ผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงกีฬา 1

ผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงกีฬา 1

นายใหญ่แห่งเอ็นเอฟแอล โรเจอร์ กูเดลล์,สุดยอดตัวแทน สก็อตต์ โบราส,บิ๊ก เท็น บิ๊ก เจมส์ เดลานีย์,แอล.ที. คนดีของวงการอเมริกันฟุตบอล,อาร์ทูโร โมเรโนแห่งเดอะแองเจิ้ลส์,ไฮดี้ อูเบอร์รอธแห่งเอ็นบีเอ,13 โฉมหน้าผู้เปลี่ยนเกม,การกลับมาและความบาดหมาง

ผู้เล่นผู้ทรงอิทธิพล
ขอนำเสนอ บิสสิเนสวีค พาวเวอร์ 100 ครั้งแรกกับการจัดอันดับรายชื่อผู้ทรงอิทธิพลในโลกกีฬา
โดย ทอม โลว์รี และปีเตอร์ คีทติง
การทำโฮลอินวันในรายการกอล์ฟมาสเตอร์สยังง่ายเสียกว่า การชี้ว่าใครคือผู้ทรงอิทธิพลในวงการกีฬา จะใช่ อเล็กซ์ โรดริเกซผู้หวดลูกโฮมรันครั้งแล้วครั้งเล่า หรือจะเป็นประธานคณะกรรมาธิการตัดสินของเอ็นเอฟแอล ผู้ดูแลระเบียบวินัยของเหล่านักกีฬาและโค้ชอย่าง โรเจอร์ กูเดลล์ บางทีอาจเป็น เคที เบย์น หัวหน้าด้านการตลาดของโค้กซึ่งทุ่มเงินนับหลายร้อยล้านเหรียญกับธุรกิจนี้ หรือจะเป็น เดวิด สเติร์น ประธานคณะกรรมาธิการตัดสินของเอ็นบีเอ ผู้วางแผนจะทำให้บาสเก็ตบอลกลายเป็นกีฬายอดฮิตระดับโลกแทนฟุตบอล แน่นอนว่าทุกคนที่กล่าวมาล้วนเป็นผู้ทรงอิทธิพลทั้งสิ้น แต่เรายอมรับว่าทุกคนสามารถใช้เวลาหลายต่อหลายชั่วโมงรับฟังรายการกีฬาทางวิทยุที่พูดรัวเร็วบรรยายว่าใครบ้างที่มีหรือไม่มีอิทธิพล แต่เมื่อเรามองไมเคิล วิกค์เป็นตัวอย่างล่าสุด เขาเป็นควอเตอร์แบ็คดาวเด่นที่ต้องถูกแบนเพราะจัดการแข่งขันกัดสุนัข ก็ทำให้เรารู้ว่าอำนาจในวงการนี้มีระยะเวลาสั้นจริงๆ

บทความที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้เป็นการพิจารณาว่า ผู้ทรงอิทธิพลเหล่านั้นสร้างความโดดเด่นให้ตนเองในโลกกีฬาได้อย่างไร และเพื่อให้มั่นใจว่าบทความนี้เป็นผลงานจากผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริง เราจึงรวมความรู้จากผู้รู้ลึกทางธุรกิจของเราเข้ากับความรู้ระดับสารานุกรมของนักเขียนและบรรณาธิการของหนังสือ อีเอสพีเอ็น เดอะ แมกกาซีน บทความบางเรื่องในข้อเขียนนี้รวมทั้งความเรียงเรื่องที่ท่านกำลังอ่านจึงเป็นผลงานความร่วมมือระหว่างนักเขียนของ อีเอสพีเอ็น และ บิสสิเนสวีค
บิสสิเนสวีค ยังได้จัดอันดับบุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการกีฬา 100 อันดับด้วย (อีเอสพีเอ็น เดอะ แมกกาซีน ซึ่งเป็นแบรนด์หนังสือกีฬาที่แข็งแกร่งเลือกที่จะไม่ร่วมการจัดอันดับด้วย) ในการที่จะตัดสินว่าใครจะได้อยู่ในอันดับและอยู่ในตำแหน่งใดบ้างนั้นทาง บิสสิเนสวีค ได้ตั้งคณะกรรมการจำนวน 20 คนจากวงการกีฬาและวงการสื่อขึ้นมา โดยเราได้ให้หลักเกณฑ์กับคณะกรรมการตัดสินของเราหลายข้อด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการประเมินค่าส่วนตัวบุคคลหรือเทียบกับคนอื่นๆ ในวงการ เขาควบคุมเงิน ทำเงิน และมีอิทธิพลกับเงินมากแค่ไหน อิทธิพลที่พวกเขามีต่อกีฬาประเภทนั้นๆ จะอยู่ยืนยาวแค่ไหนหรือยิ่งใหญ่ในโลกแห่งกีฬาเพียงใด สำหรับความช่วยเหลือที่มากไปกว่านั้น บิสสิเนสวีค หันมาพึ่งผู้อ่านของเรา ช่วง 4 สัปดาห์นี้จึงมีแฟนกีฬา 160,000 คนเข้ามาเสนอชื่อตัวแทนผู้ทรงอิทธิพลในดวงใจของพวกเขาในเว็บไซต์ บิสสิเนสวีคดอทคอม กันอย่างล้นหลาม
อย่างไรก็ดี ไม่มีการจัดอันดับใดที่สมบูรณ์แบบ เราหวังและอยากสนับสนุนให้ผู้อ่านทุกท่านเสนอความคิดเพื่อถกเถียงเมื่อเห็นรายชื่อผู้ทรงอิทธิพลทั้ง 100 คนของ บิสสิเนสวีค เรายังได้เขียนถึงคู่แข่งที่ไม่เป็นที่รู้จัก 12 คนแต่มีอิทธิพลเช่นกัน
สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากการทำโครงการนี้ คือ ผู้มีอิทธิพลในวงการกีฬาในปัจจุบันไม่มีอะไรเหมือนอย่างคนที่มีชื่อเสียงในอดีต เกือบตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมาอิทธิพลในวงการนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในมือเจ้าของผู้ชายซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในวงการอื่นอย่าง บุสช์ เฮสส์ หรือริกลีย์ เนื่องจากเจ้าของเหล่านี้สร้างรายได้มหาศาลจากธุรกิจอื่น ทีมกีฬาต่างๆ จึงเป็นเพียงถ้วยรางวัลประดับเกียรติยศของคนร่ำรวยเท่านั้น แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กีฬามิได้เป็นเพียงธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นธุรกิจที่มีความเป็นมืออาชีพสูงมากด้วย หากเดินเข้าไปในที่ทำการทีมหรือสโมสรต่างๆ ในปัจจุบัน คุณอาจได้เข้าไปทัวร์คอกทำงานที่เรียงรายมากมายเช่นเดียวกับในองค์กรอื่นๆ และหากได้เข้าไปนั่งร่วมประชุมผู้บริหารของทีมกีฬา คุณก็จะได้ยินทุกคนพูดเรื่องการประเมินมูลค่าของกิจการ (ราคาของทีมจะเป็นเท่าไร หากถูกเทคโอเวอร์) ลิขสิทธิ์การค้า การจัดหาทุนด้วยการกู้ยืม มูลค่าแบรนด์ของแต่ละบุคคล และการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนจากสิทธิ์ในการให้ชื่อสนามกีฬา
ในโลกแห่งกีฬาแบบใหม่ผู้จบการศึกษาเอ็มบีเอก็เหมือนกับนักกีฬาที่ได้ตำแหน่งผู้เล่นทรงคุณค่า ทีมลีกต่างๆ และโดยเฉพาะคณะกรรมาธิการมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทั้งสามเป็นผู้ควบคุมเงินสนับสนุนมูลค่ามากและสิทธิ์อันมีค่าในการถ่ายทอดภาพและข้อมูลดิจิตอล เนื่องจากพยายามตีตลาดลูกค้าระดับนานาชาติ การใช้สถิติในการหามูลค่าของนักเบสบอลคนหนึ่งซึ่งเสร็จสมบูรณ์โดยบิลลี บีน ผู้จัดการทั่วไปของทีมโอ๊คแลนด์ เอในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 และเขียนไว้ในหนังสือขายดีที่สุดเรื่อง มันนี่บอล ได้ถูกนำมาปรับใช้กับทุกด้านของการกีฬาในปัจจุบัน โดยคาดกันว่ามูลค่าของแฟรนไชส์ของเอ็นเอฟแอลโดยเฉลี่ยน่าจะสูงถึง 1 พันล้านเหรียญในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จากเมื่อ 10 ปีก่อนที่เคยมีมูลค่า 250 ล้านเหรียญ เมื่อมีหลายคนต้องการซื้อหนทางเข้ามาสู่วงการกีฬามากขึ้นเรื่อยๆ แต่จำนวนทีมกีฬายังมีอยู่อย่างจำกัดจากลีกอาชีพของกีฬาฮอกกี้ เบสบอล ฟุตบอล และบาสเก็ตบอล รวมๆ แล้วมี 122 ทีม ส่งผลให้หุ้นที่เกี่ยวกับกีฬาจึงมีมูลค่าสูงขึ้น “เนื่องจากมันเป็นธุรกิจที่ใหญ่มากในปัจจุบัน พวกเขาจึงต้องบริหารงานด้วยความเชี่ยวชาญและช่ำชองมากขึ้น” แรนเดล แคมป์เบลล์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารโซซิเอเต้ เชเนราล ผู้ให้กู้ยืมเงินทุนสำหรับธุรกิจกีฬารายใหญ่กล่าว “อุตสาหกรรมการเงินและการบริการทางธุรกิจแบบใหม่ทั้งหมดเกิดขึ้นเพื่อให้บริการวงการกีฬาแล้วในปัจจุบัน”
สิ่งที่ผลักดันการเติบโตอย่างมากของมูลค่าในวงการนี้ คือ การซื้อขายสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ เว็บไซต์ หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือด้วยราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือเหตุผลที่ผู้บริหารบริษัทสื่อซึ่งช่วยให้ทุนแก่ทีมและลีกต่างๆ โดดเด่นอยู่ในการจัดอันดับผู้ทรงอิทธิพล 100 อันดับ กีฬาเป็นรูปแบบความบันเทิงที่นำเสนอผ่านโทรทัศน์แบบสุดท้ายที่ส่วนใหญ่ยังดูผ่านทิโวไม่ได้ แต่สามารถดึงดูดผู้ชมจำนวนมากได้ และนั่นคือสาเหตุว่าทำไม ดิค อีเบอร์ซอล (อันดับที่ 7 ในการจัดอันดับของเรา) ประธานบริษัท เอ็นบีซี ยูนิเวอร์ซัล สปอร์ตส์ แอนด์ โอลิมปิกส์ จึงเป็นผู้บริหารที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคนหนึ่งในบริษัทแม่เจเนอรัล อิเล็กทริก โค
เมื่อบริษัทต่างๆ หยั่งรากลึกอยู่ในวงการกีฬา มีบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่ควบคุมอำนาจไว้มากเช่นกัน นั่นคือนักการตลาดขององค์กร เมื่อเกือบ 50 ปีก่อนทนายความจากคลีฟแลนด์ชื่อ มาร์ค แมคคอร์ แมคเป็นผู้ช่วยสร้างอุตสาหกรรมการตลาดสำหรับกีฬา เมื่อเขาเริ่มเป็นตัวแทนของเพื่อนสนิทนักกอล์ฟของเขา อาร์โนลด์ พาล์มเมอร์ (อันดับ 76) ในทางกลับกันการทำเช่นนั้นทำให้เกิดบริษัทยักษ์ใหญ่ความสามารถสูงในการทำการตลาดและโปรโมชั่นอย่างไอเอ็มจีขึ้น ซึ่งปัจจุบัน เท็ด ฟอร์สท์แมนน์ (อันดับ 26) เป็นเจ้าของอยู่ และเจ้าของทีมดัลลัส คาวบอยส์อย่างเจอร์รี โจนส์ (อันดับ 53) อาจเป็นผู้เปลี่ยนเกมในวงการนี้เองในปี 1995 เมื่อเขาท้าทายอำนาจของเอ็นเอฟแอล และขายสิทธิ์ในการเป็นผู้อุปถัมภ์เท็กซัส สเตเดี่ยมให้บริษัทอย่างไนกี้และเป๊ปซี่ โค ปัจจุบันบริษัทต่างๆ จึงควักกระเป๋ากันเป็นพันๆ ล้านเหรียญเพื่อให้แบรนด์ของตนปรากฏบนทุกสิ่ง ตั้งแต่สนามกีฬาจนถึงบนลูกโบวลิ่ง ในแต่ละปี โทนี่ พอนทูโร (อันดับ 20) หัวหน้านักการตลาดการกีฬาของอันเฮาเซอร์-บุช คอมพานีส์ จึงต้องตัดสินใจว่าจะใช้เงินกว่า 300 ล้านเหรียญต่อไป ไปกับอะไรบ้าง
แน่นอนว่าคงไม่มีใครจ่ายเงินก้อนโตเพื่อซื้อตั๋วดูการแข่งขันหรือเพื่อดูเคเบิ้ลที่ได้ภาพเหมือนถ่ายจากที่นั่งพิเศษบนอัฒจันทร์ หากไม่ใช่เพราะนักกีฬาดังๆ ที่ไม่ต้องพูดชื่อเต็มอย่างไทเกอร์ (อันดับ 2) เพย์ตัน (อันดับ 13) เลบรอน (อันดับ 19) เอ-ร็อด (อันดับ 28) และโคบี้ (อันดับ 88) พวกเขาเหล่านี้ต่างหากที่เป็นสิ่งดึงดูดผู้ชม ภาพลักษณ์ของแบรนด์บุคคลในวงการกีฬาไม่เคยมีความสำคัญเท่านี้มาก่อน เงินเดือนทำให้นักกีฬาร่ำรวย (ตัวอย่างเช่น เงินเดือนเฉลี่ยสำหรับนักเบสบอลในเมเจอร์ ลีกอยู่ที่เกือบ 3 ล้านเหรียญ) และการเซ็นสัญญาเป็นพรีเซ็นเตอร์มูลค่ามหาศาลต่างๆ ก็ยิ่งทำให้นักกีฬากลายเป็นคนร่ำรวย “ไม่มีอะไรทรงอำนาจได้เท่านักกีฬาดาวเด่นอีกแล้ว” โฮเวิร์ด นูโชว์ ประธานบริษัทตัวแทน ซีเอเอ สปอร์ตส์กล่าว “นักกีฬาเหล่านี้มีอิทธิพลมากกว่าที่เคยเป็น บางคนช่วยยกระดับลีกได้เลยทีเดียว” เมื่อ 35 ปีก่อน ริชชี่ เฮบเนอร์ ผู้เล่นในตำแหน่งเบส 3 ของทีมพิทส์เบิร์ก ไพเรทส์ต้องกลับบ้านในนิวอิงแลนด์ช่วงฤดูหนาวเพื่อหาเงินพิเศษเล็กน้อยจากการเป็นสัปเหร่อ แต่ทุกวันนี้สิ่งแรกที่นักกีฬาทำในระหว่างพักการแข่งขันในแต่ละฤดูกาลคือการให้ตัวแทนพาพวกเขาไปออกรายการ คริบส์ ของช่องเอ็มทีวีเพื่ออวดบ้านและกองทัพรถยนต์ของตน

การจัดการความร่ำรวยทั้งหมดที่กล่าวมา และจำนวนเศรษฐีหน้าใหม่ที่เกิดขึ้นจากวงการกีฬาสมัยใหม่เป็นสิ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ กลายเป็นกิจการแบบใส่สูทนั่งโต๊ะอย่างสมบูรณ์ การวัดความสำเร็จจึงอยู่ที่ผลตอบแทน 2 ประเภท คือ ผลตอบแทนต่อส่วนทุนและผลตอบแทนต่อบุคคล
คณะกรรมการจัดอันดับผู้ทรงอิทธิพล 100 อันดับในวงการกีฬามีรายชื่อดังต่อไปนี้ เชน แบททีเออร์ นักบาสเก็ตบอลตำแหน่งฟอร์เวิร์ดในเอ็นบีเอ อแมนดา เบียร์ด นักว่ายน้ำโอลิมปิก บิล คาวเฮอร์ อดีตโค้ชเอ็นเอฟแอล คาร์ล เอ็ดเวิร์ดส นักแข่งรถนาสคาร์ แบรด แฟกซอน นักกอล์ฟพีจีเอ ซัล กาลาทิโอโต ประธานบริษัท กาลาทิโอโต สปอร์ตส์ พาร์ทเนอร์ส มาร์ก แกนิส ประธานสปอร์ตส์คอร์ป มาร์ทิน่า ฮินกิส ดาราเทนนิส ริค ฮอร์โรว์ ซีอีโอบริษัท ฮอร์โรว์ สปอร์ตส์ แวนเจอร์ส มาร์ก ครีเจล นักเขียนและคอลัมนิสต์ ทอมมี่ ลาซอร์ดา นักเบสบอลผู้เป็นตำนาน ลิซ่า เลสลี นักบาสเก็ตบอลเซ็นเตอร์ในดับเบิลยูเอ็นบีเอ เดวิด มาร์ติน ประธานบริษ์ทอินเตอร์แบรนด์ เนียล พิลสัน ที่ปรึกษาและอดีตประธานบริษัท ซีบีเอส สปอร์ตส์ ไมเคิล แรพคอค ผู้ก่อตั้งบริษัท สปอร์ตส์ แวยู คอนซัลติง สก็อตต์ รอสเนอร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย วาร์ตัน สคูล มาร์ก สปิทซ์ นักว่ายน้ำในตำนาน เกรนน์ สเตาท์ นักเขียนและบรรณาธิการหนังสือชุด เดอะ เบสท์ อเมริกัน สปอร์ตส์ ไรติ้ง แพท ซัมมิทท์ หัวหน้าโค้ช มหาวิทยาลัยเทนเนสซี เลดี้ โวลันเทียร์ส พอล สแวนการ์ด กรรมการผู้จัดการ วอร์ซอว์ สปอร์ตส์ มาร์เก็ตติง เซ็นเตอร์…และแฟนกีฬา

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *