มนุษย์ขี้สงสัยหัวใจนวัตกรรม

มนุษย์ขี้สงสัยหัวใจนวัตกรรม
ดิฉันได้มีโอกาสศึกษาผลการวิจัยเรื่องนวัตกรรม หรือ Innovation ขององค์กรต่างๆ รวมถึงบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจชื่อดังของโลก Boston Consulting Group เรียกย่อๆ ว่า BCG
ผลการวิจัยของ BCG ระบุว่าจากการศึกษาองค์กรในธุรกิจที่หลากหลายใน 50 ประเทศนั้น 90% ของผู้บริหารระดับสูงในองค์กรเหล่านี้ลงความเห็นตรงกันว่าอนาคตขององค์กรเขาขึ้นอยู่กับความสามารถในการพัฒนาและเติบโตจากนวัตกรรม องค์กรใดไม่มีวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการคิดเพื่อสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการใหม่ๆ ให้ลูกค้าจะพลาดโอกาสในการเติบโตและยากที่จะแข่งขันในที่สุด
ในฐานะที่ดิฉันมีโอกาสดีในการทำงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ในการพัฒนาบุคลากรและองค์กรในธุรกิจ MICE ซึ่งเป็นตัวย่อของคำว่า Meetings, Incentives, Conventions และ Exhibitions ดิฉันจึงสนใจเรื่องการจะทำอย่างไรหนอ ให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับนานาประเทศโดยใช้มุมมองใหม่ๆ โดยใช้นวัตกรรมทางความคิด ให้ไทยสามารถสร้างสรรค์สินค้าและบริการในรูปแบบที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร ให้ลูกค้าประทับใจไม่รู้ลืม ให้คู่แข่งตะลึง ทึ่งว่าคิดได้ไง
บางท่านบอกดิฉันว่า “ฝันไปเถิด!”
บางท่านว่า “คนไทยเนี่ยนะ…ให้ Innovate รอไปเถิด รอเกิดชาติโน้น!” พรรคพวกหลายคนพร้อมใจปรามาสหน้าคนไทยทั้งปวง (รวมทั้งดิฉันและตัวผู้พูดที่เป็นคนไทย)!
ดิฉันเป็นมนุษย์มองโลกในแง่ดี หลายครั้งจึงมักหงุดหงิดกับมุมมองเชิงลบแบบครอบจักรวาล… ว่าคนไทยไม่ดีอย่างโน้น ไม่ได้เรื่องอย่างนี้…
อันที่จริงผู้ที่มองโลกในแง่ดีเกินไปอย่างดิฉัน มักมีข้อจำกัดหลายประการ บางครั้งคิดใหญ่ ฝันยักษ์เกินตัว คิดว่าอะไรก็น่าจะทำได้ ทุกอย่างทำได้หากอยากทำ จึงต้องมีมนุษย์ที่มองโลกแง่ลบ คนที่มักมองหาและมักมองเห็นจุดอ่อน ชอบดูรูโหว่ รูแหว่ง ทั้งชีวิตติดใจกับอุปสรรคขวากหนาม มาช่วยสกัดความฝันฟุ้งของดิฉัน เมื่อผสมผสานมุมลบของคนกลุ่มนี้ กับมุมบวกของพวกดิฉัน จึงจะออกมากลมกล่อมพอดี
กระนั้นก็ตาม ดิฉันมั่นใจว่าคนไทยเก่งไม่แพ้ใครในโลก
วิธีการทำงานบางอย่างของเราคนไทยเด่นกว่าหลายที่หลายประเทศ ขณะที่บางเรื่องเราอาจยังบกพร่อง บางครั้งไม่อยู่กับร่องกับรอย สู้เขายังไม่ได้
การที่เราเก่งหรือไม่เก่งกว่าใครในเรื่องใดๆ ดิฉันมั่นใจว่า มิใช่เพราะความเป็นตัวตนของคนที่เกิดเป็นคนไทย แต่เป็นเพราะปัจจัยอื่น ๆ ที่ผสมผสานดันให้พวกเราเป็นอย่างที่เราเป็น ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษาครอบครัว ศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ที่ทำงาน การเมือง หัวหน้างาน สารพัดปัจจัยที่ปลุกปั้นให้เราเป็นอย่างที่เราเป็น
เรื่อง Innovation หรือการมีความคิดสร้างสรรค์ จะบอกว่าคนไทยน้อยหน้า ชาวบ้านชาวเมืองหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ไม่ใช่เรื่องที่ฟันธงง่ายๆ
ในแง่หนึ่ง ดิฉันเห็นด้วยกับมนุษย์ที่มองในแง่ลบว่าเท่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอดีต คนไทยมักถูกสอนให้พยายามหนีบตัว หนีบใจ หนีบความคิดให้อยู่ในกรอบ ใครเผลอโผล่แพลม แหลมออกนอกขอบ จะดูแปลกประหลาด อาจถูกตัดญาติขาดมิตร พรรคพวกในองค์กรไม่คบได้ง่ายๆ
อย่างไรก็ดี ดิฉันมั่นใจว่า คนทำงานยุคใหม่โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ไฟแรง มักกล้าคิด กล้าทำในสิ่งที่แตกต่างมากกว่าคนยุคในอดีตมากมาย ดังนั้น เรื่องความคิดสร้างสรรค์ เรื่อง Innovation คนกลุ่มใหม่ในสังคมไทยในที่ทำงานวันนี้ ต้องมีดีไม่แพ้ใครในโลก
นอกจากนั้น ผลการวิจัยที่ดิฉันกล่าวถึงข้างต้นระบุเรื่องความคิดสร้างสรรค์ว่า “ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เป็นหญิง หรือชาย เป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ หรือมีสัญชาติใด “หากใครคิดว่าตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์ ผลคือเขามักจะเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์”
ภาษาฝรั่งเขาว่า “I think therefore I am”
“เราคิด เราเชื่อ เราถึงเป็น เราถึงทำได้” ประมาณว่าเช่นนั้น
ดังนั้น อุปสรรคสำคัญที่ทำให้เราคิดเปรี้ยวไม่เป็น คือมุมมองและกรอบความคิดของตัวเอง ที่จำกัดตัวเราเอง
ความคิดสร้างสรรค์จึงสร้างได้ หากอยากสร้าง หากกล้าสร้าง
จากการศึกษาเรื่อง Innovation ขององค์กรที่โดดเด่นด้านนี้ อาทิเช่น Toyota, Virgin, P & G, หรือ Google วิธีการสำคัญที่ถือเป็นพื้นฐานของการส่งเสริมให้ทีมงานคิดเปรี้ยวเป็น คือการกระตุ้นให้เขาทำตนเป็นมนุษย์ขี้สงสัย กระหายใคร่รู้
มนุษย์ขี้สงสัย กระหายใคร่รู้ มักช่างสังเกต ช่างเก็บและซึมซับข้อมูลที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม
มนุษย์ขี้สงสัย กระหายใคร่รู้ มักช่างถาม ช่างฟัง จึงได้ข้อมูลที่คนส่วนมากไม่ได้ เพราะเข้าใจว่ารู้แล้ว จึงไม่ถาม
มนุษย์ขี้สงสัย กระหายใคร่รู้ ที่มีมุมมองแบบ “เด็ก” ยิ่งได้เปรียบ
มุมมองแบบ “เด็ก” คือมุมที่ไม่มีอคติ ไม่มีข้อแม้ หรือความคาดหวังใดๆ มุมมองจึงใสๆ
ต่างจากมุมมองของ “ผู้ใหญ่” ที่มองอะไรจากมุมที่เริ่มหมองๆ เพราะประสบการณ์อันยาวนานของผู้ใหญ่เกาะพอกแก้วตาจนหนาหนัก แถมมักถูกเคลือบด้วยอคติ
เมื่อไม่สงสัย ไม่กระหายใคร่รู้ คิดว่ารู้แล้ว จึงไม่ดู ไม่หา ไม่ถาม ไม่ฟัง จึงไม่มีข้อมูลใหม่ๆ ให้ขบคิด สิ่งใหม่ๆ จึงไม่เกิด
องค์กรที่ต้องการสร้างวัฒนธรรมของการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อนำมาซึ่งสินค้า การให้บริการ หรือวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ จึงเริ่มต้นง่ายๆ โดยไปสังเกตพฤติกรรมของลูกค้า หรือหมั่นใส่ใจพฤติกรรมของลูกน้อง
ที่สำคัญคือต้องมอง ต้องสังเกตด้วยใจใสๆ ด้วยใจเปิดกว้าง ไม่ติดยึดกับกรอบ ตลอดจนอคติใดๆ มุมมองใหม่ที่อาจได้ประโยชน์จึงจะมีโอกาสผุดโผล่ เริ่มโชว์ตัวให้เห็น
บางองค์กรจึงใช้เด็กจริงๆ มาช่วยมอง ช่วยออกความเห็น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคที่เป็นเด็กโดยตรง เช่น ของเล่น หรือ ขนมขบเคี้ยว
บางองค์กรเน้นการสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าอย่างจริงจังและต่อเนื่องโดยการถ่ายวิดีโอ
บริษัทขายน้ำอัดลมเจ้าหนึ่ง ตัดสินใจใช้วิธีนี้ในการหาหนทางใหม่ๆ ในการเพิ่มยอดขายในสถานีรถไฟฟ้า เมื่อดูวิดีโออย่างถี่ถ้วน เขาเริ่มสังเกตเห็นพฤติกรรมหนึ่งของลูกค้าซึ่งหลงหูหลงตาในอดีต คือการที่เมื่อรถไฟใกล้มา ผู้ที่ยืนรอรถจะเหลือบชำเลืองหันไปที่ตู้ขายน้ำอัดลม มองนาฬิกาข้อมือ และมองดูว่ารถไฟใกล้ถึงหรือยัง ผู้ขายแปลพฤติกรรมนี้ว่าผู้โดยสารอยากซื้อน้ำ แต่กังวลว่าจะขึ้นรถไม่ทัน บริษัทนี้จึงทดลองติดนาฬิกาเรือนใหญ่ให้เห็นเวลาที่รถไฟจะเข้าชัดเจนที่ตู้ขายน้ำ ปรากฏว่ายอดขายพุ่งเพิ่มขึ้นอย่างที่คาดคิดจริงๆ
นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องมหัศจรรย์พันลึก ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องผลิตภัณฑ์ค่าพันล้าน
นวัตกรรมอาจเป็นเรื่องหาและเห็นหนทางใหม่ๆ ใกล้ตัว ที่จะแก้ปัญหาที่ไม่มีใครเคยมองเห็น เพราะขี้สงสัยไม่เป็น
มาเป็นมนุษย์ขี้สงสัยกันไหมคะ
เรื่อง : พอใจ พุกกะคุปต์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *