ธุรกิจครอบครัว

ธุรกิจครอบครัว
เรื่อง : พันธ์ศักดิ์ ลีลาวรรณกุลศิริ

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ความเป็นมาในธุรกิจครอบครัวว่าด้วยเรื่องวงจรชีวิตธุรกิจในระยะต่างๆ วงจรนี้สามารถอธิบายพัฒนาการของธุรกิจครอบครัวได้เกือบทุกประเภทที่มีทั้งจุดสูงสุด จุดต่ำสุด ตลอดจนการสืบทอดจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งเป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เราสามารถแบ่งวงจรธุรกิจครอบครัวออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1
ระยะที่ 1 คือ ระยะเริ่มต้นก่อร่างสร้างธุรกิจ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีต้นทุนมากกว่ารายได้ และอาจจะมองไม่เห็นกำไร พ่อจะทุ่มเททั้งกายและใจ เพื่อพยายามให้ธุรกิจไปรอด โดยมีแม่คอยเป็นผู้สนับสนุนและดูแลลูกที่ยังเล็ก ความมุ่งมั่นของพ่อซึ่งเป็นผู้ริเริ่มธุรกิจคือหัวใจสำคัญ เมื่อเริ่มธุรกิจทุกคนมักจะเป็นนักลุยมากกว่านักคิด และเชื่อตัวเองมากกว่าเชื่อคนอื่น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะพ่อจะต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นแบบวันต่อวัน คิดว่าทำอย่างไรถึงจะไปรอด เพราะฉะนั้น เป้าหมายหรือความคาดหวังจึงเป็นความสำเร็จในระยะสั้น
ระยะที่ 2
ถ้าสามารถนำพาธุรกิจฝ่าฟันจนผ่านระยะที่ 1 มาได้ธุรกิจก็จะไปโลด ความสำเร็จจะทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนพ่อผู้เป็นเจ้าของธุรกิจปรับตัวไม่ทัน สิ่งที่เขาคิดว่าถูกหรือเหมาะสมและได้ทำไปในระยะที่ 1 กลายเป็นสิ่งที่เอามาใช้กับระยะที่ 2 ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะเป็นช่วงเวลาที่เขาต้องเริ่มหาคนเข้ามาช่วย ซึ่งทำให้โครงสร้างของธุรกิจเริ่มซับซ้อนขึ้น แต่รุ่นลูกก็ยังไม่โตพอที่จะเข้ามาแบ่งเบาภาระ ระยะนี้จึงเป็นระยะที่พ่อต้องให้คนนอกเข้ามาช่วยบริหาร ซึ่งคนนอกที่เข้ามานี้ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะเมื่อรุ่นลูกโตก็พอที่จะเข้ามาช่วยดูแลธุรกิจ เด็กพวกนี้ไม่จำเป็นต้องไต่เต้าขึ้นมาทีละขั้นเนื่องจากเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขและได้ตำแหน่งสำคัญๆ โดยไม่ต้องออกแรงอะไร ซึ่งอาจทำให้คนนอกผู้ทุ่มเททำงานน้อยเนื้อต่ำใจได้ ทางที่ดีผู้นำควรจะมองการไกลและวางแผนให้คนนอกได้มีโอกาสเติบโตด้วยเช่นกัน มิฉะนั้นท่านอาจจะเสียคนดีๆไปก็ได้
ทางออกที่ดีสำหรับลูกหลานและสำหรับพนักงานบริษัท เมื่อลูกหลานเติบโตพอที่จะเริ่มงานได้ ไม่ควรจับพวกเขาเข้ามาทำธุรกิจในครอบครัวเลยทันที แต่ควรให้พวกเขาไปหาประสบการณ์จากข้างนอกเสียก่อน ผมคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในเมืองไทยที่เริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัวมากมายที่ใช้วิธีการนี้ เพื่อพวกเขาพอจะมีประสบการณ์ในการทำงานก่อนค่อยจับเข้ามาทำงานโดยให้คนนอกของคุณเป็นพี่เลี้ยงหรือให้เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง จนกว่าจะเห็นว่าปล่อยได้ แต่อย่าลืมดูแลคนนอกนะครับ
ระยะที่ 3
ธุรกิจเติบโตและอยู่ตัว ผู้นำของเราก็อายุมากขึ้นทุกที ถึงเวลาที่รุ่นที่ 2 จะเข้ามาดูแลบางหน้าที่หรือบางตำแหน่งในบริษัท ส่วนในตอนนี้ผู้บริหารคนนอกก็เติบโตในหน้าที่การงานและมีตำแหน่งสูงขึ้นเป็นลำดับ และถึงเวลาที่ผู้นำควรจะปล่อยวางบ้างแล้ว หัวใจสำคัญของการบริหารงานในระยะที่ 3 นี้อยู่ที่การขยายธุรกิจหรือการนำเอากลยุทธ์เข้ามาสนับสนุนธุรกิจเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัท อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาของการวางตัวผู้สืบทอดธุรกิจ ซึ่งเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง ผู้นำและทีมจะต้องร่วมกันคิดและทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจเป็นหลัก มิฉะนั้น อาจส่งผลในทางลบกับความเจริญก้าวหน้าที่อุตส่าห์สั่งสมมาก็เป็นได้ ผมคิดว่าการรักษาสมดุลน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับช่วงเวลานี้ และวิธีรักษาสมดุลที่ดีที่สุดก็คือ การสื่อสารกับคนในครอบครัวอย่างชัดเจนและโปร่งใส การตัดสินใจอะไรก็ต้องดูเสียงส่วนใหญ่และความเหมาะสม และขอย้ำว่าให้ดูผลประโยชน์ของธุรกิจเป็นสำคัญ นากจากนี้ การสื่อสารกับผู้บริหารที่เป็นคนนอกก็เช่นนั้น ต้องให้เขารู้ว่าเราจะทำอะไร เพราะเหตุใด จะมีผลกระทบต่อเขาบ้างไหม และเราวางแผนอะไรไว้ให้เขาบ้าง เพราะเขาเหล่านี้คือผู้ที่จะช่วยท่านประคับประคองธุรกิจต่อไปในระหว่างที่ท่านกำลังจะก้าวลงและลูกหลานของท่านกำลังตั้งไข่
ก่อนจะจบบทความนี้ ผมมีข้อคิดที่อยากให้ผุ้ที่ทำธุรกิจของครอบครัวทุกท่านนำเก็บไปคิด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เรารู้กันอยู่แล้ว แต่อาจจะหลงลืมไปบ้างก็เป็นได้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจะเกิดประโยชน์กับทุกท่านบ้างไม่มากก็น้อย
ข้อคิดสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจครอบครัวหรืออยู่ในธุรกิจประเภทนี้
• ธุรกิจครอบครัว คือ ธุรกิจประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ได้หมายความถึงการทำธุรกิจแบบไม่ใช่มืออาชีพ มีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่าธุรกิจครอบครัวก็เป็นมืออาชีพได้
• ยอมรับว่าความรู้สึกส่วนตัวหรือความสัมพันธ์ฉันคนในครอบครัวเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ในธุรกิจประเภทนี้ ดังนั้น หน้าที่ของคุณ คือ พยายามแยกธุรกิจและครอบครัวออกจากกันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พยายามหลีกเลี่ยงการใช้อารมและยุติความขัดแย้งอย่างมีเหตุผล
• ยอมรับในวงจรหรือวัฏจักรของครอบครัวและธุรกิจซึ่งย่อมมีทางขาขึ้นและขาลง ขอให้เตรียมพร้อมรับปัญหา และใช้ความสุขุมรอบคอบในยามที่ธุรกิจก้าวหน้า อย่างหลงไปกับความมั่งคั่งเพราะสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องจรังยั่งยืน
• แบ่งแยกเรื่องส่วนตัวของครอบครัวและธุรกิจออกจากกันให้ชัดเจน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากและท้าทายที่สุดสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจครอบครัว แต่ถ้าคุณสามารถขีดเส้นให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเห็นได้ชัด และเปิดเวทีให้ทุกคนได้โต้แย้งหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นกิจลักษณะ อย่างเช่น ความขัดแย้งระหว่างคนในครอบครัวซึ่งจะมีผลต่อกิจการของบริษัทควรจะจับเข่าคุยกันในครอบครัว ส่วนความขัดแย้งในเชิงธุรกิจก็ควรจัดการคุยกันที่บริษัทโดยเชิญคณะกรรมการบริษัทมาคุยกันอย่างเป็นการเป็นงาน เป็นต้น
• ยอมรับความช่วยเหลือหรือความคิดเห็นจากโลกภายนอกเพื่อไม่เป็นการปิดหู ปิดตาตนเองจนเกินไป บ่อยครั้งที่ธุรกิจครอบครัวซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจของพี่ๆ น้องๆ อาจจะมองข้ามหรือหลงลืมประเด็นสำคัญๆ ทางธุรกิจไปได้ การรับฟังความคิดเห็นจากคนภายนอกอย่างเช่น ผู้ตรวจสอบบัญชี เจ้าหน้าที่ของธนาคารที่เราใช้บริการอยู่ ที่ปรึกษา หรือเพื่อนฝูงในแวดวงธุรกิจเดียวกันกับเรา ก็อาจมีส่วนช่วยให้ธุรกิจองเราดำเนินไปได้อย่างถูกทิศถูกทางยิ่งขึ้น การคิดนอกกรอบเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญกับการทำธุรกิจครอบครัว
• ให้ความเคารพและชื่นชมในความจงรักภักดีของพนักงานหรือผู้บริหารที่ไม่ใช่คนในครอบครัว อย่างลืมให้ความสนใจและใส่ใจตลอดจนส่งเสริมพนักงานหรือผู้บริหารที่ไม่ใช่ ‘คนใน’ อย่าลืมว่าธุรกิจของคุณเติบโตมาได้จนถึงปัจจุบันนี้ก็เพราะคนเหล่านี้มีส่วนช่วย และควรทำให้เขารู้สึกว่าเขาก็คือคนในครอบครัวของคุณด้วยเช่นกัน
• ทำอะไรก็ให้คิดถึงธุรกิจเป็นสำคัญ ถ้าธุรกิจครอบครัวของคุณอยู่ได้คุณก็อยู่ได้ ทุกคนในครอบครัวต่างมีกินมีใช้ก็ด้วยรายได้จากบริษัท ความมั่นคง ความก้าวหน้า และอนาคตของคุณก็ขึ้นอยู่กับความมั่นคง ความก้าวหน้าและอนาคตของธุรกิจ เพราะฉะนั้น ก่อนจะทำอะไรลงไปขอให้คิดหน้าคิดหลังให้ถี่ถ้วน
• ในฐานะผู้ที่กำลังจะสืบทอดกิจการของครอบครัว โปรดระลึกไว้เสมอว่า เราต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ถ้าผู้นำครอบครัวทำกิจการจนรุ่งโรจน์และมีชื่อเสียง คุณก็ควรรักษาชื่อเสียงนั้นให้คงอยู่ต่อไป และทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก นอกจากนี้ตามธรรมเนียมไทย คุณก็ต้องให้เกียรติและเคารพในความคิดความอ่านของผู้ใหญ่
• ในฐานะผู้ใหญ่ ปัจจุบันรุ่นลูกหรือรุ่นหลาน ส่วนใหญ่มักจะได้เรียนสูงๆ และมีไฟที่จะทำงาน ผิดพลาดไปบ้างผู้ใหญ่ก็ควรให้โอกาส ผมขอให้ต่างฝ่ายต่างค่อยทีค่อยอาศัยกัน อย่าให้ช่องว่างระหว่างวัยมาเป็นอุปสรรคขวางกั้น หน้าที่ของผู้ใหญ่ คือ ให้โอกาสและให้โอวาท
• ระลึกไว้เสมอว่า ถ้าสิ่งใดที่จะทำนั้นเป็นสิ่งที่ดีกับบริษัท สิ่งนั้นก็ดีกับครอบครัวด้วย เช่นกัน

ผมคงไม่ต้องปิดท้ายอะไรให้ยืดยาว เพราะข้อคิดข้างต้นได้ทำหน้าที่ของบทสรุปสำหรับการทำธุรกิจครอบครัวในตัวเอง แล้วพบกันใหม่นะครับ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *