ทำงานกับหัวหน้าแบบที่ไม่อยากเจอ

ทำงานกับหัวหน้าแบบที่ไม่อยากเจอ
Post Today – คนเรานั้นย่อมต้องการชีวิตที่ตนเองเป็นผู้กำหนดและเลือกได้ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้มีทุกอย่างที่เป็นไปตามที่คิด หรือแย่ไปกว่านั้นบางคนไม่สามารถเลือกอะไรได้เลย เช่น ในชีวิตการทำงาน เชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนปรารถนา คือฝ่ายเจ้านายก็อยากได้ “ลูกน้องที่ดี” ฝ่ายผู้ใต้บังคับบัญชาก็ย่อมอยากได้ “ลูกพี่ที่น่ารัก” …
มาว่ากันในบทบาทของลูกน้องกันก่อน เพราะว่าด้วยจำนวนประชากรวัยทำงานของทุกประเทศ จำนวนของผู้เป็นลูกน้องย่อมมากกว่าผู้เป็นนายอยู่แล้ว ดูอย่างข้อความส่งต่อทางอินเทอร์เน็ตถึงกฎการเป็นลูกน้องที่ดี ข้อความขำๆ แต่ก็สะท้อนอะไรลึกๆ ของผู้ที่คิดกฎนี้ขึ้นมา ซึ่งเป็นใครก็ไม่ทราบที่บอกว่า กฎของการเป็นลูกน้องที่ดี 1.เจ้านายทำถูกเสมอ 2.ถ้าเจ้านายทำผิด …. ให้ย้อนกลับไปดูข้อ 1 (ฮา)

อย่างไรก็ตาม ชาญวุฒิ เจียมลักษณไพศาล แห่งบริษัท เอพีเอ็มกรุ๊ป บริษัทให้บริการที่ปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและบุคลากร ได้แนะนำหลักการและควรนำไปใช้ ว่าไม่จำเป็นที่ผู้เป็นลูกน้องต้องยอมเจ้านายไปเสียทุกเรื่อง โดยเฉพาะเจ้านายในประเภทที่มีข้อบกพร่องในตัวเอง

“พนักงานไม่ควรปล่อยให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อจากความอ่อนแอของเจ้านาย และอย่ามีนิสัยเที่ยวโพนทะนาความผิดพลาดของเจ้านายตนเอง เพราะไม่ใช่ว่าเจ้านายทุกคนจะเป็นยอดมนุษย์สุดเพอร์เฟกต์ ทั้งฉลาดทั้งยุติธรรม มีระเบียบ และได้การยอมรับนับถือ มีเจ้านายมากมายที่จริงๆ แล้วมีเจตนาดีต่อลูกน้อง แต่ไม่ค่อยจะหัวแหลมสักเท่าไร บางคนก็อาจไม่ค่อยเป็นที่รักใคร่ของผู้อื่น และบางคนก็หายตัวไปเสมอในยามที่ลูกน้องต้องการความช่วยเหลือ”

ร่วมงานกับเจ้านายสุดซื่อ

เป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จเมื่อทำงานร่วมกับเจ้านายประเภทนี้ คือการผลักดันให้เขาทำงานในทิศทางที่ถูกต้อง โดยไม่ทำให้เขารู้สึกว่าลูกน้องเป็นฝ่ายชักจูงอยู่ มีหลักคือ

กล่าวชมเจ้านายเมื่อทำตามคำแนะนำ เช่น ถ้าเจ้านายบอกว่าจะใช้ “วิธี ก.” แต่บรรดาลูกน้องมองเห็นร่วมกันแล้วว่าต้อง “วิธี ข.” เมื่อโน้มน้าวเจ้านายให้เห็นตามได้ ควรใช้คำพูดในเชิง “เยี่ยมไปเลย” และห้ามพูดว่า “ดีนะที่คุณฟังฉัน!” เป็นอันขาด

ถ้าเจ้านายสั่งให้ทำสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นผลดีหรือไม่เกิดประโยชน์ ให้พูดทวนคำสั่งโดยเลือกคำพูดเสียใหม่ อย่างเช่น “หมายความว่าคุณต้องการให้ฉัน…” เพราะจะช่วยให้เจ้านายได้ทบทวนคำสั่งดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้เขาฉุกคิดได้ว่า “อืม พอคิดดูใหม่แล้ว ความคิดนี้คงไม่เข้าที”

ปรับข้อเสนอเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของคุณให้ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แทนที่จะโต้แย้งคำสั่งของเจ้านาย อาจพูดว่า “ฉันจะทำตามทุกอย่างที่คุณสั่งค่ะ แต่ว่าฉันมีประเด็นเล็กๆ อย่างหนึ่งค่ะ คือว่าบางทีเราน่าจะทบทวนเรื่อง…” (แน่นอนว่าที่จริงแล้วประเด็นเล็กๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ จริงๆ แต่ก็อย่าพูดอย่างนั้นออกไป)

ถ้าเจ้านายสั่งในสิ่งที่ไม่ควรสั่ง และกลยุทธ์การพูดทวนคำสั่งไม่ได้ผล ลองนำเสนอข้อมูลที่มีอิทธิพลมากพอถ้าเป็นไปได้ เพื่อหักล้างความเห็นของเขา

ปกป้องเจ้านายที่ชาวบ้านไม่ปลื้ม

ถ้าเจ้านายของคุณไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบของบุคคลอื่นๆ ทั่วไป แนวทางต่อไปนี้จะเป็นประโยชน์มากกว่าการที่จะมามัวบ่นหรือวิจารณ์เจ้านายของตนเอง

พิจารณาขอบเขตอำนาจและอิทธิพลของตัวคุณ ทำให้เพื่อนร่วมงานหันมาเป็นพันธมิตร ด้วยการแสดงจุดเด่นในการทำงานอย่างมืออาชีพ

เรียนรู้และฝึกฝนศิลปะแห่งการเป็นผู้นำ ไม่ว่าที่ทำงานไหนๆ ก็จะต้องมีผู้บริหารสักคนหรือ 2 คน ที่พนักงานทั้งหลายไม่รู้สึกปลื้ม และเพื่อนร่วมงานของคุณก็เข้าใจดีว่าคุณตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกและลำบากใจขนาดไหน แต่ท้ายที่สุดคนอื่นๆ ก็จะเข้าใจและเคารพชื่นชมในความแข็งแกร่งและความจงรักภักดีที่คุณมีต่อเจ้านายของตัวเอง

หากคิดว่าเจ้านายอาจทำให้ชื่อเสียงคุณเสียหายได้ ให้หาทางปกป้องตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเจ้านายโกหกหรือไร้คุณธรรม ยกตัวอย่างเช่น หากหัวหน้าโกหก ต้องหาทางขอโทษผู้อื่นอย่างมีชั้นเชิงโดยต้องระวังอย่ารับผิดชอบแทนเจ้านาย ช่วยเจ้านายด้วยการปรับบันทึกข้อความที่สุดจะตรงไปตรงมาของเขาให้ฟังดูนุ่มนวลขึ้น หรือให้คนอื่นอยู่ด้วยเมื่อเจ้านายทำการตัดสินใจ โดยอาจจะเรียกประชุม ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้คุณต้องมารับผิดชอบการตัดสินใจแทนเจ้านาย

ถ้าอยากทำงานให้เข้าขากับเจ้านายอย่างไม่มีสะดุด อย่าเสียเวลาไปกับการคิดหากลยุทธ์ผูกมิตรกับเจ้านาย แต่ควรทำให้เจ้านายรู้สึกว่าขาดคุณไม่ได้ เพื่อที่เขาจะได้ปรับตัวเข้าหาคุณแทน จำไว้ว่าเป้าหมาย คือการลอยตัวออกจากการกระทำของเจ้านาย ไม่ใช่ตีตัวออกห่างจากเจ้านาย

ทำงานแทนนายที่ไม่อยู่ออฟฟิศ

หากคิดว่าการที่เจ้านายไม่อยู่ออฟฟิศจะทำให้เรื่องง่ายขึ้น กรุณาคิดเสียใหม่ เนื่องจากหากไม่มีแผนการรองรับสำหรับสถานการณ์ที่เจ้านายไม่อยู่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด (เช่น กำลังติดประชุม หรือเดินทางไปติดต่อเรื่องงาน หรือไปไหนด้วยเรื่องส่วนตัว) คุณอาจจะตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรดี สิ่งที่ควรทำคือ

กำหนดระบบการสื่อสารที่แน่นอน เพื่อให้คุณและเจ้านายสามารถสื่อสารกันได้เสมอ แม้ว่าการทำเช่นนี้จะทำให้ต้องซื้อโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ ใหม่ เพื่อให้ติดต่อกันและกันได้อย่างทันท่วงที

จัดเตรียมตารางงานประจำสัปดาห์ให้เจ้านาย ทุกครั้งก่อนเลิกงานทุกวันศุกร์ เพื่อที่เจ้านายจะได้รู้ว่ากำหนดการของสัปดาห์หน้าเป็นอย่างไรบ้าง และอย่าลืมอัพเดตตารางอยู่เสมอ

หัดใช้อีเมลให้ชิน สรุปงานต่างๆ ในแต่ละวันให้เจ้านายทราบผ่านอีเมลในแต่ละวันก่อนเลิกงาน เพื่อที่จะได้รับคำตอบในเช้าวันรุ่งขึ้นว่าควรจัดการประเด็นต่างๆ อย่างไร

กำหนดลำดับขั้นการบังคับบัญชา (โดยผ่านความเห็นชอบของผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง) เพราะคุณคงไม่อยากถูกปล่อยให้ต้องออกหน้ารับผิดชอบเรื่องต่างๆ เองแน่ หากไม่สามารถทำอะไรได้ก่อนได้รับคำอนุมัติจากคนอื่น

ขัดเกลาทักษะทางการเมือง ที่ทำงานทุกแห่งล้วนแล้วแต่มีเรื่องการเมืองภายในเข้ามาเกี่ยวข้อง และหากเจ้านายไม่มีเครือข่ายของตนเอง เพราะว่าเขาไม่ได้อยู่ในที่ทำงาน คุณก็ต้องทำหน้าที่เป็นหูเป็นตา รวมทั้งเป็นกระบอกเสียงแทนเจ้านาย

ระบุขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจน หยิบยกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาหารือกับเจ้านายว่าเมื่อเขาไม่อยู่ คุณจะต้องทำหน้าที่ต่างๆ แทน และขออำนาจในการตัดสินใจอนุมัติเรื่องต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของคุณ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *