ทักษะภาษา… ปัจจัยสำคัญในการศึกษาต่อต่างประเทศ

ทักษะภาษา… ปัจจัยสำคัญในการศึกษาต่อต่างประเทศ

วันที่ : 10 มีนาคม 2551 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : การศึกษาวันนี้

ทักษะภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษนับเป็น ทักษะสำคัญเพราะเป็นสื่อกลางในการรับข้อมูลข่าวสาร การแสวงหาความรู้ การศึกษาต่อ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันพบว่าการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระบบการศึกษาไทยค่อนข้างมีปัญหา แม้จะมีความพยายามในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาแล้วก็ตาม โดยปัจจุบันผู้เรียนส่วนใหญ่ ยังมีทักษะภาษาอังกฤษไม่มาก ไม่สามารถใช้งานได้ เช่น พออ่านได้ แต่ไม่สามารถพูด ฟัง และเขียนได้

สภาพวิกฤตด้านการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศในระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เกิดจากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักเกิดจากขาดครูที่เชี่ยวชาญสอน การขาดสื่อการสอนที่น่าสนใจและทันสมัย รวมถึงการที่ผู้เรียนไม่ได้ใช้ทักษะภาษาอังกฤษเท่าที่ควร เรียนจบในชั้นเรียนก็พับใส่กระเป๋ากลับบ้าน สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ผู้เรียนจำนวนมากเรียนรู้ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับพื้นฐาน ซึ่งมีปัญหามากเมื่อต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่จำเป็นต้องใช้ทักษะภาษาอังกฤษระดับสูง และแม้ผู้เรียนสอบผ่านเกณฑ์มาตรฐานการวัดผลภาษาอังกฤษนานาชาติ (International English Language Testing System: IELTS) ตามที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศกำหนด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเรียนได้

ตัวอย่างการสำรวจและการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัญหาการขาดทักษะภาษาอังกฤษที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติ จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาในต่างประเทศ

นักศึกษาที่เข้าเรียนในโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน มีปัญหาความไม่พร้อมด้านภาษา จากการสำรวจนักศึกษาโครงการทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น นักศึกษาทุนใน “โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน” หรือ “ทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” (เปลี่ยนชื่อในรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์) เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า หากนักศึกษาไทยไม่มีความพร้อมทางภาษาจะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน จากผลสำรวจผลการเรียนนักเรียนทุนรุ่น 1 จำนวน 321 คน พบว่า นักเรียนทุนในประเทศแถบยุโรปมีปัญหาการเรียนมากกว่าในแถบเอเชีย อาทิ ประเทศออสเตรีย มีนักเรียนทุน 10 คน ประเทศสเปน 11 คน โดยพบว่าทั้ง 21 คน อยู่ในภาวะย่ำแย่ ประเทศฝรั่งเศสมีนักเรียนทุน 137 คน มีเพียง 16 คน ที่มีผลการเรียนดีเด่น ส่วนใหญ่ 91 คน อยู่ระดับปานกลาง อีก 20 ราย อยู่ในภาวะย่ำแย่ ขณะที่ในจีนและญี่ปุ่นพบปัญหาน้อยมาก ผศ.อัครา อัครนิธิ สถาบันภาษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์สาเหตุปัญหาการเรียนของนักเรียนทุนในแถบยุโรปไว้ว่า เนื่องจากความยากของภาษา สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรม ผู้คนอยู่แบบตัวใครตัวมัน อีกทั้งการเรียนในมหาวิทยาลัยต้องใช้ Textbook ซึ่งใช้ภาษายาก จึงลำบากสำหรับเด็กที่มีพื้นฐานภาษาไม่ดี

นักศึกษาต่างชาติที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียมีทักษะภาษาอังกฤษไม่พอ จากการศึกษาวิจัยในประเทศออสเตรเลีย เมื่อต้นปี 2007 ของ ดร.บอบ เบอร์เรลล์ (Dr.Bob Birrell) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยประชากรและเมือง (Centre for Population and Urban Research) มหาวิทยาลัยมอแนช (Monash University) ที่พบว่า นักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียมีทักษะภาษาอังกฤษไม่เพียงพอด้วย จากการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษของบัณฑิตต่างชาติ 12,000 คน พบว่า ส่วนใหญ่มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับไม่เชี่ยวชาญเพียงพอที่จะทำงานต่อในออสเตรเลียหลังจากเรียนจบ นักศึกษาไทยและเกาหลีมากกว่าร้อยละ 50 มีทักษะภาษาอังกฤษอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ นั่นหมายความว่า ก่อนเข้ามาศึกษาต่อ นักศึกษาไทยและเกาหลีมีทักษะภาษาอังกฤษในระดับไม่ดี แม้มีผลสอบ IELTS จะเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำ (5 คะแนน) ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด ดร.เบอร์เรลล์ เห็นว่า ควรเพิ่มคะแนนมาตรฐานขั้นต่ำผลสอบ IELTS ของนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาศึกษาในออสเตรเลีย จาก 5 คะแนน เป็น 6 คะแนน

นักศึกษาจีนจำนวนมากที่เรียนต่อในสหราชอาณาจักรไม่พร้อมด้านภาษา สหราชอาณาจักรเป็นประเทศหนึ่งที่นักศึกษาทั่วโลกนิยมเข้าไปศึกษาต่อ แต่พบว่านักศึกษาจำนวนมากมีปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษ แม้มีผลสอบ IELTS ตามมาตรฐานขั้นต่ำก็ไม่ได้หมายความว่านักศึกษาจะเรียนได้ดี ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นกับนักศึกษาจีนในสหราชอาณาจักร ศาสตราจารย์วิฟ เอ็ดเวิร์ด (Viv Edwards) ผู้อำนวยการศูนย์ National Centre for Language and Literacy มหาวิทยาลัยเรดดิ่ง (University of Reading) ได้ศึกษาปัญหาทักษะภาษาอังกฤษของนักศึกษาจีน โดยจัดประชุมระดมความคิดเห็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนนักศึกษาจีนระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโทขึ้นไป ซึ่งอาจารย์ส่วนใหญ่เห็นว่า แม้นักศึกษาจีนมีคะแนน IELTS ตามมาตรฐานขั้นต่ำ แต่ไม่มีความพร้อมเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงานวิชาการที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะนักศึกษาปริญญาโทขึ้นไป ศาสตราจารย์เอ็ดเวิร์ดได้สอบถามความคิดเห็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่เข้าตรวจวิทยานิพนธ์ พบว่า ทักษะเขียนภาษาอังกฤษของนักศึกษาจีนอ่อน แม้หัวข้อวิทยานิพนธ์น่าสนใจ แต่ไม่สามารถหาประเด็นหลักของเรื่อง และสื่อไม่ชัดว่าส่วนใดของวิทยานิพนธ์เป็นผลงานวิจัยผู้อื่น หรือเป็นผลวิจัยของนักศึกษาเอง เป็นต้น

ดังนั้น ผู้ที่ประสงค์จะไปเรียนต่อต่างประเทศ ควรมีระยะเวลาในการพัฒนาทักษะด้านภาษาที่เพียงพอ ไม่เพียงแค่กวดวิชาด้านภาษาเพียงแค่ให้ผ่านเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศกำหนด แต่ต้องพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ ให้ถึงระดับที่ตนเองมีความรู้และสามารถ ฟัง อ่าน เขียน และพูดได้ เพื่อไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียน และมีส่วนสนับสนุนการศึกษาและแสวงหาความรู้ได้อย่างเต็มที่ จนสำเร็จการศึกษา

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *