ความสำเร็จแบบ’พอเพียง’ โมเดลแพรนด้า

ความสำเร็จแบบ’พอเพียง’ โมเดลแพรนด้า

“คนส่วนมากมักเข้าใจว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของเกษตรกรในชนบทเท่านั้น แต่แท้ที่จริงผู้ประกอบอาชีพอื่น เช่นพ่อค้า ข้าราชการ และพนักงานบริษัทต่างๆ สามารถนำแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้ได้” นี่คือพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผลการดำเนินธุรกิจของกลุ่มแพรนด้าจิวเวลรี่ น่าจะเป็นตัวอย่างภาคธุรกิจที่นำแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียงมาบริหารธุรกิจ โดยมีผลพิสูจน์ที่ชี้ชัดได้คือองค์กรแห่งนี้ได้รับการยอมรับจากหุ้นส่วนทุกๆ ด้านทั้งพนักงาน ผู้ถือหุ้น คู่ค้า และมีอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อเนื่องนับแต่บริษัทแรกของกลุ่มกำเนิดขึ้นกระทั่งถึงปัจจุบัน
ตัวเลขผลการดำเนินงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ากลุ่มนี้มีรายได้ในปี 2544 มูลค่า 2,335 ล้านบาท ปี 2545 รายได้ 2,543 ล้านบาท ปี2546 มีรายได้ 2,650 ล้านบาท และปี 2547 มีรายได้ 3,358 ล้านบาท พอเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ
จึงไม่แปลกที่กลุ่มแพรนด้าจิวเวลรี่ได้รับคัดเลือกเป็นกรณีศึกษาการบริหารธุรกิจแบบเศรษฐกิจพอเพียง แล้วประสบความสำเร็จ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และThe Global Compact องค์การสหประชาชาติ
แม้ว่าจะได้รับคัดเลือกจากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาการบริหารธุรกิจแบบเศรษฐกิจพอเพียง แต่ฟังชื่อบริษัท ประเภทธุรกิจ อย่างแพรนด้าจิวเวลรี่ ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ดูจะเป็นคนละทิศคนละทางกันเพราะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจัดเป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย จะบริหารแบบพอเพียงได้อย่างไร แต่กลุ่มแพรนด้าฯทำได้
ทั้งนี้กลุ่มแพรนด้าจิวเวลรี่ เป็นกลุ่มธุรกิจผลิตและส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศ หากนับถึงวันนี้เป็นเวลา 33 ปีเต็ม เพราะบริษัทแรกของกลุ่มแพรนด้าฯ ได้แก่บริษัท แพรนด้า ดีไซน์ จำกัด ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2516 ก่อนที่จะขยายอาณาจักรทั้งในและต่างประเทศ กระทั่งวันนี้มีบริษัทในเครือรวม 13 บริษัท โรงงานผลิตสินค้า 5 โรงงาน ครอบคลุม 4 ประเทศได้แก่ในไทย 2 โรง เวียดนาม 1 โรง อินโดนีเซีย 1 โรง และจีน 1 โรง มีรายได้รวมปี 2548 ที่ผ่านมา.3,562 ล้านบาท
ปรีดา เตียสุวรรณ์ หัวเรือใหญ่แห่งแพรนด้า กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความเป็นมา การบริหารธุรกิจแบบเศรษฐกิจพอเพียงว่า กลุ่มแพรนด้าฯยึดแนวนี้ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจ เพราะเห็นคุณพ่อ คุณแม่ ซึ่งทำการค้าอย่างพอประมาณมาตลอด เมื่อบริหารแพรนด้าฯ เป้าหมายสูงสุดคือธุรกิจจะต้องมีการเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง ไม่แสวงกำไรระยะสั้น และตระหนักเสมอว่า การทำกำไรระยะสั้น มีกำไรอย่างมหาศาลแบบชั่วครั้งชั่วคราว หรือภาษานักการค้าเรียกว่า “ตีหัวเข้าบ้าน” ซึ่งเป็นผลร้ายกับกิจการจะไม่ทำเลย เพราะเชื่อว่าคนที่เขายอมให้เราตีหัวก็แค่ครั้งเดียวครั้งต่อไปเขาจะไม่ยอม ในที่สุดก็จะไม่เกิดความยั่งยืนกับธุรกิจ
ถ้ากิจการเราฉาบฉวยไม่แน่นอนทำธุรกิจปีนี้มีรายได้นับพันล้านบาท ปีถัดไปเหลือไม่กี่ล้าน คนที่เป็นสเต็คโฮลเดอร์ไม่ว่าจะเป็นสเต็คโฮลเดอร์ภายใน (พนักงาน ผู้ถือหุ้น)หรือสเต็คโฮลเดอร์นอก จะเกิดความไม่มั่นใจต่อสถานภาพของชีวิตมองว่ามาลงทุนบริษัทนี้แล้วฉาบฉวยโลดโผนขนาดนี้เชียวหรือ เขาก็จะไม่เข้ามาลงทุน พนักงานจะทำงานอย่างไม่มีความสุข ลูกค้าไม่ไว้วางใจ ตรงกันข้ามหากกิจการมีความยั่งยืน จะมีความหมาย มีความสำคัญต่อทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรา
เมื่อเรามีเป้าหมายอยู่ที่การเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง คำว่า “ความพอเพียง” ก็จะเกิดขึ้นในจิตสำนึกของผู้บริหาร จึงเป็นที่มาของการบริหารธุรกิจแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งปรีดามองว่าสองคำนี้เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะจะยั่งยืนได้ต้องมีความพอเพียง การทำธุรกิจหวังกำไรมากๆ ชั่วครั้งชั่วคราวไม่ใช่หนทางนำไปสู่ความยั่งยืน โดยความพอเพียงของแพรนด้าฯ ได้ให้ความสำคัญกับ 4ปัจจัยคือ1.สินค้า (Product)2.วิธีการจัดการ(Process) 3.คน (People)และ4.การเงิน (Finance)
ทั้ง 4 ปัจจัยนี้จะมีความเกี่ยวโยงกันทั้งหมดกล่าวคือสินค้าต้องมีความชัดเจน ผลิตสินค้าที่มีความถนัดและเชี่ยวชาญ สินค้าของแพรนด้าจิวเวลรี่ก็คืออัญมณีและเครื่องประดับ เพราะเรามีความเชี่ยวชาญสินค้าชนิดนี้ ผลิตสินค้าคุณภาพ ราคาเป็นธรรม ตรงตามความต้องการของลูกค้า ไม่เอาเปรียบลูกค้า การบริหารหรือProcess ต้องบริหารให้เกิดองค์ความรู้ในองค์กรอย่างทั่วถึง ต้องให้รู้ว่าทุกคนทำอะไร ไม่มีความลับต่อกัน ส่วนคนหรือPeople ซึ่งมีความสำคัญมากในการบริหารธุรกิจองค์กรต้องมีการพัฒนาคุณภาพคนอย่างต่อเนื่อง และสุดท้ายคือไฟแนนซ์ จะต้องบริหารให้เกิดความพอดี เราต้องการลงทุนแค่ไหนก็กู้แค่นั้นไม่กู้เงินเกินตัว
แม้ว่าจะยึด 4 ปัจจัยบริหารธุรกิจแบบเศรษฐกิจพอเพียง แต่ปรีดาย้ำว่า Peopleหรือคนนั้นสำคัญที่สุด การเติบโตขององค์กรกับการพัฒนาศักยภาพของคนต้องมีความสอดคล้องกัน การเร่งขยายธุรกิจในลักษณะของการใช้อิทธิพล โดยไม่หันกลับมามองคนในองค์กรนั้น จะนำมาสู่การล่มสลายขององค์กรได้ เพราะหากบริษัทมีการขยายมากๆ แต่จำนวนคนรองรับไม่เพียงพอจะไม่เกิดความสมดุล ศักยภาพของทรัพยากรบุคคลต้องใช้เวลาพัฒนาเป็นปี การเติบโตอย่างช้าๆ มั่นคงควบคู่กับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการเติบโตขององค์กร
กระนั้นก็ดีคำว่า “คน”ในความหมายของปรีดา ไม่ได้หมายความเฉพาะพนักงานบริษัท แต่ยังหมายความถึงผู้ถือหุ้นทั้งภายในและภายนอกบริษัท ภาคสังคม ภาคประชาชน โดยภาคสังคม ภาคประชาชนที่เขาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม แพรนด้าต้องดำเนินธุรกิจในลักษณะที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะเป็นสิ่งที่สังคมต้องการ
การใช้แนวคิดแบบพอเพียงบริหารธุรกิจหรือการเติบโตอย่างยั่งยืน สิ่งที่แพรนด้าฯได้รับกลับมาอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนแล้วก็คือ 1.ธุรกิจของกลุ่มแพรนด้ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอตลอด 33 ปีที่ผ่านมา ในอัตราปีละ 10-12% 2.พนักงานของบริษัทซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 3,500 คน มีความจงรักภักดีกับองค์กร ที่เฉลี่ยแล้วมากกว่า 70% มีอายุงาน 10 ปีขึ้นไป 3.คู่ค้าต่างประเทศ เป็นกลุ่มที่ทำการค้าร่วมกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อจนถึงรุ่นลูก ทุกวันนี้ยังมีความผูกพันกันอยู่
“เมื่อปีที่แล้วผมเพิ่งฉลองการทำการค้ากับคู่ค้าประเทศฝรั่งเศส ที่ทำการค้าร่วมกันมา 30 ปี และเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาได้ฉลองกับลูกค้าประเทศเนเธอร์แลนด์ ค้ากันมาตั้ง 30 ปีถึงวันนี้ยังค้าอยู่และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย เพราะลูกค้าเขามีความมั่นใจในการเติบโตของบริษัทที่ยั่งยืนและมั่นคง ไม่มุ่งหวังกำไรจนเกินไป ช่วงที่บริษัทเผชิญวิกฤตปี 2540 ทั้งพนักงาน ลูกค้าให้ความร่วมมือช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เราสามารถติดต่อกับลูกค้าและบอกให้ลูกค้าส่งเงินมาให้เราก่อนที่จะส่งสินค้าไปให้ ซึ่งลูกค้าก็ให้ความช่วยเหลือดี นี่คืออานิสงส์ของการทำธุรกิจแบบพอเพียง”
อย่างไรก็ดีการบริหารเศรษฐกิจแบบพอเพียง ตลอดระยะเวลาการบริหารธุรกิจ 33 ปี ปรีดาไม่ขอสรุปว่าได้ทำให้กลุ่มแพรนด้าจิวเวลรี่ ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด โดยให้สังคมเป็นผู้สรุปเอง หากแต่วิธีแนวคิดบริหารตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง แล้วทำให้แพรนด้าเติบโตอย่างยั่งยืนมาตลอดระยะเวลา 33 ปี โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10-12% แม้ว่าจะขาดทุนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แต่หาใช่การขาดทุนจากการบริหารไม่ แต่เป็นการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมาก ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตสินค้า ตัวเลขการเติบโตดังกล่าวทำให้เขาสรุปว่าเขาได้ตัดสินใจถูกต้องแล้ว และมาถูกทางที่กระแสโลกกำลังจะไปในทางนั้น และจะดำเนินแนวนี้ตลอดไป

แหล่งที่มา : จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2127 – 543

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *