ธุรกิจโลจิสติกส์ และการกระจายสินค้าในยุโรปผ่านเบลเยียม

ธุรกิจโลจิสติกส์ และการกระจายสินค้าในยุโรปผ่านเบลเยียม

 

ธุรกิจโลจิสติกส์ (logistics) และการกระจายสินค้า (distribution) มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นพร้อมๆ กับกระแสดำเนินธุรกิจแบบ supply chain และการ outsource การผลิตสู่ภูมิภาคที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า

ภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนและอินเดีย เป็นที่หมายตาของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ในการเข้าไปตั้งฐานการผลิต เพราะเป็นตลาดใหม่และใหญ่จนพลาดไม่ได้ ประเทศในเอเชียรวมทั้งไทยต่างเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การคมนาคม การขนส่งสินค้า และระบบโลจิสติกส์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนต่างชาติ และรองรับกระแสพลวัตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคให้ทัน

เบลเยียมในฐานะศูนย์กลางโลจิสติกส์และการกระจายสินค้าในยุโรป

ธุรกิจโลจิสติกส์และการกระจายสินค้าในยุโรปมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง รายงาน European Distribution Report ของบริษัท Cushman & Wakefield ปี 2006 ชี้ว่า ตลาดการกระจายสินค้าของยุโรปเจริญเติบโตอย่างมากในช่วงปี 2004-2006 โดยตลาดการกระจายสินค้าและโลจิสติกส์ในยุโรปตะวันตกมีอัตราการเจริญเติบโตที่เริ่มคงตัว หลังการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของตลาดครั้งใหญ่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ตลาดยุโรปตะวันออก ยังขยายตัวได้อีกมากในอนาคต ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม เป็นตลาดโลจิสติกส์ที่มีขนาดใหญ่ในยุโรปตะวันตก และ ประเทศในยุโรปตะวันออกที่โลจิสติกส์มีความสำคัญมากขึ้น ได้แก่ เช็ก ฮังการี และโปแลนด์

เบลเยียม โดยเฉพาะภูมิภาคฟลานเดอร์ส (Flanders) อยู่ตอนเหนือของเบลเยียมประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์และการเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้า (distribution centre) จนกล่าวได้ว่า

เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และการขนถ่ายสินค้าที่ใหญ่ มีความชำนาญ และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่ง ในภูมิภาคยุโรป เป็นจุดเชื่อมโยงการขนถ่ายสินค้าสู่เมืองหลักต่างๆ ในภูมิภาคได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นดับลิน ลอนดอน อัมสเตอร์ดัม ปารีส ซูริก เบอร์ลิน ปราก เวียนนา โรม มาดริด หรือลิสบอน ดังนั้น เบลเยียมถูกจัดให้อยู่ในอันดับต้นๆ ในฐานะ European Distribution Centre (EDC) ถึง 6 ปีติดต่อกัน

นอกจากบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่หลายบริษัทเลือกภูมิภาคฟลานเดอร์ส เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ของตนสำหรับภูมิภาคยุโรป อาทิเช่น Toyota Volvo Bridgestone Hewlett&Packard แล้วยังมีบริษัทที่ให้บริการการบริหารจัดการด้านระบบโลจิสติกส์แบบบุคคลที่สาม หรือที่เรียกว่า Third-Party Logistics Supplier (3PL’s) ตั้งอยู่อีกกว่า 400 บริษัท

ตามสถิติของ Flanders Institute for Logistics ประเทศเบลเยียม บริษัทที่ประกอบการเกี่ยวกับโลจิสติกส์ที่ตั้งอยู่ในเบลเยียม มีกำไรรวมกันทั้งสิ้นจำนวน 6,600 ล้านยูโรต่อปี จ้างงานกว่า 25,000 คน โดยคิดเป็นสาขาเคมีภัณฑ์ร้อยละ 20 สาขายานยนต์ร้อยละ 16 สาขาอาหารร้อยละ 13 สาขาอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และโทรคมนาคมร้อยละ 12 นับว่าส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเบลเยียมอย่างมาก

ความท้าทาย โอกาส และบทเรียนสำหรับไทย : สิ่งที่ไทยควรตระหนักในขณะที่กำลังเร่งพัฒนาระบบ

โลจิสติกส์และการกระจายสินค้าของไทยอย่างจริงจัง คือ กระแสการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มการพัฒนาของธุรกิจดังกล่าว ที่กำลังขยายตัวอย่างมากในยุโรปตะวันออก โดยยุโรปตะวันออกมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตสำหรับธุรกิจยุโรปได้อย่างดี เป็นคู่แข่งกับประเทศเอเชีย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการขยายสมาชิกภาพสหภาพยุโรปไปสู่ยุโรปตะวันออกอีก 12 ประเทศในปี 2005 และ 2007 จึงทำให้กฎระเบียบในการเข้ามาลงทุนต่างๆ ง่ายขึ้น และค่าใช้จ่ายก็ลดลง ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจยุโรป หันไปสนใจการสร้างฐานการผลิต  และเข้าไปลงทุนในยุโรปตะวันออกมากขึ้น แม้ยุโรปตะวันออกจะยังไม่สามารถแข่งขันด้านราคาต้นทุน กับเอเชียได้ แต่ตลาดยุโรปตะวันออก มีข้อได้เปรียบเอเชียในด้านภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับยุโรปอื่นๆ จึงมีแนวโน้มว่าธุรกิจยุโรปจะหันมาสนใจการลงทุนแบบ “nearshoring” มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการกระจายสินค้าในยุโรปตะวันออก มิได้หมายถึงความท้าทายสำหรับไทยเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงโอกาสตลาดที่เปิดกว้างขึ้นสำหรับการส่งสินค้าไทย ที่มีศักยภาพเข้าไปยังตลาดยุโรปตะวันออก โดยอาจพิจารณาใช้ประเทศใหญ่ในยุโรปตะวันออกเป็นศูนย์กลาง distribution centre อาทิเช่น เช็ก ฮังการี โปแลนด์ ฯลฯ เพื่อขยายตลาดสู่ประเทศยุโรปตะวันออกประเทศอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ สิ่งที่ไทยใช้ประโยชน์จากประสบการณ์และความสำเร็จของเบลเยียมในการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า และระบบโลจิสติกส์ในยุโรปเพิ่มเติมคือ มีการส่งเสริมของภาครัฐอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้มั่นคง การวางแผนระบบคมนาคมขนส่งที่สะดวกไม่ใช่เพียงแต่ในประเทศ แต่เชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา/วิจัย โดย The Flanders Institute for Logistics ของเบลเยียม นับเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการนำองค์ความรู้จากภาคการวิจัยมาส่งเสริมความก้าวหน้าของภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมได้จนประสบความสำเร็จ นอกจากนั้น เบลเยียมยังมีระบบการศึกษาที่มุ่งการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ตนมีความแข็งแกร่ง

ท้ายที่สุด จะเห็นได้ว่าความร่วมมือในระดับภูมิภาคของยุโรป หรือในระดับสหภาพยุโรป นับเป็นพื้นฐานสำหรับความสำเร็จของธุรกิจโลจิสติกส์และการกระจายสินค้าในยุโรป สหภาพยุโรปมีงบประมาณสำหรับการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประเทศสมาชิกให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ทำให้ระบบการคมนาคมขนส่งในยุโรปทันสมัย และเชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ (รถยนต์ รถไฟ เรือ)

หากประเทศอาเซียนร่วมกับประเทศเอเชียตะวันออกอีก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ (ASEAN+3) สามารถสร้างความร่วมมือและบูรณาการในระดับภูมิภาคให้แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ และระบบการคมนาคมขนส่ง น่าจะเป็นประโยชน์โดยรวมสำหรับทุกประเทศในภูมิภาค และเป็นการสร้างพลวัตทางเศรษฐกิจ การค้า และความมั่นคงของภูมิภาคเอเชียได้อย่างดี

ความร่วมมือ 3 ฝ่าย

ธุรกิจโลจิสติกส์ (logistics) และการกระจายสินค้า (distribution) มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นพร้อมๆ กับกระแสดำเนินธุรกิจแบบ supply chain management ขอนำเสนอตัวอย่างความร่วมมือแบบสามฝ่าย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และความแข็งแกร่งของธุรกิจโลจิสติกส์ในเบลเยียม ผ่านการจัดตั้งสถาบันวิจัยด้านโลจิสติกส์สำหรับภูมิภาคฟลานเดอร์ส เรียกว่า The Flanders Institute for Logistics

The Flanders Institute for Logistics หรือ VIL เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหลัก 3 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ (รัฐบาลระดับภูมิภาคของฟลานเดอร์ส) ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา/วิจัย จัดตั้งเป็นสถาบันวิจัยด้านโลจิสติกส์ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและสร้างสรรค์องค์ความรู้/การวิจัยเพื่อส่งเสริมศักยภาพ และร่วมแก้ไขปัญหาแก่ธุรกิจโลจิสติกส์ในภูมิภาคฟลานเดอร์สของเบลเยียม

ทีมงานไทยยุโรป.เน็ต ได้มีโอกาสได้พบและสัมภาษณ์ ดร. Francis Rome ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาธุรกิจของสถาบัน VIL ซึ่ง ดร.Rome เล่าเกี่ยวกับ VIL ว่า ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2003 เป็นสถาบันวิจัยด้านโลจิสติกส์เพื่อแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์ และเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคฟลานเดอร์ส ได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน จากรัฐบาลระดับภูมิภาคฟลานเดอร์ส เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมศักยภาพ อำนวยความสะดวก ผลักดันจุดแข็ง แก้ไขปัญหาในการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริมการลงทุนด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคฟลานเดอร์ส ของเบลเยียม

เนื่องจากรัฐบาลภูมิภาคฟลานเดอร์ส มีนโยบายส่งเสริมศักยภาพของฟลานเดอร์สให้เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ และการกระจายสินค้าสำหรับภูมิภาคยุโรป แต่ที่ผ่านมา โครงการและการลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ยังถือว่าไม่มากพอ โดย ดร.Rome เน้นว่า หัวใจสำคัญของ VIL คือการผนึกกำลังความร่วมมือของหน่วยงาน 3 ฝ่ายหลัก ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา โดยมีสถาบันวิจัยดังกล่าวเป็นตัวกลาง/ผู้ประสานงาน

ดร.Rome ชี้ว่า องค์ความรู้ หรือ knowledge เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น สถาบัน VIL จึงมีความร่วมมือและมีเครือข่ายที่ใกล้ชิดกับนักธุรกิจและบริษัทที่ให้บริการด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคฟลานเดอร์ส เพื่อรับทราบปัญหาและนำปัญหาธุรกิจดังกล่าวมาวิเคราะห์ วิจัย และเสนอลู่ทางแก้ไข (business solution) พร้อมทั้งนำเสนอโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านโลจิสติกส์ เพื่อให้ภาคธุรกิจนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจต่อไป ที่สำคัญ การค้นคว้าวิจัยเหล่านั้น ยังถูกจัดทำเป็นรายงานผลการศึกษา เปิดโอกาสให้แก่สาธารณชน และภาคธุรกิจอื่นๆ ได้ใช้ประโยชน์

ทั้งนี้ ดร.Rome เน้นว่าการจัดทำรายงานการศึกษา ต้องเริ่มจากความต้องการและความสนใจของภาคเอกชนเป็นหลัก และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น Flanders Investment and Trade (FIT) และสถาบันวิจัย VIL จะประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาและหาช่องทาง และโอกาสใหม่ทางธุรกิจแก่นักธุรกิจ

นอกจากนั้น สถาบัน VIL ยังพร้อมให้คำแนะนำแก่นักธุรกิจต่างชาติ รวมทั้งไทยที่สนใจใช้เบลเยียมเป็นจุดกระจายสินค้า หรือ hub ด้านโลจิสติกส์สำหรับการเข้าสู่ตลาดยุโรป และยังมุ่งสร้างพันธมิตรและความร่วมมือระหว่างประเทศ กับสถาบันวิจัยด้านโลจิสติกส์ของประเทศต่างๆ ที่ผ่านมาได้มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด กับสิงคโปร์ อินเดีย สเปน ฝรั่งเศส สหรัฐ สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ และเยอรมนี เป็นต้น

สถาบัน VIL หรือ Flanders Institute for Logistics นับเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือที่เหนียวแน่นระหว่างองค์กร 3 ภาคฝ่ายที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและธุรกิจของประเทศนั้นๆ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา กล่าวคือ เป็นการผนึกกำลังเพื่อดึงเอาองค์ความรู้จากภาคการศึกษาวิจัย มาช่วยส่งเสริมความก้าวหน้า และแก้ไขปัญหาในการดำเนินธุรกิจของภาคธุรกิจอย่างเต็มที่

ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐ ซึ่งผลประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 3 ฝ่ายนั้นส่งเสริม และสอดคล้องกันอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม จนเบลเยียมกลายเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ และการกระจายสินค้า และเป็นประตูสู่ตลาดยุโรป

สำหรับนักธุรกิจไทย ดร.Rome กล่าวว่า สถาบัน VIL พร้อมจะให้คำแนะนำแก่บริษัทไทยที่สนใจเกี่ยวกับการใช้เบลเยียม เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า และมั่นใจว่าเบลเยียมพร้อมไปด้วยความชำนาญ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย สำหรับการจัดเก็บสินค้าประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ และสินค้าอาหารของไทยที่จะนำเข้าสู่ตลาดยุโรป

 

 

ที่มา ทีมงานไทยยุโรป.เน็ต  กรุงเทพธุรกิจ  วันอังคารที่ 02 ตุลาคม พ.ศ. 2550

 

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *