ผลิตแบบพอเพียงยังมีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่หรือไม่

ผลิตแบบพอเพียงยังมีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่หรือไม่

การผลิต เป็นกระบวนการหนึ่งในบรรดากิจกรรมเพื่อการดำรงชีพของมนุษย์ที่จะต้องดำเนินไปให้สอดคล้องธรรมชาติ มนุษย์จะต้องทำงาน จะต้องมีอาชีพ และจะต้องมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เพื่อจะได้ไม่ต้องอยู่อย่างฝืนธรรมชาติและเกิดเป็นความทุกข์ การพิจารณาเรื่องการผลิตนี้ มิใช่เป็นเพียงการเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ แต่เป็นการพิจารณาธรรมชาติทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์

ในทางเศรษฐศาสตร์ การผลิต หมายถึง การสร้างสรรค์สิ่งหนึ่งสิ่งใดออกมาหรือทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นคำนิยามที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงแห่งธรรมชาติ แท้ที่จริงแล้ว การผลิต หมายถึง การแปรสภาพสิ่งหนึ่งให้เป็นอีกสิ่งหนึ่ง จากวัตถุอย่างหนึ่งไปเป็นวัตถุอีกอย่างหนึ่ง จากแรงงานอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่ถูกแปรสภาพคือ ปัจจัยการผลิต เมื่อผ่านกระบวนการแปรสภาพแล้วเรียกว่า ผลผลิต ซึ่งเป็นได้ทั้ง สินค้าและบริการ การแปรสภาพนี้เป็นการทำให้เกิดสภาพใหม่โดยทำลายสภาพเก่า ดังนั้น ในกระบวนการผลิตมักจะมีการทำลายอยู่ด้วยเสมอ ผู้ที่เป็นเจ้าของกระบวนการผลิตจึงต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ ทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต และผลผลิตที่ได้จากกระบวนการผลิต

คำว่า “ประสิทธิภาพ” (Efficiency) เป็นการวัดในเชิงปริมาณโดยเทียบระหว่างผลผลิตและทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต ในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ประสิทธิภาพการผลิต เน้นที่การผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต โดยละเลยการให้ความสำคัญอย่างจริงจังว่าจะใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดหรือไม่ และของเสียที่เกิดขึ้นน้อยที่สุดหรือไม่ เพราะมีข้อสมมติฐานว่า ถ้าผลผลิตต่อทรัพยากรสูงสุด ก็มีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่าเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมิได้กังวลถึงของเสียที่จะเกิดตามมา ผลก็คือ อาจจะมิได้ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นจริงๆ กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ประสิทธิภาพการผลิตในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก คือการบริหารจัดการกระบวนการผลิตโดยเน้นที่ตัวตั้งของสมการประสิทธิภาพ อันได้แก่ ผลผลิต นั่นเอง

ขณะที่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีข้อพิจารณาว่า ประสิทธิภาพการผลิตควรเกิดจากความสามารถในการสร้างผลผลิตเมื่อเทียบกับทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต โดยคำนึงถึงการใช้ปัจจัยการผลิตที่น้อยที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเบียดเบียนกันให้น้อยที่สุด และหากในกระบวนการผลิตมีการใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นจริงๆ แล้วก็มีความหมายในตัวว่าอัตราส่วนของผลผลิตต่อทรัพยากรสูงสุดด้วย กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ประสิทธิภาพการผลิตในเศรษฐกิจพอเพียง คือการบริหารจัดการกระบวนการผลิตที่เน้นความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากร หรือตัวหารในสมการของประสิทธิภาพนั่นเอง

การจัดการประสิทธิภาพการผลิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ในเรื่องทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตนี้ สามารถนำมาใช้เป็นข้อพึงปฏิบัติในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดี เนื่องจากในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก การใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยมิได้คำนึงว่าทรัพยากรและพลังงานเหล่านี้มีอยู่อย่างจำกัด ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรและพลังงานเกินขีดความสามารถที่จะนำทรัพยากรเหล่านั้นมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ พร้อมๆ กันกับสร้างมลภาวะและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาของโลกปัจจุบันในหลายเรื่อง เช่น ภาวะโลกร้อน ภูมิอากาศแปรปรวนไม่เป็นไปตามฤดูกาล

นอกจากการวัดในเชิงปริมาณที่ได้เป็นประสิทธิภาพการผลิตแล้ว ยังมีการวัดในเชิงคุณภาพในลักษณะที่อาจจะเรียกได้เป็น “ประสิทธิผล” (Effectiveness) การผลิตอีกกรณีหนึ่ง โดยเทียบระหว่างผลผลิตและของเสียจากกระบวนการผลิต ประสิทธิผลเป็นการวัดที่แสดงถึงคุณภาพการผลิตว่า ผลผลิตที่ได้จากกระบวนการผลิตนั้น ได้ผลตรงกับที่ต้องการเพียงใด ในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ประสิทธิผลการผลิต เน้นที่การผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ตรงกับที่ต้องการให้มากที่สุด โดยละเลยการให้ความสำคัญอย่างจริงจังว่าจะมีของเสียเกิดขึ้นน้อยที่สุดหรือไม่ กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ประสิทธิผลการผลิตในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก คือการบริหารจัดการกระบวนการผลิตโดยเน้นที่ตัวตั้งของสมการประสิทธิผล อันได้แก่ ผลผลิต เช่นเดียวกับประสิทธิภาพการผลิต

ขณะที่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีข้อพิจารณาว่า คำว่า “ผลผลิต” หมายถึงเฉพาะผลผลิตที่ใช้การได้ คือ ผลิตออกมาแล้วสามารถนำไปบริโภคได้หรือจำหน่ายได้ ส่วนผลผลิตที่ออกมาจากกระบวนการผลิต แม้จะไม่ใช่ของเสียจากการผลิต แต่เมื่อไม่สามารถใช้งานได้หรือจำหน่ายได้ ถูกทิ้งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเองตามธรรมชาติโดยไม่มีประโยชน์ใดๆ ก็ถือว่าเป็นของเสียจากการผลิตเช่นกัน ทั้งนี้ การผลิตคือการแปรสภาพให้เปลี่ยนไปจากเดิม ปัจจัยเหล่านั้นถูกเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ก็เท่ากับว่า ปัจจัยเหล่านั้นถูกทำลายให้กลายเป็นของเสีย ประสิทธิผลการผลิตจึงเกิดจากความสามารถในการสร้างผลผลิตที่ใช้การได้เมื่อเทียบกับของเสียจากการผลิต โดยเน้นให้เกิดของเสียจากกระบวนการผลิตให้น้อยที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเบียดเบียนกันให้น้อยที่สุด และหากในกระบวนการผลิตมีของเสียเกิดขึ้นน้อยที่สุดแล้วก็มีความหมายในตัวว่าอัตราส่วนของผลผลิตต่อของเสียสูงสุดด้วย กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ประสิทธิผลการผลิตในเศรษฐกิจพอเพียง คือการบริหารจัดการกระบวนการผลิตที่เน้นให้เกิดของเสียจากกระบวนการผลิตให้น้อยที่สุด หรือตัวหารในสมการของประสิทธิผลนั่นเอง

การจัดการประสิทธิผลการผลิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ในเรื่องของเสียที่เป็นผลผลิตเหลือทิ้งนี้ สามารถนำมาใช้เป็นหลักในการบริหารสินค้าคงคลังได้ดี เนื่องจากในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก การผลิตคราวละมากๆ โดยหวังผลของการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) ในอุตสาหกรรมต่างๆ นำมาซึ่งปัญหาของการจัดเก็บรักษา การขนส่ง และการจำหน่ายสู่ตลาด เช่น การเก็บรักษาผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ หรือเก็บรักษาไว้นานจนหมดสภาพ หรือแปรสภาพเป็นพิษต่อร่างกายและธรรมชาติ เมื่อนำมาบริโภคแล้วเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้เสียสุขภาวะของมนุษย์ ทำให้เสียคุณภาพของระบบนิเวศ เกิดการเบียดเบียนทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น การผลิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จึงเน้นที่ความพอดีต่อการบริโภคและการจำหน่าย ไม่ผลิตมากเกินไปจนกลายเป็นผลผลิตเหลือทิ้ง หรือทำให้เกิดของเสียจากกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

ความพอประมาณในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงมิได้หมายความว่า ให้มีประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลในกระบวนการผลิตที่อยู่ในระดับพอประมาณ ที่อาจนำไปสู่ข้อสรุปผิดๆ ว่า ธุรกิจหรือหน่วยการผลิตอื่นใดที่มีประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลสูง จำต้องลดศักยภาพหรือออมความสามารถในการผลิตให้อยู่ในระดับพอประมาณ ตรงกันข้าม ความพอประมาณในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยังคงมุ่งหมายให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด แต่ต้องทำให้เกิดการเบียดเบียนกันให้น้อยที่สุด ด้วยการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการตัวหารในสมการของประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั่นเอง

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *