ครุกแมน คว้าโนเบลวิเคราะห์ ศก.-การค้า

ครุกแมน” คว้าโนเบลวิเคราะห์ ศก.-การค้า
กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2551
“พอล ครุกแมน” นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกัน ฝีปากกล้านิยมวิพากษ์นโยบายบริหารงานรัฐบาลสหรัฐชุดปัจจุบัน คว้ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2551 จากผลงานการวิเคราะห์ “การสาเหตุแห่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับรูปแบบการค้า” เตรียมเข้ารับรางวัลจากกษัตริย์สวีเดน 10 ธ.ค.นี้
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานวานนี้ว่า ดร.พอล ครุกแมน นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ คว้ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2552 จากการตัดสินของราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ซึ่งเป็นคณะกรรมการผู้ตัดสินและประกาศผลรางวัล
สำหรับ ดร.ครุกแมน วัย 55 ปี เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้คนในทุกวงการทั้งนักการเงิน นักการเมือง และนักวิชาการทั่วโลกรวมทั้งไทย เพราะในปี 2548 เขาเดินทางมาไทยร่วมปาฐกถาพิเศษที่กรุงเทพฯ ในงานสัมมนา “สัญญาณเตือนภัย และการวางตำแหน่งเศรษฐกิจของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Warning system ; Positioning of Thailand and South East Asia)
ทั้งนี้ราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ระบุว่าคณะกรรมการได้พิจารณาจากผลงานการวิเคราะห์การหาสาเหตุ ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และรูปแบบการค้า (trade patterns and location of economic activity) ของ ดร.ครุกแมน ก่อนตัดสินให้เขาได้รับรางวัลทรงเกียรตินี้ ซึ่งจะการมอบเป็นเงิน 10 ล้านโครนาสวีเดน หรือประมาณ 53 ล้านบาท พร้อมเหรียญทองและประกาศนียบัตรจากกษัตริย์สวีเดนในวันที่ 10 ธ.ค.ปีนี้
ขณะที่ ดร.ครุกแมนให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับบลูมเบิร์ก โดยยอมรับว่าการได้รางวัลเป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างมาก และก่อนหน้านี้เขาเคยให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์กเมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ปัญหาวุ่นวายในตลาดการเงินขณะนี้ มีความคล้ายคลึงกับช่วงเกิดเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) และความคล้ายคลึงทั้งหมด มีข้อสนับสนุนหนักแน่นมากที่เขาคิด และโลกพัฒนาระบบการเงินซึ่งไม่อาจควบคุมไว้ได้
ดร.ครุกแมนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของทั่วโลก เพราะเขาเป็นผู้สนับสนุนให้มาเลเซียนำแคปิตอล คอนโทรล หรือการควบคุมการไหลเวียนของเงินทุนในประเทศมาใช้ ซึ่งการสนับสนุนของเขาขัดแย้ง กับข้อเสนอที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แนะนำหลายประเทศในเอเชียรวมไทย ซึ่งเผชิญวิกฤติการเงินปี 2540 เปิดตลาดเสรีปฏิรูปภาคการเงินมากขึ้น ก่อนรับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟ เพื่อแก้ไขเศรษฐกิจย่ำแย่กับค่าเงินอ่อนลงมาก
ปัจจุบัน ดร.ครุกแมนเป็นที่รู้จัก จากการนำเสนอทฤษฎีการวางกลยุทธ์การค้า ด้วยการยืนยันว่าหลายประเทศสามารถช่วงชิงก้าวล้ำนำหน้าชาติอื่น ด้วยการกลยุทธ์ให้ทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆ และเขายังมักใช้คอลัมน์ทางสื่อสิ่งพิมพ์ วิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างๆ ของนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอยู่เป็นประจำ
นอกจากนี้ ดร.ครุกแมนยังมีผลงานได้รับความนิยม ในเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มเป็นก้อน และตั้งสมการดูผลกระทบเกิดจากความตื่นตระหนกทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการไหลเวียนของเงินทุน อัตราแลกเปลี่ยนและดุลบัญชีเดินสะพัด
ในปี 2534 ดร.ครุกแมนเคยได้รับรางวัล จอห์น เบตส์ คลาร์ก เมดัล จากสมาคมเศรษฐศาสตร์อเมริกา ให้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ยอดเยี่ยม ด้วยวัยเพียง 40 ปี ดร.ครุกแมนเกิดที่ลอง ไอซ์แลนด์ และเข้าศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเยล และจบระดับปริญญาเอกจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ในปี 2520 จากนั้นได้เข้าทำงานในมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน
ช่วงปี 2525-2526 เข้ารับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาสภาเศรษฐกิจทำเนียบขาว ในช่วงที่นายโรนัลด์ เรแกน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ดร.ครุกแมนมีผลงานเป็นหนังสือตีพิมพ์ออกมาหลายชุด และมีความสามารถที่จะปรับทฤษฎีเศรษฐกิจที่มีความสลับซับซ้อน และนำเสนอเป็นข้อสงสัย ที่นำไปสู่งานเขียนในคอลัมน์ตีพิมพ์ในนิวยอร์ก ไทมส์ตลอดระยะ 8 ปีที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้เอเอฟพีรายงานว่า รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นรางวัลสุดท้าย ในการปิดฉากฤดูกาลการประกาศรางวัลโนเบลทุกสาขาประจำปี 2551 ที่เมืองสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยคาดว่าเป็นจุดสนใจจับตามองกันเป็นพิเศษปีนี้ เนื่องจากวิกฤติการเงินโลกครั้งรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ทศวรรษหลังปี 2473
ตั้งแต่ปี 2512 จนถึงปัจจุบัน จำนวนผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ มีทั้งสิ้น 58 คน และเอเอฟพีระบุว่า 69% ของผู้ที่ได้รางวัลมีสัญชาติอเมริกัน ขณะที่กว่า 70% ทำงานอยู่กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ของสหรัฐในช่วงที่ได้รับรางวัล
ทั้งนี้เอเอฟพีวิเคราะห์ว่า แม้วิกฤติการเงินปัจจุบัน ไม่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบมากนัก ต่อการประกาศรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เป็นที่แน่นอนในอนาคตคณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัล จะเบี่ยงเบนความสนใจจากทฤษฎีมุ่งเน้นไปที่ตลาดเปิดเสรี ซึ่งได้รับการตำหนิกล่าวโทษจากคนส่วนใหญ่ว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤติการเงินปัจจุบัน
ขณะที่นายโจเซฟ สติกลิตซ์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2544 ตั้งข้อสังเกตกับเอเอฟพี โดยตัวเขาคิดว่าวิกฤตินำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านปรัชญาในแง่โครงสร้างพื้นฐาน และผู้คนทั่วโลกได้เห็นแล้วว่า ตลาดที่ไม่มีการควบคุมหรือใส่โซ่ตรวนเอาไว้ อาจกลายเป็นหายนภัยได้
ในปีที่แล้วราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน มอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ให้แก่นายลีโอนิด เฮอร์วิคซ์, นายอีริค มาสกิน และนายโรเจอร์ ไมเออร์สัน 3 นักวิจัยชาวอเมริกัน ที่วางรากฐานทฤษฎีออกแบบกลไก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ร่วมสมัย

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *