คิดเป็น

คิดเป็น
Money Pro : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2550
ชื่อเรื่องในวันนี้เป็นหัวข้อของพระธรรมเทศนาของ พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ ที่บรรยายให้แก่เหล่าศิษยานุศิษย์ และผู้สนใจใคร่ฟังธรรม ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2550 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ถนนเพลินจิต โดยมี พ.ต.อ.นรวัฒน์ และคุณลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ เป็นเจ้าภาพ ซึ่งดิฉันขออนุญาตยกมาสรุปบางส่วน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านที่จะสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตดังนี้
พระอาจารย์กล่าวว่า ความคิดเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนย่อมมีความคิด แต่คนส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อของความคิด ซึ่งมาจากสาเหตุหลัก 2 สาเหตุ สาเหตุแรกคือ ไม่เข้าใจความคิด และ ไม่รู้เท่าทันความคิด กับอีกสาเหตุหนึ่งคือ คิดไม่เป็น คิดไม่ถูกวิธี
การไม่เข้าใจความคิด ไม่รู้เท่าทันความคิด เนื่องจากทุกคนคิดว่าตนเองเป็นคนมีเหตุมีผล แต่น้อยคนนัก ที่จะใช้เวลาสำรวจตรวจตราตนเองว่า เหตุผลของตนเองมีข้อบกพร่องมากน้อยเพียงใด เหตุผลและการใช้เหตุผลเป็นกิจกรรมของสมองและจิตใจ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมด้วย เช่น ในเวลาที่จำกัด ในสภาวะถูกบีบบังคับ หรือมีความเครียด ความสามารถในการใช้เหตุผลจะลดลง
การเข้าใจความคิด รวมไปถึงการสนใจป้องกันเหตุผลไม่ให้ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและจากอารมณ์ ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า Objective (ความเป็นอิสระของจิตใจ ความเป็นจริง ความเป็นกลาง) พระอาจารย์กล่าวว่า objective นี้ไม่ง่าย เราต้องฉลาดในการสร้างความเป็นกลางให้จิตใจ และรักษาความเป็นกลาง เพราะจิตใจที่เป็นกลาง จะทำให้ไม่มีอคติ ไม่มีความลำเอียง ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจความคิด รู้เท่าทันความคิด
วิธีหนึ่งที่จะช่วยฝึกจิตคือการภาวนา การภาวนาทำให้จิตใจสงบ จิตมีกำลัง มีความเป็นกลาง มีความเข้มแข็งจากอารมณ์แปรปรวนต่างๆ ทำให้สามารถหยั่งรู้อย่างถูกต้องในทุกเหตุการณ์ ถ้าจิตใจถูกต้องด้วยพลังสติ สมาธิ ปัญญาแล้ว ก็ไม่ต้องเป็นห่วงว่าเมื่อเผชิญกับเรื่องต่างๆ แล้วเราจะต้องคิดหรือทำอย่างไร ถ้าเราพร้อมทำในสิ่งที่ถูกต้อง
อุปสรรคของการเข้าใจความคิด คือผู้ที่เชื่อว่าตนเองดีแล้ว เก่งแล้ว เพราะทุกคนสามารถผลิตเหตุผลมาเป็นข้ออ้าง ในพฤติกรรมของตนเองได้ตลอดเวลา ดังนั้นผู้ที่ถือยึดมั่นว่าตนเองดีและเก่ง จะสร้างเหตุผลที่นำไปในทิศทางที่ผิดได้ จึงจำเป็นที่เราจะต้องรู้จักขอบเขตของเหตุผล รู้จักพื้นฐานความเชื่อของเหตุผล และต้องถามตัวเองบ่อยๆ ว่า อะไรเป็นความเชื่อพื้นฐานที่มีเหตุผล
การภาวนา ไม่ได้มุ่งที่จะหยุดคิด แต่ต้องการขจัดความคิดที่ไม่มีคุณภาพ (ความคิดที่ไม่มีคุณภาพนี้เป็นสิ่งกีดกัน ไม่ให้ถึงซึ่งความสุข) ขจัดจิตใจที่วกวน เป็นทุกข์ ต้องไม่ด่วนสรุปเรื่องไม่ดีของใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราต้องไม่สรุปหากได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และอย่าเชื่อความคิดของตัวเองมาก
การคิดไม่เป็น คิดไม่ถูกวิธี ในการพิจารณาเรื่องความคิดนี้ พระอาจารย์สอนให้ใช้เครื่องระลึกที่จะช่วยแยกแยะให้คิดถูกทางคือ กุศล-อกุศล
กุศล เป็นเครื่องทำให้ความโลภ โกรธ หลง ลดลง ส่วน อกุศล เป็นเครื่องทำให้ความโลภ โกรธ หลง เพิ่มขึ้น เราต้องทบทวนความคิดของเราในปัจจุบัน (ว่าความคิดใดเป็นความคิดที่ทำให้ความโลภ โกรธ หลง ลดลง ซึ่งเป็นการ “คิดเป็น คิดดี” และความคิดใดเป็นความคิดที่ทำให้ความโลภ โกรธ หลง เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความคิดที่ควรจะกำจัด) ต้องตั้งใจและชำนาญในการดูจิตใจของตน ทำความสะอาดจิตใจ พระอาจารย์กล่าวว่า กว่า 90% ของความคิดของเรา เป็นขยะสมอง เราจึงต้องกำจัดเรื่องที่ทำให้เราเกิดอารมณ์ (โลภ โกรธ หลง)
พระอาจารย์แนะนำการแยกแยะความคิดและยกตัวอย่างความคิดที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ไว้ ซึ่งดิฉันรวบรวมมาบางกรณีดังนี้
วิธีคิดให้เป็น : การอ่อนน้อมถ่อมตน รู้ขอบเขตของความคิด ฝึกการ “ไม่คิด” การปล่อยวาง การไม่คิดจะมีผลดี มีอานิสงส์มาก การไม่คิดทำให้จิตใจสงบ ปลอดโปร่ง ผ่องใส
วิธีคิดให้จิตใจเบิกบาน มั่นคง แน่วแน่ : ให้ระลึกถึงความตายบ่อยๆ (มีมรณานุสติ) จะเห็นคุณค่าของเวลา จะเห็นคุณค่าของคนรอบข้าง และจะบริหารเวลาได้ดีขึ้น นอกจากนี้ควรแผ่เมตตาให้คนรอบข้าง เพื่อชนะความคิดในทางเบียดเบียน มุ่งร้าย และควรพิจารณาเรื่องกฎแห่งกรรม เพื่อทำให้วางใจกับความทุกข์ หรือสิ่งที่เราแก้ไขไม่ได้ ให้มีปัญญาและกรุณาต่อผู้เป็นทุกข์ อย่าเฉยเมย
วิธีคิดที่ “ไม่เป็น” : ให้ระวังภาษาที่ใช้ ไม่ว่าจะใช้กับคนอื่น หรือใช้คุยกับตัวเอง เพราะการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ความคิดไม่ตรง ไม่ถูกต้อง ท่านยกตัวอย่างว่าภาษาอังกฤษค่อนข้างตรงไปตรงมาเพราะมีสรรพนาม I กับ You ไม่เหมือนภาษาไทยที่มีหลายระดับ รวมถึงการใช้ “มัน” แทนบุคคลด้วย นอกจากนี้ ต้องระวังการมองตัวเองในแง่ร้าย เวลาผิดพลาดก็มองว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่ดี หรือตรงกันข้ามคือ มองว่าตัวเองเก่ง ดี แล้วชอบโทษคนอื่น
ความคิดเป็นอาการของจิต จิตคือตัวรู้ จิตที่ฝึกดีแล้วจะรู้เท่าทันอาการของกาย เมื่อจิตสงบมาก เราจะเกิดความคิดว่าเราเป็นใคร เก่ง ไม่เก่ง ไม่ยึดมั่นถือมั่น มีฝังหัวในศักดิ์ศรี
ความโกรธ ทำให้จิตใจไม่เป็นกลาง เมื่อจิตใจไม่เป็นกลาง การรับรู้เรื่องที่ก่อให้เกิดปัญหาก็ไม่ถูกต้อง ผู้ที่จะแก้ปัญหาได้ในระยะยาว คือผู้ที่สามารถรักษาจิตใจให้ปกติได้ ไม่แบ่งแยกพวกเขาพวกเรา ความสามัคคีคือ การที่เราขอให้คนอื่นบอกเราถึงข้อบกพร่องของตัวเรา ในขณะที่เราก็จะต้องช่วยบอกข้อบกพร่องของเขา ให้เขารับทราบด้วย เมืองไทยเรามีดีหลายอย่าง รวมถึงการยอมรับในความหลากหลายของวิถีชีวิต ความเชื่อ และความคิดเห็น เพราะฉะนั้น อย่าจดจ่อหมกมุ่นในสิ่งที่ทำให้แตกต่างกัน ทำดังนี้แล้วเราจะสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *