กินต้านความเครียด

กินต้านความเครียด

ความเครียดเป็นสิ่งที่คนเราประสบได้เสมอในชีวิตประจำวันและมีสาเหตุมากมาย นอกจากความเครียดจากหน้าที่การงาน เหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ความกดดันทางจิตใจแล้ว อาการเจ็บป่วยก็คือเป็นความเครียดหนึ่งของร่างกาย นอกจากนี้บริโภคนิสัยที่นำไปสู่การขาดสารอาหารบางชนิดในร่างกายก็อาจสร้างปัญหาความเครียดให้ร่างกายได้ดี
เมื่อเกิดขึ้นจะส่งผลให้เกิดการสูญเสียสมดุลการทำงานของร่างกายทางด้านอารมณ์และจิตใจ ผลที่ตามมาคือ ความรู้สึกวิตกกังวล นอนไม่หลับ ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย ปวดหัวเรื้อรัง หงุดหงิดหรือซึมเศร้า อารมณ์ไม่คงเส้นคงวา อาจมีความอยากหรือเบื่ออาหาร เหนื่อยหน่ายใจ หมดความเชื่อมั่นในตนเอง มีอารมณ์ทางเพศลดลง เป็นต้น ทั้งหมดนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และถ้าเกิดขึ้นเรื้อรังก็จะทำให้ร่างกายอ่อนแอเจ็บป่วยได้ง่าย
เครียดเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค
บางคนจะกินไม่อั้นโดยไม่รู้ตัวในเวลาที่เครียด ในขณะที่บางคนเบื่ออาหาร อาจไม่กินเอาเสียเลย คนที่ไม่กิน ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดต่ำลง ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท เกิดอาการหงุดหงิดวิตกกังวล เวียนหัว อ่อนเพลียได้ ในคนที่มีความเครียดเรื้อรัง การกินบ้างไม่กินบ้างและหรือดื่มกาแฟมากๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้ ส่วนคนที่กินเมื่อเครียดก็จะส่งผลต่อน้ำหนักตัว ซึ่งมักจะขึ้นอย่างรวดเร็วชนิดที่ขึ้นแล้วลดยาก
ความเครียดเกี่ยวข้องกับโภชนาการอย่างไร
ทุกครั้งที่มีความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลินออกมามากขึ้น ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น กล้ามเนื้ออาจเกร็ง ระบบย่อยถูกรบกวน การดูดซึมและการเก็บสะสมสารอาหารลดลง ร่างกายจะรับมือกับความเครียดโดยการหลั่งไขมันและน้ำตาลออกมาเพื่อผลิตพลังงานเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับน้ำตาลและคอเรสเทอรอลในเลือดสูงขึ้น
ขณะเดียวกันจะมีการใช้สารอาหารที่สะสมในร่างกาย ยิ่งเครียดมากเท่าไร สารอาหารที่ถูกสะสมไว้ก็จะถูกดึงมาใช้มากขึ้นและร่างกายจะสูญเสียอาหารเพิ่มขึ้นไปกับปัสสาวะ จึงทำให้เรารู้สึกอ่อนเพลีย หมดแรง นอนไม่หลับ ซึ่งก็จะทำให้เกิดสภาพเครียดต่อร่างกายเพิ่มขึ้น กลายเป็นวัฏจักรความเครียดไป ร่างกายจะต่อต้านกับความเครียดได้ดีเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับว่าร่างกายได้รับการหล่อเลี้ยงจากสารอาหารเพียงพอหรือไม่ ผู้ที่ได้รับสารอาหารเพียงพอมีสุขภาพดี ย่อมรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าผู้ที่ร่างกายขาดสารอาหาร
นอกจากนี้ฮอร์โมนซึ่งยับยั้งการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการป้องกันเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่บุกรุกร่างกายจะถูกหลั่งออกมา ทำให้ระบบภูมิต้านทานอ่อนแอลง
นอกจากนี้อาหารยังมีผลต่อการทำงานของสมอง โดยที่อาหารบางชนิดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีที่ทำหน้าที่สื่อสารการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงควบคุมความรู้สึก อารมณ์ ความตื่นตัว การนอนของร่างกาย อาหารที่รับประทานจึงอาจช่วยลดหรือเพิ่มความเครียดให้กับร่างกายได้ ขึ้นอยู่กับชนิดอาหารที่เราเลือก สิ่งสำคัญก็คือ ควรเลี่ยงอาหารที่สะสมความเครียดและเลือกอาหารที่มีสารอาหารส่งเสริมอารมณ์ที่ดีๆ ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและสะสมสารอาหารที่จะรับมือกับความเครียด
อาหารธรรมชาติลดความเครียด
อาหารที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เวลาที่มีความเครียด ร่างกายมีความต้องการสารอาหารประเภทแอนดิออกซิแดนท์หรือสารต้านอนุมูลอิสระ (วิตามินซี อี และเบต้าแคโรทีน) วิตามินบี แมกนีเซียม และสังกะสี เพิ่มขึ้น การมีโภชนาการที่ดีจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารเหล่านี้เพียงพอที่จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง กระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี เม็ดเลือดขาว และเซลล์อื่นๆ ในระบบภูมิคุ้มกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับคนที่ร่างกายมีสภาวะความเครียดสูงจากการเจ็บป่วย เช่น บาดเจ็บ ผู้ป่วยผ่าตัด การเสริมสารอาหารบางชนิดเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งแพทย์จะสั่งให้ผู้ป่วยอยู่แล้ว
คาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี
คาร์โบไฮเดรตเป็นอาหารที่ร่างกายนำไปสร้างสารสื่อสมองที่เรียกว่า เซโรโทนิน เวลาที่ระดับสารตัวนี้ในสมองลดต่ำลงจะทำให้นอนไม่หลับ ไม่กระฉับกระเฉง ขาดสมาธิและซึมเศร้า สารเซโรโทนินในสมองสร้างมาจากกรดแอมิโนจำเป็น (จากอาหารโปรตีน) ที่มีชื่อว่า ทริปโทแฟน ในกระบวนการผลิตเซโรโทนินจะต้องใช้วิตามินบี 6 ด้วย คาร์โบไฮเดรตที่รับประทานเข้าไปจะกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ซึ่งจะดึงเอากรดแอมิโนตัวอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งกับทริปโทแฟนในการที่ผ่านข้ามแดนระหว่างเม็ดเลือดและสมองไปใช้ ทำให้ทริปโทแฟนผ่านเข้าไปในสมองได้มากและถูกเปลี่ยนเป็นเซโรโทนินได้มากขึ้น เมื่อระดับเซโรโทนินสูงขึ้นก็จะทำให้เกิดอารมณ์ผ่อนคลาย ส่วนโปรตียจะช่วยให้เกิดการตื่นตัว ฉะนั้นร่างกายต้องการโปรตีนในปริมาณเล็กน้อยที่จะรักษาสมดุลของสารสื่อสมอง ฉะนั้นอาหารเช้าที่มีโปรตีนเพียงเล็กน้อยร่วมกับอาหารคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี จะช่วยให้ร่างกายกลายความเครียดในวันนั้น
ส่วนน้ำตาล แป้ง เป็นคาร์โบไฮเดรตขัดสีซึ่งสูญเสียสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แม้จะนำไปสร้างเซโรโทนินได้ แต่สำหรับบางคนอาจทำให้เกิดอาการฉุนเฉียวได้ เซโรโทนินจะช่วยให้หลับง่ายขึ้นในเวลากลางคืน แต่ในเวลากลางวันเซโรโทนินที่มาจากการรับประทานคาร์โบไฮเดรตขัดสีมากๆ ส่วนน้ำตาล โดนัท เค้ก พาย อาจทำให้เกิดอาการอ่อนระโหยโรยแรงหรือหงุดหงิดได้ การกินอาหารโปรตีนร่วมด้วยจะช่วยป้องกันส่วนนี้ได้
วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันความเครียดที่เกิดจากอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง
วิตามินบี วิตามินบีรวมเป็นวิตามินที่ช่วยการทำงานของระบบประสาทในการเผาผลาญอาหารคาร์โบไฮเดรตและไขมันเป็นพลังงาน เมื่อร่างกายขาดวิตามินบีจะมีผลทำให้การทำงานของระบบประสาทผิดปกติ และเพิ่มความเครียดให้กับเซลล์ อาการของความเครียด เช่น อาการซึมเศร้า หงุดหงิดอาจเกิดขึ้นได้
วิตามินซี ระหว่างที่ร่างกายมีความเครียด เจ็บป่วย ต่อมหมวกไตจะมีการใช้วิตามินซีมากขึ้น หากมีความเครียดเรื้อรังจะทำให้ระดับวิตามินซีในร่างกายต่ำลง ร่างกายจึงต้องการวิตามินซีสูงขึ้น
นอกจากนี้ระดับวิตามินซีในเลือดต่ำยังพบในผู้ที่เกิดอาการหัวใจวาย การได้รับวิตามินซีอย่างเพียงพอในระยะนี้จึงอาจช่วยลดอันตรายที่มีผลมาจากฮอร์โมนความเครียด เช่น ฮอร์โมนอะดรีนาลิน และช่วยทำให้ร่างกายรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น นอกจากนี้วิตามินซียังช่วยเพิ่มภูมิต้านทานและลดความเสี่ยงการติดเชื้อด้วย
อาหารที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ ส้ม ฝรั่ง สตรอว์เบอร์รี่ กะหล่ำปลี พริกหวาน คะน้า บร็อคเคอลี ผักโขม
แมกนีเซียม ขณะที่ร่างกายมีความเครียด ร่างกายจะสูญเสียแมกนีเซียทและแร่ธาตุอื่นๆ ไปกับปัสสาวะมากกว่าปกติ ผู้ที่เจ็บป่วยมีความเครียดทั้งทางกายและใจมักมีระดับแมกนีเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวช้า
คนที่มีบุคลิกภาพชนิดเอมักจะมีความเครียดเป็นนิสัย พบว่าคนพวกนี้มีระดับแมกนีเซียมต่ำลง มีฮอร์โมนความเครียดสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีบุคลิกภาพชนิดนี้
อาหารที่มีแมกนีเซียมสูง ได้แก่ เต้าหู้ เมล็ดฟักทอง เมล็ดพืชไม่ขัดสี ถั่วเปลือกแข็งต่างๆ
สังกะสี ในภาวะเจ็บป่วยซึ่งมีสภาวะเครียดทางกาย ร่างกายจะมีระดับสังกะสีในเลือดต่ำลง ซึ่งทำให้ฟื้นตัวช้า ติดเชื้อเป็นแผลเรื้อรัง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ นอกจากนี้ผู้ที่ออกกำลังกายหนักเสมอๆ เช่น นักกีฬา ร่างกานจะเกิดสภาวะเครียดได้ ทำให้สูญเสียสังกะสีไปกับปัสสาวะมากขึ้น
อาหารที่มีสังกะสีสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะอาหารทะเล แป้งถั่วเหลือง ถั่ว เป็นต้น
อาหารเพิ่มความเครียดที่ควรเลี่ยง
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ในการกดประสาทหรือลดการซึมเศร้า ผู้ที่มีความเครียดมักดื่มเพื่อผ่อนคลายความเครียด ลดความวิตกกังวล แต่ผลระยะยาวอาจนำไปสู่อาการซึมเศร้าได้ เมื่อแอลกอฮอล์ถูกดูดซึมเข้าสู่กระเพาะและผ่านเข้าไปในเซลล์สมอง เยื่อหุ้มเซลล์ขยายตัว ทำให้การสื่อสารในเซลล์สมองผิดปกติ และคนที่ติดเหล้าระยะยาวจะทำให้สมองสูญเสียระบบการทำงาน และการเลิกดื่มกะทันหันในระยะแรกจะทำให้เกิดอาการถอนและมีอาการประสาทหลอนได้ แอลกอฮอล์ยังลดการผลิตเอนไซม์ในระบบย่อย โดยเฉพาะการย่อยอาหารไขมัน และยังลดการสะสมวิตามินซี วิตามินบีหลายๆ ชนิด รวมทั้งกรดโฟลิก สังกะสี และวิตามินเอด้วย
การดื่มเพียงแค่หนึ่งดริ๊งค์อาจช่วยผ่อนคลายอารมณ์และเพิ่มความอยากอาหาร แต่การดื่มเป็นกิจวัตรหรือเป็นนิสัยจะเป็นผลเสียต่อร่างกานในการรับมือกับความเครียด
คาเฟอีน กาเฟอีนมีผลในทางลบต่อร่างกายมากมาย เพิ่มความเครียดให้กับการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีความเครียดจะยิ่งทำให้อาการเครียดเลวลง
คาเฟอีนมีฤทธ์เป็นสารกระตุ้นและเพิ่มการหลั่งของกรดในกระเพาะและฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ คาเฟอีนมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ มีผลให้ไตต้องทำงานหนักขึ้น
คาเฟอีนยับยั้งการดูดซึมของธาตุเหล็กจึงไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มากาเฟอีนพร้อมอาหารหรือภายในหนึ่งชั่วโมงหลังอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีปัญหาโลหิตจาง
คนส่วนใหญ่ดื่มกาแฟกระตุ้นให้ตื่นตัวและหายง่วง กระชุ่มกระชวยขึ้น แต่จะเป็นผลชั่วคราว เพราะจริงๆ แล้วจะไปลดผลการทำงานของต่อมหมวดไต ผลที่ตามมาในกรณีที่มีอาการถอนจากกาเฟอีนอาจทำให้ปวดหัว ถ้าใครคิดจะเลิกกาแฟก็ควรค่อยๆ ลด จะได้ไม่เกิดอาการ
เครื่องดื่มที่มาคาเฟอีน ได้แก่ กาแฟ ช็อกโกแลต น้ำอัดลมสีดำ นอกจากนี้ยาบางชนิดก็มีส่วนผสมของคาเฟอีนเช่นกัน
อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสีมาก เช่น น้ำตาล อาหารที่มีรสหวานจัด เครื่องดื่มน้ำอัดลม เพิ่มความเครียดให้กับการทำงานของร่างกายและลดประสิทธิภาพการรับมือกับความเครียด
อาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีปัญหาความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว หรือผู้ที่มีความไวต่อเกลือและโซเดียม อาจทำให้เกิดการบวม เพราะร่างกายเก็บน้ำไว้มาก จึงกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภาวะเครียดได้
อาหารไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว เช่น อาหารจีน อาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีไขมันสูง นอกจากจะย่อยช้ายังทำให้อึดอัดไม่สบายท้อง นอกจากนี้อาหารไขมันสูงยังเพิ่มระดับฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดความเครียดได้
เลี่ยงการกินอาหารมื้อใหญ่ๆ ในช่วงที่ร่างกายมีความเครียดอยู่แล้ว ระบบย่อยไม่ควรทำงานหนักมาก ฉะนั้นไม่ควรมีอาหารตกค้างให้กระเพาะต้องทำงานนาน ควรหลีกเลี่ยงอาหารมื้อใหญ่ แต่กินอาหารมื้อเล็กๆ หลายมื้อแทน เน้นอาหารจากพืช เช่น ข้าวต่างๆ ผักผลไม้ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ และกากใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ
ข้อแนะนำสำหรับอาหารคลายเครียด
ไม่มีข้อกำหนดแน่นอนสำหรับอาหารกับโรคเครียด แต่การมีโภชนาการดี รับประทานอาหารไขมันต่ำ กากใยอาหารสูง คาร์โบไฮเดรตประเภทไม่ขัดสี ผักผลไม้ ธัญพืชและถั่วต่างๆ เป็นหลัก ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุสูงจากพืช และลดน้ำตาลและอาหารที่ผ่านกระบวรการขัดสี เลือกอาหารผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำหรือขาดไขมัน วันละ 2-3 แก้ว เนื้อสัตว์ไม่ติดหนังติดมัน และปลา และดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ร่างกายรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น
ในกรณีที่ต้องการเสริมวิตามินและแร่ธาตุ ไม่ควรเสริมเกิน 100-300 เปอร์เซ็นต์ของระดับข้อกำหนดมาตรฐาน (RDA) ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เรียนรู้วิธีการคลายเครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-7 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงกาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ซึ่งทำให้เกิดอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นในร่างกาย จะช่วยให้ร่างกายรับมือกับความเครียดที่ต้องผจญในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น
แต่ถ้าทำทุกอย่างแล้วยังไม่สามารถแก้ไขความเครียดได้ก็จำเป็นที่จะต้องพบแพทย์
………………………………………………………………………………………………………………….
ขอขอบคุณที่มา : นิตยสาร HEALTH & CUISINE ฉบับที่ 38 ประจำเดือน มีนาคม 2547

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *