จะทำอย่างไร…… เมื่อต้องตัดสินใจทางจริยธรรม

จะทำอย่างไร…… เมื่อต้องตัดสินใจทางจริยธรรม
Business & Society : ศ.ดร.วรภัทร โตธนะเกษม กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 04 ตุลาคม พ.ศ. 2550
สัปดาห์ที่แล้ว ต่อเนื่องจนถึงสัปดาห์นี้ มีข่าวครึกโครม ซึ่งทำให้รัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่งถึง 5 คน เหตุผลส่วนหนึ่ง ก็เพราะสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงของการทดสอบความแข็งแกร่งทางจริยธรรมของนักการเมือง ความกดดันที่เกิดขึ้นต่อรัฐมนตรีรวมถึงนายกรัฐมนตรีจึงมีมากกว่าปกติ
ผมจะไม่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้เพิ่มเติม เพราะมีผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวไปแล้ว ผมเพียงแต่ยกกรณีนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่าง ที่จะนำไปสู่การอธิบายว่า เหตุใดการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทาง คุณธรรม และจริยธรรม จึงเป็นเรื่องที่ ยาก ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับรัฐมนตรี นักบริหาร หรือบุคคลทั่วไปก็ตาม
การตัดสินใจนั้น โดยทั่วไปจะ ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าหาก มีความชัดเจน ระหว่าง ถูก กับ ผิด เพราะบุคคลปกติ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี นักบริหาร หรือบุคคลธรรมดา ย่อมตัดสินใจทำในสิ่งที่ ถูกต้อง เท่านั้น แต่บางครั้ง เราไม่ได้เลือกระหว่าง ถูก กับ ผิด เพราะเราต้องตัดสินใจระหว่าง ถูก กับ ถูก ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางใด ก็มีเหตุผลสนับสนุนได้เสมอว่าเป็นการตัดสินใจที่ ถูกต้อง แล้ว แต่ก็ยังไม่วายที่จะมี “ความเห็นแย้ง” จากผู้อื่นเสมอ เพราะเหตุใด จึงเป็นเช่นนั้น
การตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับ คุณธรรม และ จริยธรรม เกิดขึ้น เมื่อต้องเลือกระหว่าง ถูก กับ ถูก คุณจะทำอย่างไร ถ้าหากวันหนึ่ง มีลูกน้องเดินเข้ามาปรึกษาว่าเขากำลังคิดจะกู้เงินเพื่อซื้อบ้านหลังแรก และต้องตัดสินใจภายในสัปดาห์นี้ เพราะโครงการอัตราดอกเบี้ยต่ำของธนาคารกำลังจะสิ้นสุดลง รวมทั้งบ้านหลังที่สนใจจะซื้อ ก็มีผู้ที่ต่อคิวรอจองอยู่อีกหลายราย แต่คุณเองก็เพิ่งจะออกมาจากห้องประชุมผู้บริหารระดับสูง ซึ่งสรุปว่า สิ้นเดือนหน้า บริษัทจะประกาศเลิกจ้างพนักงาน 20 คน และพนักงานผู้นี้ ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นด้วย
ในฐานะผู้บริหาร คุณไม่อาจบอกความลับนี้กับพนักงานผู้นี้ได้ว่าเขากำลังจะตกงาน เพราะบริษัทจะประกาศให้ทุกคนทราบพร้อมกันในต้นเดือนหน้า การไม่บอกความลับกับพนักงานผู้นี้ คือสิ่งที่ ถูกต้อง แต่ในฐานะมนุษย์ผู้หนึ่ง คุณกำลังจะปล่อยให้พนักงานผู้นี้ ทำสัญญากู้เงินโดยที่เขาไม่รู้ว่า เขากำลังจะตกงานในเร็วๆ นี้ และอาจจะขาดการผ่อนชำระบ้าน ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน ดังนั้น การส่งสัญญาณบางอย่างให้เขาทราบ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ ถูกต้อง เช่นกัน กรณีอย่างนี้ คุณจะทำอย่างไร
รัฐมนตรีที่เป็นข่าวทั้งเจ็ดคน ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ทำนองนี้นี่แหละ เพราะมีความชัดเจนว่าเรื่องถือหุ้นเกิน 5% นั้น ไม่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่ประเด็นที่ว่า เป็นการเหมาะสมหรือไม่ที่จะดำรงตำแหน่งต่อไปนั้น เป็นเรื่องของ คุณธรรม จริยธรรม ซึ่งบางคนที่ได้ลาออกทันที ก็ให้เหตุผลว่า เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานจริยธรรมซึ่งเป็นเหตุผลที่ รับฟังได้ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ลาออก ก็ให้เหตุผลว่า ไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย ไม่ได้มีเจตนาทำผิด และบ้านเมืองก็ต้องการคนช่วยกันทำงาน รวมทั้ง เหลืออีกเพียง 3 เดือนก็จะมีการเลือกตั้งแล้ว เหตุผลเหล่านี้ ก็ รับฟังได้ เช่นกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ ถูก ทั้งคู่!
ก็เมื่อ ถูกทั้งคู่ แล้ว ทำไมคนในสังคมจึงมีความเห็นที่แตกต่างกันไปเล่าครับ คนจำนวนหนึ่งเทคะแนนให้รัฐมนตรีที่ตัดสินใจลาออกทันที คนอีกจำนวนหนึ่งก็ให้กำลังใจรัฐมนตรีที่อยู่ต่ออย่างอดทน ยอมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ และก้มหน้าก้มตาทำงานในความรับผิดชอบอย่างหนักต่อไป ถ้าจะตอบประเด็นนี้ให้ยาก ก็คงยาก แต่ถ้าตอบแบบง่าย ก็คงตอบได้ว่า แม้ว่าจะถูกทั้งคู่ แต่ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ ต่างมีความเห็นของเขาเองว่า อย่างไหน ถูกต้องกว่า ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน จะ ฟันธง ว่าใครถูก ใครผิด ก็ไม่ได้
การตัดสินใจในทางจริยธรรม จึงเป็นเรื่องที่ยาก และเราก็มักจะต้องตัดสินใจในลักษณะนี้บ่อยครั้ง บางเรื่อง ที่น่าจะมีความชัดเจนว่า ผิด เช่น การทำลายชีวิตมนุษย์ เป็นต้น แต่บางครั้ง โจทย์ของการตัดสินใจ กลับถูกทำให้ยากขึ้น เช่นผู้ป่วยตกอยู่ในความทุกข์ทรมาน และขอให้หยุดการรักษาตนเอง เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ทรมานนั้นๆ เป็นต้น เรื่องอย่างนี้ เป็นการตัดสินใจทางจริยธรรมอย่างชัดเจน เป็นเรื่องระหว่าง ถูก กับ ถูก เพราะการดูแลรักษาชีวิตไว้ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การช่วยให้มนุษย์พ้นทุกข์ทรมาน ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องเช่นกัน เพียงแต่การช่วยให้พ้นทุกข์ในกรณีอย่างนี้ ทำให้เกิดประเด็นทางจริยธรรมตามมาทันที
ถ้าอย่างนั้น ครั้งต่อไป ถ้าหากเราต้องเผชิญกับการตัดสินใจระหว่าง ถูก กับ ถูก แล้ว เราจะมีแนวทางในการพิจารณาอย่างไร แนวทางต่อไปนี้ อาจจะพอช่วยได้บ้างครับ
สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ ประมวลข้อเท็จจริงทั้งหมดของปัญหาให้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อจะได้ไม่บกพร่องในเรื่องข้อเท็จจริงที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจ เช่น เรื่องการถือหุ้นเกิน 5% นั้น สิ่งที่รัฐมนตรีทุกคนได้ทำไปแล้ว ก็คือไปหาข้อเท็จจริงของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ชื่อบริษัทที่เกี่ยวข้อง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
เมื่อข้อมูลมีความชัดเจนแล้ว เรื่องยากกว่าที่ตามมา ก็คือการพิจารณา ทางเลือกในการตัดสินใจ และ การตัดสินใจ ซึ่งมี แนวทางกว้างๆ ก็คือ ประการแรก ต้องถามว่าการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งของเรานั้น จะมีผลกระทบต่อ ผู้มีส่วนได้เสีย อย่างไร ตรงนี้ดูเหมือนง่าย แต่ก็มีความยาก เพราะการตีความ “ผู้มีส่วนได้เสีย” อย่างแคบ หรือ อย่างกว้าง ก็จะมีผลให้การพิจารณาแตกต่างกันไป และประเด็นที่จะทำให้ความเห็นแตกต่าง ก็คือการตัดสินใจของคุณนั้น จะเน้นผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มใดเป็นพิเศษหรือไม่ เพราะเหตุใด
ข้อพิจารณา ประการต่อมา ก็คือต้องเน้นผลของการตัดสินใจ ในระยะยาว มากกว่าผลระยะสั้น ซึ่งตรงนี้ ก็ยากอีกเช่นกัน เพราะมนุษย์ส่วนมากมีแนวโน้มที่จะมองระยะสั้นมากกว่าระยะยาว นอกจากนั้น ประการที่สาม ก็ยังมีประเด็นว่า การตัดสินใจของเรานั้น เราต้องการส่ง “สัญญาณ” อะไรให้บุคคลอื่นทราบ กล่าวคือเมื่อผู้อื่นเห็นการตัดสินใจของเราแล้ว เราต้องการให้มันสะท้อน คุณค่า อะไรในตัวเรา
เห็นไหมครับ ว่าแค่แนวทางสามประการนี้ ก็ยากแล้ว เพราะไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างมีความเห็น และไม่ใช่เรื่องระหว่าง ถูก กับ ถูก เท่านั้น เพราะในความเห็นของแต่ละคนนั้น มี ถูกกว่า และ ถูกที่สุด แฝงอยู่ในนั้นด้วย และด้วยเหตุนี้แหละ การตัดสินใจทางจริยธรรมจึงยากเสมอ
ไม่อย่างนั้น รัฐมนตรีเจ็ดคน จะตัดสินใจแตกต่างกันอย่างนี้หรือครับ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *