จิตสำนึกคุณภาพ

จิตสำนึกคุณภาพ (Quality Awareness) หมายถึง การที่ผู้ปฏิบัติงานมีการรับรู้ถึงผลกระทบที่ได้จากการปฏิบัติงาน หรือมีสติรู้ว่าขณะปฏิบัติงานนั้น ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพอยู่ตลอดเวลา เพื่อทำให้สินค้าหรือบริการที่ได้มีคุณภาพ หรือได้มาตรฐานตรงตามที่กำหนดเอาไว้ ประโยชน์ที่ได้จากการที่พนักงานมีจิตสำนึกคุณภาพ คือ ปริมาณของเสีย (Defect) การแก้ไขงาน (Rework) หรือ การหยุดรองาน (Delay) ลดน้อยลง ประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานหรือเครื่องจักรสูงขึ้น

องค์ประกอบที่สำคัญของจิตสำนึกคุณภาพ

1.องค์กร หรือหน่วยงาน (Organization)

ผู้บริหารระดับสูงต้องให้ความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ดังคำพูดที่ว่า “เมื่อหัวส่าย หางก็กระดิก” โดยควรจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพ เช่น การนำระบบบริหารคุณภาพ ISO เพื่อมาควบคุม บริหารจัดการกระบวนการ การบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กร หรือ TQM (Total Quality Management) เพื่อสร้างกิจกรรมคุณภาพให้กับพนักงานทุกคน กิจกรรมวันคุณภาพ หรือ Q Day (Quality Day) เพื่อส่งเสริมให้พนักงานปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง ตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารเข้ามาตรวจสอบในวันนั้นด้วย

นอกจากนี้ ควรจัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วม เช่น กิจกรรมกลุ่มคุณภาพ หรือ Quality Control Cycle การจัดบอร์ดเพื่อแสดงผลการปฏิบัติงาน ตัวอย่างชิ้นงานที่ดีหรือเสียเพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารให้กับพนักงานได้ทราบอีกทางหนึ่ง

2.หัวหน้างาน (Supervisor)

เป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างให้เกิดคุณภาพในองค์กร ด้วยเหตุที่ว่าเป็นผู้ที่คอยประสานงานระหว่างผู้บริหารระดับสูงกับพนักงานระดับล่าง โดยการวางแผนการดำเนินงาน และสื่อสารไปยังพนักงานผู้ปฏิบัติให้มีความรู้ ความเข้าใจในวัตถุประสงค์และความสำคัญของคุณภาพ รวมไปถึงแผนการดำเนินงานต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติ เพื่อทำให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องในทุกขั้นตอน โดยปราศจากความผิดพลาด

นอกจากนี้ หัวหน้างานควรประชุมเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารต่างๆ เช่น ปัญหาคุณภาพ และแนวทางการแก้ไข ป้องกัน การเปลี่ยนแปลงขั้นตอน หรือวิธีการปฏิบัติงาน เพื่อทำให้พนักงานได้ทราบข้อมูลที่ทันสมัย สุดท้ายหัวหน้างานควรติดตามการปฏิบัติงานของลูกน้องหรือสมาชิกในทีมอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้อย่างทันเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดของเสียหรือชิ้นงานไม่ได้มาตรฐานเกิดขึ้น

3.พนักงาน (Operator)

นับเป็นหัวใจหลักในการสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้น เพราะพนักงานคือผู้ที่หยิบ จับ หรือสัมผัสกับชิ้นงานโดยตรง ดังนั้น คุณภาพจะดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ที่พนักงานนี่เอง

พนักงานมีส่วนร่วมในการสร้างคุณภาพได้ มีความสนใจในนโยบายคุณภาพและวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายของหน่วยงาน มีความรู้ ความเข้าใจในหน้าที่ที่ตนปฏิบัติอย่างผู้รู้จริง ไม่รู้แบบงูๆ ปลาๆ ตั้งใจและเอาใจใส่ต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มีความละเอียดรอบคอบในการปฏิบัติงาน ต้องเป็นผู้ที่หมั่นสังเกตความผิดปกติ เพื่อค้นหาจุดบกพร่องที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างที่มีการปฏิบัติงาน เคารพและเชื่อฟังคำสั่งของหัวหน้างาน ปฏิบัติตามเอกสารควบคุมและกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด สุดท้ายมีส่วนร่วมในกิจกรรม เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพ เป็นต้น

นอกจากองค์ประกอบทั้งสามแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การปรับปรุงพื้นที่ปฏิบัติงานให้เหมาะสม และสอดคล้องต่อการปฏิบัติงาน เช่น มีการจัดเก็บทำความสะอาดก่อนและหลังการทำงานให้พร้อมต่อการปฏิบัติงานเสมอ ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดคุณภาพในการปฏิบัติงาน

ที่มา หนังสือพิมพ์ Posttoday วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม 2551 .>>>>>>ขนิษฐา

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *