ภาษีที่ดิน”ดาบสองคม”

ภาษีที่ดิน”ดาบสองคม”

ระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษทางโมเดิร์นไนน์ทีวี เมื่อคืนวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง ส่วนหนึ่งเป็นคนที่มีปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ รัฐบาลจึงต้องเดินหน้าแก้ไข ซึ่งการออกพระราชบัญญัติจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคือเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลได้ผลักดันเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน

นายอภิสิทธิ์ เชื่อว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติหลักการ จะแก้ไขปัญหาความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน ทำให้เกิดการพัฒนาที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยเกษตรกรและคนที่มีที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

ต้องยอมรับว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นเรื่องที่นักการเมืองทุกยุคทุกสมัย หยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบายในการหาเสียง แต่การแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การอัดฉีดเม็ดเงิน มากกว่าการนำเครื่องมือทางภาษีอากรมาทำให้เกิดการกระจายการถือครองทรัพยากรอย่างเป็นธรรม

ยิ่งไปกว่านั้นในบางรัฐบาลยังเน้นไปที่นโยบายประชานิยม จนทำให้ประชาชนบางส่วนคาดหวังความช่วยเหลือจากรัฐบาลมากกว่าการสร้างความเข้มแข็งด้วยตัวเอง

แม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขความยากจนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 20.98% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2543 เหลือ 8.48% ของประชากรทั้งประเทศ หรือ 5.4 ล้านคน ในปี 2550

แต่เมื่อดูจากการถือครองทรัพย์สินของกลุ่มคนที่จนที่สุดในประเทศ 80% กลับพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ถือครองทรัพย์สินไม่ถึง 20% ของทรัพย์สินในประเทศทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มคนที่รวยสุด 20% แรกกลับถือครองทรัพย์สินมากถึง 80% ของทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมด ที่สำคัญเกือบ 3 ใน 4 ของครัวเรือนยากจนหรือ 73.8% ไม่มีบ้านและที่ดินเป็นของตนเอง และ 84.9% ไม่มีทรัพย์สินสำหรับใช้ประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ชัดเจน

ขณะที่การนำเครื่องมือทางภาษีมาใช้ เพื่อลดการถือครองที่ดิน ด้วยการจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ในอัตราสูงกว่าปกติ เพื่อลดการถือครองที่ดินของกลุ่มคนรวย ก็เปรียบเสมือนดาบสองคม
โดยเฉพาะข้อกังวลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีในลักษณะนี้ จะกระทบต่อ “คนจน” ที่ได้ที่ดินมาโดยมรดก แต่ไม่มีความสามารถในการพัฒนาด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นตัวเร่งให้คนจน ที่ทนแบกรับภาระภาษีไม่ไหวนำที่ดินที่มีอยู่ขายให้บุคคลอื่นเพื่อทำประโยชน์ในที่ดินผืนนั้นแทน

แน่นอนว่าคนรวยคือคนกลุ่มแรกๆ ที่จะเข้ามาซื้อที่ดินเหล่านี้ ต่อจากคนจน เพราะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทางการเงินสูง อีกทั้งยังสามารถนำที่ดินที่ได้มาพัฒนาให้เกิดการใช้ประโยชน์ให้ถึง 3 ใน 4 ของที่ดินที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีในอัตราสูงได้ไม่ยาก

หากรัฐบาลไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน สุดท้ายที่ดินในมือคนจนก็จะกระจายไปอยู่ในมือคนรวย จนกลายเป็นกฎหมายที่สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม มากกว่าสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม

หวังว่าก่อนที่รัฐบาลจะผลักดันกฎหมายให้ที่ประชุมสภาพิจารณา ควรมีการกำหนดมาตรการป้องกันนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินจากคนจน ที่ทนแบกรับภาระภาษีไม่ไหว จนต้องจำใจปล่อยให้ที่ดินหลุดมือ

ที่มา : www.bangkokbiznews.com

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *