จากคนรับจ้างขายไอศกรีมสู่ CEO ลูกชิ้นทอด"

จากคนรับจ้างขายไอศกรีมสู่ CEO ลูกชิ้นทอด”
By kosol
ผมต้องขออภัยหากมีผู้อ่านเห็นหัวข้อเกี่ยวกับ CEO แล้วคิดว่าเป็นเรื่องของผู้บริหารองค์กรใหญ่ยักษ์ แต่พออ่านแล้วกลายเป็นเรื่องของคนเดินกินข้าวแกง จนทำให้เสียอารมณ์ไป

ผมไม่ใช่ผู้บริหารองค์กรใหญ่ยักษ์ จึงไม่มีเรื่องเกี่ยวกับองค์กรเหล่านั้น แต่ผมเป็นคนระดับเดินดินจึงสัมผัสแต่คนเดินดิน ซึ่งเป็นฐานของปีรามิด ทำให้ CEO ใหญ่ทั้งหลายคงความเป็น CEO ใหญ่อยู่ได้ ก็เพราะแรงงานของคนเดินดินเหล่านี้นี่เอง

ต่างฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยกัน จะขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อมีผู้สะท้อนความเป็นไปของ CEO ใหญ่บนตึกสูงแล้ว เพื่อให้เกิดความสมดุล ผมจึงขอสะท้อนความเป็นอยู่ของ CEO ระดับเดินดินบ้าง

CEO มาจากคำว่า Chief Executive Officer ประธานเจ้าหน้าที่บริหารขององค์กรต่างๆ เป็นหัวหน้าผู้กำหนดนโยบายและควบคุมทิศทางขององค์กร ผมคิดว่า ไม่น่าจะจำกัดอยู่เพียงแค่องค์กรใหญ่ๆ บมจ. หรือ บจ. ยักษ์ทั้งหลาย หรือองค์กรธุรกิจอื่นๆเท่านั้น ในระดับชาวบ้านที่ทำมหากินด้วยตัวเอง ผู้มีอาชีพอิสระ ที่เลือกวิถีชีวิตแห่งการงานของตนเอง บริหารจัดการเองก็เรียกว่า CEO ได้

ยอมรับว่า ผมลากมาเข้าข้างหลักการตัวเอง เอาเป็นว่า แม้จะไม่ตรงความหมาย CEO ก็เอาความหมายในเชิงเปรียบเทียบ หรือเชิงสัญลักษณ์ก็แล้วกัน หรือหากท่าน บก. ข่าว เห็นว่าจะนอกกรอบไปมาก ก็ช่วยเตือนด้วยนะครับ

ทีนี้ก็ย้อนกลับมาเรื่องตามหัวข้อข้างบนนั้น…

ผมคุ้นเคยกับชายหนุ่มที่เป็นเจ้าของเรื่องที่เขียนถึงนี้ เนื่องจากทุกวันเสาร์อาทิตย์เขาจะขับรถมอเตอร์ไซค์พ่วงถังไอศกรีมของบริษัทไอศกรีมใหญ่ซึ่งถ้าเอ่ยชื่อก็รู้จักเป็นอันดีมาขายที่หมู่บ้าน เข้าซอยนั้นออกซอยนี้เป็นประจำ ลูกสาวผมชอบซื้อไอศกรีมกับเขา ซื้อมาตั้งแต่เรียนอยู่อนุบาลจนเข้าชั้นประถมสาม เขาเลิกขายไอศกรีมโดยให้แฟนมาขายแทน ลูกสาวผมซึ่งปีนี้ขึ้น ป. 5 แล้วก็ยังซื้ออยู่เหมือนเดิม

ส่วนตัวเขานั้น เลิกขายไอศกรีมแล้วหันมาขายลูกชิ้นทอด โดยลงทุนซื้ออุปกรณ์กันได้แก่รถมอเตอร์ไซค์พ่วงรถเข็น สินค้าใหม่นอกจากจะเป็นลูกชิ้นทอดหลายอย่างแล้ว ยังมีไส้กรอกทอด เต้าหู้ทอด สนองความต้องการของผู้ซื้อได้เป็นอย่างดี

ผมถามเขาว่า ทำไมจึงเลิกขายไอศกรีม เขาเล่าให้ฟังว่า เพราะไอศกรีมนั้นเป็นการรับจ้างขาย มีรายได้เกิดจากส่วนแบ่งของยอดขายในแต่ละวันที่ขายได้ ซึ่งไม่แน่นอน ถ้าวันไหนบรรยากาศไม่เป็นใจให้คนกินไอศกรีม เช่น ฝนตก ยอดขายก็จะลดลง รายก็น้อย แต่ข้อดีก็คือ ไม่ต้องลงทุนอะไร เพราะอุปกรณ์และสินค้าเป็นของบริษัทไอศกรีม คนขายมีหน้าที่ขายเท่านั้น ขายมากก็ได้สาวนแบ่งมาก ขายน้อยก็ได้ส่วนแบ่งน้อย

ต่อมาเขาพาแฟนนั่งท้ายรถมอเตอร์ไซค์มาด้วย เมื่อถามก็บอกว่าพามาศึกษาเส้นทางการขาย เพราะต่อไปก็จะมาขายไอศกรีมด้วย ตอนนั้นเขาไม่ได้บอกว่าตัวเองจะเลิกขาย จนเมื่อเขามาขายลูกชิ้นทอดนั่นแหละ ผมจึงเข้าใจ

ผมถามเขาว่า ขายลูกชิ้นทอดดีกว่าไอศกรีมไหม เขาตอบว่า ดีกว่า เพราะนี่เป็นของตัวเอง ขายน้อยก็ได้เป็นของตัวเองทั้งหมด ขายมากก็ได้เป็นของตัวเองทั้งหมด สามารถจัดการเรื่องของที่จะนำมาขายได้ทั้งหมด รู้ว่าคนชอบกินอะไร ไม่ชอบกินอะไร รู้ว่าลูกค้าคนไหนชอบแบบไหน ซื้ออะไรประจำ ก็จัดหามาไว้เพื่อผู้ซื้อได้

ถ้าจะอธิบายตามภาษาธุรกิจก็คงได้เป็นแนวๆว่า เขารู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร จึงสามารถผลิตสินค้าตรงตามต้องการของลูกค้า เมื่อรู้ความต้องการของลูกค้าและรู้ว่าจะผลิตอะไร ก็สามารถจัดหาวัตถุดิบได้พอดีกับความต้องการทั้งปริมาณและคุณภาพ จึงทำให้บริหารต้นทุนวัตถุดิบได้ ถึงแม้สินค้าเหลือจากการขายแต่ละวัน บางอย่างก็เก็บรักษาเอาไว้ขายวันต่อไปได้ บางอย่างที่เก็บรักษาข้ามวันไม่ได้ ก็บริโภคเอง เป็นการลดค่าใช้จ่ายไปด้วย นับได้ว่าเป็นการบริหารจัดการธุรกิจของ CEO ระดับเดินดินที่ดีเยี่ยมทีเดียว

ผมถามว่า แล้วเมื่อขายลูกชิ้นทอดได้ดีกว่า ทำไมแฟนต้องมาขายไอศกรีมแทน ไม่ขายลูกชิ้นทอดด้วยกัน

เขาตอบว่า เพราะลูกค้าไอศกรีมของเขามีจำนวนมาก จึงต้องรักษาเอาไว้ และลูกค้าที่ซื้อไอศกรีมก็ยังซื้อกับแฟนเขาอยู่ รวมถึงซื้อลูกชิ้นทอดจากเขาด้วย เมื่อเขาพูดเช่นนี้ผมจึงนึกขึ้นได้ว่า จริงของเขา เพราะบ้านผมก็ยังซื้อไอศกรีมจากแฟนเขาและซื้อของทอดๆจากเขา รวมถึงบ้านข้างๆและบ้านตรงกันข้ามด้วย

เขามีรายได้ทั้งจากไอศกรีมที่แฟนขายและรายได้จากของทอดๆที่เขาขายเอง ส่วนผู้ซื้อต้องจ่ายให้เขาสองรายการ รวมถึงบ้านผมด้วย

นี่นับเป็นการต่อยอดลูกค้าของ CEO ระดับเดินดินอีกกรณีหนึ่ง ที่น่าชื่นชมยินดีจริงๆ

ผมก็นึกต่อไปอีกว่า นี่ถ้าเผื่อเขาคิดหาของมาขายอีก โดยให้พี่น้องมาขาย เริ่มต้นจากการพามาดูงานก่อนเหมือนที่เขาพาแฟนมาดูงานขายไอศกรีม ลูกค้าก็คงต้องซื้อสินค้าจากเขาเพิ่มอีกหนึ่งอย่างโดยไม่รู้ตัว รวมถึงบ้านผมด้วยเป็นแน่แท้

แบบนี้อาจเรียกได้ว่า เขาสร้าง “แบรนด์” ของตัวเองได้แล้ว และยังทำให้ลูกค้าเกิด “ความภักดี” ได้อีกด้วย

ผมสังเกตเห็นว่า ลูกชิ้นทอดเจ้าอื่นที่เคยเข้ามาขายสองสามรายก่อนหน้านี้ ค่อยๆหายไปเมื่อเขาเข้ามาในธุรกิจนี้ ตอนนี้ผมคิดว่าเขาคงควบคุมธุรกิจลูกชิ้นทอดไว้ในมือแทบจะเบ็ดเสร็จแล้ว อย่างน้อยก็ในชุมชนที่ผมอยู่ ซึ่งมีบ้านพักอาศัย 7-800 หลังคาเรือน ประชากรอย่างต่ำตีเสียว่าหลังละ 3 คนก็ตก 2,000 กว่าคนแล้ว ในจำนวนนี้ย่อมมีแรงงานที่อยู่ในองค์กรของ CEO บนตึกใหญ่จำนวนไม่น้อย ดังนั้น แสดงว่า CEO เดินดินเจ้านี้เจ้าเดียว มีส่วนในการผลิตอาหารราคาถูกให้คนทำงานในองค์กรของ CEO ตึกใหญ่เติมท้องสนองความอยากอย่างสบายอารมณ์ในวันหยุด

เมื่อเห็นกระบวนการจัดการกับธุรกิจของชายหนุ่มผู้ก้าวจากการเป็นคนรับจ้างขายไอศกรีมมาเป็น CEO ลูกชิ้นทอดแล้ว ต่อไปภายหน้าอาจมีธุรกิจลูกชิ้นทอดระดับ SME เกิดขึ้น กลายเป็นแบรนด์ดัง เฉกเช่น “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ที่เคยสร้างความตื่นตะลึงมาแล้วก็เป็นได้

Tags:

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *