ตลาดการลงทุนเพื่อสังคม (Social Investment Market)

ตลาดการลงทุนเพื่อสังคม (Social Investment Market)
คอลัมน์ ส่องคลื่นโลกาภิวัตต์ โดย สฤณี อาชวานันทกุล www.fringer.org ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3953 (3153)
คอลัมน์นี้ตอนที่แล้วนำเสนอโมเดล “ธุรกิจเพื่อสังคม” ในฐานะทางเลือกใหม่ในวิธีการช่วยเหลือสังคมและ สิ่งแวดล้อมที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว เพราะเป็นโมเดลที่นำองค์ความรู้ จากโลกธุรกิจ เช่น เครื่องมือในการบริหารจัดการองค์กร และ ความเชี่ยวชาญด้านการเงิน มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบททางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุ เป้าหมายที่เคยเป็นภารกิจหลักของเอ็นจีโอซึ่ง ใช้รูปแบบองค์กรไม่แสวงหากำไรมาแต่เดิม
ก่อนที่ธุรกิจเพื่อสังคมจะขยับขยายทั้งใน แง่จำนวน ความหลากหลาย และคุณภาพ จนเราเรียกรวมๆ ว่า “วงการ” ได้ โลกก็ จำต้องมี “โครงสร้างเชิงสถาบัน” ที่แตกต่าง จากสถาบันกระแสหลัก เพื่อรองรับและสนับสนุน เหล่า “ผู้ประกอบการเพื่อสังคม” (social entrepreneurs) ที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม เพราะการที่ธุรกิจประเภทนี้ไม่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด และมักจะทำงานเพื่อ “ลูกค้า” ที่มี รายได้น้อย แปลว่าธุรกิจเพื่อสังคมส่วนใหญ่มีความเสี่ยงที่จะประสบความล้มเหลวมากกว่าธุรกิจกระแสหลัก และดังนั้นจึงต้องอาศัยโครงสร้าง เชิงสถาบัน เช่น กฎหมาย และตลาดการเงิน ที่มีความยืดหยุ่นและความ อ่อนโยนมากกว่า โครงสร้างเชิงสถาบันในตลาด กระแสหลัก
หนึ่งในโครงสร้างเชิงสถาบันที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ ทั่วโลก และกำลังเชื่อมเข้าหากัน ตามกระแสโลกาภิวัตน์ในภาคการเงินอย่างน่าตื่นเต้น คือสถาบันการเงินตัวกลางใหม่ๆ เครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ และนักลงทุนเพื่อสังคมใหม่ๆ ที่ประกอบกันเป็น “ตลาดการลงทุนเพื่อสังคม” (social investment market) ซึ่งหมายถึง ตลาดเงินและตลาดทุนที่ลงทุนในกิจการเพื่อสังคม ตั้งแต่เอ็นจีโอ (ไม่แสวงหากำไร) ไปจนถึงธุรกิจเพื่อสังคม (แสวงหากำไร แต่มีเป้าหมายทางสังคมเป็นจุดประสงค์หลัก) ตลาดการลงทุนเพื่อสังคมกำลังเติมเต็ม “ช่องว่าง” ที่ตลาดเงิน และตลาดทุนกระแสหลักไม่สนใจ ในทางที่น่าติดตามกว่าตลาดกระแสหลักหลายเท่า (สาเหตุหนึ่งที่ธุรกิจเพื่อสังคมหาเงินจากแหล่งทุนดั้งเดิมได้ยากมาก คือการที่นักลงทุนมักอยากลงทุนในธุรกิจเพื่อธุรกิจ ที่มุ่งเน้นกำไรสูงสุด ฝ่ายคนที่อยากให้เงินสนับสนุนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมก็มักจะให้เป็นเงินบริจาคหรือเงินให้เปล่า (grant) และจึงไม่ค่อยอยากให้นำเงินนั้นไปแสวงหากำไร ธุรกิจเพื่อสังคมซึ่งอยู่กึ่งกลางจึงหาทุนได้ยากมากในตลาดกระแสหลัก)
จิม ฟรุคเตอร์แมน (Jim Fruchterman) หนึ่งในนักธุรกิจเพื่อสังคมที่ผู้เขียนชื่นชอบ ได้สรุปสถานการณ์ และแนวโน้มของตลาดการลงทุน เพื่อสังคมไว้อย่างดีเยี่ยมในบทความชื่อ “Nothing Ventured, Nothing Gained : Addressing the Critical Gaps in Risk-Taking Capital for Social Enterprise” ซึ่งเขาเขียนร่วมกับ Jed Emerson and Tim Freundlich ตีพิมพ์โดย Skoll Centre ของมหาวิทยาลัย Oxford Business School ในเดือนเมษายน ปี 2550 ผู้เขียนจึง ขอแปลและเรียบเรียงบางตอนมาเล่าสู่กันฟังใน วันนี้ ก่อนที่จะพูดถึงโครงสร้างเชิงสถาบันอื่นๆ ที่สนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมในตอนต่อๆ ไป ท่านใด ที่สนใจบทความฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดได้จาก http://www.benetech.org/about/ downloads/NothingVenturedFINAL.pdf
นักลงทุนในหุ้นของธุรกิจเพื่อสังคม คือผู้มอบ “ทุนที่แบกรับความเสี่ยง” (risk capital) ให้กับกองทุน และกิจการที่สร้างประโยชน์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากมูลค่าและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ โดยทั่วไป “หุ้น” หมายถึงตราสารทุน เช่น หุ้นสามัญ และหุ้นบุริมสิทธิ ธุรกิจเพื่อสังคมที่แสวงหากำไรสามารถระดมทุนในรูปหุ้น จากนักลงทุนที่เห็นดีเห็นงามกับเป้าหมายของ กิจการที่จะสร้างคุณค่าทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ลักษณะเด่นของตราสารทุนได้แก่ รูปแบบ การลงทุนระยะยาว ความยืดหยุ่นในการใช้เงิน สิทธิในการเป็นเจ้าของหรือพันธมิตรขององค์กร การไม่ต้องมีหลักประกัน การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และการที่แหล่งใช้ทุนมาจาก การเติบโตขององค์กร
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกองค์กรที่ทำงาน ด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมจะสามารถระดมทุน ในรูปของตราสารทุนได้ เช่น เพราะติดสถานะ “ไม่แสวงหากำไร” ถ้าองค์กรมีโครงสร้างแบบมูลนิธิ ข้อจำกัดข้อนี้เป็นแรงผลักดันให้กระทรวงการค้า และอุตสาหกรรมของอังกฤษอนุมัตินิติบุคคลรูปแบบใหม่สำหรับกิจการเพื่อสังคม เรียกว่า “บริษัทเพื่อประโยชน์ชุมชน” (community interest company หรือ CIC) กฎหมายที่รองรับการจัดตั้งนิติบุคคลแบบนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ.2005 เป็นต้นมา CIC นับเป็นนิติบุคคลรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในอังกฤษเป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปี และเงื่อนไขพิเศษของ CIC ที่ผนวกโครงสร้างแบบบริษัทเอกชนเข้ากับเป้าหมายแบบเอ็นจีโอ ก็กำลังช่วยให้กิจการเพื่อสังคมจำนวนมาก ระดมทุนที่ต้องการได้ เช่น ด้วยการออกหุ้นบุริมสิทธิให้กับนักลงทุน เพื่อสังคม ปัจจุบัน รัฐบาลในหลายประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ กำลังศึกษาโมเดลลักษณะนี้เพื่อ ส่งเสริมการลงทุนเพื่อสังคมในประเทศของตน
ความท้าทายประการสำคัญที่ธุรกิจเพื่อสังคมต้องเผชิญเวลาระดมทุนในรูปหุ้น ได้แก่ :
– ผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหารองค์กรกลัวว่าจะ สูญเสียอำนาจการควบคุม (เพราะหุ้นหมายถึง สิทธิในการเป็น “เจ้าของ” องค์กร)
– ความเป็นไปได้ที่เป้าหมายขององค์กร จะแปรเปลี่ยนไปเป็นอื่น
– ผู้บริหารหรือคณะกรรมการองค์กรไม่คุ้นเคยกับหุ้น เนื่องจากเคยทำงานแต่ในภาคการกุศล มาก่อน
– ไม่ค่อยมีช่องทางขายหุ้นทำกำไร และมีสภาพคล่องต่ำ เนื่องจากให้ผลตอบแทนต่ำกว่า หุ้นของบริษัทกระแสหลัก
– นักลงทุนมองว่าได้รับผลตอบแทนไม่คุ้มค่าความเสี่ยง
– นักลงทุนขาดความเชี่ยวชาญด้านการ บริหารจัดการองค์กร ที่กิจการจำเป็นต้องใช้ นอกเหนือจากทุน เพื่อให้กิจการขยายขนาด (go to scale) ได้
ข้อจำกัดของหุ้นที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดคือ นักลงทุนหุ้นส่วนใหญ่ต้องการกำไร แต่พฤติกรรมของธุรกิจเพื่อสังคม ที่จำเป็นต่อการทำกำไรสูงสุดนั้น อาจลดทอนความสำคัญของเป้าหมายทางสังคมขององค์กร หรือไม่ก็ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายนั้นในแง่ลบ แม้กระทั่งในกรณีที่ผู้จัดการกองทุน (fund manager) ไม่พยายามแสวงหากำไรสูงสุด ที่ผ่านมากองทุนเหล่านั้นก็มักจะหา แต่ธุรกิจเพื่อสังคมที่สามารถสร้างมูลค่าทาง เศรษฐกิจสูงๆ ด้วยเหตุนี้ ตลาดจึงยังมีช่องว่างขนาดใหญ่สำหรับกิจการเพื่อสังคมที่สร้างผลงานแบบมีสมดุลระหว่าง “มูลค่าทางเศรษฐกิจ” และ “คุณค่าทางสังคม” หรือไม่ก็เน้นคุณค่า ทางสังคมมากกว่าผลกำไรทางเศรษฐกิจ
เป็นเรื่องน่ายินดีที่การลงทุนรูปหุ้นในองค์กรเพื่อสังคมกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศกำลังพัฒนาด้วย ยกตัวอย่างเช่น ShoreCap International ซึ่งเป็นบริษัทร่วมของ ShoreBank (บริษัทร่วมลงทุน (private equity company) แห่งหนึ่งในกรุงชิคาโก) มีเป้าหมายที่การ “ลงทุนในธนาคารเพื่อธุรกิจขนาดเล็ก และสถาบัน ไมโครเครดิต (“ธนาคารเพื่อคนจน” ที่ปล่อยกู้โดย ไม่ต้องมีหลักประกัน) ในประเทศกำลังพัฒนา” ในปี 2005 ShoreCap ประกาศว่าได้ลงทุนใน XacBank ในมองโกเลีย, Eskhata Bank ในทาจิกิสถาน และ BRAC Bank ในอัฟกานิสถาน เงินลงทุนของบริษัทนี้มีมูลค่ารวมกันกว่า 9.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในสถาบันการเงินทั้งหมดแปดแห่งในทวีปแอฟริกา เอเชีย และยุโรปตะวันออก จวบจนปัจจุบัน ShoreCap มีผลตอบแทนที่น่าทึ่ง ทั้งในด้านตัวเลขและด้านสังคม บริษัทมีอัตรา ส่วนกำไรต่อสินทรัพย์ (return on assets) เฉลี่ยร้อยละ 23 และอัตราส่วนผลกำไร ต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (return on equity) เฉลี่ยร้อยละ 18 สถาบัน การเงินแปดแห่งที่ ShoreCap เป็นผู้ถือหุ้นปล่อยกู้ให้กับผู้มีรายได้น้อยรวมกัน กว่า 207,000 ราย คิดเป็นเงินกู้ทั้งหมดกว่า 200 ล้านเหรียญ
นักลงทุนในกิจการเพื่อสังคมไม่จำเป็นต้องเป็นกองทุนหรือสถาบันการเงินตัวกลางเสมอไป แต่อาจเป็นปุถุชนคนธรรมดา ที่สนใจด้านนี้ ปกติแวดวงการเงินกระแสหลักเรียกนักลงทุนปัจเจก ที่ชอบลงทุนในกิจการที่เพิ่งก่อตั้งว่า “นักลงทุนนางฟ้า” (angel investors) ซึ่งนักลงทุนประเภทนี้มักเป็นพ่อแม่ ญาติ หรือเพื่อนๆ ของผู้ก่อตั้งบริษัท แต่นักลงทุนนางฟ้าในแวดวงธุรกิจเพื่อสังคม มีความหลากหลายไม่แพ้กัน และอาจมี ความมุ่งมั่นยิ่งกว่า ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มนักลงทุนประมาณ 100 คนที่เรียกตัวเองว่า “Investors” Circle” (http://www.investorscircle.net/) ศึกษากลั่นกรองกิจการเพื่อสังคมระหว่าง 350-700 โครงการในแต่ละปี และปกติพวกเขาจะตัดสินใจลงทุนในกิจการที่มีลักษณะธุรกิจเพื่อสังคม จากการศึกษาผลการดำเนินงานของ นักลงทุนกลุ่มนี้โดย McKinsey บริษัทที่ปรึกษา ยักษ์ใหญ่ของโลก ปรากฏว่าจากกิจการ 150 แห่งที่ Investors” Circle ลงทุนในรูปหุ้นตั้งแต่ ปี 1992 พวกเขาได้รับผลตอบแทนทางการเงินระหว่าง ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 18-น้อยกว่าผลตอบแทนที่นักลงทุนนางฟ้ากระแสหลักที่ลงทุน ในธุรกิจเพื่อธุรกิจได้รับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
โดยปกติ กองทุนร่วมลงทุนที่ตั้งใจลงทุน ในกิจการเพื่อสังคมตั้งแต่แรก (social venture capital fund) จะตั้งเป้าหมายผลตอบแทนทางการเงินที่ทัดเทียมกับผลตอบแทนในตลาดกระแสหลัก (ของธุรกิจเพื่อธุรกิจ) แต่จะมุ่ง ลงทุนในอุตสาหกรรมที่ทำประโยชน์ต่อสังคม โดยธรรมชาติของกิจการ เช่น พลังงานทดแทน เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และเทคโนโลยีข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา กองทุนลักษณะนี้จำนวนมากลงทุนในสถาบันไมโครเครดิต ที่ประสบความสำเร็จทั่วโลก เพราะสถาบันไมโครเครดิตทำประโยชน์ทางสังคมที่วัดได้ไม่ยาก (เช่น จำนวนลูกหนี้ที่โผล่พ้นเส้นความยากจนได้) คุ้นเคยกับกระบวนการบริหารจัดการเงินในฐานะสถาบันการเงิน ทำให้สามารถนำส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดีให้กับนักลงทุน
ปัจจุบัน เราเริ่มเห็นกองทุนใหม่ๆ ที่พยายามอุดช่องว่างในการระดมทุน สำหรับธุรกิจเพื่อ สังคมประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากไมโครเครดิต แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยผลตอบแทนทาง การเงิน ยกตัวอย่างเช่น กองทุน Aavishkaar (http://www.aavishkaar.org/) ในอินเดีย ตั้งเป้าผลตอบแทนจากการลงทุนที่ร้อยละ 32 จากกิจการเพื่อสังคม ที่มุ่งพัฒนาชนบทอินเดีย ในระดับโลก ภาคธุรกิจบางภาคที่มีแนวโน้ม การเติบโตดี เช่น ธุรกิจพลังงาน ก็มีกองทุนหุ้น จำนวนไม่น้อยที่ลงทุนระยะยาว เช่น International Finance Corporation (บริษัทลูกของธนาคารโลก) ก่อตั้งกองทุนชื่อ Photovoltaic Market Transformation Initiative ในปี 1998 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ที่อยู่ได้ในเชิงธุรกิจ ในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก
เราต้องเข้าใจว่าเม็ดเงินลงทุนของกองทุนเหล่านี้ยังคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับตลาดการลงทุนเพื่อสังคม เพราะเป้าหมายผล ตอบแทนทางการเงินของพวกเขาปกติจะอยู่เหนือเป้าหมายผลตอบแทนทางสังคม ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Foursome Investments Limited เป็นบริษัทจัดการลงทุนที่บริหารกองทุนร่วมลงทุน สองกอง เน้นการลงทุนในกิจการระยะเริ่มแรก และระยะเติบโต ถึงแม้ว่าบริษัทนี้จะมีนโยบายลงทุน ในธุรกิจที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้คน พวกเขาก็บอกว่าต้องปฏิเสธดีลจำนวน 10-20 โครงการ ต่อปี เพราะเป้าหมายทางสังคมจะทำให้กองทุน ได้รับผลตอบแทนทางการเงินต่ำกว่าที่ต้องการ นักลงทุนหุ้นรายอื่นๆ ก็มีจุดยืนคล้ายๆ กัน ซึ่ง ทำให้องค์กรจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงทุนที่พวกเขาต้องใช้ในการก่อตั้งและขยายขนาดของกิจการ
เป็นเรื่องน่ายินดีที่ปัจจุบันมีสถาบันการเงินจำนวนไม่น้อยที่พยายามระดมทุนให้กับกิจการ เพื่อสังคม เช่น Citylife เสนอขายตราสารหนี้ ไม่มีดอกเบี้ย (zero coupon bond) ให้กับ นักลงทุนที่ยอมไม่รับดอกเบี้ยระหว่างทาง เพื่อแลก กับการันตีว่าจะได้เงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยงวดเดียวหลังจากเวลาผ่านไปห้าปี Citylife นำเงินที่ได้จากการออกตราสารหนี้ดังกล่าว ไปลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคมและชุมชน นอกจากนี้ ในบางประเทศก็เริ่ม ใช้กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อสังคม เช่น อังกฤษประกาศใช้มาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อการลงทุนในชุมชน (community investment tax credit
หรือ CITR) ในปี 2003 โดยให้นักลงทุนที่ลงทุน ในธุรกิจเพื่อสังคมและธุรกิจเล็กๆ ในพื้นที่ด้อยโอกาส นำเงินลงทุนไปหักภาษีได้ร้อยละ 5 ต่อปี เป็นเวลาติดต่อกัน 5 ปี
นอกจากภาครัฐในหลายประเทศจะออก กฎเกณฑ์ใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อสังคม ภาคการเงินเองก็มีการออกแบบเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ นอกเหนือจากตราสารทุนและตราสารหนี้แบบดั้งเดิม ที่ตรงกับความต้องการของกิจการเพื่อสังคมมากขึ้น เช่น ในอเมริกามีการใช้ ตราสารหนี้ที่มีลักษณะใกล้เคียง กับตราสารทุน (เช่น มีระยะยาวมาก อนุญาตให้ยกยอดดอกเบี้ยไปจ่ายงวดหน้าถ้ากิจการมีเงินไม่พอจ่าย และมีสิทธิด้อยกว่าหนี้ประเภทอื่นๆ) จนอาจเรียกตราสารหนี้ประเภทนี้ว่า patient capital (“ทุนใจเย็น”) คล้ายกับหุ้นบุริมสิทธิ ในสหรัฐอเมริกา ธนาคารท้องถิ่นจำนวนมาก ปล่อยสินเชื่อที่เรียกว่า “equity equivalent investment (EQ2)” ซึ่งมีลักษณะคล้ายหุ้น ให้กับกิจการเพื่อสังคมที่ ไม่แสวงหากำไร ธนาคารสามารถนับ EQ2 เป็นส่วนหนึ่งในโควตาเงินกู้ ที่ต้องปล่อยให้กับธุรกิจท้องถิ่นในแต่ละปี ตามกฎหมาย community reinvestment act ของอเมริกา ซึ่งบังคับให้ธนาคารปล่อยกู้ให้กับทุกภาคส่วนในท้องถิ่นที่ตัวเองดำเนินธุรกิจอย่างทั่วถึง ไม่ใช่ปล่อยให้กับลูกค้าฐานะดีเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *