การทำธุรกิจยุคใหม่ ในโลกไร้พรมแดน

การทำธุรกิจยุคใหม่ ในโลกไร้พรมแดน

ในโลกธุรกิจนั้น การเปลี่ยนแปลงมีขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อโลกเราก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นั้น ได้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่โดยหลัก ๆ ก็คือ โลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีการสื่อสารในโลกไร้พรมแดน หรือ อินเตอร์เน็ต และ อีคอมเมิร์ซ

ในโลกไร้พรมแดน อินเตอร์เน็ตจะทำให้เราสามารถขายของได้ไม่จำกัดแค่ในประเทศ แต่จะสามารถทำธุรกิจได้ทั่วโลก กลไกทางการตลาดและการเข้าถึงลูกค้าจึงเปลี่ยนไป เราสามารถที่จะขายสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ทั่วโลก หรือที่เราเรียกว่า E-Commerce หรือการทำ Virtual Shop นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงบอกว่า อำนาจการซื้อไปอยู่ที่ลูกค้า เพราะลูกค้าฉลาดขึ้น มีการศึกษามากขึ้น และมีทางเลือกมากขึ้น หากเราไม่เอาใจลูกค้า หรือไม่สนใจเขาอย่างในอดีต ลูกค้าก็จะตีจากเราไปหาคู่แข่งของเรา คู่แข่งขันในปัจจุบันก็เปลี่ยนไป เพราะโลกของเทคโนโลยีและการสื่อสาร ทำให้เราสามารถแข่งขันกับคนในโลกนี้ได้ทั้งหมด ลักษณะของธุรกิจและการเติบโตของธุรกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากเครือข่าย อินเตอร์เน็ต ทำให้เราสามารถรับรู้ข่าวสารได้ทั่วโลก

สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเราในยุค โลกาภิวัตน์และทุนเสรี ก็คือ ทำให้มีทุนไหลเข้าออกอย่างเสรีได้ทุกวัน ตลาดหุ้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ การขยายตัวของเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว เราจะตามไม่ทันถ้าเราไม่ติดตามข่าวสาร เราจึงต้องมี องค์ความรู้กับเทคโนโลยี ตลอดจนการปรับองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Knowledge Management ) และต้องเฝ้าติดตาม นโยบายสาธารณะ ของรัฐบาลด้วย เพราะการปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลหรือการออกกฎหมายใหม่ ตลอดจนการไปเซ็นความร่วมมือ FTA กับประเทศต่างๆ อาจทำให้เราต้องปรับกลยุทธ์ในการบริหารจัดการ หรือไม่ก็อาจต้องปิดกิจการที่กำลังทำอยู่ก็ได้ เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลออกมาประกาศว่า อีก 4 ปีต่อจากนี้ไป จะไม่ให้มีร้านปืนขายอีกเลย ผลจากการประกาศนี้ ทำให้บรรดาร้านปืนแถววังบูรพา ต้องหันไปประกอบอาชีพอื่นทันที เป็นต้น

ยุคปัจจุบันนั้น เป็นยุคที่ต้องใช้การสื่อสารเข้ามาช่วยในการทำธุรกิจมากที่สุด ฉะนั้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่จึงจำต้องมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต และต้องมีกลยุทธ์ในการทำธุรกิจอย่างรอบด้าน ถ้าท่านผลิตสินค้าได้ ท่านต้องเรียนรู้การสร้างตราสินค้า ไม่เช่นนั้นสินค้าของเราก็จะกลายเป็น Commodity ทำให้เราต้องสู้กับเขาเฉพาะค่าแรงเท่านั้น เพราะว่าผู้คนส่วนมากจะยึดติดกับตราสินค้า และเรียนรู้ประสบการณ์ของสินค้าจากตราสินค้ามากกว่าการคำนึงถึงราคา การสร้างแบรนด์ จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในการแข่งขันในปัจจุบันนี้

การทำธุรกิจให้อยู่รอดได้ เรื่องของการตลาดต้องเป็นตัวนำ ยุคนี้นักการตลาดจะต้องเป็นใหญ่ การตลาดจะเป็นหนทางทำให้เงินเข้าสู่บริษัท และนักการตลาดในปัจจุบันนี้จำเป็นต้องเป็นพวกรู้มากและรู้ทุกอย่าง หรืออย่างที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Jack of All Trade นั่นเอง

การตลาดสมัยใหม่นั้น มีกฎของการบริการง่ายๆ 2 ข้อเท่านั้น คือ

1. ลูกค้าถูกเสมอ
2. ถ้าลูกค้าทำผิดให้กลับไปดูกฎข้อที่ 1 ใหม่

เพราะว่าลูกค้าจะต้องถูกเสมอ ลูกค้าคือพระเจ้า แต่อย่างไรก็ตาม คนที่เป็นพระเจ้าจริง ๆ นั้นก็คือ พนักงานขององค์กรนั้น เพราะว่าถ้าองค์กรใดมีสินค้าดี แต่มีพนักงานไม่ดีไม่มีคุณภาพ หรือไม่มีจิตวิญญาณของการให้บริการ บริษัทนั้นก็จะไม่เจริญก้าวหน้า เพราะพนักงานก็คือทรัพยากรมนุษย์ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจในปัจจุบัน และถ้าประเทศใดองค์กรใด บริษัทใดใช้เทคโนโลยี เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ องค์กรนั้นก็จะได้เปรียบทางการแข่งขัน

ถ้าท่านอยากประกอบธุรกิจในโลกไร้พรมแดนได้ประสบความสำเร็จ ท่านต้องเน้นที่ 4 C แทนที่จะหันมามองที่ 4 P อย่างเดิมๆ 4 C นั้นคือ 1. Consumer 2. Cost 3.Convenience และ 4. Communication

ผู้บริโภคเป็นสำคัญ เราจึงได้ยินบ่อยๆ ว่านักการตลาดส่วนใหญ่หันมาศึกษาหาความรู้ในเรื่อง CRM ส่วนการผลิตสินค้านั้น เราต้องคำนึงถึงต้นทุน และหาทางลดต้นทุนให้ได้ เพราะการขึ้นราคาสินค้าตามใจชอบทำไม่ได้อีกแล้ว คู่แข่งขันมีมาก ทันทีที่เราขึ้นราคา ลูกค้าเราก็อาจหันไปหาคนอื่นได้ ฉะนั้น ในยุคนี้ เราจึงได้ยินการสัมมนาว่าด้วยเรื่อง การจัดการโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain Management (SCM) เพราะกระบวนการจัดการโซ่อุปทานนั้น สามารถทำให้เราลดต้นทุนการผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 10-30 % เลยทีเดียว ส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้านั้น แต่เดิมเราก็ขายสินค้าผ่านร้านค้าส่ง และร้านค้าปลีก เดี๋ยวนี้ บรรดา Modern Trades เกิดขึ้นมากมาย ช่องทางการจัดจำหน่ายจึงต้องคำนึงถึงการให้ความสะดวกสบายแก่ผู้บริโภค และนั่นก็คือ Convenience นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกสบายในเรื่องการทำ Home Delivery หรือการทำธุรกรรมทางธนาคารที่บ้าน หรือผ่านทางมือถือ เป็นต้น และสุดท้ายการทำโปรโมชั่น ต้องเป็นแบบการสื่อสารครบวงจร หรือ Communication และต้องเป็น Total Communication หรือ IMC นั่นเอง

สินค้าบางอย่าง ผู้ซื้อมักจะถามจากเพื่อนๆ มากกว่าการดูจากโฆษณา อย่างเช่น การตกแต่งบ้าน การซื้อเฟอร์นิเจอร์ เราต้องทำให้ลูกค้าเราพึงพอใจสูงสุด เขาจะได้ไปบอกต่อได้ คือการให้ลูกค้าทำหน้าที่เป็นพนักงานขายแทนเรา ซึ่งมีอำนาจมากกว่าการส่งพนักงานขายไปขายอีก เพราะคนส่วนมากมักจะฟังเพื่อนๆบอกว่าสินค้าชิ้นนี้ดีหรือไม่ ส่วนการบริการหลังการขายนั้นท่านผู้ประกอบการควรฝึกให้เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการ ให้ทำหน้าที่เป็นนักการตลาดไปด้วย คือฝึกให้พนักงานขายของหรือแนะนำสินค้าใหม่ให้ลูกค้าไปด้วย ไม่ใช่รับซ่อมอย่างเดียว

ในการตลาดยุคนี้ จึงเป็นยุคที่ทุกคนพยายามจะรักษาลูกค้าเก่าไว้มากกว่าการมุ่งหาลูกค้าใหม่ เพราะหากท่านขายสินค้าให้กับลูกค้าเก่าโดยเอาใจใส่เขาอย่างดี สร้างประสบการณ์ที่ดีกับเขา ลูกค้าก็จะซื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ท่านเอาใจใส่ลูกค้าใหม่ เพราะต้นทุนในการหาลูกค้าใหม่นั้น แพงกว่าต้นทุนในการหาลูกค้าเก่ามากถึง 6-7 เท่าตัวเลยทีเดียว แต่ในเรื่องนี้ได้ถูกละเลยไปมากเมื่อกิจการค้าดีขึ้น การบริการก็จะแย่ลง ตัวอย่างเช่น ร้านอาหาร ฟูจิ ผู้เขียนได้เคยไปทานบ่อยมากที่สาขา อื้อ จือ เหลียง ซึ่งเป็นสาขาที่ใหญ่และกว้างขวาง แรกๆ ก็บริการดีมาก แต่ระยะหลังๆพนักงานเริ่มไม่มี Service Mind เพราะเวลาเรามีแขกจะพาไป ก็ไปไม่ได้ เพราะเขาไม่ยอมให้จองโต๊ะ ลองนึกภาพดูหากท่านพาแขกไปทานที่นี่ ท่านต้องให้แขกยืนคอยเป็นสิบๆ นาที ก็ไม่ไหว นอกจากนั้น เวลาคิดเงิน และขอใบเสร็จ ก็ดำเนินการช้ามากๆ หรือเป็นเพราะพยายามไม่ให้ลูกค้าเรียกใบเสร็จจะได้จ่ายภาษีน้อยลงก็ไม่ทราบ ทางผู้จัดการร้านก็ไม่สนใจดูแล อย่างนี้ อีกหน่อยลูกค้าก็จะค่อยๆ หายไป อย่างผู้เขียน เดี๋ยวนี้ก็พยายามไปทานร้านอื่นกันมากกว่า เป็นต้น

ผู้ประกอบการในโลกยุคใหม่ไร้พรมแดน

สำหรับผู้ประกอบการที่ดีจะต้องเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ต้องพร้อมที่จะเสี่ยงกับการลงทุน ต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง พร้อมที่จะทำงานหนัก มีแรงแข่งขันสูง ต้องคิดว่าคู่แข่งคือผู้ให้กำลังใจ

ท่านจะต้องพยายามจ้างพนักงานที่มี IQ – EQ แต่ในปัจจุบัน ผมว่าท่านจะต้องมี SQ (Spiritual Quotient) ด้วย คือ ต้องมีจิตวิญญาณในการทำธุรกิจ และการให้บริการ รวมไปถึง DQ (Dhamma Quotient) ก็คือ การนั่งวิปัสสนาในทางธรรมะ นั่งเพื่อที่จะคิดงานออกมา ต้องมีการศึกษา มีสุขภาพแข็งแรง

คนที่ประกอบธุรกิจเองจะต้องไม่กลัวการล้มเหลว ชอบลองความคิดใหม่ๆ คิดว่าทำได้ดีกว่าเจ้านาย มีความปรารถนาที่จะสร้างบริษัทเป็นของตนเอง ต้องไม่กลัวอุปสรรคของการเริ่มธุรกิจ ไม่กลัวความไม่คุ้มค่า ต้องสร้างความแตกต่าง วางแผนเรื่องเงินทุน ต้องเรียนรู้การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า

ผู้ที่สนใจที่จะทำ SMEs หรือธุรกิจเงินล้านในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อกิจการเติบโตและมีศักยภาพที่จะ Go Inter ก็มักจะมีปัญหาในเรื่องของภาษาและการสื่อสาร เพราะภาษาอังกฤษไม่ใช่เป็นภาษาแม่ของเรา เหมือนอย่างในสิงคโปร์หรือฟิลิปปินส์ รวมทั้งทักษะในด้านคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ในประเทศไทยขณะนี้ ปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ไม่ได้ใช้อย่างกว้างขวางเหมือนกับประเทศอื่น หากเราแก้ตรงนี้ออกไปได้ธุรกิจเราก็จะดีขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลต้องแก้ไขเรื่องโครงสร้างราคา ทำให้ระบบ Broad Band มีราคาถูกมากๆ เหมือนประเทศอื่น แล้วเราก็จะสามารถแข่งขันกับเขาได้ จีนเป็นประเทศที่ใช้อินเตอร์เน็ตช้ากว่าเรา แต่ปัจจุบันนี้ คนจีนใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่าไทยเราหลายเท่าตัวนัก และ Speed ก็เร็วกว่าเรามากด้วย

ที่มา : http://www.brandage.com/

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *