มุมมองจากทาเคดะซัง

มุมมองจากทาเคดะซัง
Post Today – ผมเขียนเรื่องมุมมองของคนไทยและคนญี่ปุ่น จากการไปสัมภาษณ์ประธานบริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย ซึ่งตีพิมพ์ไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา (http://www.thaicoach.com/new/new_column_th.php?info_id=162) …
ผมมีเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่เคยทำงานในเมืองไทยชื่อทาเคดะ ปัจจุบันทาเคดะซังย้ายกลับไปญี่ปุ่นแล้ว แต่ยังคิดถึงเมืองไทยและคนไทย เขาติดตามข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต และคอยตัดข่าวที่กระทบกับคนไทย และเรื่องธุรกิจในไทย ส่งมาให้คนไทยจำนวนหนึ่งเสมอ ผมเองก็เป็นหนึ่งในผู้รับอานิสงส์ดังกล่าว

ผมจึงเขียนเมลไปสอบถามความเห็นของเขาเกี่ยวกับบทสัมภาษณ์ดังกล่าว ทาเคดะซังแสดงความเห็นมาดังนี้

1.เรื่องการอบรมแบบ On the job training (OJT) เป็นเรื่องที่ปฏิบัติปกติโดยทั่วไปในบริษัทญี่ปุ่น

2.เรื่องคนญี่ปุ่นมีวินัยสูงนั้น เคยเป็นเช่นนั้นจริง แต่ว่าปัจจุบันนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคนและแต่ละสถานการณ์ อย่าไปคิดเหมารวมเอาว่าคนญี่ปุ่นจะขยันและมีวินัยไปเสียทุกคน ชาวญี่ปุ่นเองก็ต้องได้รับการกระตุ้นและจูงใจกันพอสมควรทีเดียว กว่าที่เขาจะสนใจลงมือทุ่มเททำงาน

ในขณะเดียวกัน ผมก็เคยพบคนไทยบางคนที่ทุ่มเท มุ่งมั่น และจริงจังกับงาน โดยไม่แพ้ชนชาติใดในโลกเช่นกัน หากว่าคนไทยได้รับการจูงใจที่ตรงใจเขา เขาก็ทำให้ผมแปลกใจมากถึงความทุ่มเทของพวกเขา ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ชาวญี่ปุ่นบางคนเหมารวมเอาว่าคนไทยทุกคนรักสบาย

ที่ว่าคนไทยทำงานได้ 70-80% ของชาวญี่ปุ่นนั้นก็ยากที่จะเหมารวมเช่นกัน แต่ว่าผมเคยบอกทีมงานคนไทยที่ทำงานด้วยกันว่า สิ่งที่พวกเขาทำที่โรงงานที่ระยองนั้น ไม่ยิ่งหย่อนกว่าที่ญี่ปุ่นเลย ผมบอกพวกเขาด้วยว่ามาตรฐานงานที่พวกเขาทำออกมานั้นก็อยู่ในระดับโลกเช่นกัน

สมัยผมทำงานที่ระยองนั้น ผมอยู่ในบริษัทร่วมทุนไทยญี่ปุ่น มีบางกรณีที่ผู้บริหารระดับสูงคนไทยที่มาจากบริษัทแม่ของไทย อายุก็พอๆ กับผม แต่ว่ามีตำแหน่งสูงกว่า วางท่าเหนือกว่าผมหรือชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆ ที่ตำแหน่งต่ำกว่า ผมเองอดสงสัยไม่ได้ว่า ระดับที่เขาเป็นกับผลงานที่เขาทำนั้นมันสอดคล้องกันหรือไม่

หากเขาให้เกียรติเราและเคารพในความรู้และประสบการณ์ เขาก็จะได้รับกลับคืนเช่นเดียวกัน หากทำท่าเก่งกว่าก็ไม่ได้ทำให้องค์กรดีขึ้นมาแต่อย่างใด

3.เรื่องทีมเวิร์ก ในอดีตสมัยที่เราเป็นประเทศเกษตรกรรม เราเคยทำงานเป็นทีมได้ดีกว่านี้ เราเคยมีระบบเดียวกันกับระบบลงแขกของเกษตรกรไทย แต่ว่าโลกเปลี่ยนไป ญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1950 มีเกษตรกร 60% เดี๋ยวนี้ไม่ถึง 4%

ชาวญี่ปุ่นมักตั้งเป้าหมายว่าจะทำงานในบริษัทใหญ่มีชื่อเสียงแล้วเติบโตไปตามลำดับ หรือไม่ก็รับราชการจนเกษียณ เขามองที่ความมั่นคง

ขณะที่บางคนก็ไปทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งยังมีน้อยหากเทียบกับอเมริกา

หลายคนกลัวว่าการที่ไม่มีตำแหน่งผู้จัดการ ทำให้เขาไม่ได้รับการยอมรับ ดังนั้นจึงต้องทำงานในองค์กรใหญ่ ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องทำตัวให้กลมกลืนกับคนหมู่มากก่อน

มีคำกล่าวของญี่ปุ่นว่า “ตะปูที่โดดเด่นมักจะถูกค้อนทุบก่อนเพื่อน”

ดังนั้นการที่จะคิดแปลกแยกและเสรียากมาก โดยเฉพาะหากต้องเห็นแตกต่างกับนาย

สำหรับการประชุมโดยเชิญคนจำนวนมากเข้าร่วมนั้น ไม่ใช่เรื่องทีม แต่ว่าทำไปเพื่อการสื่อสาร และการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประสิทธิภาพต่างหาก

ตัวอย่างเช่นหากมีการตัดสินใจในที่ประชุมของฝ่ายบริหาร ที่กระทบผลประโยชน์ของคุณ แต่ว่าคุณไม่ได้เข้าร่วมด้วยเพราะตำแหน่ง คุณอาจจะไม่ทราบผลการตัดสินใจนั้นเลย ยกเว้นไปทราบโดยบังเอิญ

พอคุณไปบ่นฝ่ายการพนักงาน เขากลับบอกว่าหัวหน้าคุณรู้ เขาน่าจะบอกคุณ หัวหน้าเองก็อาจจะคิดไปว่าการที่เขารู้ก็เพียงพอแล้ว จึงไม่มีใครบอกให้คุณทราบ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการพยายามนำคนเข้าประชุมให้มากที่สุด

คุณสามารถที่จะทำให้คนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการประชุม ผมพยายามเปิดโอกาสให้คนไทยมีคำถาม แสดงความเห็นให้มากที่สุด ผมบอกกับเขาว่า อย่าเกรงใจ

แน่นอน มีบางคนพัฒนาและกล้าแสดงความเห็น และก็มีบางคนนั่งเฉยๆ และสงสัยว่าคนอื่นๆ เขาทำอะไรกัน

“เชื่อมช่องว่าง” กับ เกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย Executive Coach ภายใต้แบรนด์ The Coach คุณสามารถติดต่อเขาได้ที่ coachkriengsak@yahoo.com หรืออ่านงานเขียนที่เคยตีพิมพ์ในโพสต์ทูเดย์ ที่ www.thaicoach.com

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *