ชวนกิน ‘ปลา’ ต้านเบาหวาน

ชวนกิน “ปลา” ต้านเบาหวาน
• อาหาร
• เรื่องเด่น
พบอันตรายกว่าเอดส์ เสียชีวิตปีละกว่า 3.2 ล้านคน

“ไปไหนมา กินข้าว กินปลาแล้วหรือยัง ?”

คำทักทายแบบไทย ที่บ่งบอกได้เป็นอย่างดีถึงอาหารหลักของคนไทย อย่างปลาที่พูดกันอย่างติดปาก แต่เนื่องจากในภาวะปัจจุบันอาหารการกินเปลี่ยนไป มีวัตถุดิบให้เลือกกินมากขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการได้รับคาร์โบไฮเดรต และไขมันที่สูงเช่นกัน และหากผู้คนที่บริโภคสิ่งเหล่านี้ไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสิ่งที่ตามมาคือ โรคอ้วน หรือ อ้วนลงพุง ซึ่งเป็นที่มาของโรคเรื้อรังอย่างเบาหวานนั่นเอง

ล่าสุด จึงมีการรณรงค์ “กินปลาไร้พุงต้านโรคเบาหวาน” เนื่องจากในวันที่ 14 พ.ย.นี้ เป็น “วันเบาหวานโลก”

ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา คณะกรรมการกองทุน สสส. ให้ข้อมูลว่า องค์การอนามัยโลกได้มีการประเมินว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกอย่างน้อย 194 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 300 ล้านคน ในอีก 17 ปีข้างหน้า และจากการสำรวจในไทยที่ผ่านมาพบคนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานกว่า 3 ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการชี้ให้เห็นด้วยว่า โรคเบาหวานนั้นมีความอันตรายสูงกว่าโรคเอดส์ เพราะมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ถึงปีละกว่า 3.2 ล้านคน ส่วนเอดส์นั้นเสียชีวิตเพียง 3 ล้านคนต่อปี

“เบาหวานที่พบบ่อย คือ เบาหวานชนิดที่ 2 ที่จะเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ที่อ้วน หรือคนอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นคนที่ออกแรง หรือออกกำลังกายน้อยเกินไป อีกทั้งในปัจจุบันนี้ยังพบมากในเด็ก ซึ่งเป็นการกินอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง และวิธีหนึ่งที่จะสามารถลดปัญหาโรคอ้วนและโรคเบาหวาน คือการหันมาส่งเสริมการกินอาหารแบบไทยโดยการเน้นการบริโภคปลาให้มากขึ้น เพราะปลานั้นเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดีราคาถูก ที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานได้” พญ.ชนิกาอธิบาย

ด้าน ศ.นพ.สุรัตน์ โคมินทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนวิทยาคลินิกและโรคเบาหวาน โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจผู้ป่วย รพ.รามาฯ ในปี 2551 นี้พบมีปัญหาโรคอ้วน 100 ราย เป็นหญิง 79 ราย ชาย 21 ราย อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 44.5 ปี

ที่น่าสนใจคือ พบว่า คนอ้วนได้รับปริมาณพลังงานต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือ ต่ำกว่า 1,600 กิโลแคลลอรี่ ในเพศหญิงถึงร้อยละ 31.6 ต่ำกว่า 2,000 กิโลแคลลอรี่ ในเพศชายถึงร้อยละ 33.3 โดยคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่บริโภคอาหารที่มีโปรตีนน้อย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ป่วยที่อ้วนไม่ใช่เกิดจากการบริโภคอาหารเกินความจำเป็นแต่เป็นการบริโภคอาหารที่ไม่ได้สัดส่วน

“สิ่งที่จะส่งเสริมโปรตีนให้ได้รับอย่างดีที่สุด คือ การหันมาบริโภคปลาน้ำจืด อาทิ ปลาสวาย ปลาช่อน ปลานิล เพราะให้โปรตีนคุณภาพสูงกว่าเนื้อหมู และเนื้อวัว ซึ่งจะช่วยให้อิ่มเร็วขึ้น ทั้งยังช่วยให้ย่อยง่าย และปลายังเป็นแหล่งของโอเมกา-3 ที่จะช่วยลดการอักเสบภายในร่างกาย ช่วยลดการเกิดโรคหัวใจ ไขมันในหลอดเลือด ลดการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ ป้องกันอัลไซเมอร์ ทั้งยังเสริมสร้างพัฒนาเซลล์สมอง การมองเห็นแก่เด็กที่สามารถได้รับตั้งแต่อยู่ในครรภ์” ศ.นพ.สุรัตน์ แนะนำ

นพ.ฆนัท ครุธกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและโภชนวิทยาคลินิก โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลเสริมว่า ไม่ว่าจะเป็นปลาน้ำจืด หรือปลาน้ำเค็มก็มีคุณค่าไม่แตกต่างกันมาก แต่ที่เห็นได้ชัดคือ ปลาน้ำเค็มนั้นจะมีไอโอดีนสูง แต่ก็จะมีคอเลสเตอรอลสูงเช่นกัน อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารตกค้างในทะเลอย่าง สารปรอท สารตะกั่ว

สำหรับปลาน้ำจืดนั้น มีการเลี้ยงแบบธรรมชาติ ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นการเลี้ยงที่ไม่สะอาด แต่ปัจจุบันมีการจัดการในระบบการเพาะเลี้ยงที่ถูกต้องได้คุณภาพ อีกทั้งหลายๆ แหล่งเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดยังได้รับเครื่องหมาย Q ที่เป็นการรับรองการผลิต ที่มีความปลอดภัย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภค อีกทั้งปลาน้ำจืดยังมีโอเมกา-3 สูงเทียบเท่ากับปลาทะเลอีกด้วย

นพ.ฆนัท บอกอีกว่า หลายคนที่ชอบบริโภคไข่ปลาก็เป็นประโยชน์เช่นกัน แต่อยากเตือนไปถึงคนที่เป็นโรคหัวใจให้ระวังและควบคุมการบริโภคไข่ปลาเพราะ ในไข่ปลานั้นมีโอเมกา-3 สูง แต่ก็มีคอลเลสเตอรอลสูงเช่นกัน สำหรับการปรุงเมนูปลา ที่มีคุณประโยชน์ที่สุดอยู่ที่การต้ม หรือนึ่ง ที่จะทำให้ได้คุณค่าทางอาหารอย่างครบถ้วนที่สุด โดยให้หลีกเลี่ยงเมนูทอดให้มากที่สุด ทั้งนี้ควรมีการบริโภคอาหารที่มีเมนูปลาอย่างน้อย 2 มื้อ/สัปดาห์ แต่หากบริโภคได้ทุกวันก็จะดีที่สุด

ที่มา: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน

Update 30-10-08

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *