การปฏิเสธวาระนโยบายเรื่องภาษีที่ดิน

การปฏิเสธวาระนโยบายเรื่องภาษีที่ดิน

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน 2009 เวลา 04:13 น.

1.) ภาษีที่ดินในประเทศไทย

งานที่ดินในประเทศไทย ปรากฏเริ่มแรกตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ในรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งทรงดำเนินนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจเกี่ยวกับการทำประโยชน์ในที่ดิน

สมัยรัชกาลที่ 4 มีการประกาศขายฝากและจำนำที่สวน ที่นา และมีการออกตราแดง ในเขตจังหวัดกรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยาอ่างทอง ลพบุรีสุพรรณบุรี) เป็นหลักฐานแสดงว่ามีผู้มีชื่อเป็นเจ้าของและใช้ในการเก็บภาษีที่นา

สมัยรัชกาลที่ 5 มีการออกหนังสือสำคัญชนิดต่างๆ อีกหลายชนิด เช่น โฉนดสวน ใบตราจอง เพื่อประโยชน์ในการเก็บภาษีค่านา มีการออกพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479 ซึ่งวิวัฒนาการเป็นประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497
สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการใช้พระราชบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ซึ่งมีการจำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ และห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่มายกเลิกในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อส่งเสริมให้เอกชนได้แสวงประโยชน์จากทรัพยากรโดยไม่มีมาตรการรองรับ จนโครงสร้างการจัดการทรัพยากรโดยเฉพาะที่ดินเปลี่ยนแปลงไปจนเกิดปัญหาการสะสมที่ดินขึ้น

2.) กระแสการเมือง

2.1) ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผลักให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและมรดกเพื่อความเป็นธรรมของสังคมเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยจริง ๆ และเป็นสิ่งที่สร้างความเจริญให้แก่ประเทศได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้มาตรการดังกล่าว ยังเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ.2552 มาตรา 85 ที่บัญญัติว่า รัฐมีหน้าที่กระจายการถือที่ดินครองอย่างเป็นธรรม และดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึง
สำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และนายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือ การใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ การเพิ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพย์สิน และเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เนื่องจากเป็นรายได้ของท้องถิ่นทั้งหมด ซึ่งจะนำไปสู่ความมีอิสระทางการคลัง และการพัฒนาคุณภาพของการบริหารของท้องถิ่นในที่สุด อีกทั้งการมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังจะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการทำงานของท้องถิ่น

2.2) ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

พรรคเพื่อไทย คัดค้านนโยบายประชานิยมของรัฐบาลปัจจุบัน เพราะโครงการเก็บภาษีที่จะมีผลกับผู้มีรายได้ปานกลาง จนถึงผู้มีรายได้สูง โดยเฉพาะผู้ที่มีบ้านเกิน 1 หลัง ผู้ที่สะสมบ้านหรือที่ดิน หรือผู้ที่นิยมที่ดินเปล่าเก็บไว้เก็งกำไร ไม่ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการริดรอนสิทธิและอำนาจประชาชน ขณะนี้รัฐบาลกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 41 ส่วนที่ 5 สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง ขอบเขตแห่งสิทธิ์และการจำกัดสิทธิ์ เช่นนี้จะทำให้ประเทศเข้าสู่วิกฤตอีกครั้ง

3.) กระแสปัญหา

ประเทศไทยมีปัญหาการถือครองที่ดินกระจุกตัว และมีการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างภาษีในปัจจุบันขาดความเป็นธรรม มีความยากจนที่เกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและนโยบายที่ไม่เป็นธรรมในสังคมที่คนไทยกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งเป็นชนชั้นปกครองและคนรวย ครองที่ดินจำนวนมหาศาลของประเทศเพื่อการเก็งกำไรและความรวยไม่สิ้นสุด การผูกขาดความเป็นเจ้าของที่ดินทำให้ที่ดินซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดมีราคาสูงขึ้นไปโดยตลอด มีจำนวนมากที่ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีอะไรหรือเสียภาษีต่ำเมื่อขายที่ดินในภายหลังก็จะได้กำไรมากกว่าการฝากแบงก์หลายเท่าในขณะที่คนจนไม่มีที่ดิน ต้องไปบุกรุกป่าเพื่อหาที่ดินทำกินทำให้ทรัพยากรของประเทศถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพและยังเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศถูกทำลาย

4.) กระแสนโยบาย

มีความพยายามที่จะออก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้างมาหลายรัฐบาลแต่ก็ยังไม่สำเร็จเพราะกระทบกับนักการเมือง,หัวคะแนน ,นักวิชาการและเอกชนผู้ครอบครองที่ดินจำนวนมาก รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ มีความมาตรการในการจัดเก็บภาษีที่ดิน พอสรุปได้ดังนี้

4.1) มีนโยบายการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า ทั้งจากสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์เหมือนภาษีทรัพย์สินในต่างประเทศ ไม่ใช่จากอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียวตามที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางสังคม

4.2) จัดสัดส่วนรายได้ จาก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้าง มาตั้งเป็นกองทุนธนาคารที่ดิน

4.3) จัดเก็บภาษี ตามขนาดการถือครองที่ดินให้มีขั้นบันไดที่ชัดเจน

5.) หน้าต่างนโยบาย

สำหรับกรณีการทบทวนภาษีที่ดินไม่สามารถเข้าสู่วาระของรัฐบาลได้เนื่องจาก

– กระแสปัญหา (Problem Stream) ปัญหาการผูกขาดที่ดินของคนกลุ่มน้อยที่มีฐานะร่ำรวยมีการถือครองที่ดินกระจุกตัว และมีการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้างจะเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางสังคม

– กระแสนโยบาย (Policy Stream) การจัดเก็บภาษีมีความพร้อมเนื่องจากส่วนราชการได้ยกร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้างแล้ว

– กระแสการเมือง (Political Stream) ความเห็นของแต่ละฝ่ายยังขัดแย้งกันอยู่ยังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะมีผู้เสียผลประโยชน์ซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ และกลุ่มบุคคลผู้มีฐานะร่ำรวยและเป็นชนชั้นสูงในสังคมไทย เพราะมีที่ดินอยู่ความครอบครองอยู่เป็นจำนวนมาก

6.) สรุป

งานที่ดินในประเทศไทย ปรากฏเริ่มแรกตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และสมัยรัชกาลที่ 5 มีการออกพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479 ซึ่งวิวัฒนาการเป็นประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ใช้บังคับสืบมาจนถึงปัจจุบัน สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการใช้พระราชบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 แต่ยกเลิกในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อส่งเสริมให้เอกชนได้แสวงประโยชน์จากทรัพยากรโดยไม่มีมาตรการรองรับ

ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย มีการหยิบยกโครงสร้างภาษีใหม่มาใช้ หากพระราชบัญญัติผ่านการอนุมัติจากสภาและสุดท้ายต้องตกไป เพราะกระทบกับตัวเอง นักการเมือง,หัวคะแนนและนักวิชาการ ส่วนในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็มีแนวคิดรื้อโครงสร้างภาษีเช่นเดียวกัน กระทรวงการคลังเตรียมนำร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ เพราะถูกยึดอำนาจโดยทหารและรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็มีความพยายามเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้าสู่สภานิติบัญญัติ แต่ก็ถูกนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจ์ รมว.กระทรวงการคลัง ได้ขอถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปโดยให้เหตุผลว่าต้องให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ตัดสินใจ ต่อมาในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เข้าสู่สภานิติบัญญัติโดยนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.กระทรวงการคลัง เป็นผู้เสนอร่าง ฯ ดังกล่าวเข้าสู่สภานิติบัญญัติและยังไม้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ปีการศึกษา 2552 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ที่มา : www.publicpolicy-in-thailand.com

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *