มิจฉาชีพทางโทรศัพท์

มิจฉาชีพทางโทรศัพท์

ช่วงนี้ คนรอบตัวมาเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการเจอพวกหลอกลวงต้มตุ๋น
ผ่านทางโทรศัพท์ทั้งนั้นเลย กรณีที่เล่ามาก็จะเป็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน เช่น
มาบอกว่าได้รางวัลให้หลงดีใจ เพื่อที่จะให้บอกเลขที่บัญชีและข้อมูลอื่น ๆ (ที่ไม่ควรบอก)
เพื่อที่จะโอนเงินรางวัลให้ หรือไม่ก็ออกมาแนวซีเรียสว่าบัญชีของคุณถูกแฮก
ต้องการให้บอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อทำการระบุตัวตน
ถ้าถามแค่ชื่อหรือเลขที่บัญชีก็ถือว่ายังเป็นเรื่องปกติ แต่การถามเลยไปถึงวันเดือนปีเกิด
เลขที่บัตรประชาชน ที่อยู่ หรือ ยอดเงินคงเหลือในบัญชีนั้น ถือว่าเป็นข้อมูลส่วนตัวที่ไม่ควร
เปิดเผยมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพวกที่อ้างตัวเองว่าเป็นตัวแทนจากธนาคารของ
เจ้าของบัญชีเอง ทำไมจะตรวจสอบเองไม่ได้ ถ้าอ้างว่าเป็นการตรวจสอบตัวตนของเจ้าของ
บัญชีก่อนการมอบรางวัลแล้วล่ะก็ อย่างนี้ขอเดินทางไปให้ตรวจสอบถึงที่ธนาคารเลยดีกว่า
อาจเป็นเพราะความฉุกละหุกแบบไม่ได้ตั้งตัว บวกกับความตื่นเต้นดีใจที่เข้าใจว่าได้รางวัล
ก็เลยส่งผลให้เกิดอาการขาดความเฉลียวใจ และหลวมตัวเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวออกไปอย่างง่ายดาย
ซึ่งในกรณีของรายหนึ่งที่เล่าให้ฟังนั้น อาจจะถือว่าเป็นโชคเข้าข้างก็ได้ที่เงินในบัญชีเขาเหลืออยู่
แค่ไม่กี่ร้อยบาท ซึ่งพอพวกโทรเข้ามาได้ยินข้อมูลเช่นนั้น ก็เลยขอตัดบทว่าจะติดต่อกลับมาภายหลัง
ซึ่งก็ไม่พบว่ามีการติดต่อกลับมาอีกเลย
ในที่สุด พอมารู้สึกตัวว่าเจอพวกต้มตุ๋นเข้าให้แล้ว เขาก็ยังต้องไปยกเลิกบัญชีอยู่ดี เพื่อความปลอดภัย
เพราะหลวมตัวบอกเลขที่บัญชีไปและข้อมูลอื่น ๆ ไปเยอะแล้ว
. . .
ส่วนอีกรายหนึ่งที่ไม่ได้โชคดีเหมือนรายแรก เพราะเจอพวกที่มีเทคนิคลึกล้ำและบ้าบิ่นกว่า
คือ เป็นการอ้างว่าโทรมาจากธนาคาร(อีกแล้ว) มาแจ้งเกี่ยวกับการถูกรางวัลของเจ้าของบัญชี
แต่เหตุการณ์เริ่มแตกต่างและมีความซับซ้อนขึ้น เริ่มตรงที่เจ้าของบัญชีนั้นไม่อยู่ที่บ้าน
ผู้ที่รับสายนั่นคือ คนใช้ภายในบ้าน ถึงจะไม่ได้ติดต่อกับเจ้าของบัญชีโดยตรง ก็ยังมีลู่ทาง
สำรองที่สามารถหลอกล่อต่อไปได้อีก คือ ขอให้เหยื่อรายใหม่ (คนรับสาย) รีบโทรแจ้งเจ้าของ
บัญชีโดยทันที เพราะมีกำหนดรับของรางวัลต้องเป็นภายในวันนี้เท่านั้น (แล้วทำไมไม่รีบโทรมา)
แล้วเดี๋ยวจะโทรกลับมาถามความคืบหน้าอีกครั้งหนึ่ง (มีที่ไหนที่จะมอบเงินให้เขา ยังเอาใจกัน
สุดขีดขนาดนี้ แล้วถ้าเอาใจใส่ใกล้ชิดขนาดนี้…ทำไมเมิงไม่รีบโทรมา…)
และฉากที่สำคัญ ก็คือตอนนี้แหละครับ คือขณะที่ปลายสาย (เหยื่อ) เข้าใจว่าการสนทนานั้น
ได้สิ้นสุดไปแล้ว จึงรีบวางสายไปก่อนเพื่อที่จะต่อโทรศัพท์ไปหาเจ้านายที่เป็นเจ้าของบัญชี
แต่ความเป็นจริงคืออีกฝั่งไม่ได้วางสายเลยครับ พวกนั้นก็ปล่อยให้เหยื่อกดเบอร์โทรศัพท์ออกไป
โดยไม่รู้ระแคะระคายเลยว่าการต่อสายโทรศัพท์ครั้งนั้น ไม่ได้ถูกต่อออกไปยังที่อื่นเลย
คู่สายเดิมยังคงรออยู่ที่อีกฝั่งหนึ่ง กำลังเตรียมดำเนินการตามแผนขั้นถัดไป …
(ขอขยายความเกี่ยวกับโทรศัพท์บ้านว่า หากผู้ที่เป็นต้นทางต่อโทรศัพท์หาใคร แล้วปลายสาย
เกิดวางหูไปก่อน สายจะยังไม่ถูกตัดออกไปจนกว่าต้นสายจะเป็นผู้วางสาย ซึ่งถ้าหากปลายทาง
มีการยกหูขึ้นมาอีก ก็ยังสามารถต่อกับต้นสายได้ต่อไป ซึ่งสายจะตัดก็ต่อเมื่อ ต้นสายเป็นผู้วางสายเอง
— ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ถ้าผู้ใช้โทรศัพท์ทำการตรวจสอบฟังสัญญาณโทรศัพท์ก่อนการโทรออกทุกครั้ง
ก็จะสามารถช่วยจุดบอดตรงนี้ได้เป็นอย่างดี)
และพวกนั้นก็เริ่มกระบวนการถัดไปโดยเปิดการสนทนาครั้งใหม่ เป็นคนใหม่ โดยอ้างว่าเป็นคนที่ทำงาน
ที่รู้จักเจ้าของบัญชีเป็นอย่างดี และบอกว่าเจ้าของบัญชีนั้นติดประชุมอยู่ และขอตัวไปตามซักครู่
(ให้ถือสายรอ เพื่อความสมจริง) แล้วก็กลับมาพร้อมบอกว่าเจ้าตัวไม่สามารถออกมาคุยได้ในตอนนี้
แต่ได้ทราบเรื่องแล้ว ขอให้ที่บ้านดำเนินการอะไรเท่าที่จะสามารถทำได้ไปก่อน แล้วเดี๋ยวจะไปจัดการ
เคลียร์เงินทีหลังเมื่อกลับถึงบ้าน แล้วก็วางหูไป (คราวนี้วางหูจริง ๆ ให้สายตัดไป)
และเว้นช่วงไม่นานหลังจากนั้น พวกนั้นก็จะทำทีเป็นโทรกลับไปที่บ้านในบทบาทของเจ้าหน้าที่ธนาคาร
เพื่อสอบถามความคืบหน้า ซึ่งทางเหยื่อก็เล่าเรื่องตามที่ได้ยินมา พวกนั้นก็จะบอกว่ายอดเงินในบัญชี
ของเจ้าของบัญชีนั้นมีไม่พอที่จะผ่านเงื่อนไขข้อหนึ่งสำหรับการมอบรางวัล (มีอย่างนี้ด้วยแฮะ)
จึงขอให้่หาทางโอนเงินเข้าบัญชีโดยด่วน ซึ่งเหยื่อเองก็ถูกหลอกให้หลงเข้าใจผิดไปแล้วว่า
เจ้าของบัญชีให้จัดการอะไรไปล่วงหน้าไปก่อน ก็เลยบอกว่าจะเอาเงินตัวเองโอนเข้าไปให้
เหยื่อบอกว่าตอนนี้เงินที่ติดตัวมีไม่พอที่จะโอนให้ครบ 10,000 บาท (เป็นเงื่อนไขที่ทางโน้นกุขึ้นมา)
พวกนั้นก็ทำเนียนต่อว่า สามารถใช้ทรัพย์สินอื่น ๆ เพื่อที่จะใช้ค้ำประกันแทนเงินโอนก็ได้่ (เฮ้ย!)
เหยื่อก็บอกว่าตัวเองมีสร้อยทองอยู่ (หลงกลเต็มสูบ) พวกนั้นก็บอกว่าใช้ได้เลย ให้เดินทางเอามามอบ
ให้พนักงานตามสถานที่ที่กำหนด ซึ่งไม่ใช่ที่ธนาคาร
ก็คงพอเดาได้ใช่ไหมครับ ว่าการที่ทองเส้นนั้นก็ถูกส่งมอบไปให้ใครก็ไม่รู้ที่เข้าใจว่าเป็นคนจากธนาคาร
และไม่มีเงินรางวัลใด ๆ ถูกโอนเข้าบัญชีของเจ้าของบัญชี และเมื่อรู้ตัวเต็ม ๆ ว่าถูกหลอกหลังจากได้คุย
กับเจ้าของบัญชีตัวจริงตอนที่ได้กลับบ้านมาแล้ว ทั้งหมดนี้จะทำให้เหยื่อรู้สึกอย่างไร …
. . .
หลังจากจบเรื่องนี้ อาจมีบางคนที่รู้สึกว่า เหยื่อคนนี้หลงเชื่ออะไรง่ายเกินเหตุไปหรือเปล่า
ลองมองอีกมุมนึง ถ้าใครที่ได้เจอกับสถานการณ์เช่นนั้น ในจังหวะที่อาจจะไม่ทันได้ตั้งตัว
ในช่วงที่ไม่ทันคิดว่ากำลังถูกหลอก คน ๆ นั้นก็อาจจะไม่ต่างจากเหยื่อรายนี้เลยก็ได้
เพราะดูจากการปฏิบัติการแล้ว พวกมิจฉาชีพพวกนี้คงลื่นไหลไปได้อย่างคล่องแคล่ว
และสามารถพลิกแพลงสถานการณ์ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมเหยื่อได้ไม่ยาก
แถมพวกนี้มีการทำการบ้านมาก่อน ด้วยการหาข้อมูลเบื้องต้นบางอย่างของเหยื่อมาแล้ว
เช่น ชื่อตัว ชื่อคู่สมรส หรือข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ซึ่งทำให้สามารถหลอกล่อให้ตายใจได้ไม่ยาก
ดังนั้น ถ้าหากมีคนแปลกหน้าโทรมาแล้วอ้างว่ามาจากธนาคารหรือบริษัทใด ๆ ก็ควรระวังเอาไว้ก่อน
ทางที่ดีขอโทรกลับทีหลังแล้ว โทรติดต่อไปที่ธนาคารหรือบริษัทนั้นโดยตรง เพื่อตรวจสอบข้อมูล
ก่อนดีกว่า การบอกข้อมูลอะไรให้คนที่เราไม่รู้จัก คงไม่ใช่เรื่องปลอดภัยเท่าไหร่แล้ว
. . .
ขอเล่าส่งท้ายสั้น ๆ อีกเรื่องนึงละกัน อาจจะไม่ใช่ประเด็นในเรื่องของการโกงหรือการถูกหลอก
แต่เป็นเรื่องของทักษะทางการขายและการใช้วิจารณญาณที่เหมาะสมในด้านการขายมากกว่า
เป็นเรื่องของการโทรมาขายประกันครับ เป็นประกันสุขภาพอะไรซักอย่างหนึ่ง ซึ่งเสียค่าใช้จ่าย
เบี้ยประกันเฉลี่ยเพียงประมาณวันละ 10 กว่าบาทเท่านั้น ซึ่งฟังแล้วมันแสนคุ้มค่าอะไรประมาณนั้น
ทีนี้ทางผู้รับสายก็ยังไม่กล้าที่จะตัดสินใจซื้อไป (เพราะเล่นโทรมาในวันธรรมดาตอนกลางวัน)
ก็เลยตอบกลับไปว่าจะขอปรึกษากับคนอื่น ๆ ก่อน แล้วค่อยติดต่อกลับไปทีหลังจะได้ไหม
ซึ่งคนขายผู้นั้นก็เลยสวนกลับมาอย่างสุภาพและน่าถีบตกคลองว่า
“เสียเงินแค่วันละ 10 กว่าบาทยังต้องไปปรึกษาใครอีกหรือคะ”
เฮ้อ! นี่แหละ…วาทะที่น่าฟังสำหรับนักขายในยุคนี้
. . .
ป.ล. ทั้งหมดนี่ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ตรงนะครับ แต่เป็นคำบอกเล่าที่มาจากผู้ที่ประสบเหตุการณ์จริง
ยังไม่เคยประสบพบเห็นโดยตรง และก็ไม่อยากเจอด้วย (ไม่ต้องโทรมาเลยนะ กลัวเผลอใจแบบไม่รู้ตัว)

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *