระดับสูง ซึ่งหากทำไม่ได้ ด้วยเพราะไม่กล้าทำ กิเลสสูง อยากมีอยากได้มาก ก็จะทำให้ช้างยังคงเป็นช้างอยู่ต่อไป แต่เต้นระบำไม่ได้ และต้องพ่ายแพ้จนตายไป และต้องถูกแมลงหวี่แมลงวันไต่ตอม โดยเงื่อนไขสำคัญ คือ แมลงหวี่แมลงวันต้องแข็งแรงจริงจึงจะรอดได้
เรื่องนี้บอกให้รู้ว่า Enterpreneur MBA ต้องเก่งจริงทั้งทฤษฎีและปฏิบัติทั้งสองอย่าง จึงจะมีโอกาสดูมืออาชีพของกิจการใหญ่ที่อ่อนซ้อมล้มดังดุจช้าง โดยตัวเองรอดได้
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าองค์กรใหญ่ที่รอดได้ ต้องมีหน่วยปฏิบัติที่เก่ง-ไวแบบแมลงหวี่ เป็นจำนวนมาก โดยสำนักงานใหญ่ต้องเล็กเป็นแค่ “ช้างน้อย”

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *