การพูดเพื่อการสื่อสาร

การพูดเพื่อการสื่อสาร
ในชีวิตประจำวันการพูดเป็นทักษะหลักในการสื่อสาร การพูดใช้เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ความเข้าใจและความต้องการ การรู้จักใช้ทักษะในการพูดให้ถูกต้อง ทั้งการออกเสียงและการเตรียมการพูดนั้น จะทำให้การสื่อสารบรรลุวัตถุประสงค์และเกิดไมตรีที่ดีต่อกัน
ความสำคัญของการพูด
การพูดเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารระหว่างกัน ผู้ที่ได้รับการทักทายจะเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ในการพูดทักทายกันนั้น สามารถเปิดประเด็นใหม่ของการสนทนาได้ การพูดจึงมีกฎเกณฑ์และผู้พูดต้องฝึกพูด นักพูดที่ดีต้องแสวงหาความรู้ต่างๆ ที่ทันสมัย เพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง รวมทั้งสังเกตการพูดจากผู้พูดที่มีชื่อเสียง เพื่อพัฒนาการพูดของตน
การพูดจะมีประสิทธิภาพเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น
๑. ผู้ส่งสาร (ผู้พูด) พูดได้ชัดเจนตามวัตถุประสงค์ของตน ใช้ภาษาได้ถูกต้อง
๒. มีความรู้ในเรื่องที่จะพูดเป็นอย่างดี
๓. รู้กลุ่มที่รับสาร (ผู้ฟัง) ว่ามีวัย เพศ การศึกษา ความสนใจในเรื่องใด
๔. ผู้พูดต้องมีบุคลิกที่น่าเลื่อมใส รู้จักสร้างบรรยากาศในการพูดให้เป็นกันเอง
ประเภทของการพูด
เเบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
๑. การพูดเเบบไม่เป็นทางการ ได้แก่ การพูดระหว่างบุคคล การสนทนากันในหมู่ผู้รู้จัก การทักทายปราศรัย และการเเนะนำตนเอง ผู้พูดอาจตั้งใจหรือไม่ตั้งใจเตรียมหัวข้อมาล่วงหน้าก็ได้ การพูดเเบบนี้เป็นการพูดที่ใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุด
๒. การพูดเเบบเป็นทางการ ได้แก่ การพุดต่อชุมนุมชนในเเบบต่างๆ ในโอกาสและสถานที่ต่างกัน ผู้พูดต้องเตรียมการพูดมาก่อน แต่บางครั้งก็อาจเป็นการพูดโดยไม่รู้ตัวล่วงหน้า จึงต้องหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
การพูดแบบเป็นทางการมีรูปแบบที่เเตกต่างกัน ซึ่งผู้พูดต้องรู้รูปแบบของการพูด และศึกษาวิธีการพูดดังกล่าวล่วงหน้า เช่น การอวยพรในโอกาสต่างๆ การพูดสุนทรพจน์ การเเสดงปาฐกถา การอภิปราย การพูดรายงาน การโต้วาที

การใช้ภาษาในการพูด
การใช้ถ้อยคำและภาษาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพูด ผู้พูดควรศึกษาความรู้ และนำสำนวนต่างๆ มาใช้ให้ถูกต้อง ซึ่งควรปฏิบัติดังนี้
๑. สำรวจตัวเอง ในเรื่องการใช้ถ้อยคำภาษา และสำนวน
๒. เตรียมการพูด โดยศึกษาจุดประสงค์ หัวข้อ และเวลาในการพูด เพื่อรวบรวมความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะพูด เช่น หนังสือ เอกสาร และข้อมูลต่างๆ
๓. เตรียมเรื่อง ควรเขียนโครงเรื่อง ลำดับเนื้อหาก่อนหลัง การใช้สำนวนโวหาร
๔. ลำดับความในการพูด เมื่อเตรียมเรื่องเเล้วนำมาลำดับความในการพูดให้เป็นขั้นตอน เปิดเรื่องด้วยข้อความที่เร้าความสนใจของผู้อื่น และมีการสรุปให้ผู้ฟังเข้าใจเเละให้ข้อคิด
๕. ฝึกพูดให้กระชับรัดกุม โดยใช้ถ้อยคำสั้นๆ เเต่มีความชัดเจน
๖. หลีกเลี่ยงการพูดภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ หรือการใช้คำเเสลง
๗. ออกเสียงให้เต็มคำและให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
เอกรินทร์ สี่มหาศาล และคณะ. ภาษาไทย ป.๖. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *